6 ก.ค. 2559

ห้ามลงโทษมากกว่าหนึ่งครั้ง...สำหรับความผิดที่ได้กระทำเพียงครั้งเดียว...


           
  ครบเครื่องคดีปกครองวันนี้...มาว่ากันด้วยหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า... “บุคคลไม่อาจถูกลงโทษหลายครั้งสำหรับการกระทำความผิดครั้งเดียวได้” ไม่ว่าบุคคลนั้นจะได้กระทำความผิดในทางอาญาทางปกครอง หรือทางวินัย ซึ่งหมายความว่า ไม่สามารถลงโทษประเภทเดียวกันซํ้ากันในความผิดเดียวกันได้นั่นเอง


              เพื่อให้เห็นภาพที่เป็นรูปธรรมขึ้น มาดูคดีอุทาหรณ์ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัดฐานเกี่ยวกับหลักการดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนอันจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้มีอำนาจในการดำเนินการลงโทษประเภทต่างๆ ตลอดจนตัวเจ้าหน้าที่ผู้ถูกลงโทษด้วย

              โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดี คือนายชาคร ซึ่งในขณะรับราชการเป็นพนักงานส่วนตำบล ตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจการจ้างและกรรมการตรวจรับพัสดุในโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กทางเข้าหมู่บ้านซึ่งหลังจากการก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จและผ่านการตรวจรับแล้ว ก็ได้มีผู้ร้องเรียนว่าการก่อสร้างถนนดังกล่าวไม่เป็นไปตามแบบที่กำหนดอำเภอจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้น

            ผลการสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีผู้อยู่ในข่ายกระทำความผิดรวม 7 คน และหนึ่งในนั้นมีนายชาครปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลรวมอยู่ด้วยนายชาครจึงถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย กรณีมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตในโครงการก่อสร้างถนนดังกล่าวโดยผลการสอบสวนเห็นว่านายชาคร มีความผิดฐานไม่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการละเลยไม่ออกไปตรวจสอบความถูกต้องตามแบบแปลนของโครงการก่อสร้าง อันเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงสมควรลงโทษตัดเงินเดือนร้อยละ 5 เป็นเวลา 3 เดือน จึงได้มีคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลลงโทษตัดเงินเดือนนายชาคร

             แต่... เรื่องมิได้ยุติเพียงเท่านี้ครับ เมื่อต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือแจ้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลให้พิจารณาโทษทางวินัยนายชาครตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542เนื่องจาก ป.ป.ช.ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าว โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ทำการไต่สวนแล้วมีมติว่า การกระทำของนายชาครมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงรวมทั้งยังมีมูลความผิดทางอาญาฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ จัดทำและรับรองเอกสารอันเป็นเท็จนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาเห็นว่าการกระทำของนายชาครเป็นความผิดวินัยร้ายแรงตามที่คณะกรรมการป.ป.ช. ชี้มูล โดยคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลฯ ไดพิจารณาเห็นชอบให้องค์การบริหารส่วนตำบลลงโทษไล่นายชาครออกจากราชการจึงไดมีคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลไล่นายชาครออกจากราชการในที่สุด นายชาครได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งแต่ก็ถูกยกอุทธรณ์
              ในส่วนของการดำเนินคดีอาญานั้น ศาลจังหวัด ได้ตัดสินว่านายชาครมีความผิดจริงจึงได้มีการลงโทษจำคุก แต่เนื่องจากไดรับสารภาพและไม่เคยทำความผิดมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้1 ปี

              งานนี้...นายชาครได้ดับ อนาคตทางราชการของตัวเองโดยแท้แต่นายชาครยังคงมีความหวังที่จะได้กลับเข้ารับราชการ เมื่อเห็นว่าตนได้ถูกลงโทษทางวินัยด้วยการตัดเงินเดือนไปแล้วการถูกลงโทษไล่ออกจากราชการอีก ถือเป็นการลงโทษทางวินัยซ้ำกัน ในมูลความผิดอันเดียวกันอันขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไป  จึงนำเรื่องมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการดังกล่าว
              ประเด็น นี้ ศาลปกครองสูงสุดท่านไดวินิจฉัย วางหลักว่า... การลงโทษบุคคลไม่ว่าโทษนั้นจะเป็นโทษทางอาญา ทางปกครอง หรือ ทางวินัย ถือได้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของบุคคลผู้ถูกลงโทษ การลงโทษบุคคลมากกว่าหนึ่งครั้งสำหรับการกระทำความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำเพียงครั้งเดียวจึงเท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายเกินความจำเป็นแก่การรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะที่กฎหมายฉบับที่ให้อำนาจจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพนั้น ๆ มุ่งหมายจะให้ความคุ้มครองอันเป็นการขัดกับหลักกฎหมายทั่วไปและต้องห้ามตามมาตรา 29 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550ด้วย แม้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจรติ พ.ศ.2542 จะบัญญัติไว้ในมาตรา 91 ความว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว มีมติว่า ข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหานั้น ตกไป ข้อกล่าวหาใดที่คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติว่ามีมูล ความผิด ให้ดำเนินการ ตามมาตรา 92(2) คือเมื่อมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาใดกระทำผิดวินัยให้ประธานกรรมการส่งรายงานพร้อมความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้นั้นเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ตามฐานความผิดที่ ป.ป.ช. มีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีกโดยให้ถือว่าเอกสาร รายงานความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยและให้ผู้มีอำนาจสั่งพิจารณาลงโทษภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ซึ่งคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการถือเป็นการดำเนินการภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายนี้

              โดยศาลท่านเห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว หาได้มีผลเป็นการยกเลิกหรือยกเว้นผลบังคับของหลักกฎหมายทั่วไปที่ห้ามมิให้ลงโทษบุคคลใดบุคคลหนึ่งมากกว่าหนึ่งครั้งสำหรับความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำเพียงครั้งเดียว และมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญฯ แต่อย่างใดไม่
              ดังนั้น การกระทำที่จะไม่ให้เป็นการขัดกับหลักกฎหมายทั่วไปและรัฐธรรมนูญดังกล่าวนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะต้องดำเนินการเพิกถอนคำสั่งเดิมที่สั่งลงโทษตัดเงินเดือนร้อยละ5 เป็นเวลา 3 เดือน โดยให้การเพิกถอนมีผลย้อนไปถึงวันออกคำสั่งตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายเสียก่อนเมื่อเพิกถอนแล้วก็จะถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยสำหรับการกระทำผิดในเรื่องนี้มาก่อน แล้วจึงมีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของ ป.ป.ช.ได้ การที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (ผู้ถูกฟ้องคดี)มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยไม่เพิกถอนคำสั่งลงโทษเดิม จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายทั่วไปและมาตรา29 ของรัฐธรรมนูญฯ ศาลปกครองสูงสุดจึงยืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการตามที่พิพาท(คดีหมายเลขแดงที่ อ.7/2557)

               กรณีนี้ แม้ผู้ฟ้องคดีจะเป็นฝ่ายชนะคดี แต่ก็หาใช่ว่าจะได้กลับไปรับราชการเช่นเดิมเพราะจาก คำวินิจฉัยของศาล แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีเพียงดำเนินการไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่เพิกถอนคำสั่งเดิมเสียก่อนจึงถือเป็นการลงโทษซ้ำซ้อนในความผิดเดียวกัน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีก็สามารถที่จะเพิกถอนคำสั่งเดิมและดำเนินการลงโทษใหม่ให้ถูกต้องตามขั้นตอนได้นั่นเองโดยหลักกฎหมายทั่วไปที่ห้ามมิให้มีการลงโทษซ้ำซ้อนนี้ เป็นหลักการที่ใช้กับการลงโทษทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นวินัยปกครอง และอาญา
              จะเห็นได้ว่า...หลักกฎหมายทั่วไปนั้น นับว่ามีบทบาทสำคัญที่ศาลจะนำมาใช้ในการรักษาและประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยถือเป็นหลักความเป็นธรรมตามธรรมชาติซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป อันเป็นที่มาหรือเป็นรากฐานของทุกระบบกฎหมายโดยศาลจะเป็นผู้รับรองและใช้หลักกฎหมายทั่วไปดังกล่าว

              สำหรับอุทาหรณ์คดีที่เกิดขึ้นนี้ ยังคงยืนยันสุภาษิตอมตะโบราณที่ว่า“ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน” ได้ดีทีเดียวอีกด้วยครับ !!


              เครดิต : ครองธรรม ธรรมรัฐ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...