14 ก.ค. 2559

อบต. สร้างทางเท้าปิดทางเข้า - ออกบ้านพักทั้งที่เคยได้รับอนุญาต


              
 คดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังฉบับนี้ เป็นกรณีขององค์การบริหารส่วนตำบลได้ก่อสร้างทางเท้าริมทางหลวงแผ่นดิน บริเวณหน้าบ้านและร้านค้าของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ โดยมีขอบทางเท้าที่ก่อสร้างสูงกว่าระดับไหล่ทางเดิมและปิดกั้นทางเข้า - ออกบ้าน เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ไม่สามารถนำรถเข้า - ออกในบริเวณบ้านและไม่สามารถจอดรถบริเวณไหล่ทางได้

               ข้อเท็จจริงในคดี คือ ปี 2549 กรมทางหลวงได้ขยายทางหลวงและได้อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ทำทางเข้า - ออกกว้าง 3 - 4 เมตร เพื่อเชื่อมกับทางหลวงแผ่นดิน โดยวางท่อระบายน้ำ บ่อพักน้ำ เพื่อให้สามารถขับรถเข้า - ออกได้และถมผิวจราจรบริเวณไหล่ทางให้อยู่ระดับเดียวกับถนนตามแบบที่กรมทางหลวงกำหนดโดยใช้ทุนส่วนตัว และต่อมาปี 2551 ผู้ถูกฟ้องคดี (องค์การบริหารส่วนตำบล) ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ร้านค้าชุมชนโดยก่อสร้างทางเท้าริมทางหลวงโดยได้รับอนุญาตจากแขวงการทางสงขลาโดยมีเงื่อนไขว่าห้ามเปิดทางเข้า - ออกบ้านเรือนริมเขตทางหลวงบริเวณที่ขออนุญาต เว้นแต่ทางเข้า - ออกที่ได้รับอนุญาตอยู่เดิม แต่ผู้ถูกฟ้ องคดีดำเนินการโดยไม่ได้เว้นช่องทางเข้า - ออก บ้านพักของผู้ฟ้องคดีและใช้วัสดุเดิมที่ผู้ฟ้องคดีทำไว้ เช่น ท่อระบายน้ำ บ่อพักน้ำ เป็นวัสดุก่อสร้าง    ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขโดยเว้นทางเข้า - ออกให้เหมือนเดิม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการ โดยอ้างว่าไม่สามารถแก้ไขได้เนื่องจากกรมทางหลวงไม่อนุญาต และผู้ฟ้องคดีมิได้โต้แย้งคัดค้านการดำเนินการ ทั้งการรื้อถอนจะทำให้ประโยชน์ส่วนรวมเสียหายและงบประมาณที่นำมาใช้ต้องเสียเปล่าโดยใช่เหตุ  จึงขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้ องคดีรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่กีดขวางทางเข้า - ออก ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และปรับปรุงให้อยู่ในสภาพเดิมและให้ชดใช้ค่าเสียหาย


                คดีนี้มีประเด็นที่สำคัญ คือ การกระทำขององค์การบริหารส่วนตำบลที่ก่อสร้างทางเท้าโดยมิได้เว้นช่องทางเข้า - ออกบ้านพักเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด ?

                ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างทางเข้า - ออก เพื่อเชื่อมต่อบ้านพักกับทางหลวงแผ่นดินก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ในปี พ.ศ. 2551 แต่ผู้ถูกฟ้องคดีกลับดำเนินการก่อสร้างทางเท้าดังกล่าวโดยมิได้เว้นช่องทางเข้า - ออกบ้านพักของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ไว้ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขที่กำหนดตามหนังสืออนุญาตของแขวงการทางสงขลา การก่อสร้างปรับปรุงทางเท้าพิพาทจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้ องคดีทั้งสี่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายเพราะเสียสิทธิในการใช้ทางเข้า - ออกบ้านพักได้ตามปกติตามที่แขวงการทางสงขลาได้อนุญาตไว้ และยังเป็นเหตุให้ผู้ฟ้ องคดีต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก กรณีจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดที่เกิดขึ้นกับผู้ฟ้ องคดีทั้งสี่ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539  พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อแก้ไขทางเท้าบริเวณหน้าบ้านผู้ฟ้องคดีทั้งสี่แล้วทำทางเข้า - ออกบ้านของผู้ฟ้ องคดีทั้งสี่ให้มีสภาพตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับอนุญาตจากแขวงการทางสงขลาเดิม และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 260/2556)                 

               คดีนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แม้จะเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์ แต่หากฝ่ายปกครองได้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขใดๆ ไว้ก็จำเป็นจะต้องเคารพต่อหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่ฝ่ายปกครองเป็นผู้กำหนดขึ้น มิใช่มุ่งแต่ประโยชน์ของคนส่วนใหญ่แต่อย่างเดียว เพราะประชาชนย่อมเชื่อโดยสุจริตว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ ที่ฝ่ ายปกครองกำหนดขึ้นใช้ในการดำเนินการทางปกครองนั้น เป็นความถูกต้องชอบธรรมที่ทั้งฝ่ายปกครองและประชาชนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามครับ !


               เครดิต :  นายปกครอง,หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...