25 ก.ค. 2559

รู้เห็นเป็นใจในทางที่ผิด จบเส้นทางชีวิต ... “ข้าราชการ” !


               
 ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการลักลอบนำโทรศัพท์มือถือ ยาเสพติด หรือแม้แต่อาวุธปืน เข้าไปซุกซ่อนไว้ในเรือนจำ นับเป็นข่าวที่ก่อให้เกิดความสงสัยว่า สิ่งของเหล่านี้ถูกนำเข้าไปในเรือนจำได้อย่างไร โดยวิธีการใด คำตอบหนึ่งที่อาจสันนิษฐานได้คงหนีไม่พ้นการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลเรือนจำ

                 ดังเช่น กรณีที่กรมราชทัณฑ์มีคำสั่งปลดเจ้าพนักงานราชทัณฑ์สังกัดเรือนจำจังหวัดออกจากราชการ เนื่องจากประพฤติตนไม่เหมาะสมและรู้เห็นเป็นใจให้มีการลักลอบนำอาวุธปืน และโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าไปในเรือนจำ รายละเอียดปรากฏใน คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๓๗๐/๒๕๕๔

                 ข้อเท็จจริงจากการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงปรากฏว่า ขณะผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ ๕ ปรากฏว่า ได้มีการลักลอบนำโทรศัพท์เคลื่อนที่และอาวุธปืนเข้าไปให้ผู้ต้องขังชาย ว. โดยนาง ส. ภรรยาผู้ต้องขังเป็นผู้ว่าจ้างให้นักโทษชาย น. ที่ทำ งานประจำร้านสงเคราะห์ของเรือนจำ นำเข้าไป โดยผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวรรักษาการณ์ประตูเป็นผู้รู้เห็นเป็นใจที่จะไม่ตรวจค้นตัวนักโทษชาย น. โดยมีการติดต่อกันไว้ก่อนแล้ว นอกจากนี้ ยังปรากฏว่า ระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในวันหยุดราชการได้ให้นาง ส. เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังชาย ว. หลายครั้ง และยังไปร่วมรับประทานอาหารและร้องเพลงร่วมกับนาง ส. และนักโทษชาย ย. ที่ร้านอาหารนอกเรือนจำ

                 คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยพิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความอุตสาหะ เอาใจใส่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงเห็นควรปลดออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (อธิบดีกรมราชทัณฑ์) จึงมีคา สั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ

                 ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงนาคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง

                 พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ ๕ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำให้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของเรือนจำ แสดงให้เห็นถึงการขาดคุณธรรม จริยธรรมของกรมราชทัณฑ์ หรือไม่ ?

                 ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ประตูจึงมีหน้าที่ตรวจค้นสิ่งของทุกอย่างที่จะนำเข้าไปในเรือนจำ ซึ่งหากใช้ความระมัดระวังและใส่ใจต่อการปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ประตูเรือนจำอย่างเคร่งครัดด้วยความอุตสาหะให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการแล้ว ย่อมจะต้องตรวจค้นสิ่งของ ที่จะนำผ่านเข้าไปในเรือนจำ

                 ประกอบกับคำให้การของนักโทษชาย ย. ที่ได้ให้การว่า นาง ส. ได้เคยเลี้ยงอาหารตนกับผู้ฟ้องคดีเพื่อตอบแทนที่ได้เข้าเยี่ยมนักโทษในวันหยุดราชการ และได้เคยไปรับประทานอาหารและร้องเพลงร่วมกันกับผู้ฟ้องคดีที่ร้านอาหารนอกเรือนจำ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของบุคคลดังกล่าวว่ามีความสนิทสนมกันเป็นอย่างดี และนักโทษชาย ย. เป็นผู้ต้องขัง จึงไม่มีสิทธิออกไปนอกเรือนจำ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการอย่างใด พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดี รวมทั้งการที่ไม่ตรวจค้นนักโทษชาย น. ทำให้มีการลักลอบนำ โทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าไปในเรือนจำ และการมีส่วนรู้เห็นในการนำอาวุธปืน ซึ่งแอบซุกซ่อนเข้ามาในกล่องผงซักฟอกผ่านเข้าไปในเรือนจำโดยไม่ได้ทำการตรวจค้นถือว่า ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ เมื่อผู้ฟ้องคดีซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ ๕ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำ ให้ปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของเรือนจำ แต่ผู้ฟ้องคดีกลับกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับของเรือนจำ ละเลยต่อหน้าที่ไม่ตรวจค้นตัวนักโทษ ปล่อยให้มีการลักลอบนำโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าไปในเรือนจำ โดยไม่ทำการตรวจค้นอย่างเคร่งครัดให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งเชื่อได้ว่า ผู้ฟ้องคดีมีส่วนรู้เห็นลักลอบนำโทรศัพท์เคลื่อนที่และอาวุธปืนเข้าไปในเรือนจำ ประกอบกับการที่ผู้ฟ้องคดีไปร่วมรับประทานอาหารนอกเรือนจำกับภรรยาของผู้ต้องขังพร้อมด้วยผู้ต้องขัง โดยไม่ใส่ใจนำผู้ต้องขังกลับเข้าเรือนจำ หรือแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบหรือรีบนำตัวผู้ต้องขังกลับเข้าเรือนจำ พฤติการณ์และการกระทำดังกล่าว นอกจากเป็นความผิดวินัยฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ไม่รักษาชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ของตนแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการขาดคุณธรรม จริยธรรมของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อเรือนจำ และกรมราชทัณฑ์ ทำให้เสียหายต่อภาพพจน์ ชื่อเสียงของทางราชการอย่างร้ายแรง พฤติการณ์และการกระทำดังกล่าวของผู้ฟ้องคดี ถือได้ว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๘๔ มาตรา ๘๕ และมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕

                 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยคำนึงถึงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ตลอดจนความเหมาะสมและมาตรฐานการลงโทษ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งที่ให้ปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

                 คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ได้นำเสนอดังกล่าวนี้ นับเป็นแนวปฏิบัติราชการที่ดีที่ทำให้ข้าราชการทุกคนได้รับรู้ว่า “หน้าที่” ที่ต้องปฏิบัตินั้นไม่ใช่เพียงแค่การปฏิบัติตนไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเท่าน้้น แต่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะต้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไปด้วยความอุตสาหะ ระมัดระวัง และใส่ใจต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาประโยชน์ของทางราชการ และเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับข้าราชการทุกคนว่า ชื่อเสียงและเกียรติศักด์ิของตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่นั้นมีความสำคัญไม่เพียงแต่เฉพาะตัวของข้าราชการผู้นั้นเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงภาพพจน์และชื่อเสียงของหน่วยงานต้นสังกัดและระบบบริหารราชการแผ่นดินด้วย ดังนั้น การที่ข้าราชการไม่เคร่งครัดหรือไม่ใส่ใจยึดมั่นต่อคุณธรรมและจริยธรรมในตำแหน่งหน้าที่ของตน นอกจากจะมีความผิดทางวินัยแล้ว ยังถือเป็นการทำลายภาพพจน์ขององค์กรและเพื่อนร่วมอาชีพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ... ครับ


                 เครดิต นายปกครอง , หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 3 มีนาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...