25 ก.ค. 2559

ร้องเรียนเพราะถูกแกล้ง ... อาจไม่ผิดวินัยร้ายแรงเสมอไป


               หลายๆ คนคงเคยได้เห็นหรือเคยได้ยินข่าวการร้องเรียนข้าราชการว่า ประพฤติมิชอบ และเชื่อว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อไปแล้วว่า มีการกระทำผิดจริง แต่แท้จริงแล้ว แม้กฎหมายจะเปิดโอกาสให้ประชาชนตรวจสอบการทำหน้าที่ของข้าราชการก็ตาม แต่มิได้หมายความว่า ข้าราชการผู้นั้นจะต้องรับผิดถูกลงโทษทางวินัยเพียงเพราะมีการร้องเรียนเสมอไป เนื่องจากการพิจารณาลงโทษข้าราชการที่กระทาผิดวินัยต้องเป็นไปโดยถูกต้อง เหมาะสม และมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีการกระทำผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหา

               ดังเช่นคดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องของนางสาว ก. ที่ร้องเรียนกล่าวหาผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจว่า กลั่นแกล้งยึดใบอนุญาตขับขี่ของนาย ข. คนขับรถของตน เพื่อเรียกเงินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในชั้นสอบสวนข้อเท็จจริง เห็นว่า ผู้ร้องเรียนและพยานยืนยันว่า ได้มีการเรียกเงินจริง กรณีน่าเชื่อว่า ผู้ฟ้องคดีพยายามรีดไถเงินจากนางสาว ก. อันเป็นการเรียกรับประโยชน์เพื่อตนเองโดยมิชอบ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่ในชั้นของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย เห็นว่า ผู้ร้องเรียนและพยานไม่ได้ยืนยันถึงการเรียกเงินดังกล่าว และให้การทำนองว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้เรียกร้องเงิน และไม่ได้ให้เงินผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์หน่วงเหนี่ยวล่าช้าในการออกใบสั่ง และไม่นำส่งใบสั่งและใบอนุญาตขับขี่ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ อันเป็นการไม่ประพฤติตนให้เคร่งครัดต่อมรรยาทและระเบียบแบบแผนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยตำรวจ ผู้ฟ้องคดีจึงมิได้กระทำผิดวินัยร้ายแรงตามที่ถูกร้องเรียน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรจึงมีคำสั่งลงทัณฑ์กักขังผู้ฟ้องคดีเป็นเวลา 15 วัน

               แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการข้าราชการตารวจ) กลับเห็นว่า คำให้การในชั้นสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นคำให้การเบื้องต้นและใกล้ชิดกับเหตุการณ์ จึงน่าเชื่อว่าการกระทำ ของผู้ฟ้องคดีเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้บัญชาการตารวจแห่งชาติ) จึงมีคำสั่งเพิ่มโทษผู้ฟ้องคดีเป็นไล่ออกจากราชการ

               ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (นายกรัฐมนตรี) ก็มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

               เมื่อการรับฟังพยานหลักฐานในชั้นการสอบสวนข้อเท็จจริงและในชั้นการสอบสวนทางวินัยแตกต่างกัน ผู้มีอำนาจพิจารณาโทษทางวินัยควรจะวินิจฉัยโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือรับฟังพยานหลักฐานอย่างไร ?

               คำสั่งเพิ่มโทษผู้ฟ้องคดี จากลงทัณฑ์กักขัง 15 วัน เป็นไล่ออกจากราชการ เป็นคำ สั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ ?

               ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การที่ผู้ฟ้องคดีไม่นำส่งใบสั่งและใบอนุญาตขับขี่ที่ยึดไว้ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และฝากให้ผู้อื่นคืนใบอนุญาตขับขี่ให้กับบิดาของผู้ร้องเรียน โดยไม่ได้ดำเนินการใดๆ ตามกฎหมายแก่นาย ข. คนขับรถนั้น แม้พฤติการณ์จะมีข้อน่าสงสัยและฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่หนักแน่นชัดเจนให้เชื่อได้ว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ราชการอันเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง พฤติการณ์การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นเพียงกรณีมีเหตุอันควรสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า น่าจะกระทาผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหา แต่ผลการสอบสวนก็ยังไม่พอที่จะรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ โดยทุจริตต่อหน้าที่ราชการอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งเพิ่มโทษผู้ฟ้องคดีเป็นไล่ออกจากราชการ ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการย่อมไม่ถูกต้องเหมาะสม คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบแล้ว คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

               อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับได้แค่เพียงเพิกถอนคำสั่งตามคำ ขอเท่านั้น หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีมีเหตุอันควรสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า น่าจะกระทาผิดจริง ก็ย่อมมีอำนาจสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเพราะเหตุมีมลทินหรือมัวหมอง ซึ่งการรับราชการต่อไปอาจเป็นการเสียหายแก่ราชการได้ จึงพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง เฉพาะส่วนที่เพิ่มโทษ คือ ไล่ออกจากราชการ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการให้ผู้ฟ้องคดีกลับคืนสู่สถานภาพเดิม เสมือนหนึ่งมิได้มีคำสั่งให้ออกจากราชการภายใน 45 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 115/2555)

               คดีนี้นอกจากจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสาหรับผู้มีอำนาจพิจารณาโทษทางวินัยข้าราชการว่า จะนำข้อเท็จจริงที่ยังเป็นข้อสงสัยว่า มีการกระทำความผิดมาเป็นเหตุลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงมิได้ แต่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานให้ปรากฏอย่างชัดเจนและหนักแน่นเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า ข้าราชการผู้นั้นได้กระทำผิดจริงเท่านั้น ส่วนข้าราชการผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในงานราชการก็ควรจะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เป็นไปตามระเบียบกฎเกณฑ์ข้อบังคับด้วยความเคร่งครัดและระมัดระวัง เพราะหากมีการร้องเรียนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพราะการกลั่นแกล้งหรือเพื่อให้ความจริงเปิดเผยก็ตาม แม้พฤติการณ์ของการกระทาจะไม่ถึงขั้นผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่อาจถือว่ามีมลทินหรือ มัวหมองที่เป็นเหตุให้ต้องออกจากราชการก็ได้ ... ครับ !


               เครดิต นายปกครอง , หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...