25 ก.ค. 2559

“ไม่มีสิทธิ” โดยชอบด้วยกฎหมาย ... ก็ “ไม่ได้รับสิทธิ” คุ้มครอง


             
      การได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานก่อนที่เจ้าหน้าที่จะออกคำสั่งทางปกครองถือเป็น “สิทธิ” อย่างหนึ่งของคู่กรณีในกระบวนพิจารณาทางปกครองที่เจ้าหน้าที่จะต้องให้โอกาสดังกล่าว แต่หากคู่กรณีเป็นผู้กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเสียเองจนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องออกคำสั่งให้ระงับการกระทำนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองจะต้องให้โอกาสแก่คู่กรณีดังกล่าวหรือไม่

                    คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ เป็นเรื่องของผู้ฟ้องคดี (หัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำ) ในฐานะเจ้าท่าตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายออกคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอาคารสำหรับจอดเรือออกไปให้พ้นจากลำคลองสาธารณะภายในหกสิบวัน เนื่องจากปลูกสร้างล่วงล้ำเข้าไปในลำคลองอันเป็นทางสัญจรที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ ที่จะอนุญาตให้ปลูกสร้างได้ แต่เมื่อครบกำหนดเวลาตามคำสั่ง ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอาคารแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนอาคารพิพาท

                 ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่า คำสั่งดังกล่าวกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกฟ้องคดี แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ให้โอกาสในการทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและไม่ให้โอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน จึงเป็นการออกคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง

                  คดีนี้มีหลักกฎหมายที่สำคัญคือ พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง ซึ่งได้กำหนดว่า “ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน”

                    ดังนั้น ประเด็นสำคัญในคดีนี้ก็คือ คำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอาคารออกไปให้พ้นจาก ลำคลองสาธารณะ ถือเป็นคำสั่งที่กระทบสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดี หรือไม่ ? และหากเป็นคำสั่งที่กระทบสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดี เจ้าหน้าที่จะต้องให้โอกาสผู้ถูกฟ้องคดีได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน หรือไม่ ?

                     ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้ก่อสร้างอาคารพิพาทล่วงล้ำเข้าไปในลำคลองสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 117 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ผู้ฟ้องคดีจึงออกคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนอาคารพิพาท แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการรื้อถอนแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีความผิดตามกฎหมาย

                     เมื่อคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนอาคารพิพาทเป็นคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายบังคับให้ ผู้ถูกฟ้องคดีต้องปฏิบัติตาม จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

                      แต่อย่างไรก็ตาม การที่มาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ให้ใช้บังคับสำหรับคำสั่งทางปกครองที่ “อาจกระทบถึงสิทธิ” ของคู่กรณี ก็มิได้หมายความว่าคำสั่งทางปกครองทุกประเภทจะเป็นคำสั่งที่กระทบสิทธิของคู่กรณี ดังนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งจะต้องเป็นผู้พิจารณาว่า เป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติรับรองหรือคุ้มครองสิทธิของคู่กรณีดังกล่าวไว้แล้วหรือไม่ หรือมีการรับรองสิทธิจากเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจอนุญาต ตามกฎหมายหรือไม่

                         เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งว่า การใช้อำนาจของผู้ฟ้องคดีในการสั่งรื้อถอนอาคารพิพาทเป็น การดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ดังนั้น การใช้อำนาจดังกล่าวจึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองบังคับกับผู้ที่่กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อให้กระทำการตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่เป็นผู้มี “สิทธิ” ที่จะได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามกฎหมายหรือจากการได้รับอนุญาต อันอาจถูกกระทบตามนัยของมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แต่อย่างใด   ผู้ฟ้องคดีจึงย่อมอาศัยอำนาจตามกฎหมายออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทได้ โดยไม่จำต้องดำเนินการตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว  คำสั่งของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 579/2555)

                    คดีนี้เป็นการอธิบายหลักกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของคู่กรณีที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสในการโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะออกคำสั่งทางปกครองนั้น โดยเจ้าหน้าที่จะต้องพิจารณาก่อนว่าคู่กรณีเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับการรับรองและคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่ หากไม่มีสิทธิ ก็ไม่จำต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมายดังกล่าว 
                    
                    นอกจากนี้ยังเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสาหรับคู่กรณีที่กระทำการใดๆ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายได้ทราบว่า “เมื่อไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ย่อมไม่สามารถเรียกร้องสิทธิให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อตนเช่นกัน” ครับ !


                    นายปกครอง,หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...