15 ก.ค. 2559

การคัดค้านผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน


           
             1. ในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการเพื่อที่จะดำเนินการออกคำสั่งทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการจะต้องมีการพิจารณาทางปกครองก่อนที่จะดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองในที่สุดนั้น พระราชบัญญัติวีธีปฏิบัติราชการทางปกครองพ.ศ.2539 มาตรา 12 ถึง มาตรา 20 วางหลักเกณฑ์ในสาระสำคัญว่าเจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองจะต้องไม่เข้าข้อห้ามตามที่มาตรา 13 กำหนด นอกจากนั้นในมาตรา 16 เองก็บัญญัติโดยสรุปว่า ในกรณีที่มีเหตุอื่นใดนอกจากตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 13 เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ที่มีสภาพร้ายแรง อันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง เจ้าหน้าที่ผู้นั้นจะร่วมทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้

             2. ในกรณีเจ้าหน้าที่เห็นว่า ตนมีกรณีดังกล่าวก็ให้หยุดการพิจารณาไว้ก่อนและแจ้งผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปทราบ หรือหากเห็นว่าตนไม่มีเหตุตามที่คัดค้านจะพิจารณาเรื่องนั้นต่อไปก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปด้วย ทั้งนี้ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นพิจารณามีคำสั่งโดยไม่ชักช้าว่า ผู้นั้นมีอำนาจพิจารณาทางปกครองหรือไม่ (มาตรา 16 วรรคสอง)

             3. ปัญหาประเด็นเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ผู้ถูกกล่าวหาจะคัดค้านผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้ หรือไม่

             4. ประเด็นดังกล่าว คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้พิจารณาให้ความเห็นไว้โดยสรุปว่า บทบัญญัติมาตรา 13 และมาตรา 16 ซึ่งบัญญัติลักษณะต้องห้ามของเจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ โดยมีความมุ่งหมายที่จะใช้บังคับเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาเนื้อหาสาระของเรื่อง เพื่อจะนำไปสู่การออกคำสั่งทางปกครองเพื่อให้การพิจารณาทางปกครองดำเนินการโดยบุคคลที่เป็นกลาง ดังนั้นการพิจารณาดังกล่าวจึงต้องพิจารณาขอบเขตการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่นั้นว่ามีความสัมพันธ์กับการพิจารณาทางปกครองถึงระดับที่จะทำให้ผลการพิจารณาทางปกครองเสียความเป็นกลางหรือไม่

       สำหรับปัญหาเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยนั้น การพิจารณาทางปกครองสำหรับการดำเนินการทางวินัยเริ่มตั้งแต่การดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวนเป็นต้นไป ผู้ออกคำสั่งมิใช่เป็นผู้พิจารณา แต่เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่สามารถคัดค้านผู้บังคับบัญชาเพื่อมิให้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้ แต่อาจคัดค้านกรรมการสอบสวนได้ (ความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ 366/2550)

             5. ตรงนี้ ในภาพของข้าราชการพลเรือนสามัญนะครับ แต่ในส่วนของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา มีข้อมูลว่าสามารถคัดค้านผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้ ลองตามดูนะ


             เครดิต : ราชการแนวหน้า หนังสือพิมพ์แนวหน้า 26 พฤษภาคม 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...