25 ก.ค. 2559

ผิดวินัย...เพราะ (ตั้งใจ) จ่ายเงินไม่ระมัดระวัง


               
 หลายครั้งที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาวางไว้เป็นบรรทัดฐานเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติของข้าราชการ และหลายครั้งที่แฟนคอลัมน์ “รู้เฟื่องเรื่องกฎหมายปกครอง” ได้ศึกษาอุทาหรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ข้าราชการทุจริตเบียดบังเงินของราชการเป็นของตนเอง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ผู้กระทำผิดต้องรับผิดชอบชดใช้เงินคืนให้กับราชการ ยิ่งกว่านั้น ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมกำกับดูแลและตรวจสอบกลั่นกรองงานของผู้ใต้บังคับบัญชา หากประมาทเลินเล่อไม่สอดส่องควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือเปิดโอกาสให้มีการทุจริตหรือไม่ยึดถือและปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด ปล่อยปละละเลยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาฉวยโอกาสจากตำแหน่งหน้าที่ราชการกระทำการทุจริต ก็ย่อมหลีกหนีความรับผิดไม่พ้นอีกเช่นกัน

                 อีกสักครั้ง กับอุทาหรณ์การลงโทษผู้บังคับบัญชาที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเงินของส่วนราชการ แต่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของทางราชการ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และยังส่งผลให้ตนเองถูกลงโทษทางวินัยไล่ออกจากราชการ

                 คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดี) มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งดำรงตำแหน่งสารวัตรฝ่ายการเงิน ออกจากราชการ เนื่องจากตรวจพบว่าใบสั่งจ่ายเงินงบประมาณ จำนวน ๓ ฉบับ มีรอยขูดลบเลขที่ฎีกา ชื่อผู้รับเงินและลายมือชื่อผู้รับเงิน แต่ผู้ฟ้องคดีกลับสั่งให้จ่ายเงินให้กับผู้รับเงินได้ โดยผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่า ตนได้มอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชารับผิดชอบในการตรวจสอบใบสำคัญสั่งจ่ายเงินและลงนามในใบสั่งจ่ายเงินแต่ละวันแล้ว จึงไม่ทราบว่า ฎีกามีรอยขูดลบ ทั้งไม่ปรากฏลายมือชื่อของผู้ฟ้องคดีเป็นผู้อนุมัติในฎีกาด้วย ฉะนั้น การมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการจึงไม่เป็นธรรม

                 ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยอมรับว่า มอบหมายให้ร้อยตำรวจโทหญิง ฉ.ลงนามในช่องจ่ายเงินตามใบสำคัญสั่งจ่ายเงินแทน และในการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเงินนั้น ผู้ฟ้องคดีให้การยอมรับและเจือสมกับคำให้การของร้อยตำรวจโทหญิง ฉ. ว่า ได้ตรวจพบและรายงานพร้อมทั้งขอความเห็นต่อผู้ฟ้องคดีว่า “ใบสั่งจ่ายเงินตามฎีกามีรอยขูดลบแก้ไขด้วยน้ำยาลบคำผิดและยางลบในช่องผู้มีสิทธิรับเงินในช่องหลักฐานการรับเงิน ในช่องลงชื่อผู้รับเงิน อีกทั้งไม่แนบบัตรประจำตัวผู้รับเงินด้วยอันเป็นการผิดระเบียบ” แต่ผู้ฟ้องคดีสั่งให้จ่ายเงินได้โดยให้เหตุผลว่า “ผ่านการอนุมัติแล้ว คนทำเอกสารก็ยืนอยู่ที่นี่ และจ่ายถูกต้องตรงตัว ผู้รับเงินมาจริง” กรณีแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่า ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามหมวด ๒ ส่วนที่ ๑ ข้อ ๒๙ ของระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. ๒๕๒๐ (แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๑)ซึ่งกำหนดว่า “หลักฐานการจ่ายต้องพิมพ์หรือเขียนด้วยหมึก การแก้ไขหลักฐานการจ่าย ให้ใช้วิธีขีดฆ่าแล้วพิมพ์หรือเขียนใหม่ แล้วให้ผู้รับเงินลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกแห่ง” ถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีในฐานะที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงิน และเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ตรวจสอบให้ชัดเจนตามที่ระเบียบกำหนดไว้ ซึ่งสามารถใช้ความระมัดระวังป้องกันเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการไม่ อีกทั้งเมื่อพบว่า มีการปฏิบัติผิดระเบียบอันเป็นสาระสำคัญกลับเพิกเฉยไม่สั่งให้แก้ไขการปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่กลับฝ่าฝืนระเบียบให้มีการจ่ายเงินไปจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๘๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังนั้นคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการจึงเป็นคำสั่งที่ถูกต้องและเหมาะสมกับการกระทำของผู้ฟ้องคดี (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๒๒๔/๒๕๕๑)

                 คดีนี้คงเป็นอุทาหรณ์ให้กับข้าราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินของราชการได้เป็นอย่างดี อย่างน้อย ๒ ประการ คือ

                 (๑) ถึงแม้จะได้มอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาลงชื่อในใบสั่งจ่ายเงินแล้ว แต่ผู้บังคับบัญชาในฐานะที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงิน ยังคงมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังและละเอียดรอบคอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ มิใช่จะปล่อยปละละเลยให้เป็นความรับผิดชอบของผู้ใต้บังคับบัญชาแต่เพียงลำพัง ดังเช่นคดีนี้เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาได้สอบถามและแจ้งให้ทราบแล้วว่า ใบฎีกาจ่ายเงินไม่ถูกต้องตามระเบียบ แต่ผู้ฟ้องคดีก็มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง อันถือได้ว่า (ตั้งใจ) ไม่ใช้ความระมัดระวังเพื่อรักษาผลประโยชน์ของราชการ โดยไม่ถือปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาเงินของทางราชการอย่างเคร่งครัด

                 (๒) เลขฎีกา ชื่อผู้รับเงิน ลายมือชื่อผู้มีสิทธิรับเงิน ลายมือชื่อผู้มีอำนาจอนุมัติชื่อผู้มอบฉันทะให้รับเงิน จำนวนเงินที่เป็นตัวเลขและตัวอักษร การแนบบัตรประจำตัวข้าราชการหรือบัตรประจำตัวประชาชน เป็นรายละเอียดอันเป็นสาระสำคัญของฎีกา หากจำเป็นต้องแก้ไขจะต้องปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด เพราะระเบียบเกี่ยวกับการเก็บรักษาเงินของราชการไม่ว่าส่วนราชการใดก็ตาม มีวัตถุประสงค์สำคัญคือนอกจากจะควบคุม กำกับดูแลการรับจ่ายเงินและเก็บรักษาเงินของราชการมิให้รั่วไหลแล้ว ยังเป็นการป้องกันการทุจริตอันจะทำให้เกิดความเสียหายกับราชการ


                 เครดิต นางสาวฐิติพร ป่านไหม พนักงานคดีปกครอง ๔ , ตรวจแก้ไขโดย นางสาวปรานี สุขศรี พนักงานคดีปกครอง ๗ว , สำนักวิชาการและความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานศาลปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...