6 ก.ค. 2559

ขาดราชการเกินกว่า ๑๕ วัน ... ต้องให้โอกาสคู่กรณีด้วย


                       
 ตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กำหนดหลักการคุ้มครองสิทธิของ “คู่กรณี” ในการพิจารณาทางปกครองก่อนออกคำสั่งทางครอง เช่น คำสั่งลงโทษทางวินัย ไล่ออกจากราชการ ปลดออกจากราชการ หรือคำสั่งอื่น ๆ อันมีผลกระทบต่อสิทธิของคู่กรณีว่า ฝ่ายปกครองซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจทางปกครองจะต้องให้โอกาสคู่กรณีได้ชี้แจงโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานตามหลักการรับฟังความสองฝ่าย อันเป็นหลักกฎหมายปกครองที่คุ้มครองคู่กรณีให้ได้รับการพิจารณาทางปกครองด้วยความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม มาตรา ๓๐ วรรคสอง (๑) - (๖) ของกฎหมายเดียวกัน ได้ยกเว้นหลักการรับฟังความสองฝ่ายไว้บางประการอันเป็นผลให้ฝ่ายปกครองไม่จำเป็นต้องให้โอกาสคู่กรณีได้ชี้แจง โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานก็ได้ หรือกรณีตามมาตรา ๓๐ วรรคสาม ของกฎหมายเดียวกัน ที่ห้ามฝ่ายปกครองให้โอกาสคู่กรณีได้ชี้แจงโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน

                        ในการลงโทษทางวินัยข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ หรือพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับวินัยของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนข้างต้นจะมีบทบัญญัติความผิดทางวินัยไว้ทำนองเดียวกัน เช่น กรณีละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวัน ถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงและเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการทางวินัยโดยไม่สอบสวนหรืองดการสอบสวนก็ได้

                        คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในคอลัมน์ระเบียบกฎหมายฉบับนี้ แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ แต่ถือเป็นข้อมูลทางวิชาการกฎหมายที่ฝ่ายปกครอง ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไปจำเป็นต้องรู้เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการให้ถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตามที่กฎหมายกำหนด กรณีมีพฤติการณ์ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ความคุ้มครองสิทธิของคู่กรณีตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือไม่ อย่างไร

                        ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานส่วนตำบลถูกกล่าวหาว่าละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวัน เทศบาลตำบลจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง จากการตรวจสอบบันทึกลงเวลาปฏิบัติงานปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้ลงชื่อปฏิบัติงานในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ ๑๕ สิงหาคม ถึงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๐ รวม ๔๑ วัน และจากการสอบปากคำผู้บังคับบัญชาชั้นต้นและเพื่อนร่วมงานต่างให้ถ้อยคำว่าไม่เห็นผู้ฟ้องคดีมาปฏิบัติงานในช่วงเวลาดังกล่าว คณะกรรมการจึงมีมติว่าผู้ฟ้องคดีขาดราชการโดยไม่มีเหตุอันสมควร และเทศบาลตำบลได้มีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ

                        ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ก่อนเทศบาลตำบลจะมีคำสั่งไล่ออกจากราชการนั้น คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงไม่แจ้งข้อกล่าวหา และไม่ได้ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีชี้แจงแสดงพยานหลักฐานแต่อย่างใด จึงอุทธรณ์คำสั่ง แต่เทศบาลตำบลไม่ได้พิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา ผู้ฟ้องคดีจึงนำมาฟ้องต่อศาลปกครองเทศบาลตำบลอ้างว่า การกระทำความผิดฐานละทิ้งหน้าที่ราชการเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และเป็นความที่ผิดปรากฏชัดแจ้ง ซึ่งผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ดุลพินิจออกคำสั่งลงโทษโดยไม่ต้องสอบสวนได้ และในกรณีดังกล่าวได้มีการดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงตามสมควรแล้ว

                        ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในคดีนี้คือ หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนพิจารณา ข้อ ๑๓ ข้อ ๒๓ และข้อ ๓๑ ของประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ซึ่งกำหนดว่า ในการพิจารณาลงโทษทางวินัยพนักงานส่วนตำบล ไม่ว่าจะเป็นกรณีความผิดที่มีมูลควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงหรืออย่างร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจดำเนินการทางวินัย ต้องสอบสวนเพื่อให้ทราบความจริงเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหาและความยุติธรรมโดยไม่ชักช้า และต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา กรณีที่พนักงานส่วนตำบลละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเกินกว่าสิบห้าวันทำการ ถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง และเมื่อประธานกรรมการบริหารส่วนตำบลได้สืบสวนแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของราชการจะไม่ต้องสอบสวนหรืองดการสอบสวนก็ได้

                        ประเด็นที่น่าสนใจมีว่า ในชั้นการสืบสวนดังกล่าว ต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานหรือไม่ !

                        ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า กรณีที่จะเป็นความผิดฐานละทิ้งหน้าที่ราชการ ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการและไม่สามารถติดตามตัวได้นับแต่วันแรกที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการและต้องเป็นเวลาติดต่อในคราวเดียวกันเกินกว่าสิบห้าวัน และผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสอบถามจากผู้บังคับบัญชาชั้นต้น เพื่อนร่วมงานรวมไปถึงญาติหรือผู้ใกล้ชิดของผู้ถูกกล่าวหาเพื่อหาสาเหตุของการละทิ้งหน้าที่ราชการว่ามีเหตุสมควรหรือไม่ และหากในภายหลังผู้ถูกกล่าวหาได้ปรากฏตัวและแสดงตัวให้สามารถทำการสอบสวนได้แล้ว ผู้บังคับบัญชาจะต้องดำเนินการสอบสวนจากตัวผู้ถูกกล่าวหาเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสได้ชี้แจงแสดงพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้แก้ข้อกล่าวหา เพื่อให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายรับฟังความสองฝ่ายตามข้อ ๒๓ ของประกาศฯ ดังกล่าวและสอดคล้องกับมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อการสืบสวนข้อเท็จจริงพบว่า หลังจากวันที่ผู้ฟ้องคดีขาดราชการไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน ปลัดองค์การบริหารราชการส่วนตำบลได้พบผู้ฟ้องคดีจึงเรียกเข้าไปสอบถามถึงการขาดราชการพร้อมทั้งแจ้งให้ทราบว่าเป็นความผิดวินัยมีโทษไล่ออกหรือปลดออกจากราชการ และเสนอทางเลือกให้ผู้ฟ้องคดีขอลาออกจากราชการเอง โดยมิได้บังคับขู่เข็ญ และในขณะนั้นยังมิได้มีการดำเนินการทางวินัยกับผู้ฟ้องคดี จึงรับฟังยุติว่า หลังจากวันที่ผู้ฟ้องคดีขาดราชการไปอย่างช้าที่สุดหนึ่งเดือนและก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือมีคำสั่งลงโทษทางวินัย ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจได้พบตัวผู้ฟ้องคดี จึงย่อมสามารถสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริง โดยการสอบสวนจากตัวผู้ฟ้องคดีเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีมีโอกาสชี้แจงแสดงพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้แก้ข้อกล่าวหา หรือโดยการสอบปากคำจากญาติของผู้ฟ้องคดี หรือสอบปากคำบุคคลอื่นที่ใกล้ชิดกับผู้ฟ้องคดีไม่ว่าจะเป็นภรรยา บุตร บิดามารดา หรือญาติพี่น้อง เพื่อประกอบการพิจารณา และให้ได้ความว่า การละทิ้งหน้าที่ราชการของผู้ฟ้องคดีนั้นไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก็หาได้ดำเนินการเช่นนั้นไม่ กลับมีเพียงถ้อยคำให้การของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น ข้อเท็จจริงจากการสืบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง จึงไม่เข้าเงื่อนไขเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ตามข้อ ๓๑ (๒) คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยมิได้มีการสอบสวนทางวินัยให้ถูกต้องจึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในกฎหมาย พิพากษาเพิกถอนคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีหรือผู้มีอำนาจสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการและให้คืนสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ในระหว่างที่ออกจากราชการให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามกฎหมายและระเบียบต่อไป (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๒๐๗/๒๕๕๗)

                        จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว จึงเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการที่ดีว่า การที่กฎหมายกำหนดความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงกรณีละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเกินกว่าสิบห้าวันและเป็นความผิดที่ปรากฏโดยชัดแจ้ง นอกจากจะต้องมีข้อเท็จจริงว่า (๑) ข้าราชการดังกล่าวไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการและไม่สามารถติดตามตัวได้นับแต่วันแรกที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการ (๒) ต้องเป็นเวลาติดต่อในคราวเดียวกันเกินกว่าสิบห้าวัน และ (๓) ผู้บังคับบัญชาได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาสาเหตุของการละทิ้งหน้าที่ราชการว่ามีเหตุสมควรหรือไม่ ถ้าหากข้าราชการผู้ถูกกล่าวหาได้ปรากฏตัวและแสดงตัวให้สามารถทำการสอบสวนได้ ก่อนที่จะออกคำสั่งลงโทษทางวินัยย่อมถือได้ว่าไม่เข้าเงื่อนไขกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ คือ การให้ผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสได้ชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้แก้ข้อกล่าวหาตามหลักการคุ้มครองสิทธิคู่กรณีในกระบวนการพิจารณาทางปกครองดังเช่นกรณีปกติทั่วไปในกระบวนการสอบสวนทางวินัย


                        เครดิต : นางสาวนิตา บุณยรัตน์ ,พนักงานคดีปกครองชำนาญการ , สำนักวิจัยและวิชาการ , คอลัมน์ระเบียบกฎหมาย วารสารกำนันผู้ใหญ่บ้าน ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๕๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...