14 ก.ค. 2559

คับข้องใจจากผู้บังคับบัญชา ... มาฟ้องศาลได้เมื่อใด ? ครับ !!


               
  ข้าราชการผู้ใดถูกสั่งลงโทษหรือสั่งให้ออกจากราชการหรือมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชา หรือเห็นว่าผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายระบบราชการไทยได้เปิดโอกาสให้ข้าราชการผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป หรือต่อผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ตามที่กฎหมายกำหนดและหากไม่พอใจผลการพิจารณาอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ ก็สามารถยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 หากยื่นฟ้องคดีเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ศาลปกครองมีอำนาจสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ


                  ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีหลายคดีที่ศาลปกครองไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาเพราะเหตุดังกล่าว ซึ่งอาจเนื่องมาจากความไม่รู้ว่า วันใดถือเป็นวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามที่กฎหมายกำหนด คดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดี (ปลัดกรุงเทพมหานคร) มีคำสั่งแต่งตั้งและเลื่อนข้าราชการกรุงเทพมหานครให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น แต่ไม่ได้แต่งตั้งและเลื่อนตำแหน่งผู้ฟ้องคดี ทั้งที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการแต่งตั้ง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการออกคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ยื่นหนังสือลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 ร้องทุกข์ต่อประธานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) แต่ก็ไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา ผู้ฟ้องคดีจึงมาฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 ขอให้เพิกถอนคาสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าว

               ในการวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 (ซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น) ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งตามมาตรา 130 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ประกอบกับข้อ 13 ของ กฎ ก.พ. ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ฯ กำหนดให้ผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือร้องทุกข์และเอกสารหลักฐาน และขยายระยะเวลาพิจารณาได้อีกไม่เกินสามสิบวันในกรณีจำเป็น และขยายเวลาได้อีกไม่เกินสามสิบวันในกรณีที่ยังไม่แล้วเสร็จ

               คดีนี้ จึงมีประเด็นที่น่าสนใจเป็นเบื้องต้นคือ อ.ก.ก. วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและพิทักษ์ระบบคุณธรรมซึ่งทำการแทนคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร จะต้องพิจารณาคำร้องทุกข์ให้เสร็จสิ้นภายในกี่วัน นับแต่เมื่อใด โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดี ในฐานะผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์และเป็นผู้ออกคำสั่งที่พิพาทสั่งการให้กองการเจ้าหน้าที่จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องและคำชี้แจงเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์โดยกองการเจ้าหน้าที่ได้มีหนังสือลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 จัดส่งเอกสารหลักฐานและคำชี้แจงแล้ว

                ในประเด็นนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า อ.ก.ก. วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและพิทักษ์ระบบคุณธรรมซึ่งทำการแทนคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ปัจจุบันตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครฯ พ.ศ. 2554 หมายถึง ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร) มีหน้าที่ต้องพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่กองการเจ้าหน้าที่จัดส่งเอกสารหลักฐานและคำชี้แจงแล้ว แต่เมื่อไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จ จึงได้ขยายระยะเวลาการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ออกไปอีกสองครั้ง ครั้งละสามสิบวัน ซึ่งครบกำหนดเวลาพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ให้แล้วเสร็จภายในวันที่่ 27 ตุลาคม 2553  กรณีจึงถือว่าวันที่ 28 ตุลาคม 2553 เป็นวันพ้นกำหนดการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์  สำหรับวันที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีคือวันใดนั้น ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2553 เป็นวันพ้นกำหนดการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 จึงเป็นการฟ้องคดีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 (คาสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 654/2554)

           คดีนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของฝ่ายปกครอง ซึ่งนอกจากจะต้องรู้ว่าวันใดเป็นวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีเพื่อใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายในกำหนดระยะเวลาแล้ว ก่อนที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองก็จะต้องดำเนินการ ตามขั้นตอนและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน เช่น การอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ต่อผู้มีอำนาจภายในฝ่ายปกครอง สำหรับในส่วนของข้าราชการกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมี ก.พ.ค. กรุงเทพมหานครซึ่งทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และร้องทุกข์โดยมีกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ทำหน้าที่ช่วยงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรับสมัครคณะกรรมการทั้งสองชุดดังกล่าว หากผู้ใดสนใจที่จะทำหน้าที่ปกป้องพิทักษ์ระบบคุณธรรมให้กับข้าราชการกรุงเทพมหานครก็สามารถดาวน์โหลดใบสมัครจากเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ก. ที่ http://www.bangkok.go.th/csc และยื่นใบสมัครได้ภายในวันที่ 11 มกราคม 2556 ครับ !!


เครดิต :  นายปกครอง ,หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม 2555)คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...