15 ก.ค. 2559

“ชู้สาว” ? วินัยและศีลธรรม


         
  หลังจากที่ชาวไทยได้ชื่นชมการทำหน้าที่ของคณะผู้แทนไทยในคดีปราสาทพระวิหารไปแล้วแม้จะเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาได้ว่าคำพิพากษาจะออกมาในแนวทางใดแต่หลายคนเชื่่อมั่นการทำหน้าที่ของ “องค์กรตุลาการ” ที่อำนวยความยุติธรรมกับทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับศาลปกครองที่ได้รับความเชื่อมั่นต่อการทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนชาวไทยจวบจนอายุย่างเข้าปีที่ 13 ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556

           คดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังฉบับนี้เป็นกรณีที่ศาลปกครองได้ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ออกคำสั่งลงโทษทางวินัยข้าราชการเนื่องจากมีพฤติการณ์ “ขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม”
           
           รื่องราวของคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1) มีคำสั่งตามมติของอนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่1 (ก.ตร.) ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจออกจากราชการตามมาตรา 98 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 กรณีมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับนาง น. ในขณะที่เป็นภรรยาของนาย ป. และมีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ทั้งที่ตนเองก็มีภรรยาอยู่แล้วเช่นกัน

           หลังจากได้รับคำสั่งผู้ฟ้องคดีก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้มีอำนาจ แต่อนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ก.ตร.) มีมติยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งลงโทษไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่ทราบความจริงว่านาง น. มีสามีและยังไม่ได้หย่าขาดจากกัน และการที่ตนมีภรรยาอยู่แล้วแต่ไปยุ่งเกี่ยวกับหญิงอื่นในทางชู้สาวก็เป็นเพียงความผิดวินัยไม่ร้ายแรงฐานประพฤติตนไม่เหมาะสม ไม่ถึงกับเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อีกทั้งได้รับการลงทัณฑ์กักขัง 30 วันจากฐานความผิดนี้แล้ว  จึงขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการ

           คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้อธิบายถึงแนวทางการพิจารณาว่าการกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงว่าจะต้องพิจารณาถึงเกียรติของข้าราชการผู้นั้น และความรู้สึกของสังคมที่มีต่อการกระทำของข้าราชการผู้นั้นประกอบกับเจตนาในการกระทำ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ของข้าราชการผู้นั้นว่าได้กระทำการอันทำให้ราชการได้รับความเสียหายต่อภาพพจน์ชื่อเสียงหรือไม่  ซึ่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 (ปัจจุบันได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547) บัญญัติให้นำบทบัญญัติเรื่องวินัยและการรักษาวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับโดยอนุโลมโดยมาตรา 98 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 (ขณะเกิดเหตุ) บัญญัติให้การกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงและให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษปลดออกหรือให้ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี ประเด็นว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีถือเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ ? ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าจากถ้อยคำของพยานบุคคลประกอบคำรับสารภาพของผู้ฟ้องคดีรับฟังเป็นยุติได้ว่าผู้ฟ้องคดีกับนาง น. มีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวก่อนที่นาย ป. กับนาง น.จะหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน จึงรับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่าผู้ฟ้องคดีมีเพศสัมพันธ์กับนาง น. ในขณะที่นาง น. เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายป. นอกจากนี้ จากพยานหลักฐาน อาทิถ้อยคำของพี่สาวนาง น.ซึ่งไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ฟ้องคดีว่าได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบถึงสถานะของนางน. ประกอบเมื่อพิจารณาพฤติการณ์แวดล้อมและลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นฟังเป็นที่ยุติได้ว่า ในขณะที่มีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาว ผู้ฟ้องคดีทราบดีว่านางน. ยังเป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนาย ป.และการกระทำดังกล่าวส่งผลให้ชีวิตสมรสของนาย ป. ต้องหย่าขาดจากกัน และขณะเกิดเหตุ  ผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจสถานภาพของการเป็นข้าราชการตำรวจย่อมได้รับการยกย่องนับถือจากบุคคลทั่วไปว่าเป็นผู้มีเกียรติและศักดิ์ศรี ต้องประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัดเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม การมีพฤติกรรมที่เสื่อมเสียเกียรติและภาพพจน์ของข้าราชการ และขัดกับศีลธรรมอันดีของสังคมเสียเองย่อมเป็นพฤติการณ์และการกระทำที่ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 98 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีคำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 590/2555)

           คดีนี้นอกจากศาลปกครองจะทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้กับผู้เกี่ยวข้องทั่วทุกคนในคดีแล้ว หน่วยงานของรัฐยังสามารถนำแนวทางการพิจารณา “การกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง” ไปใช้เป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการที่ดีและเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับข้าราชการทั่วไปที่จะต้องประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัดเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม โดยเฉพาะพฤติการณ์ในเรื่อง “ชู้สาว” ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการกระทำผิดทางวินัยให้ต้องออกจากราชการเท่านั้น ยังเป็นการกระทำที่ผิดต่อศีลธรรมอันดีของสังคมด้วย ... ครับ


           เครดิต : นายปกครอง (หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครองฉบับวันเสาร์ที่ 27 เมษายน2556)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...