14 ก.ค. 2559

เงินรางวัลประจำปีของท้องถิ่น


         
     1. ในภาคราชการพลเรือนมีการจ่ายเงินรางวัลประจำปีให้แก่ข้าราชการที่ปฏิบัติงานได้ดีจนได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน ก็จะได้รับตามสัดส่วนของเงินรางวัลที่ได้รับจัดสรรบ้าง หรือเงินงบประมาณเหลือจ่ายบ้างเป็นปีๆ ไป

               2. ในภาคราชการส่วนท้องถิ่นก็ได้ดำเนินการมาในลักษณะคล้ายคลึงกันโดยเรียกว่า เงินประโยชน์ตอบแทนอื่นสำหรับข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นกรณีพิเศษเช่นกัน และได้ดำเนินการมาโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 33(1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 และประกาศของคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ลงวันที่ 25 มิ.ย.2544 ตามข้อ 7 กำหนดให้มีการจัดประโยชน์ตอบแทนอื่นแก่พนักงานส่วนท้องถิ่นได้ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่บริหารจัดการการจ่ายเงินเดือน ประโยชน์ตอบแทนอื่นและเงินค่าจ้างได้ต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฯ ก็สามารถจัดประโยชน์ตอบแทนอื่นแก่พนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นพิเศษอีกได้

               3. บรรดาคณะกรรมการกลางของข้าราชการและพนักงานตลอดจนระดับจังหวัดก็ได้ออก ประกาศรองรับให้ดำเนินการและเบิกจ่ายตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับ เงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 ข้อ 46

               4. แต่ปัญหาเกิดขึ้น ตรงที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้เข้าไปตรวจสอบแล้วมีความเห็นโดยสรุป แจ้งกระทรวงมหาดไทยว่า กรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นสำหรับข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นกรณีพิเศษ (เงินรางวัลประจำปี) ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายหรือระเบียบใดกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ่ายเงิน ดังกล่าวได้ เพราะว่ามาตรา 33(1) และข้อ 7 และข้อ 17 ของประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานส่วนท้องถิ่นฯ เป็นเรื่องเฉพาะการบริหารงานบุคคลเท่านั้น จึงขอให้ทบทวนหากไม่เห็นด้วย ให้หารือคณะกรรมการกฤษฎีกา

               5. กระทรวงมหาดไทยจึงได้หารือคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่1) ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นโดยสรุปว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทกำหนดรายได้และรายจ่ายไว้อย่างชัดเจน ภายในกรอบที่กฎหมายจัดตั้งกำหนดเช่น ม.73 ม.74 (อบจ.) ม.66 และ ม.67 (เทศบาล) และ ม.82 ม.84 (อบต.) โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถกำหนดให้มีรายจ่ายนอกเหนือไปจากที่ กฎหมายกำหนด หากมีรายจ่ายใดที่อยู่นอกเหนือจากที่ระบุไว้และกระทรวงมหาดไทยเห็นสมควรให้ จ่าย ก็ให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกระเบียบเพื่อเพิ่มประเภทรายจ่ายได้เป็นรายกรณี เมื่อมีการกำหนดรายจ่ายใดเพิ่มขึ้นแล้ว ผู้มีอำนาจในการสั่งจ่ายจึงจะไปดำเนินการจ่ายหรือกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายได้

               6. ขณะเดียวกัน คณะกรรมการกฤษฎีกายังมีความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อกระทรวงมหาดไทยออกระเบียบดังกล่าวแล้วจะให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังหรือ ไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับความจำเป็นซึ่งกระทรวงมหาดไทยต้องเป็นผู้พิจารณา (ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 165/2556 กุมภาพันธ์ 2556)

               7. ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการยกร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับ กรณีนี้แล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย พิจารณา คาดว่าคงจะเสร็จสิ้นในเร็ววันครับ


               เครดิต : ราชการแนวหน้า ,วันอาทิตย์ ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556, 06.00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...