15 ก.ค. 2559

หลบหนีโทษจำคุก ... หมดสิทธิรับบำนาญ


                 
 การใช้อำนาจของฝ่ายปกครองในประเทศเสรีประชาธิปไตย ฝ่ายปกครองจะใช้อำนาจได้ก็ต่อเมื่อ มีกฎหมายให้อำนาจไว้และต้องใช้อำนาจภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้เท่านั้น

                  นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการจัดตั้ศาลปกครอง”เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะส่งผลให้ปัจเจกบุคคลจำนวนมากได้รับความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น หากแต่ยังมีอีกหลายๆ คดีที่เป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง
ดังเช่นคดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังฉบับนี้ เป็นคดีที่ศาลปกครองทำหน้าที่คุ้มครองการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยการตรวจสอบการใช้อำนาจของ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการมีคำสั่งระงับการจ่ายเงินบำนาญให้กับข้าราชการที่ลาออกจากราชการและเรียกคืนเงินบำนาญที่รับไปแล้ว เนื่องจากเห็นว่าในระหว่างที่รับบำนาญ “ต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษา”

                  เรื่องราวของคดีนี้เกิดจากผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรุงเทพมหานคร) ได้ถูกดำเนินคดีอาญาฐานกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 และศาลยุติธรรมได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ถูกจำคุกตามคำพิพากษา เนื่องจากไม่สามารถตามจับตัวมารับโทษได้จนล่วงเลยอายุความการลงโทษ โดยในระหว่างนั้นผู้ฟ้องคดียังคงรับเงินบำนาญและใช้สิทธิเบิกเงินต่างๆ จากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มาโดยตลอด   ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ตรวจสอบและพบว่าผู้ฟ้องคดีถูกศาลพิพากษาถึงที่สุด จึงมีคำสั่งระงับการจ่ายเงินบำนาญและให้คืนเงินบำนาญและเงินอื่นๆ ที่รับไป โดยไม่มีสิทธิตั้งแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษถึงวันที่มีคำสั่งระงับการจ่ายเงินบำนาญ  ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนไม่เคยรับโทษจำคุกจริงตามคำพิพากษา เพราะคดีขาดอายุความการลงโทษ และกรณีเป็นเช่นเดียวกับการรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษที่ถือว่าไม่เคยได้รับโทษ จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยืนยันคำสั่งเดิม ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งเรียกคืนเงินบำนาญและเงินอื่นๆ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จ่ายเงินบำนาญปกติให้แก่ตนนับตั้งแต่มีคำสั่งระงับการจ่าย ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2500 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดรับบำนาญปกติหรือบำนาญตกทอดอยู่ ถ้า (1) กระทำความผิดถึงต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาโทษจำคุก เว้นแต่ความผิดในลักษณะฐานลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ผู้นั้นหมดสิทธิรับบำนาญปกติ หรือบำนาญตกทอดตั้งแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด”และพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 มาตรา 8 บัญญัติว่า “ให้นำกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการท้องถิ่นมาใช้บังคับแก่ข้าราชการกรุงเทพมหานครโดยอนุโลม เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” การที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้รับบำนาญปกติได้กระทำความผิดอันมิใช่ในลักษณะฐานลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท และศาลยุติธรรมได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ถูกจำคุกจริถือว่าหมดสิทธิรับบำนาญปกติตามบทบัญญัติดังกล่าวหรือไม่? ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาโทษจำคุกตามมาตรา51 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติข้างต้น หมายถึง การถูกศาลพิพากษาให้จำคุกในความผิดที่มิใช่การกระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ซึ่งเมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำคุกโดยไม่มีการรอการลงโทษ ผู้กระทำผิดจะถูกจำคุกในเรือนจำ การที่ผู้ฟ้องคดีถูกศาลพิพากษาให้จำคุก แม้จะไม่ถูกจับกุมคุมขังตามคำพิพากษาจนล่วงเลยอายุความการลงโทษ ก็ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาโทษจำคุกตามนัยมาตรา 51 วรรคหนึ่ง (1) ดังกล่าวแล้ว  และถึงแม้ว่าผู้ฟ้องคดีจะได้รับประโยชน์จากการไม่ถูกจับกุมเพื่อรับโทษตามคำพิพากษาได้อีก เพราะล่วงเลยกำหนดเวลาลงโทษไปแล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้โทษจำคุกดังกล่าวหมดสิ้นไป เนื่องจากการล่วงเลยกำหนดเวลาลงโทษมีผลเพียงไม่อาจลงโทษผู้ฟ้องคดีตามคำพิพากษาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 98 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้อีกเท่านั้น มิได้มีความหมายเช่นเดียวกับการรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างแต่อย่างใด  ผู้ฟ้องคดีจึงหมดสิทธิรับบำนาญปกติตั้งแต่วันที่ศาลยุติธรรมมีคำพิพากษา ดังนั้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ให้งดจ่ายเงินบำนาญปกติและให้คืนเงินบำนาญ รวมทั้งเงินอื่นๆ ที่ได้รับไปหลังจากผู้ฟ้องคดีต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกจึงชอบด้วยกฎหมาย(คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.642/2555)

                  คดีนี้นอกจากจะทำให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความชัดเจนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ การ หมดสิทธิ”รับบำนาญของข้าราชการในกรณีที่ข้าราชการดังกล่าว ต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษา” แล้ว คำพิพากษานี้ยังเป็นการคุ้มครองเงินของแผ่นดินที่จะให้มีการใช้จ่ายอย่างถูกต้องตามกฎหมายอันเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะด้วยครับ!


                  เครดิต :  นายปกครอง , (หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 20 เมษายน 2556) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...