29 มี.ค. 2553

คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ควรปลดแอกจากมติ ปปช.ได้แล้ว

ข้าราชการทุกภาคส่วนของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือตุลาการ ต่างมีกฎหมายบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการแต่ละประเภทนั้นๆ เช่น  ข้าราชการพลเรือนมีพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 กำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน ครูและบุคคลากรทางการศึกษา มีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547  กำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู  หรือพนักงานอัยการมีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2521 กำหนดให้มีคณะกรรมการอัยการเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของพนักงานอัยการ  ซึ่งคณะกรรมการข้างต้นมีอำนาจหน้าที่หลายประการ เช่น การกำหนดนโยบายการบริหารงานบุคคล การกำกับดูแลงานบริหารงานบุคคลและมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ อำนาจหน้าที่ในกระบวนการการดำเนินการทางวินัย รวมตลอดถึงการเป็นองค์กรระดับสูงพิจารณาคำอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาทางวินัยเพื่อทบทวนกลั่นกรองคำสั่งลงลงโทษทางวินัยของผู้บังคับบัญชาผู้กล่าวหาอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งขั้นตอนวิธีการอย่างหนึ่งตามโครงสร้างการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการแต่ละประเภทที่อยู่ภายใต้หลักกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง กล่าวคือ เมื่อมีกรณีกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการสอบสวนเองตามวิธีการที่ผู้บังคับบัญชาเห็นสมควร   หรือผู้บังคับบัญชาสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย   และเมื่อมีการสรุปผลการสอบสวนว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยแล้ว  ผู้บังคับบัญชาจะออกคำสั่งทางปกครองว่า ผิดวินัยข้อใดเรื่องใด และลงโทษตามสมควรแก่กรณีต่อไป   โดยมีหลักเกณฑ์กำหนดขั้นตอนและวิธีการที่สำคัญในการดำเนินการทางวินัยที่เหมือนกันทุกหน่วยงานคือ  หากผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งลงโทษทางวินัยแล้ว  ผู้ถูกกล่าวหาทางวินัยมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อคณะกรรมการซึ่งเป็นระดับสูงได้   แต่หลังจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ออกมาบังคับใช้แล้ว   ในกรณีที่มีการกล่าวหาตามที่กฎหมาย ปปช.กำหนดไว้ เมื่อ ปปช.ได้สอบสวนตามวิธีการตามกฎหมาย ปปช.แล้ว  คณะกรรมการ ปปช.ก็เปรียบเสมือนคณะกรรมการสอบสวนวินัยที่แต่งตั้งโดยกฎหมาย ปปช.   เพื่อเสนอความเห็นให้ผู้บังคับบัญชาว่า ข้าราชการใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษตามมติของคณะ กรรมการ ปปช. และผู้บังคับบัญชาต้องลงโทษตาม มติ ปปช.นั้น (พรบ.ปปช.มาตรา 92-95)  ซึ่งมติ ปปช.น่ามีผลสมบูรณ์ยุติแค่นี้ เพราะถือว่า ผู้บังคับบัญชาได้ลงโทษตามมติ ปปช.แล้ว ครั้นเมื่อผู้ถูกลงโทษใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อองค์กรอุทธรณ์ตามกฎหมายเกี่ยวกับงานบริหารบุคคลของข้าราชการนั้น  มติ ปปช.ดังกล่าวไม่ควรมีผลผูกพันถึงองค์กรอุทธรณ์  เพราะองค์กรอุทธรณ์มีหน้าที่ทบทวนกลั่นกรองคำสั่งลงโทษนั้นถูกต้องหรือไม่อย่างไร ตามขั้นตอนวิธีการที่สำคัญที่กฎหมายบริหารบุคคลสำหรับข้าราชการนั้นๆ
แต่ปรากฎว่า ในการอบรมเครือข่ายวินัยท้องถิ่นทั่วประเทศขณะนี้ วิทยากรผู้อบรม เครือข่ายวินัยท้องถิ่น และเครือข่ายวินัยท้องถิ่นทุกจังหวัดทั่วประเทศ ต่างสั่งสอนแนะนำกันว่า ผลของมติของกรรมการ ปปช.นั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ไม่อาจแตะต้องได้  มีสิทธิมากที่สุดก็แต่เพียงแค่ "อุทธรณ์ดุลพินิจการลงโทษของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น"  ทั้งนี้ ต่างก็พากันยึดถือตามแนวคำบรรยายในการอบรมเครือยข่ายวินัยท้องถิ่นที่ผ่านมา  ผู้เขียนจึงได้ตรวจสอบเนื้อหาอบรมการดำเนินการวินัยของเครือข่ายวินัยท้องถิ่นแล้วพบว่า มีเจ้าหน้าที่ของ ปปช.มาวิทยากรบรรยาย และให้ข้อมูลแก่ผู้รับการอบรมว่า องค์กรอุทธรณ์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงฐานความผิดทางวินัยให้เป็นประการอื่นได้อีก (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 2/46) มีผลทำให้ อุทธรณ์ได้เฉพาะระดับโทษ เท่านั้น  ผู้เขียนจึงได้ตรวจสอบเนื้อหาคำวินิจฉัยดังกล่าว พบข้อความว่า การอุทธรณ์จึงต้องอยู่ในขอบเขตที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ บัญญัติไว้  โดยมีสิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น กล่าวคือ อุทธรณ์ได้เฉพาะระดับโทษตามฐานความผิดที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติ  และองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาตามขั้นตอนต่อจากกระบวนการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการสมบูรณ์เสร็จสิ้นแล้ว  จึงมีอำนาจพิจารณาเฉพาะเรื่องดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนตามฐานความผิดเดิมที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติเท่านั้น การที่องค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ใช้อำนาจหน้าที่ล่วงล้ำ หรือกระทบกระเทือนอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ รับรองว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นการเฉพาะโดยการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงใหม่ แล้วเปลี่ยนฐานความผิดเพื่อกำหนดโทษใหม่ จึงไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 
ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนกลับมีความเห็นว่า ผู้ถูกลงโทษตามฐานความผิดที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมตินั้น  ควรมีสิทธิอุทธรณ์ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่า ผู้ถูกลงโทษนั้น ได้กระทำผิดวินัยหรือไม่ และดุลพินิจในการลงโทษของผู้บังคับบัญชาด้วย   โดยผู้เขียนมีเหตุผลสนับสนุนความเห็นผู้เขียนดังนี้
1. เมื่อพิจารณาข้อความในมาตรา 96 แห่ง พรบ.ปปช.บัญญัติว่า "ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษตามมาตรา 93 จะใช้สิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วย การบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ ก็ได้ ทั้งนี้ ต้องใช้สิทธิดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนมีคำสั่งลงโทษ"   ถ้าพิจารณาบทกฎหมายข้างต้นและพิจารณาความหมายตามตัวอักษรแล้ว เปรียบเทียบกับการใช้กฎหมายโดย "อำนาจผูกพัน" กับ "อำนาจดุลพินิจ"  ซึ่ง "อำนาจผูกพัน" คือเมื่อมีข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญสอดคล้องกับบทกฎหมายนั้นแล้ว กฎหมายกำหนดให้ผู้ใช้อำนาจกฎหมายนั้นต้องออกคำสั่งหรือกระทำการตามที่กฎหมายนั้นกำหนด   แต่ "อำนาจดุลพินิจ" นั้น หมายถึง เมื่อมีข้อเท็จจริงใดที่เป็นสาระสำคัญสอดคล้องกับบทกฎหมายนั้น    ให้ผู้ใช้กฎหมายบทนั้นมีอำนาจตัดสินใจที่จะดำเนินการตามกฎหมายตามดุลพินิจของผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายนั้น    
2.  เมื่อพิจารณาตามตัวอักษรในมาตรา 96 ดังกล่าวแล้ว มีข้อความคำว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษตามมาตรา 93 จะใช้..............................ตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วย การบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ ก็ได้  จึงเป็นกรณีที่กฎหมายให้อำนาจแก่องค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์จะใช้ดุลพินิจพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ถูกกล่าวหาจะใช้สิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษ หรือไม่ก็ได้ 
3. เมื่อผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิอุทธรณ์ตามกฎหมายบริหารงานบุคคลของข้าราชการนั้นแล้ว  การที่จะห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาใช้สิทธิอุทธรณ์ในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษนั้น ได้กระทำผิดวินัยหรือไม่  ต้องมีกฎหมายบัญญัติกำหนดห้ามไว้อย่างชัดแจ้ง  เมื่อ พรบ.ปปช. ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาใช้สิทธิอุทธรณ์ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษนั้น ได้กระทำผิดวินัยหรือไม่ ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาจึงมีสิทธิอุทธรณ์ในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษนั้น ได้กระทำผิดวินัยหรือไม่ ได้ด้วย
 4. หลักการตีความกฎหมาย หากกระทำเพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคล ควรตีความตัวบทกฎหมายเพื่อขยายความหมายของข้อความได้  ไม่ว่าโดยการเทียบเคียงหรือให้ความหมายในทางตรงกันข้าม  แต่หากกระทำเพื่อให้เป็นผลร้ายแล้วควรตีความกฎหมายโดยเคร่งครัดตามตัวอักษร ทั้งนี้การตีความต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นด้วย  ดังนั้น ในบทบัญญัติมาตรา 96 หากจะนำมาปรับเป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกกล่าวหาแล้ว  ต้องตีความโดยเคร่งครัดตามตัวอักษร มิใช่ตีความขยายความหมายในข้อความของกฎหมายออกมาเพื่อเป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกกล่าวหา    ซึ่งตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่า เป็นการตีความบทบัญญัติมาตรา 96 ขยายความหมายให้อำนาจ ปปช.มากกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย  ทั้งนี้ ก่อนจะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 นั้น เดิมมีหน่วยงาน ปปป.มีอำนาจหน้าที่คล้ายกับ ปปช. แต่เมื่อ ปปป.สรุปสำนวนเสนอความเห็นให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษ แต่ผู้บังคับบัญชาไม่ลงโทษตาม ทำให้ได้รับการกล่าวขานว่า ปปป.เป็นเสือกระดาษ ดังนั้น จึงได้ออกกฎหมาย ปปช.มาเพื่อให้มติของ ปปช.มีผลบังคับใช้ให้ผู้บังคับบัญชาต้องลงโทษตามมติของ ปปช. ดังนั้น เมื่อ ผู้บังคับบัญชาได้ลงโทษตามมติของปปช.แล้ว ต้องถือว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ปปช.แล้วและถือว่าเป็นที่ยุติตามกฎหมาย ปปช.  ส่วนการใช้สิทธิอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหานั้น เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายบริหารงานของบุคคล การตีความที่เป็นผลร้ายต่อผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการตีความกฎหมายที่ผิดไปจากตัวบทและไม่สอดคล้องกับระบบกฎหมายที่มีอยู่แล้ว
   เมื่อพิจารณา บทบัญญัติ มาตรา 96 แล้ว ไม่มีข้อความที่กฎหมายห้ามมิให้อุทธรณ์ปัญหาว่า กระทำผิดวินัยหรือไม่  จึงควรให้สิทธิผู้ถูกลงโทษอุทธรณ์ว่า  ไม่ได้กระทำความผิดวินัยด้วย (และกรณีนี้ไม่ได้แปลงฐานความผิดดังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกโสตหนึ่ง) และบทมาตรานี้ มิใช่บทที่องค์กรที่รับพิจารณาอุทธรณ์จะต้องผูกพันตามอำนาจกฎหมาย  แต่บทมาตรานี้เป็นกรณีที่กฎหมายให้อำนาจองค์กรอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาอุทธรณ์  ดังนั้นองค์กรอุทธรณ์ไม่จำต้องผูกพันต่อมติของ ปปช.ทั้งการพิจารณาฐานความผิดทางวินัยหรือระดับโทษทางวินัย มิฉะนั้นจะทำให้ มติ ปปช.ส่งผลกระทบโครงสร้างการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการ  
                                                                                                       โดย ภัฏ  พงศ์ธามัน
                                                                                                         30 มีนาคม 2552

28 มี.ค. 2553

ปลัดอบต.ปฏิบัติหน้าที่นายกอบต. ออกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัย

ตอบข้อหารือ กรณีปลัดอบต.ปฏิบัติหน้าที่นายกอบต. ออกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัย

-ที่ประชุมเห็นชอบตาม อ.ก.อบต.วินัย เสนอ ให้ตอบข้อหารือจังหวัดนครปฐม ซึ่งหารือ
         กรณีนายทักสินย์ ชุ่มน้อย ปลัดอบต.กระทุ่มล้ม อ.สามพราน จ.นครปฐม ขณะปฏิบัติหน้าที่ นายกอบต.กระทุ่มล้ม มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างไม่ร้ายแรงตนเอง กับนายสุเมธ คล้ายขำ หัวหน้าส่วนโยธา นายกฤษณวัจน์ คุ้มวงศ์ ช่างโยธา จ.อ.มนัส ประคองโพธิ์ทอง รองปลัดอบต.กระทุ่มล้ม และนางสุภาพรรณ โตมอญ หัวหน้าส่วนการคลัง ในเรื่องที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ ๓ (จว.นครปฐม) ได้ชี้มูลว่า นายทักสินย์ฯ กับพวก ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายดังนี้
          (๑) กำหนดราคากลางโครงการก่อสร้างติดตั้งเครื่องปรับอากาศประจำอาคารสำนักงานสูงเกินความเป็นจริงเป็นเงินจำนวน ๒๙๖,๒๐๐ บาท ซึ่งถือเป็นการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ราชการเสียหาย
        (๒)การขยายเวลากำหนดส่งมอบงานก่อสร้างอาคารสำนักงานไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ ๕๘ และ ๖๑ ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายจากการไม่เรียกเงินค่าปรับจากผู้จ้าง เป็นเงิน ๑๘๖,๔๕๐ บาท

        - โดย ก.อบต.จังหวัดนครปฐม ได้พิจารณากรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ชี้มูลความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงนายทักสินย์ฯ ปลัดอบต.กระทุ่มล้ม ในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ แล้วเห็นว่า คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างไม่ร้ายแรงนายทักสินย์ฯ ปลัดอบต.กระทุ่มล้ม โดยนายทักสินย์ฯ ขณะปฏิบัติหน้าที่ นายกอบต.กระทุ่มล้ม เป็นผู้ลงนามนั้น เห็นว่า ไม่มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยตนเองได้ ตามประกาศ ก.อบต.จังหวัดนครปฐมฯที่กำหนดว่า "ในกรณี นายกอบต.เป็นคู่กรณีกับผู้ถูกสอบสวนหรือถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดร่วมกับพนักงานส่วนตำบล เมื่อคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลตรวจสอบปรากฎว่า เป็นความจริง ให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลพิจารณาและมีมติคัดเลือกคณะกรรมการสอบสวน เพื่อให้นายกอบต.ออกคำสั่งแต่งตั้งตามมติ แล้วแจ้งต้นสังกัดของผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการสอบสวนทราบ" จึงเห็นว่า กรณีนี้ ก.อบต.จังหวัดนครปฐม จะต้องพิจารณาและมีมติคัดเลือกคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยในกรณีดังกล่าว ความเห็นของจังหวัดนครปฐมถูกต้องหรือไม่ นั้น

        -ก.อบต.เห็นว่า กรณีดังกล่าวเมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ ๓ (จว.นครปฐม) ชี้มูลความผิดของนายทักสินย์ ชุ่มน้อย ปลัดอบต.กระทุ่มล้มกับพวก ว่าไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย ย่อมทำให้นายทักสินย์ฯ ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดร่วมกับพนักงานส่วนตำบลคนอื่น นายกทักสินย์ฯ จึงไม่อาจออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตนเองได้ แม้จะเป็นการออกคำสั่งในฐานะปฏิบัติหน้าที่นายกอบต.กระทุ่มล้ม ก็ตาม ก.อบต.จังหวัดนครปฐม ต้องพิจารณาและมีมติคัดเลือกคณะกรรมการสอบสวนเพื่อนายกอบต.กระทุ่มล้ม (นายทักสินย์ฯ ปลัดอบต.ปฏิบัติหน้าที่นายกอบต.) ออกคำสั่งแต่งตั้งตามมติฯ แล้วแจ้งต้นสังกัดของผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการสอบสวนทราบ แต่เมื่อนายทักสินย์ฯ ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดย ก.อบต.จังหวัดนครปฐม มิได้พิจารณาคัดเลือกคณะกรรมการสอบสวนย่อมทำให้การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวขัดแย้งกับข้อ ๓๑ วรรคห้า ของมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัยและการรักษาวินัย และการดำเนินการทางวินัย กรณีนี้แม้เป็นเพียงการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างไม่ร้ายแรงก็ตาม ย่อมชอบที่จะนำเอากระบวนการทางวินัยอย่างร้ายแรงมาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วย

ที่มา : มติ ก.อบต.ครั้งที่ ๓/๒๕๕๒ ที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๒ ก.อบต.ได้มีการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๕๒

สตง.สรุป 5 ปี "อปท." บ่งชี้ส่อตุกติกเพิ่มขึ้นทุกปี

        สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานเป็นประจำทุกปี เพื่อรายงานต่อรัฐบาล และรัฐสภา ส่วนหนึ่งของรายงานเป็นผลการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พบปัญหาและข้อบกพร่องในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ปัญหาและข้อบกพร่องในการจัดซื้อจัดจ้าง และปัญหาอันเกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาล
        "มติชน" ได้รวบรวมปัญหาและข้อบกพร่องในการจัดซื้อจัดจ้างของ อบจ. และเทศบาล ซึ่ง สตง.ได้สรุปไว้ในรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2545-2549 ดังนี้
ปี 2545
        สตง.ตรวจสอบพบข้อบกพร่องในการจัดทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของ อบจ. และเทศบาลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ รวม 346 หน่วยงาน
        สตง.สอบสวนพบเหตุอันควรสงสัยทุจริตหรือปฏิบัติผิดข้อกำหนด กฎระเบียบ และกฎหมายใน อบจ. และเทศบาล 36 เรื่อง เฉพาะ อบจ.ตรวจสอบงบการเงินพบข้อสังเกตที่ก่อให้เกิดความเสียหาย 38 หน่วยงาน ถูกเรียกคืนงบประมาณ 14 หน่วยงาน มูลค่าที่เรียกเงินคืน 3.13 ล้านบาท
ปี 2546
        สตง.ตรวจสอบพบข้อบกพร่องในการจัดซื้อจัดจ้างของ อบจ.และเทศบาล ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ รวม 285 หน่วยงาน
        สตง.สอบสวนพบเหตุอันควรสงสัยทุจริตหรือปฏิบัติผิดข้อกำหนด กฎระเบียบ และกฎหมายใน อบจ. และเทศบาล 40 เรื่อง เฉพาะ อบจ.ตรวจสอบงบการเงินพบข้อสังเกตที่ก่อให้เกิดความเสียหาย 30 หน่วยงาน ถูกเรียกคืนงบประมาณ 14 หน่วยงาน มูลค่าที่เรียกเงินคืน 8.71 ล้านบาท
ปี 2547
        สตง.ตรวจสอบพบข้อบกพร่องในการจัดซื้อจัดจ้างของ อบจ. และเทศบาล ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ รวม 351 หน่วยงาน
        สตง.สอบสวนพบเหตุอันควรสงสัยทุจริตหรือปฏิบัติผิดข้อกำหนด กฎระเบียบ และกฎหมายใน อบจ. และเทศบาล 126 เรื่อง เฉพาะ อบจ.ตรวจสอบงบการเงินพบข้อสังเกตที่ก่อให้เกิดความเสียหาย 42 หน่วยงาน ถูกเรียกคืนงบประมาณ 22 หน่วยงาน มูลค่าที่เรียกเงินคืน 21.29 ล้านบาท
2548
        สตง.ตรวจสอบพบข้อบกพร่องในการจัดซื้อจัดจ้างของ อบจ.และเทศบาล ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ รวม 418 หน่วยงาน
        สตง.สอบสวนพบเหตุอันควรสงสัยทุจริตหรือปฏิบัติผิดข้อกำหนด กฎระเบียบ และกฎหมายใน อบจ. และเทศบาล 58 เรื่อง เฉพาะ อบจ.ตรวจสอบงบการเงินพบข้อสังเกตที่ก่อให้เกิดความเสียหาย 43 หน่วยงาน ถูกเรียกคืนงบประมาณ 21 หน่วยงาน มูลค่าที่เรียกเงินคืน 106.89 ล้านบาท
ปี 2549
        สตง.ตรวจสอบพบข้อบกพร่องในการจัดซื้อจัดจ้างของ อบจ.และเทศบาลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ รวม 316 หน่วยงาน
        สตง.สอบสวนพบเหตุอันควรสงสัยทุจริตหรือปฏิบัติผิดข้อกำหนด กฎระเบียบ และกฎหมายใน อบจ. และเทศบาล 81 เรื่อง เฉพาะ อบจ. ตรวจสอบงบการเงินพบข้อสังเกตที่ก่อให้เกิดความเสียหาย 53 หน่วยงาน ถูกเรียกคืนงบประมาณ 26 หน่วยงาน มูลค่าที่เรียกเงินคืน 15.11 ล้านบาท
        กล่าวเฉพาะผลการตรวจสอบเฉพาะปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างของ อปท.ในรายงานฉบับล่าสุด ปี 2549 ผลการตรวจสอบที่สำคัญพบว่า
        1.จัดซื้อจัดจ้างดำเนินการไม่ถูกต้องตามระเบียบพัสดุและมติคณะรัฐมนตรี คำนวณราคากลางงานก่อสร้างไม่ถูกต้อง หรือสูงกว่าความเป็นจริง จัดซื้อครุภัณฑ์ที่มีขนาดและราคานอกเหนือจากบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ของสำนักงบประมาณ เบิกจ่ายเงินค่าจ้างเหมางานก่อสร้างโดยรวมภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้รับจ้างที่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่งมอบงานก่อสร้างล่าช้า ไม่คิดค่าปรับ/คำนวณค่าปรับต่ำไป และไม่จ้างรายที่เสนอราคาต่ำสุด ทำให้ทางราชการต้องจ่ายเงินค่าจ้างเพิ่มขึ้น และผู้รับจ้างทำงานไม่ครบถ้วนตามแบบรูปรายการ ทำให้ต้องจ่ายค่าจ้างสูงกว่าปริมาณงานที่ทำได้จริง
        2.การจัดหาพัสดุ ไม่ได้จัดทำแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้าง ประกาศสอบราคางานก่อสร้างไม่ได้กำหนดราคากลางไว้ในประกาศสอบราคา ไม่จัดส่งประกาศสอบราคาและเอกสารสอบราคาไปยังผู้มีอาชีพรับจ้างทำงานนั้นโดยตรง หลีกเลี่ยงการสอบราคาโดยแบ่งวงเงินจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีตกลงราคา บันทึกตกลงซื้อ/จ้างไม่ได้กำหนดอัตราค่าปรับ และสิ่งก่อสร้างเกิดชำรุดบกพร่องในระยะเวลาประกันของผู้รับจ้างแต่ไม่มีการซ่อมแซม
กรณีศึกษา "4 อบจ."
        สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นำกรณีที่เกิดขึ้นในองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สตูล และนครพนม มาสรุปไว้ในรายงานปี 2549 เรื่อง "ผลการตรวจสอบที่สำคัญ" หน้า 106-109 ดังนี้
-กรณี อบจ.สตูล
        อบจ.สตูล ดำเนินการจัดซื้อถังไฟเบอร์กลาส ขนาดความจุ 5,000 ลิตร จำนวน 805 ใบ โดยวิธีประกวดราคา ซึ่งขนาดความจุดังกล่าวไม่ได้กำหนดอยู่ในบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของสำนักงบประมาณ ได้ใช้วิธีสำรวจราคาจากร้านค้า จำนวน 6 ร้าน มีเพียงร้านเดียวที่ส่งแค็ตตาล็อก และใบแจ้งราคามาให้ ซึ่งแสดงราคาถังน้ำแอปเปิ้ล ราคาใบละ 29,000 บาท และ อบจ.ได้นำรายการดังกล่าวมาเป็นราคากลางในการดำเนินการจัดซื้อ โดยไม่มีการต่อรองราคาหรือหาราคาซื้อขายในท้องถิ่นเพิ่มเติม และเมื่อการพิจารณาผลการประกวดราคา ได้ผู้เสนอราคารายต่ำสุด เสนอราคาถังน้ำ พี.พี.เฉลี่ยใบละ 28,980 บาท เป็นเงิน 23,328,900 บาท แต่จากการสอบถามร้านค้าซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายถังเก็บน้ำ พี.พี. พอสรุปได้ว่า สามารถลดราคาได้อีกประมาณ 40-50% จากราคาแค็ตตาล็อก หรือใบแจ้งราคา การดำเนินการดังกล่าวจึงเป็นการจงใจจัดหาราคาครุภัณฑ์มาจัดทำงบประมาณ โดยไม่ประหยัด ทำให้ อบจ.เสียงบประมาณสูงกว่าที่ควรจะเป็นอย่างน้อย เป็นเงิน 7,687,750 บาท
        สตง.ได้แจ้งให้ดำเนินการตามกฎหมายทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง
-กรณี อบจ.นครพนม
        ดำเนินการโครงการก่อสร้างถนน คสล.ตามมาตรการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการจัดทำเอกสารหลักฐานและเบิกจ่ายเงินค่าแรงงาน ค่าจัดซื้อวัสดุยานพาหนะ ค่าวัสดุเชื้อเพลิงเป็นเท็จ การเช่าวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือก่อสร้างในการดำเนินโครงการที่เป็นทรัพย์สินของผู้รับจ้างเอง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการเป็นเงิน 924,365 บาท
        สตง.ได้แจ้งให้ดำเนินการตามกฎหมายทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ว
        กล่าวได้ว่า กรณี อบจ.สตูลจัดซื้อถังน้ำมีกระบวนการมิชอบคล้ายคลึงกับวิธีการจัดซื้อหนังสือเรียน และสื่อการเรียนการสอนของ อบจ.หลายจังหวัดที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวในขณะนี้
-กรณี อบจ.สุรินทร์
        คณะกรรมการตรวจการจ้างและผู้ควบคุมงานไม่รายงานให้หัวหน้าฝ่ายบริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ทราบ ถึงการที่ผู้รับจ้างได้ขุดดินข้างทางมาใช้ในการก่อสร้างโดยมิต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าดินและค่าขนส่ง เพื่อหักค่าวัสดุที่แหล่ง (ดิน) และค่าขนส่ง ออกจากมูลค่าตามสัญญานั้นแม้จะอ้างว่าคณะกรรมการกำหนดราคากลางไม่ได้กำหนดระยะทางขั้นต่ำไว้ก็ตาม เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ได้รับความเสียหายในการที่ต้องจ่ายค่าจ้างก่อสร้างเกินกว่าที่ผู้รับจ้างปฏิบัติงานจริง รวมเป็นเงิน 612,965.44 บาท โดยแยกเป็นในส่วนของค่าวัสดุที่แหล่ง (ดิน) เป็นเงิน 350,015.96 บาท และค่าขนส่งวัสดุจากแหล่งถึงหน้างาน เป็นเงิน 262,949.48 บาท
        ได้แจ้งให้ดำเนินการตามกฎหมายทางแพ่ง และทางวินัยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง
-กรณี อบจ.ลย
        องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย เบิกจ่ายเงินงบประมาณผิดระเบียบ เป็นเงิน 3,643,605 บาท
        1.การดำเนินการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 80 ชุด เป็นเงิน 1,989,600 บาท และจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 2 ชุด เป็นเงิน 100,000 บาท โดยมีบางจำนวนยังไม่ได้แจกจ่ายหรือนำออกมาใช้งาน และให้หน่วยราชการอื่นยืมไปใช้งาน เป็นการจัดซื้อโดยไม่มีเหตุผลความจำเป็น เป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยงานการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 20
        2.องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย มีการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาในเขตพื้นที่ ที่ทำการปกครองจังหวัดและมีการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ส่วนราชการ ในลักษณะเป็นการอุดหนุน เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง รวมทั้งมีการอุดหนุนเป็นค่าวัสดุ เครื่องแต่งกาย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการและค่าเหมารถยนต์ รวม 18 ฎีกา เป็นเงิน 1,391,000 บาท เป็นการจัดซื้อให้กับส่วนราชการอื่นซึ่งมีงบประมาณเป็นของตนเองอยู่แล้ว มิใช่กิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 45 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2542
        3.มีการเบิกจ่ายค่าจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ ชุดวอร์ม ในการจัดการแข่งขันกีฬาภายใน โครงการ "อบจ.สัมพันธ์" เป็นเงิน 163,005 บาท ซึ่งการแข่งขันกีฬาระหว่างสมาชิกสภา อบจ. ข้าราชการและลูกจ้าง เป็นเรื่องเฉพาะส่วนบุคคล มิใช่การจ่ายเงินเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนในท้องถิ่น
        ได้แจ้งให้ดำเนินการตามกฎหมายทางแพ่ง และทางวินัยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง
.....มติชนรายวัน

27 มี.ค. 2553

อะไรคืออำนาจหน้าที่ อปท.

         ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยค่อนข้างจะมีปัญหามากในเรื่องอำนาจหน้าที่ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั้งนี้ เนื่องจากความไม่ชัดเจนของกฎหมายไม่ว่าจะจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และฉบับ 2550 กฏหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกาศของคณะกรรมการการกระจายอำนาจ ตลอดจนกฏหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท ได้กำหนดให้อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีลักษณะเป็นภาพรวมครอบคลุมกิจการเกือบทุกประเภทที่ต้องดำเนินการโดยส่วนกลาง เช่น การทหาร การต่างประเทศ การดำเนินกิจการของกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญ เป็นต้น และในองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็มีปัญหาความซ้ำซ้อนในเรื่องเขตพื้นที่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ทำให้ในระยะหลังนี้จึงเกิดกรณีการกล่าวอ้างว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งได้ทำกิจการโดยปราศจากอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ หรือเกินกรอบอำนาจหน้าที่ขององค์กรดังกล่าว การกล่าวอ้างดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อเรียกเงินคืนจากผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือจากคณะกรรมการกฤษฏีกาในกรณีที่มีการส่งข้อหารือมาจากหน่วยงานต่าง ๆ
        อย่างไรก็ตามผู้เขียนคิดว่าการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมีองค์กรเฉพาะที่ทำหน้าที่ดังกล่าวแทนที่การวินิจฉัยโดย สตง.หรือคณะกรรมการกฤษฏีกา ทั้งนี้ เนื่องจากเหตุผลว่าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานกึ่งราชการกึ่งการเมืองที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด มีการทำงานในลักษณะที่ตอบสนองให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นในรูปแบบหลากหลายด้วยกัน สตง. ก็ดี หรือคณะกรรมการกฤษฏีกาก็ดี แนวการวินิจฉัยในเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานการตีความตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความต้องการของประชาชนแต่ละท้องถิ่น ทำให้การทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นค่อนข้างที่จะอยู่ในอำนาจหน้าที่ที่เป็นวงแคบ ไม่ตอบสนองความเป็นจริงที่แต่ละท้องถิ่นย่อมมีความต้องการที่แตกต่างกัน และทั้งสองหน่วยงานก็มิได้ทำหน้าที่เสนอและกฎหมาย หรือระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรง ที่สำคัญที่สุดก็คือ ทั้งสองหน่วยงานไม่มีผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ขัดกับหลักการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นในกรณีที่การปฏิบัติกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีปัญหาในเรื่องการตีความข้อกฎหมายในเรื่องอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น สมควรที่จะต้องมีผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเพื่อที่จะได้นำปัญหาของท้องถิ่นที่เกิดขึ้นจริงและท้องถิ่นต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานำมาเสนอต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
      ผู้เขียนเสนอว่าควรมีคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นมาคณะหนึ่ง โดยอาจให้คณะกรรมการกระจายอำนาจที่มีสัดส่วนของผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น หรืออาจให้ศาลปกครองทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดแต่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ศาลปกครองทำหน้าที่นี้ด้วย และในการวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวจะต้องมีการบัญญัติในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้กระทำกิจการหนึ่งไปแล้ว ต่อมาได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดว่ามิใช่อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นผลที่ติดตามจะเป็นอย่างไร เพื่อมิให้เกิดปัญหาขอกฎหมายหรือปัญหาทางปฏิบัติในภายหลังด้วย ซึ่งผลจากคำวินิจฉัยขององค์กรดังกล่าวจะต้องไม่มีผลผูกพันต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งเสมอไป ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนแต่ละท้องถิ่นย่อมอาจจะแตกต่างกันได้
       ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนเห็นว่าควรมีกำหนดหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็คือในเรื่องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีทำหน้าที่ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมทั้งทางแพ่งและอาญา และทางปกครอง เนื่องจากปัจจุบันส่วนกลางยังไม่สามารถดำเนินการกระบวนการยุติธรรมทั้งสามประเภทให้มีประสิทธิภาพได้ ซึ่งผลจากระบวนการยุติธรรมทั้งหมดย่อมตกแก่ประชาชนชุมชนในท้องถิ่นนั่นเอง ดังนั้น จึงควรให้ท้องถิ่นมีหน้าที่ในการส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมด้วยอีกทั้งปัจจุบันการให้ท้องถิ่นมีหน้าที่ในการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้ใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ท้องถิ่นควรมีหน้าที่อื่นในการช่วยเหลือราชการส่วนกลางในหน้าที่ต่าง ๆ ที่ท้องถิ่นพอจะให้ได้ด้วยซึ่งอาจเป็นเรื่องที่บัญญัติในกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องในเรื่อง การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกฎหมายกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นให้บัญญัติหลักการนี้ไว้ เพื่อมิให้เกิดปัญหาการตีความกฎหมายในภายหลัง
ปัจจุบันการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทุกฝ่ายมีความเป็นห่วง ดังนั้น การปรับเปลี่ยนการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกเรื่องหนึ่งที่ทุกฝ่ายมีความเป็นห่วงปัญหาการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดน้อยลง ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนว่าสิ่งไหนกระทำได้หรือกระทำมิได้ หากท้องถิ่นใดยังคงฝ่าฝืนกระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ย่อมหมายถึงพฤติการณ์ที่ส่อเจตนาในทางทุจริต นอกจากจะเป็นเหตุให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าจงในไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว จนเป็นเหตุให้ถูกถามถอนจากตำแหน่งได้ ผู้บริหารท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาโดย ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. แล้วแต่กรณี
ที่มา : ข่าว อปท.นิวส์ ปักษ์หลัง เดือนธันวาคม ประจำวันที่ 16 – 31 ธันวาคม 2552

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...