6 ก.ค. 2559

ลาออกจากกรรมการบริษัทมีผลทันที ... นายก (ไม่) มี “ส่วนได้เสีย” !


       
 พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง (๕) บัญญัติว่า “นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพ้นจากตำแหน่งเมื่อกระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๖๔/๒” และมาตรา ๖๔/๒ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติว่า “นายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ต้องไม่กระทำการเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่องค์การบริหารส่วนตำบลนั้นเป็นคู่สัญญา หรือในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลนั้น หรือที่องค์การบริหารส่วนตำบลนั้นจะกระทำ”

         ส่วนกรณีใดที่จะถือว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลผู้ใดเป็นบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้น จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นกรณีไปรวมถึงตัวบทกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ดังเช่นคดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องของกรรมการบริษัทลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทและมาสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และก่อนที่จะประกาศผลการเลือกตั้งให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล บริษัทก็ได้ทำสัญญาจ้างกับองค์การบริหารส่วนตำบลโดยยังมิได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท

            กรณีดังกล่าวจะถือว่า “นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นคู่สัญญา” หรือไม่ 

             ผู้ฟ้องคดีซึ่งเดิมเป็นกรรมการของบริษัท อ. และได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากการเป็นกรรมการและกรรมการผู้จัดการบริษัทในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ต่อมา บริษัท อ. ได้ทำสัญญารับจ้างก่อสร้างกับองค์การบริหารส่วนตำบลในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๘ และบริษัท อ. ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อกรรมการบริษัทในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๘  ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๘ และได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ต่อมา มีผู้ร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดี (นายอำเภอ) ว่า ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีเข้ารับตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ฟ้องคดียังคงมีสถานภาพเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัท อ. เมื่อบริษัท อ. ได้ทำสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลจึงถือว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล อันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๖๔/๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗

             ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือขอลาออกจากการเป็นกรรมการและกรรมการผู้จัดการบริษัท อ. มีผลบังคับได้ระหว่างหุ้นส่วนด้วยกันเท่านั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘ จึงเป็นวันเวลาก่อนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อกรรมการบริษัท  ผู้ฟ้องคดีจึงยังคงเป็นกรรมการและกรรมการผู้จัดการบริษัท อ. ซึ่งเป็นคู่สัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลอยู่ในวันที่ได้รับเลือกตั้ง และถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาที่บริษัท อ. ได้ทำไว้กับองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย มีผลทำให้ความเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลง

             ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำวินิจฉัยให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าว

               คดีนี้มีประเด็นสำคัญ ๒ ประเด็น คือ

               ประเด็นแรก การลาออกของผู้ฟ้องคดีมีผลตามกฎหมายตั้งแต่เมื่อใด ?

               ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ความเกี่ยวพันระหว่างบริษัท อ. กับผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นกรรมการบทบัญญัติมาตรา ๑๑๖๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงสามารถบอกเลิกการเป็นผู้แทนของบริษัทดังกล่าวเสียในเวลาใดๆ ก็ได้ทุกเมื่อ และย่อมมีผลทันทีเมื่อได้แสดงเจตนาขอลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๒๖ มาตรา ๘๒๗ และมาตรา ๓๘๖ แห่งประมวลกฎหมายเดียวกัน หาใช่มีผลเมื่อบริษัท อ. ได้นำไปจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทไม่ การลาออกของผู้ฟ้องคดีจึงมีผลตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๘  ส่วนการที่บริษัท อ. ได้ยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทจากผู้ฟ้องคดีและแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นกรรมการแทนต่อนายทะเบียนเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ เป็นเพียงขั้นตอนที่กำหนดตามมาตรา ๑๐๒๑ มาตรา ๑๐๒๒ และมาตรา ๑๐๒๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บังคับให้มีการจดทะเบียนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท และให้ส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ประกอบกับมาตรา ๗๒ และมาตรา ๑๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายเดียวกัน ที่บังคับให้ต้องนำความไปจดทะเบียนเมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้แทนของนิติบุคคลหรือการตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ซึ่งผลของการจดทะเบียนตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่บริษัทจะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกถึงการเปลี่ยนแปลงกรรมการหรือผู้แทนของนิติบุคคล และเป็นเพียงการจดแจ้งต่อทางราชการเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบว่าผู้ใดเป็ นกรรมการหรือเป็นผู้แทนของนิติบุคคลเท่านั้น และบทบัญญัติมาตรา ๑๑๕๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิใช่กรณีที่กรรมการสมัครใจลาออกด้วยตนเอง จึงไม่อาจนำมาใช้กับกรณีของผู้ฟ้องคดีที่แสดงเจตนาลาออกจากกรรมการบริษัทอันเป็นความเกี่ยวพันกันระหว่างบริษัทกับผู้ฟ้องคดี

             ประเด็นที่สอง คำวินิจฉัยให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ? 

           ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การที่ผู้ฟ้องคดีได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้มีผลตั้งแต่วันเลือกตั้ง ผู้ฟ้องคดีจึงดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตั้งแต่วันดังกล่าว ภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท อ. แล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงมิได้มีฐานะเป็นกรรมการของบริษัท อ. ตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๘ การที่บริษัทดังกล่าวยังคงผูกพันโดยเป็นคู่สัญญาตามสัญญาจ้างก่อสร้างกับองค์การบริหารส่วนตำบลย่อมไม่อาจถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาในขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแต่อย่างใด  ดังนั้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่วินิจฉัยให้ผู้ฟ้ องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๒๗๔/๒๕๕๖)

            คดีนี้นอกจากศาลปกครองสูงสุดจะได้วางหลัก 

            (๑) เกี่ยวกับผลของการแสดงเจตนาลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่า กรรมการบริษัทสามารถบอกเลิกการเป็นผู้แทนของบริษัทได้โดยการลาออกจากตำแหน่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน ซึ่งจะมีผลทันทีที่ได้แสดงเจตนาขอลาออก ส่วนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทอันเนื่องมาจากการที่กรรมการบริษัทลาออกเป็นเพียงการจดแจ้งต่อทางราชการเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบว่าผู้ใดเป็นกรรมการหรือผู้แทนนิติบุคคลเท่านั้นและ 

            (๒) การที่บริษัทเข้าทำสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบล ภายหลังจากที่กรรมการบริษัทแสดงเจตนาบอกเลิกการเป็นผู้แทนบริษัท แม้บริษัทจะยังคงผูกพันในฐานะคู่สัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ย่อมไม่อาจถือได้ว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาดังกล่าวอันจะมีผลทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗


         เครดิต : นางวชิราภรณ์ อนุกูล พนักงานคดีปกครองชำนาญการ  กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร  สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครองวารสารกำนันผู้ใหญ่บ้าน คอลัมน์ระเบียบกฎหมาย ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๕๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...