25 ก.ค. 2559

เจ้าหน้าที่นำเงินราชการพักในบัญชีส่วนตัว ... ผิดวินัยอย่างร้ายแรง !


               
 “การทุจริต คอร์รัปชั่น” เป็นปัญหาสำคัญที่สังคมให้ความสนใจเป็นพิเศษในยุคปัจจุบัน แม้ทุกภาคส่วนจะให้ความร่วมมือกันแก้ไขตลอดมา แต่เนื่องจากพฤติกรรมในทางทุจริตคอร์รัปชั่นสามารถกระทำได้ในหลายรูปแบบ ทั้งมีความแยบยลและสลับซับซ้อน ทำให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นมีอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการถือว่าเป็นภัยร้ายแรงของสังคมที่มีผลต่อการพัฒนาของประเทศ หลายภาคส่วนจึงได้แสวงหามาตรการเพื่อการป้องกันและปราบปรามที่เข้มงวด เช่น การลงโทษทางวินัย

                 ดังเช่นคดีจากศาลปกครองฉบับนี้ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่ โดยอาศัยโอกาสที่ตนได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทำหน้าที่ในการเบิกจ่ายเงินกองทุนของมหาวิทยาลัยให้กับนักวิจัยเพื่อใช้จ่ายในโครงการวิจัย แล้วนำเงินของราชการไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ด้วยวิธีการฝากเงินดังกล่าวเข้าบัญชีธนาคารตนเอง แต่ต่อมาเมื่อได้รับการทวงถามจึงได้นำไปจ่ายให้กับนักวิจัย

                 ข้อเท็จจริงในคดีนี้คือ ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งนักวิชาการการเงินและการบัญชี ระดับ ๖ ในสำนักวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัย ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เบิกเงินจากบัญชีเงินฝากกองทุนมหาวิทยาลัยจากธนาคาร จำนวน ๒๓๖,๙๗๖ บาท เพื่อจ่ายให้กับนักวิจัยสองราย คือ ดร. ส. จำนวน ๑๓๖,๙๗๖ บาท และรองศาสตราจารย์ ภ. จำนวน๑๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อใช้จ่ายตามโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัย เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (อธิการบดีมหาวิทยาลัย) อนุมัติให้จ่ายเงินและผู้ฟ้องคดีเบิกเงินไปแล้ว ได้โอนเงินให้ ดร. ส. แต่รายรองศาสตราจารย์ ภ. ผู้ฟ้องคดีไม่ได้โอนเงินให้ทันที กลับนำเงินที่เหลือไปฝากเข้าบัญชีธนาคารส่วนตัว จนล่วงเลยถึง ๕๖ วัน จึงโอนเงินให้รองศาสตราจารย์ ภ. เมื่อถูกทวงถาม ต่อมามีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและอธิการบดีมหาวิทยาลัยมีคำสั่งลงโทษทางวินัย โดยไล่ออกจากราชการ กรณีผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการและเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๓๙ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗

                 ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา) มีมติยกอุทธรณ์ จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โดยผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่า หน่วยงานจัดตั้งใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารบ่อยครั้ง บุคลากรทางด้านการเงินก็มีผู้ฟ้องคดีคนเดียวทั้งที่มีงานประจำต้องรับผิดชอบมาก ระบบการประสานงานของผู้เกี่ยวข้องจึงล่าช้าและไม่ชัดเจน ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ทราบเลขบัญชีของรองศาสตราจารย์ ภ. ทำให้ไม่อาจโอนเงินให้ทันทีและต้องนำเงินไปฝากเข้าบัญชีธนาคารส่วนตัวเอาไว้ก่อน ตนจึงไม่มีเจตนาทุจริตต่อหน้าที่ราชการตามที่ถูกกล่าวหา

                 การนำเงินของทางราชการไปฝากเข้าบัญชีเงินฝากส่วนตัวของผู้ฟ้ องคดี โดยไม่ส่งเงินให้นักวิจัยทันทีที่ได้รับหรือในเวลาที่เหมาะสมจะเป็น “การกระทำทุจริตต่อหน้าที่ราชการ” ตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ?

                 ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการงานกองทุนมหาวิทยาลัยโดยเป็นผู้เบิกเงินจากบัญชีเงินฝากกองทุนเพื่อนำส่งนักวิจัย จึงถือว่า การปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ฟ้ องคดีโดยตรง

                 การที่ผู้ฟ้องคดีเบิกเงินจากกองทุนไปแล้ว และจ่ายเงินให้ ดร. ส. โดยวิธีนำเข้าบัญชีเงินฝากของ ดร. ส. แต่ไม่จ่ายให้รองศาสตราจารย์ ภ. กลับนำเข้าบัญชีเงินฝากส่วนตัวในวันเดียวกัน โดยระเบียบของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ว่าด้วยกองทุน มอ. เพื่อวิจัยและพัฒนาภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๓๒ และระเบียบมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ว่าด้วยเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เก็บรักษาเงินเข้าบัญชีส่วนตัวได้ จึงถือว่าการนำเงินราชการฝากเข้าพักไว้ในบัญชีส่วนตัว เป็นการดำเนินการนอกเหนือจากที่ระเบียบกฎหมายกำหนด

                 การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ใช้ความพยายามติดตามหรือสอบถามเลขที่บัญชีของรองศาสตราจารย์ ภ.เพื่อจะรีบนำเงินเข้าบัญชี ซึ่งผู้ฟ้องคดีควรจะต้องติดต่อประสานงานขอข้อมูลโดยเฉพาะเลขที่บัญชีของผู้ขออนุมัติเงินก่อนจะดำเนินการเบิกเงินยืมเพื่อจัดส่งให้นักวิจัยแต่ละราย และหากยังไม่ทราบเลขที่บัญชีของรองศาสตราจารย์ ภ.จะต้องเก็บรักษาเงินที่ไม่อาจจ่ายได้โดยวิธีนำเงินฝากเข้าบัญชีกองทุนไว้ก่อน เพื่อรอสอบถามเลขที่บัญชีเงินฝากให้ทราบแน่ชัด หรืออาจใช้วิธีซื้อตั๋วแลกเงินหรือแคชเชียร์เช็คของธนาคารสั่งจ่ายในนามรองศาสตราจารย์ ภ. แล้วจัดส่งไปยังสถานที่ทำงานหรือโทรศัพท์ติดต่อสอบถามเลขที่บัญชีจากรองศาสตราจารย์ ภ. ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ระบุไว้ในคำขออนุมัติยืมเงินได้

                 การที่ผู้ฟ้องคดีมิได้ดำเนินการโดยวิธีการใด ๆ แต่กลับนำเงินเข้าบัญชีส่วนตัวและนำไปใช้ประโยชน์นานถึง ๕๖ วัน จนกระทั่งถูกทวงถาม จึงได้นำเงินเข้าบัญชีให้แก่รองศาสตราจารย์ ภ. ในวันเดียวกับที่ถูกทวงถามย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้ฟ้ องคดี ทั้งงานเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีของกองทุนเป็นงานส่วนพิเศษที่มิได้มีปริมาณงานที่มากจนเกินภาระที่ผู้ฟ้ องคดีจะปฏิบัติให้แล้วเสร็จเรียบร้อยได้ อีกทั้ง ผู้ฟ้องคดีจบการศึกษาเกี่ยวกับการเงินการบัญชีและดำรงตำแหน่งนักวิชาการการเงินและบัญชี ระดับ ๖ มีหน้าที่เกี่ยวกับงานด้านการเงินและบัญชีย่อมต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการเบิกจ่ายเงินในด้านต่าง ๆ เป็นอย่างดี พฤติการณ์การนำเงินเข้าฝากในบัญชีส่วนตัว และนำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวในช่วงเวลาดังกล่าวหลายครั้ง ทำให้รองศาสตราจารย์ ภ. ไม่ได้รับเงินไปใช้ในโครงการวิจัย ทำให้เกิดความเสียหายแก่รองศาสตราจารย์ ภ.และทางราชการ จึงถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการและเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๓๙ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ ดังนั้น คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ จึงชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๓๓๔/๒๕๕๗)

                 คดีนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการการเงินและการบัญชีด้านต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐทุกแห่งว่า ไม่ว่าหน้าที่ที่ปฏิบัติในราชการจะเป็นภารกิจประจำหรือเป็นงานที่ได้รับมอบหมายพิเศษเป็นคราว ๆ ไปก็ตาม ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด การเก็บรักษาเงินราชการไว้ในบัญชีเงินฝากส่วนตัว โดยไม่มีกฎมายหรือระเบียบกำหนดไว้ให้กระทำได้ ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบ ทั้งไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่า ไม่สามารถดำเนินการเบิกจ่ายเงินได้ตามที่ได้รับอนุมัติ เนื่องจากยังมีแนวทางการดำเนินการอื่น ๆ เช่น การนำเงินฝากกลับคืนไว้ในบัญชีราชการหรืออาจซื้อตั๋วแลกเงินหรือแคชเชียร์เช็คธนาคาร ฯลฯ การนำเงินเข้าบัญชีส่วนตัวจึงถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ


                 เครดิต นางสาวปุญญาภา ไชยคำมี , พนักงานคดีปกครองชำนาญการ , สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...