6 ก.ค. 2559

ป.ป.ช.มีอำนาจ จำกัด


             คดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และเป็นความผิดทางอาญาตามมาตรา 157 มาตรา 161 มาตรา 162 และมาตรา 264 มาตรา 265 ประกอบมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงส่งเรื่องมาให้พิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดี สำหรับความผิดทางอาญาได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ฟ้องคดีด้วยแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการจึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาล จังหวัดสมุทรปราการพิจารณา ต่อมาคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดสมุทรปราการพิจารณาแล้วมีมติให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ

             เทศบาลจึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งต่อประธานคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดสมุทรปราการ ต่อมา คณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดสมุทรปราการมีมติให้ยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และให้ผู้ฟ้องคดีกลับคืนสู่ฐานะเดิมและคงไว้ซึ่งสิทธิประโยชน์อันพึงได้ตามกฎหมาย กับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีคำสั่งคืนเงินบำนาญรายเดือนให้ผู้ฟ้องคดีพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

             ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองชั้นต้น ศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ พนักงานอัยการในฐานะโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งต่อมา ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่า ตามพฤติการณ์และพยานหลักฐานของพนักงานอัยการฝ่ายโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักพอให้ รับฟังว่า จำเลย (ผู้ฟ้องคดี) ได้กระทำโดยมีเจตนากระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่อันจะเป็นความผิดตามฟ้อง

             ต่อมา คดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด

             ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีว่า การที่เทศบาลมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดสมุทรปราการ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่จ่ายเงินบำนาญรายเดือน ให้แก่ผู้ฟ้องคดี เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี หรือไม่

             โดยที่คดีนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ แจ้งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ซึ่งต่อมาเทศบาลได้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดสมุทรปราการ โดยผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นว่า ตนมิได้กระทำผิดทางวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด จึงมีกรณีที่ต้องพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำผิดทางวินัยตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่

             ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงมีลักษณะเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ สำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าบ้าน และทำให้เทศบาลนครสมุทรปราการได้รับความเสียหาย โดยกรณีดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรในด้านความเชื่อถือ ศรัทธาของประชาชนทั่วไปที่มีต่อการปฏิบัติหน้าที่ให้บริการประชาชนในด้านการทะเบียนราษฎรของเจ้าหน้าที่ที่มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลที่มาติดต่อขอรับบริการโดยไม่ถูกต้อง ประกอบกับเป็นเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ จึงเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชื่อเสียงและความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อเทศบาลนครสมุทรปราการ พฤติการณ์และการกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

             สำหรับในประเด็นที่ว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีจะมีลักษณะเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือไม่ นั้น เห็นว่า การกระทำที่จะถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการ คือ

             (1) มีหน้าที่ราชการที่ต้องปฏิบัติ

             (2) ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ ซึ่งคำว่า “โดยมิชอบ” หมายความว่า ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ คำสั่งของผู้บังคับบัญชา

             (3) เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ ซึ่งคำว่า “ประโยชน์” หมายถึง สิ่งที่ได้รับอันเป็นคุณแก่ผู้ได้รับ ซึ่งอาจเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่มิใช่ทรัพย์สินก็ได้ และคำว่า “มิควรได้” หมายถึง ไม่มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะได้รับประโยชน์ใดๆ ตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น และ

             (4) โดยมีเจตนาทุจริต ซึ่งคำว่า “ทุจริต” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

             และการจะพิจารณาว่าการกระทำผิดเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาลงไปถึงเจตนาของผู้กระทำด้วยว่า มีเจตนาทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยมุ่งที่จะให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้หรือไม่ ดังนั้น กรณีที่จะเป็นผู้กระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จะต้องมีการกระทำที่เข้าลักษณะตามองค์ประกอบทั้ง 4 ประการดังกล่าวข้างต้น

             เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำอันมีมูลเหตุจูงใจในการปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยไม่ชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 พิพากษายกฟ้องโจทก์ พนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่าตามพฤติการณ์และพยานหลักฐานของพนักงานอัยการฝ่ายโจทก์ยังไม่ มีน้ำหนักพอให้รับฟังว่า จำเลย (ผู้ฟ้องคดี) ได้ย้ายเข้าและย้ายออกบุคคลทั้ง 35 คน โดยมีเจตนากระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่อันเป็นความผิดตามฟ้อง จึงเห็นว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดียังฟังไม่ได้ว่ามีเจตนากระทำการโดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น พฤติการณ์และการกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานทุจริต ต่อหน้าที่ราชการตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ผู้ฟ้องคดีมิได้กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แต่พฤติการณ์และการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง การมีคำสั่งที่พิพาทลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

             ส่วนประเด็นที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่จ่ายเงินบำนาญรายเดือน เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เห็นว่าข้อ 70 วรรคสอง ของประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดสมุทรปราการ เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ กำหนดว่า ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนหรือนายกเทศมนตรีแล้วแต่กรณี เห็นว่า พนักงานเทศบาลผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงสมควรลงโทษปลดออกหรือไล่ออก ให้นายกเทศมนตรีเสนอคณะกรรมการพนักงานเทศบาลที่ผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่... และเมื่อคณะกรรมการพนักงานเทศบาลมีมติเป็นประการใด ให้นายกเทศมนตรีสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น และโดยที่พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2500 มาตรา 11 (1) บัญญัติว่า ผู้ถูกไล่ออกจากราชการเพราะมีความผิด ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญปกติตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและถูกลงโทษ ไล่ออกจากราชการ ซึ่งเป็นคำสั่งที่ยังมิได้ถูกยกเลิกหรือเพิกถอน ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จ บำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองงดจ่ายเงินบำนาญรายเดือน ให้แก่ผู้ฟ้องคดี จึงไม่ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด

             พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้เพิกถอนคำสั่งเทศบาล ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คำสั่งลงโทษมีผลบังคับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางและวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามนัยมาตรา 69 วรรคหนึ่ง (8) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ให้เทศบาลมีอำนาจสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง โดยสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี ทั้งนี้ ตามนัยข้อ 70 ของประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดสมุทรปราการ เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2544 (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 1028/2558)


             รายละเอียดคำพิพากษา คลิ๊ก http://uat.admincourt.go.th/adminco...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...