25 ก.ค. 2559

ไม่พอใจคําสั่ง ฟ้องเพิกถอน (ไม่) ได้ ถ้าอยู่ระหว่างการอุทธรณ์


            คดีปกครองที่จะนํามาเล่าสู่กันฟังฉบับนี้ เป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐมีคําสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ทําละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง แต่ขณะยื่นฟ้องนั้น ยังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ในฝ่ายปกครอง

            ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (นายกเทศมนตรี) ได้มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด กรณีมีการเบิกจ่ายเงินค่าจัดเลี้ยงอาหาร อาหารว่าง และเครื่องดื่ม ตลอดจนค่าเลี้ยง รับรองบุคคลต่าง ๆ ขององค์การบริหารส่วนตําบลโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบ ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคําสั่งที่ 562/2556 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ 24 ธันวาคม 2556 อุทธรณ์คําสั่งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ทําคําสั่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เทศบาลตําบล) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้รับหนังสืออุทธรณ์วันที่ 25 ธันวาคม 2556 และนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 ขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้เพิกถอนคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพิกถอนกระบวนการสอบสวน และเพิกถอนคําสั่งที่ 562/2556 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556
คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคําสั่งทางปกครองว่า อาจมีได้ 2 กรณี คือ

            กรณีที่หนึ่ง กรณีที่มีการวินิจฉัยสั่งการเกี่ยวกับอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีแล้วจะฟ้องคดีได้ก็ต่อเมื่อได้รับแจ้งผลการวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว และ

            กรณีที่สอง กรณีที่มิได้มีการวินิจฉัยสั่งการเกี่ยวกับอุทธรณ์ภายในระยะเวลาสําหรับการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่กฎหมายกําหนด จะฟ้องคดีได้อย่างเร็วที่สุดก็ต่อเมื่อล่วงพ้นกําหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ผู้ทําคําสั่งทางปกครองได้รับอุทธรณ์

            ทั้งนี้ ในประเด็นเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีนี้ ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเคยมีมติตามคําสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 240/2558 วินิจฉัยว่า กรณีที่ผู้มีอํานาจพิจารณาอุทธรณ์มิได้มีการวินิจฉัยสั่งการเกี่ยวกับอุทธรณ์ภายในระยะเวลา ต้องถือว่าวันที่ครบ 60 วัน เป็นวันที่ผู้อุทธรณ์ได้ดําเนินการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหาย ครบตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกําหนดไว้แล้ว และสามารถใช้สิทธิฟ้องคดีได้นับแต่วันที่ 61 อันถือว่าเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี กล่าวคือ เริ่มนับวันที่ 61 เป็นวันแรกที่สามารถใช้สิทธิฟ้องคดีปกครองได้ ตามมาตรา 49 ประกอบมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

            คดีมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ศาลปกครองมีอํานาจรับคําฟ้องนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิฟ้องคดีนี้แล้วหรือไม่

            ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับทราบคําสั่งที่ 562/2556 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 และต่อมาผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ 24 ธันวาคม 2556 อุทธรณ์คัดค้านคําสั่งดังกล่าว ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้รับอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556 ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีนําคดีมาฟ้องต่อศาล เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 จึงเป็นการยื่นฟ้องคดีในขณะที่ยังไม่ล่วงพ้นกําหนดระยะเวลาหกสิบวันสําหรับการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองที่กําหนดไว้ในมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลย่อมไม่อาจรับคําฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาได้

            ส่วนคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด รวมถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องเป็นเพียงขั้นตอนการเตรียมการและการดําเนินการของเจ้าหน้าที่ภายในฝ่ายปกครองเพื่อนําไปสู่การจัดให้มีคําสั่งทางปกครอง ไม่ใช่การกระทําทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 (คําสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 177/2558)

            จากคําพิพากษาดังกล่าวนับเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสําหรับการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองว่า ผู้รับคําสั่งไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เนื่องจากเป็นเพียงขั้นตอนภายในของฝ่ายปกครองที่ยังไม่มีผลกระทบต่อผู้ได้รับคําสั่ง ผู้รับคําสั่งจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดี ขณะเดียวกันกรณีฟ้องขอให้เพิกถอนคําสั่งทางปกครองดังเช่นคําสั่งเรียกให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น จะต้องมีการอุทธรณ์คําสั่งต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทําคําสั่งทางปกครอง และจะต้องรอให้มีการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือรอให้ พ้นกําหนดระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ผู้ทําคําสั่งทางปกครองได้รับคําอุทธรณ์ จึงจะนําคดีมาฟ้อง ต่อศาลปกครองได้ ซึ่งทั้งสองกรณีเป็นเงื่อนไขแห่งการฟ้องคดีที่สําคัญ และหากไม่ดําเนินการ ศาลปกครองย่อมจะมีอํานาจ ที่จะรับคําฟ้องไว้พิจารณาพิพากษา ครับ !


            เครดิต : นายปกครอง , หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม 2559

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...