6 ก.ค. 2559

เคยมี “พฤติกรรมทุจริต” ... หมดสิทธิ์ ! เป็นสมาชิกสภา อบต.


         
    คดีปกครองในฉบับนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้อำนาจของนายอำเภอในการวินิจฉัยให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลงเนื่องจากเป็นผู้มีพฤติกรรมในทางทุจริต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นในวาระก่อนนี้

              ข้อเท็จจริงคือ ขณะผู้ฟ้องคดีเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดว่าร่วมกันปลอมลายมือชื่อผู้รับเหมาก่อสร้างถนนคอนกรีตในหมู่บ้านตามประกาศสอบราคาของอบต. ในสมัยที่เคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร อบต. อันเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

              ผู้ถูกฟ้องคดี (นายอำเภอ) ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีพฤติกรรมในทางทุจริตและลักษณะต้องห้าม ทำให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภา อบต. สิ้นสุดลงตามมาตรา 47 ทวิ (2) ประกอบมาตรา 47 ตรี วรรคหนึ่ง (7) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภา อบต.

                ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่าเป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากตนได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว นายอำเภอไม่มีอำนาจสอบสวนและวินิจฉัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพตามมาตรา 47 ตรี วรรคสอง คำวินิจฉัยดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่ง

                 คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภา อบต. ของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลง เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?

                ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ลักษณะต้องห้ามที่เป็นผู้มีพฤติกรรมในทางทุจริตตามมาตรา 47 ทวิ (2) และมาตรา 47 ตรี (7) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ไม่ได้หมายความเฉพาะพฤติกรรมในทางทุจริตที่เกิดขึ้นในขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงพฤติกรรมในทางทุจริตที่เกิดขึ้นก่อนและในขณะสมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งก่อนและในขณะดำรงตำแหน่งด้วย และการวินิจฉัยสั่งการให้พ้นสมาชิกภาพจากการเป็นสมาชิกสภา อบต. ด้วยเหตุเป็นผู้มีพฤติกรรมในทางทุจริตเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจที่จะริเริ่มออกคำสั่งได้เอง ไม่ใช่การออกคำสั่งหรือวินิจฉัยตามการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่เป็นการใช้อำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายคนละบทกับการใช้อำนาจวินิจฉัยและมีคำสั่งตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. การวินิจฉัยและมีคำสั่งโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากการกระทำในคราวเดียวกัน จึงไม่ส่งผลให้การวินิจฉัยและมีคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อครั้งที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร อบต. ได้มีพฤติกรรมในทางทุจริตตามรายงานการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ถือเป็นกรณีที่มีข้อสงสัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภา อบต. ผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลงตามมาตรา 47 ตรี วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 47 ทวิ (2) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริการส่วนตำบล พ.ศ. 2537 หรือไม่ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีอำนาจที่จะสอบสวนและวินิจฉัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกสภา อบต. ผู้ฟ้องคดีได้ตามมาตรา 47 ตรี วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว  ดังนั้น คำสั่งให้สมาชิกภาพของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลง จึงชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 101/2557)

                คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้อธิบายถึงการเป็นผู้มีพฤติกรรมในทางทุจริตของสมาชิกสภา อบต.อันจะนำไปสู่การมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งได้ว่า พฤติกรรมในทางทุจริตอาจเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นก่อนหรือในขณะสมัครรับเลือกตั้งหรือในขณะดำรงตำแหน่งก็ได้ และการออกคำสั่งให้สมาชิกสภา อบต. ผู้มีพฤติกรรมในทางทุจริตพ้นจากตำแหน่ง ถือเป็นอำนาจเฉพาะตัวที่ผู้มีอำนาจจะสามารถริเริ่มได้เอง และแม้ปัจจุบันได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริการส่วนตำบล พ.ศ. 2537 แต่ในเรื่องการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภา อบต. เพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอันเนื่องมาจากการเป็นผู้มีพฤติกรรมในทางทุจริตตลอดจนการใช้อำนาจกำกับดูแลราชการของ อบต. ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการก็ยังคงหลักการเดิมอยู่ ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากคำพิพากษาดังกล่าวครับ !


              เครดิต :นายปกครอง  (หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 24 มกราคม 2558)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...