25 ก.ค. 2559

พ้นตำแหน่งไปแล้ว ยังถอดถอนได้ไหม ?


               
   ประเด็นที่จะคุยกันในวันนี้ น่าสนใจทีเดียว กรณีผู้ฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้ถูกลงโทษให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง แต่ตนเองได้ชิงลาออกไปก่อน และอ้างว่าตนไม่ได้ดำรงตำแหน่งแล้ว จึงไม่อาจถอดถอนได้ เรื่องนี้บทสรุปจะเป็นอย่างไร มาดูกันครับ

                   นายอาสูรย์ (ผู้ฟ้องคดี) ซึ่งได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายก อบต. ต่อมาศาลจังหวัดได้มีคำพิพากษาว่า นายอาสูรย์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้ตำแหน่งกลั่นแกล้งพนักงานจ้างทั่วไป โดยไม่ต่อสัญญาจ้างทั้งที่ผลการปฏิบัติงานดี โดยศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี นายอำเภอจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและได้รายงานผลไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งในวันเดียวกันนายอาสูรย์ก็ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้วินิจฉัยให้นายอาสูรย์พ้นจากตำแหน่ง นายอาสูรย์ไม่เห็นด้วยจึงยื่นอุทธรณ์ แต่ผู้ว่าฯ ยืนยันตามเดิม นายอาสูรย์นำเรื่องมาฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยอ้างว่า กระบวนการสอบสวนไม่ชอบ กล่าวคือ 

                   1. ไม่แจ้งว่าตนมีสิทธินำทนายความหรือที่ปรึกษาเข้ามาในการพิจารณาทางปกครองได้ รวมทั้งไม่มีการจัดทนายความให้ 
                   2. คณะกรรมการฯ ดำเนินการสอบสวนไม่แล้วเสร็จภายใน 15 วันตามที่นายอำเภอผู้ออกคำสั่งกำหนดไว้ และ 
                   3. เมื่อตนได้รับอนุญาตให้ลาออกจากตำแหน่งไปก่อนแล้ว จึงไม่อาจวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวได้อีก เพราะไม่มีตัวตนของผู้ดำรงตำแหน่งแล้ว

                   ข้อโต้แย้งของนายอาสูรย์ทั้งสามประการ ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า

                   ประการแรก มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 บัญญัติว่า “ ในการพิจารณาทางปกครองที่คู่กรณีต้องมาปรากฏตัวต่อเจ้าหน้าที่ คู่กรณีมีสิทธินำทนายความหรือที่ปรึกษาของตนเข้ามาในการพิจารณาทางปกครองได้” จากบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมเห็นได้ว่า เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้สิทธิแก่คู่กรณีในการนำทนายความหรือที่ปรึกษาเข้ามาในการพิจารณาทางปกครองได้ แต่มิได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องจัดหาทนายความให้ด้วย ดังเช่นจำเลยในคดีอาญา หรือต้องแจ้งสิทธิในการนำทนายความเข้ามาการที่คณะกรรมการสอบสวนไม่ได้แจ้งสิทธิดังกล่าวหรือจัดหาทนายความให้แก่นายอาสูรย์ จึงไม่ทำให้กระบวนการสอบสวนไม่ชอบแต่อย่างใด

                   ประการที่สอง ตามบทบัญญัติมาตรา 92 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลพ.ศ. 2537 กำหนดว่า “หากปรากฏว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ให้นายอำเภอดำเนินการสอบสวนโดยเร็ว” จะเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวมีข้อกำหนดเพียงให้ดำเนินการโดยเร็ว หาได้กำหนดเวลาแล้วเสร็จไว้ด้วย การที่นายอำเภอได้กำหนดเวลาไว้ในคำสั่งว่าให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 นับแต่ที่รับทราบคำสั่ง เป็นเพียงมาตรการเพื่อเร่งรัดให้คณะกรรมการสอบสวนฯ ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วเท่านั้น เมื่อการสอบสวนไม่เป็นไปตามกำหนดเวลา 15 วัน ก็หาได้มีผลทำให้การสอบสวนเสียไปหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

                   ประการที่สาม กรณีที่นายอาสูรย์โต้แย้งว่า ได้ลาออกจากตำแหน่งจึงไม่มีตำแหน่งให้ถอดถอนแล้วนั้น เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 92 ดังกล่าว ก็มิได้มีข้อจำกัดว่าการสอบสวนและวินิจฉัยจะกระทำหลังจากสมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือพ้นจากตำแหน่งแล้วไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม หากมีการแปลความว่ามีข้อจำกัดเช่นนั้น ก็จะทำให้มีการหลีกเลี่ยงผลทางกฎหมายในการพ้นทางจากตำแหน่งโดยไม่สุจริต เนื่องจากการพ้นจากตำแหน่งแต่ละเหตุมีผลทางกฎหมายแตกต่างกัน ทั้งยังเป็นการเปิดช่องให้มีการกระทำการอันเป็นเหตุที่ต้องห้ามได้ โดยเมื่อถูกสอบสวนก็จะรีบขอลาออกหรือจงใจสร้างเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งของตนขึ้นด้วยเหตุอื่น เพื่อให้มีผลก่อนการวินิจฉัยในเรื่องที่ถูกกล่าวหานั้น การที่กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามที่ระบุกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จะไร้ผล และเป็นการผิดจากเจตนารมณ์ที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะให้เกิดผลบังคับใช้ การที่นายอาสูรย์ได้ขอลาออกจากตำแหน่งด้วยความจำเป็นส่วนตัวและปัญหาสุขภาพ แต่หลังจากพ้นจากตำแหน่งเพราะการลาออกแล้ว เมื่อมีประกาศสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลใหม่ นายอาสูรย์ก็ไปลงสมัครรับเลือกตั้งอีกและได้รับเลือกตั้ง อันแสดงให้เห็นว่าเป็นการลาออกเพื่อหลีกเลี่ยงผลทางกฎหมายที่ตนกำลังถูกวินิจฉัย เพราะหากตนถูกถอดถอนตามความผิดดังกล่าวจะเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งจะต้องไม่เป็นผู้มีพฤติกรรมไปในทางทุจริต อันจะทำให้ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมืองได้

                   ฉะนั้น เมื่อกระบวนการสอบสวนตามขั้นตอนต่างๆ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยทั้งข้อเท็จจริงในการสอบสวนฟังได้ว่า ในการไม่ต่อสัญญาจ้างลูกจ้างทั้งสามคน เกิดจากผู้ฟ้องคดีมิได้บริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตามนัยมาตรา 92 แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฯ การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งจึงชอบแล้ว (อ.682/2556)

                   สรุปว่า... แม้ผู้กระทำผิดจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ก็สามารถดำเนินการถอดถอนตามกฎหมายได้ครับ ทั้งนี้เพราะการถูกถอดถอน ยังมีผลของโทษที่ต้องได้รับจากการถูกถอดถอนตามมาด้วยนั่นเอง


                   เครดิต ครองธรรม ธรรมรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...