6 ก.ค. 2559

ใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านไม่ถูกต้อง ... ไม่เป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ !


             
    คดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังฉบับนี้ เป็นกรณีของเจ้าหน้าที่ที่ใช้สัญญากู้เงินของคู่สมรสมาเป็นหลักฐานในการเบิกค่าเช่าบ้านซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ เทศบาลซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดจึงมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางละเมิด เนื่องจากทำให้เทศบาลได้รับความเสียหาย



                  กรณีดังกล่าวถือเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ?



                 ขณะผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งรองปลัดเทศบาลได้ใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน โดยใช้หลักฐานการผ่อนชำระหนี้เงินกู้ของคู่สมรสที่เป็ นคู่สัญญากู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการกรมการปกครองเพียงคนเดียวเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิ โดยผู้ฟ้องคดีไม่ได้ร่วมเป็นคู่สัญญา แต่ได้ให้ความยินยอมในการทำสัญญามาประกอบการขอเบิกเงินสวัสดิการค่าเช่าบ้านจากเทศบาล เมื่อผู้ถูกฟ้องคดี (นายกเทศมนตรี) ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสิทธิการเบิกค่าเช่าบ้านและพิจารณาอนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีเบิกค่าเช่าบ้านได้ ผู้ฟ้องคดีก็ใช้หลักฐานการผ่อนชำระหนี้เงินกู้ของสามีขอเบิกค่าเช่าบ้านมาโดยตลอด  ต่อมา เทศบาลมีหนังสือแจ้งให้ชำระเงินค่าเช่าบ้านคืน เนื่องจากเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบและหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ชำระ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าการที่ผู้ฟ้ องคดีไม่ศึกษาระเบียบและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ทำให้เบิกเงินค่าเช่าบ้านโดยไม่มีสิทธิอันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้ องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. 2539



                 ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดียกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตและผู้ฟ้องคดีและคู่สมรสได้ร่วมกันนำที่ดินและบ้านซึ่งเป็นกรรมสิทธ์ิร่วมจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้เงิน และนำเงินกู้จากสหกรณ์ฯ ไปชำระราคาบ้านพร้อมที่ดินตามเงื่อนไขในการกู้เงิน



                 คำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางละเมิดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?

    
                โดยมาตรา 8 มาตรา 10 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 กำหนดหลักการสำคัญว่าหน่วยงานของรัฐที่เสียหายจะมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชำระเงินเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดได้ ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้นั้นกระทำละเมิดหน่วยงานของรัฐนั้นในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น  ในกรณีที่การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ต่อหน่วยงานของรัฐมิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ หน่วยงานของรัฐที่เสียหายหามีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชำระเงินเป็นค่าสินไหมทดแทนไม่ คงมีแต่เพียงสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลที่คดีอยู่ในเขตอำนาจเท่านั้น


               ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การที่ผู้ฟ้องคดีนำหลักฐานการชำระหนี้เงินกู้ของคู่สมรสที่กู้เงินเพียงคนเดียวโดยผู้ฟ้องคดีมิได้ร่วมเป็ นคู่สัญญากู้เงินด้วยมาใช้ประกอบเป็นหลักฐานการเบิกค่าเช่าบ้านจากเทศบาลเป็นแต่เพียงการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิเรียกเอาสิทธิประโยชน์ที่ตนเองเข้าใจว่าพึงมีพึงได้จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนอยู่ในสังกัดเท่านั้น มิใช่การกระทำในหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติ ดังนั้น หากการกระทำดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำละเมิดต่อเทศบาล ก็ไม่อาจจะถือว่าเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่อาจอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดดังกล่าวได้ พิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เทศบาล (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 55/2557)



             คดีนี้เป็นบรรทัดฐานที่ดีสำหรับหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน ซึ่งแม้คดีนี้จะเป็นการใช้สิทธิตามข้อ 14 (1) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2528 ประกอบกับข้อ 3 ของหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0407/ว 1174 ลงวันที่ 5 กันยายน 2528 แต่ก็สามารถนำมาปรับใช้กับการเบิกค่าเช่าบ้านของข้าราชการอื่น ๆ ตามพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 ข้อ 17 เพราะหลักเกณฑ์การใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านไม่ได้มีความแตกต่างกันครับ !


                  เครดิต :  นายปกครอง , หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...