14 ก.ค. 2559

การลงโทษไม่ต้องสั่งตามความเห็นของคณะกรรมการ


             
 1. ในการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการพลเรือนและข้าราชการหรือพนักงานประเภทต่างๆ ก็จะมีขั้นตอนการดำเนินการคล้ายๆ กัน โดยมีการกล่าวหา ตั้งคณะกรรมการการสอบสวน การพิจารณาความผิด และกำหนดโทษทางวินัย การสั่งลงโทษ และการตรวจสอบรวมถึงการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษ

               2. ประเด็นปัญหาครั้งนี้อยู่ที่ว่า เมื่อคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้ดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนถูกต้อง และชอบด้วยกฎหมาย พร้อมรายงานผลการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่สุด ผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนจะต้องสั่งลงโทษตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนหรือไม่

               3. กรณีข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า กรมได้สั่งลงโทษไล่ข้าราชการออกจากราชการกรณีทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ผู้ถูกลงโทษอุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าวต่อก.พ.และก.พ.ได้พิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วเสนอนายกรัฐมนตรีสั่งการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการยกอุทธรณ์ตามความเห็นของก.พ.

               4. ผู้ถูกลงโทษได้นำคดีสู่ศาลปกครองโดยฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษ เพิกถอนผลการพิจารณาอุทธรณ์และสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ

               5. ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วให้ยกฟ้องโดยมีความเห็นโดยสรุปว่า คำสั่งลงโทษดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้ว่าคณะกรรมการสอบสวนจะเสนอความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีจะไม่รู้เห็นกับการกระทำดังกล่าวก็ตาม ก็เป็นเพียงการเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาเท่านั้น ผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไม่จำต้องผูกพันที่จะต้องออกคำสั่งตามความเห็นดังกล่าว ผู้บังคับบัญชามีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณามีคำสั่งลงโทษตามความถูกต้องเหมาะสมแก่กรณี และการสั่งยกอุทธรณ์ของนายกรัฐมนตรีก็ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

               6. ผู้ถูกลงโทษอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอีกว่า อธิบดี ก.พ.และนายกรัฐมนตรีต้องผูกพันออกคำสั่งตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้มีคำสั่งกลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

               7. ศาลปกครองสูงสุดพิจารณามีความเห็นโดยสรุปว่า พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นให้ยกฟ้องโดยเห็นว่า คำสั่งลงโทษนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว สำหรับรายงานการสอบสวนทางวินัยนั้นเป็นเพียงการเสนอความเห็นเพื่อใช้พิจารณาประกอบการมีคำสั่งลงโทษเท่านั้น อธิบดีมีอำนาจและสามารถใช้ดุลพินิจที่จะพิจารณามีคำสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาตามความถูกต้องและเหมาะสมกับกรณีที่กระทำนั้น โดยไม่จำต้องผูกพันตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนแต่ประการใด (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 90/2553)

               8. สรุปแล้ว การสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุก็เป็นอำนาจของผู้นั้นที่จะสั่งลงโทษให้เหมาะสมกับความผิดและยุติธรรมโดยปราศจากอคติ ไม่ต้องสั่งตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน


               เครดิต : ราชการแนวหน้า , หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- อาทิตย์ที่ 15 กันยายน 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...