25 ก.ค. 2559

ยุติธรรมทางอาญา…กับ “ดุลพินิจ” ทางปกครอง


             
    เรามักจะได้ยินกันอยู่บ่อยครั้งในอดีตว่า ตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชนโดยเฉพาะประชาชนที่ตกอยู่ในสภาพเป็น “ผู้ต้องหา” เพื่อให้รับสารภาพผิดกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาและถึงแม้ระบบกฎหมายอาญาจะมีหลักการให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า “ผู้ต้องหา” เป็น “ผู้บริสุทธิ์” ตราบเท่าที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิด ทว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง แต่ปัจจุบันองค์กรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ศาลหรือราชทัณฑ์ ต่างก็ให้ความสำคัญกับกระบวนการทางนิติธรรม (Due process) มากขึ้น กฎหมายและสิทธิเสรีภาพของประชาชนถือเป็นองค์ประกอบหรือเงื่อนไขหลักในการดำเนินงาน อันเป็นผลทำให้การกระทำความผิดใดที่ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอหรือการกระทำไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามที่กฎหมายกำหนดจะลงโทษผู้นั้นมิได้ถึงแม้จะเป็นผู้ลงมือกระทำความผิดจริง ๆ ก็ตาม

                  หลักการสำคัญของระบบงานยุติธรรมทางปกครอง มิได้แตกต่างกับระบบงานยุติธรรมทางอาญาข้างต้นแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจขององค์กรฝ่ายปกครองที่ต้องยึด“หลักนิติธรรม (Rule of law)” หรือหลักกฎหมายเป็นใหญ่ อันเป็นผลให้องค์กรฝ่ายปกครองจะกระทำการใด ๆ ได้ภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์ของกฎหมายเท่านั้น การออกคำสั่งหรือกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือการใช้อำนาจในลักษณะเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมหรือใช้ “ดุลพินิจ” ที่ไม่ชอบด้วยหลักการของกฎหมาย ศาลปกครองมีอำนาจที่จะเพิกถอนการกระทำนั้นได้

                  ดังเช่นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่อ.๑๔๒/๒๕๕๑ ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบงานยุติธรรมทางอาญาที่ดำเนินงานตามกระบวนการทางนิติธรรม แต่กลับใช้อำนาจในทางปกครองที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

                  ข้อเท็จจริงในคดีก็คือ มีผู้พบศพทารกลอยในแม่น้ำและการชันสูตรพลิกศพและสืบสวนพบว่าทารกเป็นบุตรของสิบตำรวจโท หญิง ร. (ผู้ฟ้องคดี) และมีเหตุผลเชื่อได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ฆ่าบุตรของตน ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง กรณีเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และไม่ประพฤติตนให้เคร่งครัดต่อมารยาทและระเบียบแบบแผนของตำรวจ ประพฤติตนไม่สมควรและกระทำการอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ปรากฏผลทางคดีอาญาว่าพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง แต่อัยการกลับมีความเห็นว่า ไม่มีประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมอื่นยืนยันความผิด ไม่แน่ชัดว่าผู้ตายเป็นบุตรของผู้ฟ้องคดีจริง เพียงแต่น่าเชื่อว่าเป็นบุตรเพราะมีป้ายผูกข้อมือและโดยวิญญูชนปรกติสัญชาตญาณของแม่จะฆ่าบุตรเป็นเรื่องยาก การอ้างว่าไม่มีสามีรับผิดชอบและต้องฆ่าบุตรทิ้งไม่พอรับฟังได้ จึงมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ฟ้องคดี ฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเห็นด้วยกับความเห็นของผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร ให้ยุติเรื่อง

                  ในทางปกครอง คณะกรรมการพิจารณาสำนวนการสอบสวนทางวินัยที่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค (ผู้ถูกฟ้องคดี) แต่งตั้งขึ้น มีมติเห็นชอบตามที่ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรสั่งยุติเรื่อง เพราะรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีกลับเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีได้ตั้งท้องโดยไม่มีสามี เคยผ่านการทำแท้ง และอ้างว่านาย ส.ซึ่งเป็นสามีนอกสมรสได้แย่งบุตรไปโดยไม่ทราบที่อยู่ที่แน่ชัด ซึ่งเมื่อตรวจสอบตามที่แจ้งก็ไม่มีตัวตนในสารบบทะเบียนราษฎรนั้น เป็นความประพฤติที่เสื่อมเสียอย่างยิ่ง แม้จะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันการกระทำความผิดและอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องก็ตาม ฉะนั้น หากให้ผู้ฟ้องคดีรับราชการต่อไปอาจจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ จึงคำสั่งให้ออกจากราชการเนื่องจากมีมลทินมัวหมอง

                  ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้บังคับบัญชาที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการตำรวจในปกครอง หากข้าราชการตำรวจในปกครองมีพฤติการณ์เข้าลักษณะมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน ซึ่งหากรับราชการต่อไปอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ย่อมมีอำนาจสั่งให้ออกจากราชการได้ ถึงแม้เหตุที่สงสัยว่า กระทำผิดวินัยจะไม่เกี่ยวข้องกับลักษณะงานที่ปฏิบัติเพราะผู้บังคับบัญชาอาจมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อื่น นอกจากที่ได้รับแต่งตั้ง แต่เมื่อคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้สอบปากคำผู้ฟ้องคดีและปากคำพยานบุคคลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตลอดแล้ว ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันการกระทำความผิดของผู้ฟ้องคดี ไม่ปรากฏพยานแวดล้อมที่จะชี้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ฆ่า ประกอบกับผลทางคดีอาญาของอัยการและคณะกรรมการพิจารณาสำนวนสอบสวนที่ผู้ถูกฟ้องคดีตั้งขึ้นก็มีความเห็นสอดคล้องกับคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย โดยไม่ปรากฏข้อบกพร่องในการสอบสวนหรือมีการรับฟังพยานหลักฐานที่ผิดพลาดแต่อย่างใด ทั้งการสอบสวนก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า หากให้ผู้ฟ้องคดีรับราชการต่อไปอาจจะเป็นการเสียหายแก่ราชการอย่างไร ดังนั้น การใช้ดุลพินิจให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยเห็นว่า ก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะคลอดบุตรได้ผ่านการทำแท้งมาก่อนและไม่ปรากฏตัวตน นาย ส.ทางทะเบียนราษฎร จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่แตกต่างออกไปจากเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหามาเป็นเหตุผลให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยไม่เป็นธรรมและเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ การออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

                  ข้อเท็จจริงในคดีนี้ นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงระบบงานยุติธรรมทางอาญาในปัจจุบันว่า ได้มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาให้ได้รับการพิจาณาอย่างเป็นธรรม ซึ่งหากไม่มีพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอที่จะรับฟังว่ากระทำผิดจริงตามที่กฎหมายกำหนด ก็ไม่อาจดำเนินการใด ๆ เพื่อลงโทษผู้นั้นได้

                  ขณะเดียวกันในระบบงานยุติธรรมทางปกครอง การที่กฎหมายมอบอำนาจให้องค์กรฝ่ายปกครองใช้ดุลพินิจได้ ก็มิใช่จะใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ ดังเช่นกรณีการสั่งให้ออกจากราชการ เพราะมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน ซึ่งการจะให้รับราชการต่อไปอาจจะเป็นการเสียหายแก่ราชการนั้น การใช้ดุลพินิจจำเป็นจะต้องพิจารณาว่าเรื่องที่กล่าวหาเป็นเรื่องใด เหตุผลที่ยกมาอ้างเพื่อใช้ดุลพินิจเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องที่กล่าวหาหรือไม่ หากยกเอาเหตุผลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กล่าวหามากล่าวอ้างเพื่อสนับสนุนในการออกคำสั่งให้ออกจากราชการ...นอกจากจะเป็นการใช้อำนาจนอกกรอบของหลักนิติธรรมแล้ว ยังเป็นการสะท้อนกระบวนทัศน์การใช้อำนาจที่บิดเบือนในด้านอื่น ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อความสงบสุขของประชาชนทั้งสิ้น....!

                  หมายเหตุ ท่านที่สนใจอ่านบทความฉบับย้อนหลัง สามารถศึกษาและค้นคว้าได้ที่www.admincourt.go.th หรือระบบ Intranet ของสำนักวิชาการและความร่วมมือระหว่างประเทศ


                  เครดิต นายณัฐพล ลือสิงหนาท พนักงานคดีปกครอง ๔ , ตรวจแก้ไขโดย นางสาวปรานี สุขศรี พนักงานคดีปกครอง ๗ว , สำนักวิชาการและความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานศาลปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...