7 ก.ค. 2559

“สิ่งปฏิกูลยังเน่าเหม็น” เหตุใด ...ไม่แก้ไขให้หมดสิ้น !


     
   คดีปกครองในฉบับนี้ เป็นความเดือดร้อนของชาวบ้านอันเนื่องจากการทิ้งขยะมูลฝอยของห้างสรรพสินค้า ถึงแม้จะได้ร้องเรียนและเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่รับผิดชอบได้แก้ไขแล้ว แต่ความเดือดร้อนก็ยังไม่หมดสิ้นไป  จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นระงับเหตุเดือดร้อนดังกล่าว

         ข้อเท็จจริงของคดีนี้ เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครโดยผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ได้รับความเดือดร้อนจากฝุ่นควันพิษ เสียงดังจากยานพาหนะ ซึ่งเกิดจากการทำทางเข้าออกของรถยนต์ด้านหลังอาคารห้างสรรพสินค้าติดกับรั้วและประตูบ้าน และการก่อสร้างอาคารเก็บขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลติดกับหลังบ้านของผู้ฟ้องคดีจนเกิดกลิ่นเหม็นและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค โดยหลังจากที่ได้มีการร้องเรียน เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้อำนวยการเขตพญาไท) ได้เข้าตรวจสอบสถานที่แล้วและพบว่าอาคารเก็บขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลซึ่งเป็นที่พักรวมมูลฝอยเท่านั้นที่สร้างโดยฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 เพราะสร้างห่างจากบ้านผู้ฟ้องคดีเพียง 3-5 เมตร ส่วนทางเข้าออกของรถได้ก่อสร้างถูกต้อง  แต่ถึงแม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะได้สั่งให้เจ้าของอาคารแก้ไขปัญหาต่าง ๆ หลายครั้ง เช่น เพิ่มถังขยะให้เพียงพอป้องกันไม่ให้น้ำขยะสดหกรดพื้น ติดตั้งเครื่องฉีดดับกลิ่นเหม็นจากขยะสด และสั่งห้ามทำการก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นอีก


         แต่ความเดือดร้อนที่ได้รับยังคงมีอยู่เช่นเดิม  จึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยการสั่งให้เจ้าของอาคารปิดทางเข้าออกรถยนต์ด้านหลังห้างและย้ายอาคารเก็บขยะมูลฝอยไปยังบริเวณที่ไม่สร้างความเดือดร้อนอีก

           ในเรื่องนี้มีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 และมาตรา 42 กำหนดอำนาจหน้าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นไว้ว่า ให้มีอำนาจออกคำสั่งห้ามมิให้ใช้หรือให้รื้อถอนอาคารที่มีการก่อสร้างโดยฝ่าฝืนกฎหมาย และตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ถ้ามีเหตุรำคาญเกิดในสถานที่เอกชนและอาจเกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ หรือมีผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชน ก็มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้สถานที่นั้นทั้งหมดหรือบางส่วน จนกว่าจะเป็นที่พอใจว่าได้มีการระงับเหตุรำคาญนั้นแล้ว

             คดีนี้มีประเด็นสำคัญคือ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้เข้าไปตรวจสอบและมีคำสั่งให้เจ้าของอาคารแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แล้ว แต่ความเดือดร้อนยังคงมีอยู่ จะถือว่าเจ้าหน้าที่ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือไม่ ?

             ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อการก่อสร้างอาคารเก็บขยะมูลฝอยติดกับบ้านพักอาศัยของผู้ฟ้องคดีเป็นการก่อสร้างอาคารเก็บขยะ มูลฝอยโดยฝ่าฝืนข้อ 72 ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544  แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้ องคดีที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ไม่ดำเนินการตามมาตรา 40 และมาตรา 42 จึงถือว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแล้ว และเมื่อสภาพดังกล่าวเป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 (1) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายที่จะต้องใช้อำนาจตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญให้หมดสิ้นไปภายในเวลาอันสมควร แม้จะได้มีการออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารแก้ไขเหตุรำคาญหลายครั้งแล้วก็ตาม แต่เมื่อเหตุเดือดร้อนรำคาญยังปรากฏอยู่ จึงถือว่าผู้ถูกฟ้ องคดีมิได้ใช้อำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 283/2556)

            เมื่อกฎหมายได้กำหนดอำนาจหน้าที่ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็มีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการไปจนกว่าจะสามารถระงับหรือป้องกันมิให้มีเหตุเดือดร้อนรำคาญเกิดขึ้นหรือดำรงอยู่ต่อไป เพราะการปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการให้เหตุเดือดร้อนรำคาญหมดสิ้นไป ในทางกฎหมายก็ถือว่าละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติครับ !


         เครดิต :  นายปกครอง , หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...