14 ก.ค. 2559

เปิด คำแนะนำของประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับวิธีการรอการกำหนดโทษ


คำแนะนำของประธานศาลฎีกา  เกี่ยวกับวิธีการรอการกำหนดโทษ  ที่ลงนามอกอประกาศ โดย ไพโรจน์ วายุภาพ ประธานศาลฎีกา



               คำแนะนำ ระบุว่า  โดยที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ กำหนดให้ศาลมีอำนาจใช้วิธีการรอการกำหนด โทษกับผู้ซึ่งถูกพิพากษาว่ามีความผิด ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดยังไม่สมควร ต้องรับโทษอันเนื่องมาจาก สภาพของผู้กระทำความผิดนั้นเอง ลักษณะและผลของการกระทำ ตลอดจนสภาวะแวดล้อมอันเป็น สาเหตุหรือเกี่ยวเนื่องกับผู้กระทำความผิดหรือการกระทำความผิดนั้น เพื่อให้ผู้กระทำความผิดมีโอกาสกลับตัว โดยไม่มีประวัติว่าเคยต้องโทษจำคุก ดังนั้น เพื่อให้การใช้วิธีการดังกล่าวเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และเกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม


               อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ ประธานศาลฎีกา จึงออกคำแนะนำ ดังต่อไปนี้

               ข้อ ๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๕๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ในคดีความผิดซึ่งตามบัญชี มาตรฐานการลงโทษของศาลกำหนดให้รอการลงโทษได้ หรือความผิดอื่นใดซึ่งศาลเห็นว่าจำเลยยังไม่สมควร ถูกจำคุก หากพฤติการณ์แห่งคดีปรากฏว่า

               (๑) การกระทำความผิดของจำเลยมีสาเหตุมาจากความยากจนหรือกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และความเสียหายที่เกิดขึ้นมีเพียงเล็กน้อย
               (๒) จำเลยได้สำนึกถึงความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น และในกรณีที่มีผู้เสียหายบุคคลดังกล่าวไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลย
               (๓) ผู้เสียหายกับจำเลยมีความสัมพันธ์กันในทางหนึ่งทางใด เช่น เป็นญาติ เพื่อนบ้านหรือผู้ร่วมงาน และความผิดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดไม่ร้ายแรงซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีความเข้า ใจที่ดีต่อกันแล้ว
               (๔) เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท และผู้เสียหายเป็นบุคคลในครอบครัวหรือญาติของจำเลยหรือตัวจำเลยได้รับผล ร้ายอย่างรุนแรงจากการกระทำความผิดนั้น หรือ
               (๕) พฤติการณ์อื่นในทำนองเดียวกับ (๑) ถึง (๔) ซึ่งศาลเห็นว่าจำเลยไม่ควรมีประวัติต้องโทษติดตัว
ศาลพึงพิจารณาใช้วิธีการรอการกำหนดโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด

               ข้อ ๒ นอกเหนือจากเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ วรรคสอง (๑) (๒) (๓) (๔) แล้ว ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขอื่นตามมาตรา ๕๖ วรรคสอง (๕) ดังต่อไปนี้ ให้จำเลยปฏิบัติเพิ่มเติมก็ได้

               (๑) ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายหรือเยียวยาความเสียหายทางร่างกายหรือ จิตใจให้แก่ผู้เสียหายโดยวิธีอื่นตามที่จำเลยและผู้เสียหายตกลงกัน
               (๒) ให้เข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านจิตใจหรือทางสังคม ตามที่ศาลกำหนด
               (๓) ให้ปฏิบัติศาสนกิจตามที่ศาลเห็นสมควรและจำเลยยินยอม
               (๔) ให้บริจาคเงินเพื่อการกุศลหรือสาธารณประโยชน์ ตามที่จำเลยยินยอม
               (๕) ห้ามออกนอกสถานที่อยู่อาศัยในระหว่างเวลาที่ศาลกำหนด
               (๖) ห้ามเข้าไปในสถานที่ที่ศาลกำหนด
               (๗) ให้ทำทัณฑ์บนว่าจะไม่ก่อเหตุร้ายหรือก่อให้เกิดภัยอันตรายแก่ผู้อื่น
               (๘) ไม่เสพสุราหรือยาเสพติดให้โทษ
               (๙) ไม่ประพฤติตนหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดอีก

               ข้อ ๓ ในระหว่างรอการกำหนดโทษ นอกจากพนักงานคุมประพฤติแล้ว ศาลอาจแต่งตั้งบุคคลในครอบครัวของจำเลยหรือบุคคลที่ศาลเห็นสมควรซึ่งยอมรับ ดูแลจำเลยเป็นผู้ควบคุมให้คำแนะนำช่วยเหลือ หรือตักเตือนจำเลยด้วยก็ได้

               ข้อ ๔ ถ้าภายในเวลาที่ศาลกำหนดตามข้อ ๑ จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลได้วางไว้หรือกระทำความผิดขึ้นอีกแต่ศาลมิ ได้พิพากษาให้จำคุกในคดีหลัง ศาลอาจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ก็ได้(๑) ตักเตือนจำเลย(๒) เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ(๓) กำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้(๔) กำหนดโทษแล้วลงโทษซึ่งรอไว้นั้น


               ข้อ ๕ ในกรณีที่จำเลยได้กระทำความผิดอีกภายในเวลาที่รอการกำหนดโทษไว้ และศาลใน คดีหลังจะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังกำหนดโทษที่รอไว้ตามพฤติการณ์แห่งคดีเท่าที่ปรากฏใน สำนวนคดีก่อน เพื่อบวกเข้ากับโทษในคดีหลัง
               หากสำนวนคดีก่อนอยู่ที่ศาลอื่น ให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังยืมสำนวนจากศาลนั้นหรือจะขอให้ศาลนั้นส่งเอกสารเท่า ที่จำเป็นมาทางโทรสาร ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นเพื่อใช้ประกอบการพิจารณากำหนดโทษก็ได้

               ข้อ ๖ ในกรณีที่ต้องมีวิธีการใดในทางธุรการเพื่อให้การปฏิบัติตามคำแนะนำนี้เป็นไป ด้วยความเรียบร้อย ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้กำหนดแนวทางปฏิบัติหรือดำเนินการใน เรื่องนั้น ได้ตามความจำเป็น


               เครดิต   มติชนออนไลน์  วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 20:30:23 น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...