25 ก.ค. 2559

แนวความคิดความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่


แนวคิดทฤษฎีว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

                 อาจกล่าวได้ว่าในโลกเรานี้มีระบบกฎหมายใหญ่ๆอยู่ ๒ ระบบ ได้แก่ ระบบคอมมอนลอว์ และระบบซีวิลลอว์  ซึ่งทั้ง๒ ระบบต่างมีวิวัฒนาการที่แตกต่างกันอันส่งผลต่อระบบแนวคิดในการใช้กฎหมาย  ดังนั้นเกณฑ์ที่ใช้แบ่งแยกความรับผิดส่วนตัวออกจากความรับผิดในการบริการ สาธารณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ปฏิบัติ จึงแยกเป็น ๒ ระบบ ดังนี้


       ระบบคอมมอนลอว์

                 ในระบบกฎหมายอังกฤษ แต่ เดิม  วางหลักกฎหมายให้กษัตริย์หรือรัฐไม่ต้องรับผิดตามหลัก “King  can  do  no  wrong” ดังนั้นหากองค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิด  กล่าวคือกระทำการใดๆโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อทำให้บุคคลอื่นเสียหายโดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตาม กฎหมายแล้ว  ถึงแม้ว่าการกระทำนั้นจะได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการทางราชการก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำการนั้นจะต้องรับผิดด้วยตนเองเป็นส่วนตัว  หลักการดังกล่าวได้ใช้มาจนมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินคดีต่อราชบัลลังก์ (Crown proceeding Act)ปี ค.ศ. ๑๙๗๔๗ ซึ่งทำให้ราชบัลลังก์ (Crown) มีความรับผิดเหมือนบุคคลที่เป็นเอกชน  เอกชนที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ สามารถฟ้องร้องให้ราชบัลลังก์ชดใช้ค่าเสียหายได้  อย่างไรก็ตามราชบัลลังก์เพียงรับผิดแทนเจ้าหน้าที่ไปก่อนเท่านั้นเพราะเมื่อ ราชบัลลังก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายแล้วก็สามารถไปไล่ เบี้ยเอากับเจ้าหน้าที่ได้  ดังนั้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงไม่ต่างจากการที่ลูกจ้างของนาย จ้างซึ่งเป็นเอกชนไปกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่นโดยพิจารณาว่ารัฐเป็นเสมือนนาย จ้างและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเสมือนลูกจ้างที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในระบบ กฎหมายอังกฤษไม่มีการแบ่งแยกกฎหมายมหาชนออกจากกฎหมายเอกชน

       ระบบซีวิลลอว์

                 ในระบบซีวิลลอว์แยกกฎหมายมหาชนออกจากกฎหมายเอกชนอย่างเด่นชัด  ดังนั้น การพิจารณาการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ย่อมไม่นำเอาหลักเกณฑ์ ในกฎหมายแพ่งเรื่องการกระทำของลูกจ้างในทางการที่จ้างมาใช้แต่อย่างใด แต่จะพัฒนาหลักเกณฑ์ในทางกฎหมายมหาชนมาใช้โดยเฉพาะ  ซึ่งปรากฏว่ามีหลักเกณฑ์ ได้แก่  เกณฑ์แห่งความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  และเกณฑ์แห่งการมุ่งประสงค์ต่อผลโดยตั้งใจ
               
                 เกณฑ์แห่งความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เสนอโดย Jeze ซึ่งมีหลักว่า  การพิจารณาว่าความรับผิดเป็นการส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องพิจารณา จากระดับความรุนแรงของความผิด กล่าวคือ ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเจ้า หน้าที่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว  การกระทำดังกล่าวย่อมไม่ถือว่าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่

       ประเทศเยอรมัน 

                 เยอรมันเป็นประเทศที่มีระบบกฎหมายปกครองแยกต่างหากจากหลักกฎหมายเอกชนกรณี นายจ้างลูกจ้าง  เมื่อนายจ้างจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ไปแล้ว ก็อาจฟ้องไล่เบี้ยเอาจากลูกจ้างได้  แต่หลักในกรณีส่วนราชการแต่เดิมมีกำหนดความรับผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ โดยเฉพาะ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อจะต้องรับผิด ชอบเป็นส่วนตัวต่อผู้ได้รับความเสียหาย

                 แต่หลักนี้ต่อมาถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยกฎหมายปี ค.ศ.๑๙๑๐ โดยรัฐและองค์กรของรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบในผลละเมิดที่เกิดต่อเอกชนโดยตรง เป็นเบื้องต้น   ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ปี ค.ศ.๑๙๔๙ ก็กำหนดหลักเช่นเดียวกันโดยรัฐจะต้องรับผิดชอบการละเมิดทุกอย่างที่กระทำโดย ผู้ซึ่งใช้อำนาจของรัฐ และรัฐจะเป็นผู้ฟ้องไล่เบี้ยเอาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ทำละเมิดในภายหลัง แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะถูกฟ้องไล่เบี้ยเฉพาะเมื่อตนกระทำการละเมิดโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้นทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐในการใช้อำนาจตามกฎหมายมหาชน เพื่อที่จะไม่ถูกฟ้องให้รับผิดในภายหลัง เช่นการออกคำสั่งใบอนุญาตตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้  ส่วนกรณีละเมิดโดยประมาทเพียงเล็กน้อยจะไม่มีการฟ้องไล่เบี้ยจากเจ้าหน้าที่ ของรัฐ ดังนั้น ในระบบของเยอรมัน เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ทำละเมิดจะไม่ถูกฟ้องโดยตรงในศาลสำหรับกรณีละเมิดโดยจง ใจหรือประมาทเลินเล่อ

       ประเทศฝรั่งเศส

                 ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีระบบกฎหมายปกครองเกี่ยวกับเรื่องละเมิดแยก ต่างหากจากกรณีกฎหมายเอกชนและยอมรับกันมานานแล้วว่ารัฐจะต้องรับผิดชอบในการ กระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  สำหรับเรื่องละเมิดทางปกครองนั้นได้วางหลักว่าจะต้องมีหลักเกณฑ์เฉพาะเพื่อ ความเหมาะสมของระบบราชการและการประสานสิทธิประโยชน์ของรัฐและเอกชน และจากที่พัฒนามาจนถึงปัจจุบันได้มีการจำแนกความรับผิดออกเป็น  ๓ ประเภท คือ

                 ๑.  เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดโดยวัตถุประสงค์ส่วนตัว  กรณีนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องรับผิดชอบเองในการเยียวยาผู้เสียหาย รัฐจะไม่เข้าไปรับผิดชอบด้วย เช่น คดี Litzier (C.E. ๒๓ June ๑๙๕๔) เจ้าหน้าที่ศุลกากรใช้ปืนราชการไปทำละเมิดนอกเวลาปฏิบัติหน้าที่่

                 ๒.  เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐก่อให้เกิดความเสียหายแก่เอกชนในการปฏิบัติตาม หน้าที่ และไม่มีวัตถุประสงค์ไม่ชอบเป็นส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐปะปนในการกระทำ เช่นนั้น  ในกรณีนี้รัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายโดยตรง  เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ต้องรับผิดชอบและจะไม่ถูกฟ้องเป็นส่วนตัว

                 ๓.   เป็นกรณีการกระทำละเมิดที่มีความรับผิดผสมกันทั้งความรับผิดของรัฐและของ เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นส่วนตัว ขอบเขตความรับผิดในประเภทนี้ค่อนข้างจะกว้างขวางโดยเป็นนโยบายทางกฎหมายที่ จะช่วยผู้เสียหายให้ได้รับการเยียวยาเพราะอาจเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่มีเงินพอจะชดใช้ได้ดีพอก็ได้  และรัฐเองก็สมควรมีระบบในการบริหารที่จะคอยควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ อยู่ในสภาพที่เหมาะสมด้วย  ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นส่วนตัวหรือจะฟ้องร้องรัฐ โดยตรงก็ได้  ส่วนในระหว่างรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นจะมีการฟ้องไล่เบี้ยกันได้ตามความ รุนแรงแห่งการกระทำ  

                 ในการฟ้องไล่เบี้ยจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในการละเมิดแบบผสมนี้ เห็นกันว่าหากให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับผิดชอบเสมอไปแล้ว  เจ้าหน้าที่ของรัฐจะไม่กล้าตัดสินใจทำงานต่างๆ ได้เต็มที่ปกติรัฐจึงฟ้องไล่เบี้ยเฉพาะในกรณีที่มีการกระทำละเมิดโดยจงใจ โดยเจตนาร้าย หรือโดยการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น และกรณีเกี่ยวพันโดยใกล้ชิดกับหลักการบริหารงานบุคคลประเด็นในทางวินัยอย่าง หนึ่ง ดังนั้น ในกรณีกระทำละเมิดร่วมกันหลายคน  จึงไม่มีหลักต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อรัฐ แต่ศาลจะกำหนดค่าสินไหมทดแทนสำหรับผู้ร่วมกระทำผิดแต่ละคนเป็นรายบุคคลตาม ความรุนแรงของความผิดแต่ละคน  โดยคำนึงถึงตำแหน่งและหน้าที่ที่รับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละคน ด้วย  

        แนวคิดเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทย

                 การนำหลักกฎหมายแพ่งที่ใช้บังคับระหว่างเอกชนกับเอกชนที่กระทำละเมิดกันมา ใช้กับการกระทำละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้อง รับผิดในผลละเมิดเสมอไปนั้นได้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ของ รัฐเพราะการงานที่ทำเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของรับ  แต่ในระบบนั้นกลับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเสมอไป โดยรัฐไม่มีส่วนรับผิดใดๆ เลย เว้นแต่เป็นการรับผิดแทนไปก่อน แล้วไปไล่เบี้ยเอาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในภายหลัง อันมีผลเสียต่อระบบการดำเนินงานของราชการอยู่มาก กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ที่สุจริตและมีความขยันหมั่นเพียรก็ยังอาจตัดสินใจผิดโดยสุจริต หรือประมาทเลินเล่อเพียงเล็กน้อย  ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลละเมิดและต้องรับผิดโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้และความรับผิด ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลเสียหายมากได้ง่ายตามขนาดการบริหารและความรับผิดชอบ ของรัฐ  ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นที่ว่า  เจ้าหน้าที่ดำเนินกิจการต่างๆ ของหน่วยงานของรัฐนั้น มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัว  การปล่อยให้ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในกรณีที่ปฏิบัติงานใน หน้าที่  เป็นไปตามกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเป็นการไม่เหมาะสมก่อ ให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดในการกระทำต่างๆ  เป็นการเฉพาะตัวเสมอไป  เมื่อการที่ทำไปทำให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเพียงใด  ก็จะมีการฟ้องไล่เบี้ยเอาจากเจ้าหน้าที่เต็มจำนวนนั้น  ทั้งที่บางกรณีเกิดขึ้นโดยความไม่ตั้งใจหรือความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยในการ ปฏิบัติหน้าที่  นอกจากนั้น  ยังมีการนำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมในระบบกฎหมายแพ่งมาใช้บังคับ  ให้เจ้าหน้าที่ต้องร่วมรับผิดในการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้อื่นด้วย ซึ่งระบบนั้นมุ่งหมายแต่จะให้ได้เงินครบโดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมที่จะมี ต่อแต่ละคน  กรณีเป็นการก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่และยังเป็นการบั่นทอน กำลังขวัญในการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย  จนบางครั้งกลายเป็นปัญหาในการบริหาร  เพราะเจ้าหน้าที่ไม่กล้าตัดสินใจดำเนินงานเท่าที่ควรเพราะเกรงความรับผิดที่ จะเกิดแก่ตน  ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว  จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่หน้าที่  พ.ศ.๒๕๓๙ ขึ้นใช้บังคับ  โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติงานในหน้าที่เฉพาะ เมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัวหรือจงใจให้เกิดความเสียหายหรือ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น  และให้แบ่งแยกความรับผิดของแต่ละคน  มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของรัฐ

                 ผู้ศึกษาเห็นว่าแนวความคิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของ เจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙  มีความแตกต่างจากแนวคิดของประเทศเยอรมัน  เนื่องจากประเทศเยอรมันกำหนดให้รัฐจะต้องรับผิดชอบการละเมิดทุกอย่างที่ กระทำโดยผู้ซึ่งใช้อำนาจของรัฐ แต่ในส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ มุ่งประเด็นความรับผิดชอบการละเมิดของผู้ใช้อำนาจของรัฐ    แต่มุ่งเน้นในเรื่องการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอาจมีการใช้อำนาจของรัฐ หรือไม่ก็ได้  ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับหลักการความรับรับผิดทางละเมิดของประเทศฝรั่งเศส


                 คัดลอกจาก คุณ เบญจมาศ แก้วไวยุทธิ์ , http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1776

หลักประกันความเป็นธรรมในการไต่สวนข้อเท็จจริงของ คณะกรรมการ ป.ป.ช.


                       
   คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ  แต่การไต่สวนข้อเท็จจริงตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการไต่สวนข้อเท็จจริงของอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ. ๒๕๔๗  นั้น มีวิธีปฏิบัติราชการที่มีหลักประกันความเป็นธรรมน้อยกว่าประกาศคณะกรรมการพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                              บทบัญญัติพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ไม่ได้กำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการไต่สวนข้อเท็จจริง  แต่มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติว่า ในการไต่สวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 43 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้ ทั้งนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด


                             ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ มาตรา ๔๕ วรรคสาม และมาตรา ๔๖  แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทำการออกระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการไต่สวนข้อเท็จจริงของอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ. ๒๕๔๗  เพื่อกำหนดรายละเอียด หลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการในการไต่สวน โดยปรากฏตามหลักฐานตามข้อความที่ระบุไว้บทนำของระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการไต่สวนข้อเท็จจริงของอนุกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ. ๒๕๔๗  รายละเอียดปรากฏตามระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการไต่สวนข้อเท็จจริงของอนุกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ. ๒๕๔๗                
                                                            
                           เมื่อพิจาณาข้อความในบทนำของระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการไต่สวนข้อเท็จจริงของอนุกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ. ๒๕๔๗  แล้ว   ระเบียบดังกล่าวจึงเป็นเพียงแค่ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ๑ คนเท่านั้น  อ้างอำนาจตามกฎหมายโดยขอความเห็นชอบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งมีเพียงจำนวนเพียงแค่ ๙ คนเอง   ออกอนุกฎหมายซึ่งเป็นบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ อันเข้าลักษณะของ “กฎ” ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เท่านั้น และนอกจากนี้ ระเบียบดังกล่าวยังเป็นกฎหมายลำดับรองที่มีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๕๙๗  เพราะการที่จะตรากฎหมายพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ออกมาใช้บังคับได้นั้น  ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด 500 คน และยังผ่านการให้ความเห็นชอบของวุฒิสภา ซึ่งมีสมาชิกจำนวน ๑๕๐ คน โดยมี  พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติ  อีกทั้งยังมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการด้วย 

                            แต่เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ออกคำสั่งเพื่อลงโทษทางวินัยแก่พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น ไล่ออกจากราชการ หรือปลดออกจากราชการ  นายกฯ ผู้ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ได้อ้างอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ และข้อ ๗๐ ของประกาศคณะกรรมการพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย  การให้ออกจากราชการ  การอุทธรณ์และการร้องทุกข์  มาเป็นเหตุผลในการออกคำสั่ง จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙  กรณีการออกคำสั่งทางปกครองจึงต้องอยู่ภายในเงื่อนไขให้ปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ กล่าวคือ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายต่าง ๆ ให้ใช้วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ เว้นแต่วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ตามกฎหมายนั้นได้กำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองไว้โดยเฉพาะ และมีหลักประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานวิธีปฏิบัติราชการที่ดีกว่า ก็ให้ใช้วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายนั้น

การดำเนินการทางวินัยกับผู้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับต้น


           
   1. ในการปฏิบัติราชการ หัวหน้าส่วนราชการไม่ว่าจะเป็นระดับ นายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หากมีภาระกิจตามอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการมากหรือหลากหลายก็สามารถมอบอำนาจ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในส่วนราชการเดียวกันหรือส่วนราชการอื่น หรือผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนได้ เว้นแต่กฎหมาย กฎระเบียบหรือมติค.ร.ม.มิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจในการสั่ง อนุญาต อนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่นใดที่ผู้ดำรงตำแหน่งจะพึงปฏิบัติหรือ ดำเนินการไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา (มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

               2. เมื่อมีการมอบอำนาจแล้ว ผู้รับมอบอำนาจมีหน้าที่ต้องรับมอบอำนาจนั้นโดยผู้มอบอำนาจจะกำหนดให้ผู้รับ มอบอำนาจ มอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนต่อไปก็ได้(มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

               3. ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการดำเนินการทางวินัยโดยการมอบให้ผู้บังคับบัญชา ระดับต่ำไปปฏิบัติราชการแทนตามหลักเกณฑ์ที่ก.พ.กำหนดก็ได้ (มาตรา 90 วรรคสาม) โดยก.พ.กำหนดหลักเกณฑ์ประการสำคัญไว้ว่า ผู้มอบหมายอำนาจหน้าที่ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ต้องเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้รับมอบหมาย เว้นแต่เป็นการดำเนินการทางวินัยกับผู้ดำรงตำแหน่งในต่างประเทศ (หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่นร 1011/ว 35 ลงวันที่ 28 กันยายน 2551)

               4. ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวย การระดับต้นในราชการส่วนภูมิภาค จะเป็นภาระของอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะต้องดำเนินการ ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญเพราะว่าผู้ว่าราชการจังหวัด และอธิบดีต่างก็เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงเหมือนกัน

               5. เรื่องนี้ได้นำเสนอ ก.พ.พิจารณาและได้ข้อยุติว่า การที่จะพิจารณาว่าผู้ใดเป็นผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจดำเนินการทางวินัยแก่ ข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทอำนวยการระดับต้นในสังกัดจังหวัดนั้น ให้พิจารณาว่าอธิบดีได้มอบอำนาจการดำเนินการทางวินัยให้แก่ผู้ว่าราชการ จังหวัดตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ ถ้าหากมีการมอบอำนาจไว้ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็สามารถดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทอำนวยการระดับต้นได้ แต่ถ้าหากไม่มีการมอบอำนาจไว้ ก็ตกเป็นหน้าที่ของอธิบดี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจดำเนินการทางวินัยตามมาตรา 90 ได้ (หนังสือสำนักงานก.พ.ที่ นร 1011/541 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2554)

               6. หารือมาในประเด็นเฉพาะตำแหน่งอธิบดีกับผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น คำตอบก็เลยออกมาแบบนี้ แต่โดยปกติแล้วอาจจะมีผู้ได้รับมอบหมายตามมาตรา 90 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ประกอบพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ.2550 มาตรา 22 และมาตรา 23 เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยได้ด้วยครับ


               ที่มา  http://www.naewna.com/politic/39193

“ไม่มีสิทธิ” โดยชอบด้วยกฎหมาย ... ก็ “ไม่ได้รับสิทธิ” คุ้มครอง


             
      การได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานก่อนที่เจ้าหน้าที่จะออกคำสั่งทางปกครองถือเป็น “สิทธิ” อย่างหนึ่งของคู่กรณีในกระบวนพิจารณาทางปกครองที่เจ้าหน้าที่จะต้องให้โอกาสดังกล่าว แต่หากคู่กรณีเป็นผู้กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเสียเองจนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องออกคำสั่งให้ระงับการกระทำนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองจะต้องให้โอกาสแก่คู่กรณีดังกล่าวหรือไม่

                    คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ เป็นเรื่องของผู้ฟ้องคดี (หัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำ) ในฐานะเจ้าท่าตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายออกคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอาคารสำหรับจอดเรือออกไปให้พ้นจากลำคลองสาธารณะภายในหกสิบวัน เนื่องจากปลูกสร้างล่วงล้ำเข้าไปในลำคลองอันเป็นทางสัญจรที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ ที่จะอนุญาตให้ปลูกสร้างได้ แต่เมื่อครบกำหนดเวลาตามคำสั่ง ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอาคารแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนอาคารพิพาท

                 ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่า คำสั่งดังกล่าวกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกฟ้องคดี แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ให้โอกาสในการทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและไม่ให้โอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน จึงเป็นการออกคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง

                  คดีนี้มีหลักกฎหมายที่สำคัญคือ พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง ซึ่งได้กำหนดว่า “ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน”

                    ดังนั้น ประเด็นสำคัญในคดีนี้ก็คือ คำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอาคารออกไปให้พ้นจาก ลำคลองสาธารณะ ถือเป็นคำสั่งที่กระทบสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดี หรือไม่ ? และหากเป็นคำสั่งที่กระทบสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดี เจ้าหน้าที่จะต้องให้โอกาสผู้ถูกฟ้องคดีได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน หรือไม่ ?

                     ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้ก่อสร้างอาคารพิพาทล่วงล้ำเข้าไปในลำคลองสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 117 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ผู้ฟ้องคดีจึงออกคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนอาคารพิพาท แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการรื้อถอนแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีความผิดตามกฎหมาย

                     เมื่อคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนอาคารพิพาทเป็นคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายบังคับให้ ผู้ถูกฟ้องคดีต้องปฏิบัติตาม จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

                      แต่อย่างไรก็ตาม การที่มาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ให้ใช้บังคับสำหรับคำสั่งทางปกครองที่ “อาจกระทบถึงสิทธิ” ของคู่กรณี ก็มิได้หมายความว่าคำสั่งทางปกครองทุกประเภทจะเป็นคำสั่งที่กระทบสิทธิของคู่กรณี ดังนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งจะต้องเป็นผู้พิจารณาว่า เป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติรับรองหรือคุ้มครองสิทธิของคู่กรณีดังกล่าวไว้แล้วหรือไม่ หรือมีการรับรองสิทธิจากเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจอนุญาต ตามกฎหมายหรือไม่

                         เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งว่า การใช้อำนาจของผู้ฟ้องคดีในการสั่งรื้อถอนอาคารพิพาทเป็น การดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ดังนั้น การใช้อำนาจดังกล่าวจึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองบังคับกับผู้ที่่กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อให้กระทำการตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่เป็นผู้มี “สิทธิ” ที่จะได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามกฎหมายหรือจากการได้รับอนุญาต อันอาจถูกกระทบตามนัยของมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แต่อย่างใด   ผู้ฟ้องคดีจึงย่อมอาศัยอำนาจตามกฎหมายออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทได้ โดยไม่จำต้องดำเนินการตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว  คำสั่งของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 579/2555)

                    คดีนี้เป็นการอธิบายหลักกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของคู่กรณีที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสในการโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะออกคำสั่งทางปกครองนั้น โดยเจ้าหน้าที่จะต้องพิจารณาก่อนว่าคู่กรณีเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับการรับรองและคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่ หากไม่มีสิทธิ ก็ไม่จำต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมายดังกล่าว 
                    
                    นอกจากนี้ยังเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสาหรับคู่กรณีที่กระทำการใดๆ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายได้ทราบว่า “เมื่อไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ย่อมไม่สามารถเรียกร้องสิทธิให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อตนเช่นกัน” ครับ !


                    นายปกครอง,หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2555

เจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับสินบน ... หนีไม่พ้น “ออกจากราชการ”


             
  การทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานของรัฐเป็นปัญหาสำคัญและเป็นปัญหาใหญ่ในหลายๆ ประเทศ สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน การทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการเป็นปัญหาสังคมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ บั่นทอนการพัฒนาประเทศและเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเจริญในสังคมและความผาสุกแก่ประชาชนมาเป็นระยะเวลายาวนาน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสังคมไทยมีความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการมากขึ้น แต่ปัญหาก็ยังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง มีรูปแบบและพฤติกรรมการทุจริตที่เปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปจากอดีตและมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจเนื่องมาจากปัจจัยหลายๆ ด้านประกอบกัน เช่น ปัญหาทางด้านรายได้ ครอบครัว สังคม อิทธิพลทางการเมืองแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือแม้กระทั่งปัญหาจากการผูกขาดอำนาจซึ่งอาจทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นๆ เล็งเห็นลู่ทางที่สามารถเรียกรับเงินหรือสินบนต่างๆ ได้โดยง่าย ดังเช่น กรณีตัวอย่างพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการเรียกรับสินบน ซึ่งเป็นการทุจริตต่อหน้าที่อันมีผลทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีพฤติการณ์ดังกล่าวต้องออกจากราชการ

                กรณีที่หนึ่ง ข้าราชการตำรวจเรียกรับเงินจากญาติผู้ต้องหา

                : ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่รักษาความเรียบร้อยประจำศาล ถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ปลดออกจากราชการ เนื่องจากมีพฤติการณ์ในการเรียกร้องเงินจากญาติผู้ต้องหา จำนวน ๒,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าช่วยเหลือทางคดีในระหว่างผู้ต้องหาถูกควบคุมตัว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ (ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค) ได้รายงานไปยังคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (อ.ก.ต.ร. เกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย) ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของบุคคลทั้งสองเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ควรได้รับโทษถึงปลดออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงมีคำสั่งลงโทษปลดบุคคลทั้งสองออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องศาลปกครอง

                ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาลจังหวัด ได้พูดกับนาง บ. และนาง ป. ซึ่งเดินทางมาเยี่ยมสามีที่ถูกจับกุมในข้อหามียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองและอยู่ระหว่างฝากขังต่อศาลจังหวัดว่า ถ้าอยากให้สามีออกเร็วหรือฟ้องเร็วให้ไปพูดกับจ่าสิบตำรวจ ส. และจ่าสิบตำรวจ ส. ได้แจ้งว่าให้นำเงินมาให้ ๒,๐๐๐ บาท ผัดฟ้องครั้งต่อไปก็จะเสร็จคดีจากนั้นผู้ฟ้องคดีได้ติดตามสอบถามเรื่องเงินตามจำนวนที่ตกลงไว้ เห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ราชการที่ศาลจังหวัดเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาล มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆ เกี่ยวกับคดีที่ศาลจังหวัดจะพิจารณาพิพากษา และการกระทำแสดงให้เห็นถึงเจตนาของผู้ฟ้องคดีและจ่าสิบตำรวจ ส. ว่าประสงค์ที่จะเรียกรับเงินจากนาง บ. และนาง ป. เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการช่วยเหลือในทางคดี และมิใช่เป็นการอำนวยความสะดวกในการนำเงินไปชำระเป็นค่าปรับภายหลังจากที่ศาลจังหวัดได้พิพากษาลงโทษนาย ท. แล้ว เพราะไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของผู้ฟ้องคดี แต่เป็นการเพิ่มภาระโดยไม่จำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาระเรื่องเงินหรือการรับเงินจากผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นสิ่งที่ผู้ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงย่อมหลีกเลี่ยง เพราะอาจเกิดความเข้าใจผิดระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของศาล ญาติของผู้ต้องหาหรือจำเลยกับผู้ฟ้องคดีได้ง่าย เพราะโดยวิสัยของเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการแก่ประชาชนต้องคำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่ศาลจังหวัดเนื่องจากศาลเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ซึ่งต้องเป็นที่ยอมรับและมีความเชื่อถือจากบุคคลทั่วไปเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับสถานีตำรวจภูธรซึ่งการเกิดเหตุการณ์ดังในคดีนี้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อความเชื่อมั่นและความศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จึงเชื่อได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้เรียกรับเงินจากญาติผู้ต้องหา เพื่อเป็นค่าช่วยเหลือในทางคดีที่ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีอาญาและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทางราชการ อันถือเป็นการกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ คำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๒๐๐/๒๕๕๓)

                กรณีที่สอง นายก อบต. เรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบตำแหน่งผู้ช่วยครู

                : สถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้แพร่ภาพในรายการฮอตนิวส์ว่า ผู้ฟ้องคดี (นายก อบต.) เรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบตำแหน่งผู้ช่วยครูดูแลเด็กอนุบาลและปฐมวัย ต่อมานายอำเภอได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์เรียกรับเงินของผู้ฟ้องคดี เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ ถือเป็นการปฏิบัติการโดยไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๙๒ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และพฤติการณ์เข้าข่ายกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามมาตรา ๑๔๙ และมาตรา ๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายก อบต. ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องศาล

                ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อสถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้รับการร้องเรียนจากผู้สมัครสอบตำแหน่งผู้ช่วยครูดูแลเด็กอนุบาลและปฐมวัยของ อบต. ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในลักษณะสายลับมีการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูล และมีการให้ผู้สมัครสอบที่จะเข้าไปพบผู้ฟ้องคดี ติดกล้องบันทึกภาพและเสียงขนาดเล็กที่กระดุมเสื้อ ในการเผยแพร่ออกอากาศมิได้มีการตัดต่อเปลี่ยนแปลงส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเหตุการณ์ พยานซึ่งเป็นผู้สมัครสอบต่างยืนยันว่า ผู้ฟ้องคดี เรียกร้องสินบนคนละ ๑๕,๐๐๐ บาท ต่อรองลดเหลือ ๑๐,๐๐๐ บาท หากไม่ให้จะไม่ได้เข้าสอบ สอดคล้องกับภาพและเสียงที่ปรากฏในแผ่นซีดีรายการฮอตนิวส์ ซึ่งผู้ฟ้องคดียอมรับว่า ภาพบุคคลที่ปรากฏในแผ่นซีดีดังกล่าวเป็นภาพของตนเอง และเป็นการพูดคุยกับผู้สมัครสอบในเรื่องการทำสัญญาจ้าง ดังนั้น จึงฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดี มีพฤติการณ์เรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบเพื่อทำสัญญาจ้างผู้สมัครสอบปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยครูดูแลเด็กอนุบาลและปฐมวัย อันเป็นการปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ คำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายก อบต. จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อความเป็นนายก อบต. สิ้นสุดผู้ดำรงตำแหน่งรองนายก อบต. และเลขานุการนายก อบต. จึงต้องพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวตามมาตรา ๖๔/๖ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน โดยผลของกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๙๐/๒๕๕๓)

                กรณีที่สาม ลูกจ้างประจำ ตำ แหน่งพนักงานพิมพ์ดีด เรียกรับเงินเป็นค่าตอบแทนในการจัดเตรียมเอกสารสัญญาจ้าง

                : ผู้ฟ้องคดีเป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานพิมพ์ดีด ถูกร้องเรียนว่าเรียกรับเงินจากผู้รับจ้างเป็นค่าตอบแทนในการจัดเตรียมเอกสารสัญญาจ้าง ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (อธิบดีกรม) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ซึ่งผลการสอบสวนเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมีพฤติกรรมเรียกและรับเงินจากผู้รับจ้างในการลงนามในสัญญาจ้างจริง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากลูกจ้างประจำ

                ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. ๒๕๓๗ ข้อ ๓๐ วรรคสาม ข้อ ๔๖ วรรคสอง และข้อ ๕๒ ได้กำหนดว่า ห้ามมิให้ลูกจ้างประจำอาศัยหรือยินยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจหน้าที่ราชการของตนไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม หาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น และหากลูกจ้างประจำกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ถือเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุสั่งปลดออกหรือไล่ออกได้ตามความร้ายแรงแห่งกรณี เมื่อผู้ฟ้องคดี เพื่อนร่วมงาน และผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีให้การสอดคล้องกันว่าผู้ฟ้องคดีมีส่วนเกี่ยวข้องกับสัญญาจ้างในเรื่องการพิมพ์สัญญาจ้าง และระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม มีงานเกี่ยวกับสัญญาจ้างหลายสัญญา ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดทำเอกสารสัญญาจ้างและประสานให้ผู้รับจ้างมาลงนามในสัญญา โดยผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดเตรียมเอกสารสัญญาจ้างและเป็นผู้โทรศัพท์ไปตามผู้รับจ้างให้มาลงนามในสัญญา อีกทั้งผู้รับจ้างทั้ง ๕ ราย ที่มาลงนาม ต่างให้การตรงกันว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ติดต่อประสานงานทางโทรศัพท์ให้มาลงนามในสัญญาจ้าง และได้ถูกผู้ฟ้องคดีเรียกรับเงินค่าตอบแทนในการจัดเตรียมเอกสารและพิมพ์สัญญาจ้างและผู้รับจ้าง ๓ ใน ๕ ราย ยืนยันว่าได้จ่ายเงินให้ เมื่อผู้รับจ้างทั้ง ๕ รายไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกับผู้ฟ้องคดี ประกอบกับคำให้การของผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานได้ยืนยันชัดเจนว่ารับรู้ถึงพฤติกรรมของผู้ฟ้องคดีว่าได้อาศัยโอกาสที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ดังกล่าวแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองเรียกร้องเงินจากผู้รับจ้างเป็นการตอบแทน พฤติกรรมของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการอาศัยอำนาจหน้าที่ราชการของตนเองหาประโยชน์ให้แก่ตนเองโดยเรียกร้องรับเงินจากผู้รับจ้างถือเป็นพฤติกรรมที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเป็นการใช้อำนาจดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๘๔/๒๕๕๓)

                คำพิพากษาทั้งสามเรื่องข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมหรือพฤติการณ์การทุจริตของเจ้าหน้าที่ในการเรียกรับสินบน ซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในองค์กรของรัฐนั้น มีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจำนวนมากและมีหน้าที่แตกต่างกันตามที่ได้รับมอบหมายหรือมีกฎหมายมอบอำนาจไว้ ซึ่งเจ้าหน้าที่บางท่านอาจมีพฤติการณ์ที่สวนทางกับความเชื่อถือไว้วางใจของประชาชนผู้รับบริการและการดำรงเกียรติยศและศักดิ์ศรีความเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ไว้อย่างมั่นคง อุทาหรณ์ทั้งสามเรื่องข้างต้น จึงเป็นเครื่องเตือนใจให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ตระหนักถึงการใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ในการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่นได้เป็นอย่างดีว่า ในที่สุดแล้ว พฤติกรรมหรือพฤติการณ์เช่นนี้ก็จะถูกตรวจสอบโดยกระบวนการทางกฎหมายและต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปอย่างน่าเศร้าใจ


                เครดิต นายนิรัญ อินดร, พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ , กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร , สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง

ปฏิบัติตามคำสั่ง (ทั้งที่รู้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย) ... ผิดวินัยอย่างร้ายแรง !


             
 “ตำรวจ” หรือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ คือผู้ดูแลคุ้มครองให้เกิดความสงบสุขแก่ประชาชนในสังคมโดยมีหน้าที่สาคัญในการรักษากฎหมาย จับกุมและปราบปรามผู้กระทำความผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา และยึดถือความถูกต้องเป็นสาคัญ

              คดีปกครองที่นำมาเสนอในวันนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งลงบันทึกประจำวันในคดียาเสพติดไม่ตรงกับความเป็นจริงตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ? มาติดตามกันครับ

              ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการได้ปฏิบัติหน้าที่เสมียนประจำวันคดี ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ สิบตารวจโท อ. ได้จับกุมและนำตัวนาย ธ. ผู้ต้องหา และของกลางยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) จำนวน 213 เม็ด มาที่สถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกประจาวัน โดยร้อยตารวจเอก ม. พนักงานสอบสวนร้อยเวร ได้นำบันทึกการจับกุมมาให้ผู้ฟ้องคดีลงบันทึกประจำวัน โดยระบุของกลาง คือ ยาบ้าจานวน 8 เม็ด และร้อยตารวจเอก ม. ได้นำบันทึกการจับกุมและรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการดาเนินคดีแก่ผู้ต้องหา

              ต่อมา ได้มีการดำเนินการสอบสวนในเรื่องดังกล่าว และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติว่าพฤติการณ์เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กองบังคับการตารวจนครบาล 5) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้บังคับการ กองบังคับการตารวจนครบาล 5) ได้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสืออุทธรณ์คาสั่ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการข้าราชการตารวจ) มีมติยกอุทธรณ์

              ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในการลงบันทึกประจำวัน ผู้ฟ้องคดีต้องบันทึกตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ผู้ฟ้องคดีไม่มีหน้าที่รับตัวผู้ต้องหาหรือรับของกลางแต่อย่างใด จึงนำคดีมาฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคาสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์

              การที่ผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์โดยปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ที่ต้องถูกลงโทษไล่ออกจากราชการหรือไม่ ?

              ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่า ขณะที่มีการนำตัวผู้ต้องหาและของกลางเข้ามาในห้องพนักงานสอบสวนนั้น ผู้ฟ้องคดีอยู่ในห้องดังกล่าวและได้มีการนำของกลางออกมาวางไว้บนโต๊ะ กรณีจึงเชื่อได้ว่า ผู้ฟ้องคดีสังเกตเห็นได้และประมาณการได้ว่ามีของกลางยาบ้าจานวนมากกว่า 8 เม็ด ก่อนจะได้ลงบันทึกประจำวันคดีดังกล่าว เนื่องจากเม็ดยาบ้าจานวน 8 เม็ด และจำนวน 213 เม็ด มีความแตกต่างกันในเชิงปริมาณอยู่มาก การที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งมีหน้าที่ลงบันทึกประจำวันคดีได้ลงบันทึกประจำวันคดีดังกล่าว โดยระบุว่ามีของกลางในคดี คือ ยาบ้า จานวน 8 เม็ด ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏและที่ตนเองก็ได้รับทราบอยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยที่ตามพฤติการณ์แล้วเชื่อได้ว่า ผู้ฟ้องคดีก็ตระหนักดีว่า การกระทำดังกล่าวจะมีผลเป็นการช่วยเหลือผู้ต้องหาให้ได้รับโทษน้อยลง กรณีจึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และเป็นการกระทำอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามนัยมาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ประกอบกับมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วย วินัยตำรวจ พุทธศักราช 2477 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในเวลาที่ผู้ฟ้องคดีกระทำการดังกล่าว แม้ผู้ฟ้องคดีจะอ้างว่า ในการลงบันทึกประจำวันรับคดีตามหน้าที่นั้น ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจลงบันทึกประจำวันโดยลำพังหรือโดยพลการ ต้องเขียนตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในแต่ละคดี ตามคาสั่งกรมตารวจ เรื่อง การกำหนดหน้าที่การงานของตำแหน่งในสถานีตำรวจ และผู้ฟ้องคดีได้ลงบันทึกประจาวันรับคดีตามคำสั่งของร้อยตารวจเอก ม. ผู้เป็นพนักงานสอบสวนเวรอาญา แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รู้อยู่แล้วว่าคำสั่งของร้อยตารวจเอก ม. เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ และการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวย่อมจะทำให้เสียหายแก่ราชการ หรือจะเป็นการไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการ แต่แทนที่จะทักท้วงหรือเสนอความเห็นเพื่อให้ ร้อยตารวจเอก ม. ทบทวนคำสั่งดังกล่าว แต่กลับปฏิบัติตามคำสั่งโดยดุษฎี พฤติการณ์เช่นว่านี้ของผู้ฟ้องคดีย่อมไม่ทำให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากความรับผิดทางวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการและฐานกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง การมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 548/2554)

              คำวินิจฉัยในคดีนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะข้าราชการตารวจที่มีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัดในการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น แต่เป็นข้อควรระมัดระวังอย่างยิ่งสำหรับข้าราชการอื่นไม่ว่าจะอยู่ในหน่วยงานใดหรือสังกัดใดที่จะต้องยึดถือกฎหมายและระเบียบของทางราชการเป็นสำคัญ ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชานั้น คาสั่งดังกล่าวต้องเป็นคาสั่งซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการด้วย หากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ย่อมเป็นการกระทาผิดวินัย ดังนั้น ข้าราชการจึงต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดถือความถูกต้องตามกฎหมายเป็นสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ ของประเทศชาติในฐานะข้าราชการที่ดีแล้ว กฎหมายยังเป็นเกราะคุ้มครองให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิดอีกด้วย


              นายปกครอง , (บทความ) ปฏิบัติตามคาสั่ง ทั้งที่รู้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายฯ

คำสั่งเรียกให้มาทำสัญญารับสภาพหนี้ และหนังสือแจ้งเตือนให้นำเงินมาชำระ ... เป็นคำสั่งทางปกครองหรือไม่


               
 หลายครั้งที่คดีซึ่งนำมาฟ้องต่อศาลปกครองจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่ข้าราชการซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินไม่เอาใจใส่หรือขาดความระมัดระวังในการปฏิบัติงาน เป็นเหตุให้ผู้ใต้บังคับบัญชาอาศัยโอกาสจากการปฏิบัติหน้าที่ทุจริตเบียดบังยักยอกเงินของทางราชการ ซึ่งแน่นอนว่า ทั้งผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาจะต้องรับผิดร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

                 และนี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่มีคดีความซึ่งเกิดจากการขาดความรอบคอบและระมัดระวังในการปฏิบัติงานด้านการเงิน แต่ประเด็นต่างกันตรงที่มิใช่เป็นเรื่องที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาให้เจ้าหน้าที่รับผิดเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด แต่เป็นกรณีที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วว่า เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิด และหน่วยงานของรัฐได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังกระทรวงการคลัง แต่กระทรวงการคลังไม่ได้แจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาที่กำหนด หน่วยงานจึงได้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดมาทำสัญญารับสภาพหนี้ไว้ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวจะถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครองหรือไม่ และการที่หน่วยงานมีหนังสือแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่นำเงินค่าสินไหมทดแทนมาชำระนั้น เจ้าหน้าที่จะนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้เพิกถอนหนังสือดังกล่าวได้หรือไม่

                 ปัญหาดังกล่าวมีคำตอบปรากฏตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๑๐๓/๒๕๕๓ ซึ่งข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า นาย ว. ปลัดสุขาภิบาลวานรนิวาส และผู้ฟ้องคดี สมุห์บัญชีสุขาภิบาลวานรนิวาสได้ร่วมกันลงลายมือชื่อในใบถอนเงินฝากของธนาคารจากบัญชีเงินฝากของสุขาภิบาลวานรนิวาสแล้วมอบหมายให้นาย พ. เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี ๒ ไปเบิกเงินแทน แต่ปรากฏว่านาย พ. ได้แก้ไขตัวเลขในใบถอนเงินแล้วเบียดบังเอาเงินส่วนที่เกินหลบหนีไป ประธานกรรมการสุขาภิบาลวานรนิวาสจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการสอบสวนและรายงานผลการสอบสวนให้ประธานฯ ทราบแล้ว ประธานฯ จึงวินิจฉัยสั่งการให้นาย ศ. นาย ว. และผู้ฟ้องคดีร่วมกันชดใช้เงินตามหนังสือลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๑ และได้รายงานไปยังกระทรวงการคลังตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. ๒๕๓๙ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายกเทศมนตรีตำบลวานรนิวาส) เห็นว่า กระทรวงการคลังไม่ได้แจ้งผลการพิจารณาภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ จึงได้ออกคำสั่งลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ให้ผู้ฟ้องคดีกับพวกมาทำสัญญารับสภาพหนี้ต่อเทศบาลตำบลวานรนิวาส และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๒ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ แต่ผู้ฟ้องคดีไม่มาทำหนังสือรับสภาพหนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ แจ้งเตือนให้ผู้ฟ้องคดีนำเงินค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยมาชำระภายในเวลาที่กำหนด และแจ้งว่า หากผู้ฟ้องคดีไม่ชำระจะใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึดอายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ต่อไป ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร) ได้มีคำสั่งยืนตามคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒

                 ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ออกคำสั่งลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ให้ผู้ฟ้องคดีกับพวกรวม ๓ คน มาทำสัญญารับสภาพหนี้ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือเรียกให้ผู้ฟ้องคดีมาทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามหนังสือลงวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ถือได้ว่า เป็นกรณีที่หัวหน้าฝ่ายบริหารของราชการส่วนท้องถิ่นมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรตามที่หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นกำหนดไว้ และเมื่อพิจารณาคำสั่งเทศบาลตำบลวานรนิวาสลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๒ แล้ว แม้ในตอนท้ายจะระบุว่าให้บุคคลผู้ต้องรับผิดมาทำสัญญารับสภาพหนี้ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาในคำสั่งดังกล่าวโดยตลอดแล้ว ย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ส่วนการให้ผู้ฟ้องคดีมาทำสัญญารับสภาพหนี้นั้นเป็นเพียงกรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผ่อนผันให้ผู้ฟ้องคดีผ่อนชำระเงิน โดยผู้ฟ้องคดีต้องทำสัญญารับสภาพหนี้ไว้เป็นหลักฐาน ดังนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอำนาจออกคำสั่งเทศบาลตำบลวานรนิวาสลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๒ และได้ออกคำสั่งดังกล่าวภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ประธานกรรมการสุขาภิบาลวานรนิวาสได้วินิจฉัยสั่งการให้ผู้ฟ้องคดีร่วมรับผิดตามหนังสือลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๑ อันถือได้ว่าเป็นวันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ คำสั่งเทศบาลวานรนิวาสลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๒ จึงเป็นคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินที่ชอบด้วยกฎหมาย

                 ส่วนกรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ แจ้งเตือนให้ผู้ฟ้องคดีนำเงินค่าสินไหมทดแทนมาชำระ ตามคำสั่งเทศบาลตำบลวานรนิวาสลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ภายในเวลาที่กำหนด อันเป็นขั้นตอนก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองต่อไปเท่านั้น หนังสือฉบับดังกล่าวหาได้มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีโดยตรงไม่ จึงไม่เป็นคำสั่งทางปกครอง ผู้ฟ้องคดีจึงไม่เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากหนังสือแจ้งเตือนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ฉบับดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนหนังสือลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

                 จากคำวินิจฉัยดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักกฎหมายไว้ ๒ ประการ คือ

                 (๑) การที่หน่วยงานของรัฐออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดและพวกมาทำสัญญารับสภาพหนี้ และหนังสือเรียกให้เจ้าหน้าที่มาทำหนังสือรับสภาพหนี้มีเนื้อหาที่เข้าใจได้ว่าเป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชำระเงินตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ส่วนการให้เจ้าหน้าที่มาทำสัญญารับสภาพหนี้นั้นเป็นเพียงกรณีที่หน่วยงานของรัฐผ่อนผันให้เจ้าหน้าที่ผ่อนชำระเงิน โดยเจ้าหน้าที่ต้องทำสัญญารับสภาพหนี้ไว้เป็นหลักฐาน

                 (๒) หนังสือแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดนำเงินค่าสินไหมทดแทนมาชำระภายในเวลาที่กำหนด ถือเป็นขั้นตอนก่อนที่หน่วยงานของรัฐอาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองต่อไปเท่านั้น หนังสือดังกล่าวหาได้มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของเจ้าหน้าที่โดยตรงไม่จึงไม่เป็นคำสั่งทางปกครองที่เจ้าหน้าที่จะนำมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนได้


                 เครดิต นางสาวจารุณี กิจตระกูล พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ , กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร , สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง

ผิดวินัย...เพราะ (ตั้งใจ) จ่ายเงินไม่ระมัดระวัง


               
 หลายครั้งที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาวางไว้เป็นบรรทัดฐานเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติของข้าราชการ และหลายครั้งที่แฟนคอลัมน์ “รู้เฟื่องเรื่องกฎหมายปกครอง” ได้ศึกษาอุทาหรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ข้าราชการทุจริตเบียดบังเงินของราชการเป็นของตนเอง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ผู้กระทำผิดต้องรับผิดชอบชดใช้เงินคืนให้กับราชการ ยิ่งกว่านั้น ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมกำกับดูแลและตรวจสอบกลั่นกรองงานของผู้ใต้บังคับบัญชา หากประมาทเลินเล่อไม่สอดส่องควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือเปิดโอกาสให้มีการทุจริตหรือไม่ยึดถือและปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด ปล่อยปละละเลยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาฉวยโอกาสจากตำแหน่งหน้าที่ราชการกระทำการทุจริต ก็ย่อมหลีกหนีความรับผิดไม่พ้นอีกเช่นกัน

                 อีกสักครั้ง กับอุทาหรณ์การลงโทษผู้บังคับบัญชาที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเงินของส่วนราชการ แต่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของทางราชการ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และยังส่งผลให้ตนเองถูกลงโทษทางวินัยไล่ออกจากราชการ

                 คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดี) มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งดำรงตำแหน่งสารวัตรฝ่ายการเงิน ออกจากราชการ เนื่องจากตรวจพบว่าใบสั่งจ่ายเงินงบประมาณ จำนวน ๓ ฉบับ มีรอยขูดลบเลขที่ฎีกา ชื่อผู้รับเงินและลายมือชื่อผู้รับเงิน แต่ผู้ฟ้องคดีกลับสั่งให้จ่ายเงินให้กับผู้รับเงินได้ โดยผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่า ตนได้มอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชารับผิดชอบในการตรวจสอบใบสำคัญสั่งจ่ายเงินและลงนามในใบสั่งจ่ายเงินแต่ละวันแล้ว จึงไม่ทราบว่า ฎีกามีรอยขูดลบ ทั้งไม่ปรากฏลายมือชื่อของผู้ฟ้องคดีเป็นผู้อนุมัติในฎีกาด้วย ฉะนั้น การมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการจึงไม่เป็นธรรม

                 ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยอมรับว่า มอบหมายให้ร้อยตำรวจโทหญิง ฉ.ลงนามในช่องจ่ายเงินตามใบสำคัญสั่งจ่ายเงินแทน และในการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเงินนั้น ผู้ฟ้องคดีให้การยอมรับและเจือสมกับคำให้การของร้อยตำรวจโทหญิง ฉ. ว่า ได้ตรวจพบและรายงานพร้อมทั้งขอความเห็นต่อผู้ฟ้องคดีว่า “ใบสั่งจ่ายเงินตามฎีกามีรอยขูดลบแก้ไขด้วยน้ำยาลบคำผิดและยางลบในช่องผู้มีสิทธิรับเงินในช่องหลักฐานการรับเงิน ในช่องลงชื่อผู้รับเงิน อีกทั้งไม่แนบบัตรประจำตัวผู้รับเงินด้วยอันเป็นการผิดระเบียบ” แต่ผู้ฟ้องคดีสั่งให้จ่ายเงินได้โดยให้เหตุผลว่า “ผ่านการอนุมัติแล้ว คนทำเอกสารก็ยืนอยู่ที่นี่ และจ่ายถูกต้องตรงตัว ผู้รับเงินมาจริง” กรณีแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่า ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามหมวด ๒ ส่วนที่ ๑ ข้อ ๒๙ ของระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. ๒๕๒๐ (แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๑)ซึ่งกำหนดว่า “หลักฐานการจ่ายต้องพิมพ์หรือเขียนด้วยหมึก การแก้ไขหลักฐานการจ่าย ให้ใช้วิธีขีดฆ่าแล้วพิมพ์หรือเขียนใหม่ แล้วให้ผู้รับเงินลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกแห่ง” ถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีในฐานะที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงิน และเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ตรวจสอบให้ชัดเจนตามที่ระเบียบกำหนดไว้ ซึ่งสามารถใช้ความระมัดระวังป้องกันเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการไม่ อีกทั้งเมื่อพบว่า มีการปฏิบัติผิดระเบียบอันเป็นสาระสำคัญกลับเพิกเฉยไม่สั่งให้แก้ไขการปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่กลับฝ่าฝืนระเบียบให้มีการจ่ายเงินไปจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๘๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังนั้นคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการจึงเป็นคำสั่งที่ถูกต้องและเหมาะสมกับการกระทำของผู้ฟ้องคดี (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๒๒๔/๒๕๕๑)

                 คดีนี้คงเป็นอุทาหรณ์ให้กับข้าราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินของราชการได้เป็นอย่างดี อย่างน้อย ๒ ประการ คือ

                 (๑) ถึงแม้จะได้มอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาลงชื่อในใบสั่งจ่ายเงินแล้ว แต่ผู้บังคับบัญชาในฐานะที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงิน ยังคงมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังและละเอียดรอบคอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ มิใช่จะปล่อยปละละเลยให้เป็นความรับผิดชอบของผู้ใต้บังคับบัญชาแต่เพียงลำพัง ดังเช่นคดีนี้เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาได้สอบถามและแจ้งให้ทราบแล้วว่า ใบฎีกาจ่ายเงินไม่ถูกต้องตามระเบียบ แต่ผู้ฟ้องคดีก็มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง อันถือได้ว่า (ตั้งใจ) ไม่ใช้ความระมัดระวังเพื่อรักษาผลประโยชน์ของราชการ โดยไม่ถือปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาเงินของทางราชการอย่างเคร่งครัด

                 (๒) เลขฎีกา ชื่อผู้รับเงิน ลายมือชื่อผู้มีสิทธิรับเงิน ลายมือชื่อผู้มีอำนาจอนุมัติชื่อผู้มอบฉันทะให้รับเงิน จำนวนเงินที่เป็นตัวเลขและตัวอักษร การแนบบัตรประจำตัวข้าราชการหรือบัตรประจำตัวประชาชน เป็นรายละเอียดอันเป็นสาระสำคัญของฎีกา หากจำเป็นต้องแก้ไขจะต้องปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด เพราะระเบียบเกี่ยวกับการเก็บรักษาเงินของราชการไม่ว่าส่วนราชการใดก็ตาม มีวัตถุประสงค์สำคัญคือนอกจากจะควบคุม กำกับดูแลการรับจ่ายเงินและเก็บรักษาเงินของราชการมิให้รั่วไหลแล้ว ยังเป็นการป้องกันการทุจริตอันจะทำให้เกิดความเสียหายกับราชการ


                 เครดิต นางสาวฐิติพร ป่านไหม พนักงานคดีปกครอง ๔ , ตรวจแก้ไขโดย นางสาวปรานี สุขศรี พนักงานคดีปกครอง ๗ว , สำนักวิชาการและความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานศาลปกครอง

พ้นตำแหน่งไปแล้ว ยังถอดถอนได้ไหม ?


               
   ประเด็นที่จะคุยกันในวันนี้ น่าสนใจทีเดียว กรณีผู้ฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้ถูกลงโทษให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง แต่ตนเองได้ชิงลาออกไปก่อน และอ้างว่าตนไม่ได้ดำรงตำแหน่งแล้ว จึงไม่อาจถอดถอนได้ เรื่องนี้บทสรุปจะเป็นอย่างไร มาดูกันครับ

                   นายอาสูรย์ (ผู้ฟ้องคดี) ซึ่งได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายก อบต. ต่อมาศาลจังหวัดได้มีคำพิพากษาว่า นายอาสูรย์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้ตำแหน่งกลั่นแกล้งพนักงานจ้างทั่วไป โดยไม่ต่อสัญญาจ้างทั้งที่ผลการปฏิบัติงานดี โดยศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี นายอำเภอจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและได้รายงานผลไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งในวันเดียวกันนายอาสูรย์ก็ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้วินิจฉัยให้นายอาสูรย์พ้นจากตำแหน่ง นายอาสูรย์ไม่เห็นด้วยจึงยื่นอุทธรณ์ แต่ผู้ว่าฯ ยืนยันตามเดิม นายอาสูรย์นำเรื่องมาฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยอ้างว่า กระบวนการสอบสวนไม่ชอบ กล่าวคือ 

                   1. ไม่แจ้งว่าตนมีสิทธินำทนายความหรือที่ปรึกษาเข้ามาในการพิจารณาทางปกครองได้ รวมทั้งไม่มีการจัดทนายความให้ 
                   2. คณะกรรมการฯ ดำเนินการสอบสวนไม่แล้วเสร็จภายใน 15 วันตามที่นายอำเภอผู้ออกคำสั่งกำหนดไว้ และ 
                   3. เมื่อตนได้รับอนุญาตให้ลาออกจากตำแหน่งไปก่อนแล้ว จึงไม่อาจวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวได้อีก เพราะไม่มีตัวตนของผู้ดำรงตำแหน่งแล้ว

                   ข้อโต้แย้งของนายอาสูรย์ทั้งสามประการ ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า

                   ประการแรก มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 บัญญัติว่า “ ในการพิจารณาทางปกครองที่คู่กรณีต้องมาปรากฏตัวต่อเจ้าหน้าที่ คู่กรณีมีสิทธินำทนายความหรือที่ปรึกษาของตนเข้ามาในการพิจารณาทางปกครองได้” จากบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมเห็นได้ว่า เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้สิทธิแก่คู่กรณีในการนำทนายความหรือที่ปรึกษาเข้ามาในการพิจารณาทางปกครองได้ แต่มิได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องจัดหาทนายความให้ด้วย ดังเช่นจำเลยในคดีอาญา หรือต้องแจ้งสิทธิในการนำทนายความเข้ามาการที่คณะกรรมการสอบสวนไม่ได้แจ้งสิทธิดังกล่าวหรือจัดหาทนายความให้แก่นายอาสูรย์ จึงไม่ทำให้กระบวนการสอบสวนไม่ชอบแต่อย่างใด

                   ประการที่สอง ตามบทบัญญัติมาตรา 92 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลพ.ศ. 2537 กำหนดว่า “หากปรากฏว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ให้นายอำเภอดำเนินการสอบสวนโดยเร็ว” จะเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวมีข้อกำหนดเพียงให้ดำเนินการโดยเร็ว หาได้กำหนดเวลาแล้วเสร็จไว้ด้วย การที่นายอำเภอได้กำหนดเวลาไว้ในคำสั่งว่าให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 นับแต่ที่รับทราบคำสั่ง เป็นเพียงมาตรการเพื่อเร่งรัดให้คณะกรรมการสอบสวนฯ ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วเท่านั้น เมื่อการสอบสวนไม่เป็นไปตามกำหนดเวลา 15 วัน ก็หาได้มีผลทำให้การสอบสวนเสียไปหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

                   ประการที่สาม กรณีที่นายอาสูรย์โต้แย้งว่า ได้ลาออกจากตำแหน่งจึงไม่มีตำแหน่งให้ถอดถอนแล้วนั้น เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 92 ดังกล่าว ก็มิได้มีข้อจำกัดว่าการสอบสวนและวินิจฉัยจะกระทำหลังจากสมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือพ้นจากตำแหน่งแล้วไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม หากมีการแปลความว่ามีข้อจำกัดเช่นนั้น ก็จะทำให้มีการหลีกเลี่ยงผลทางกฎหมายในการพ้นทางจากตำแหน่งโดยไม่สุจริต เนื่องจากการพ้นจากตำแหน่งแต่ละเหตุมีผลทางกฎหมายแตกต่างกัน ทั้งยังเป็นการเปิดช่องให้มีการกระทำการอันเป็นเหตุที่ต้องห้ามได้ โดยเมื่อถูกสอบสวนก็จะรีบขอลาออกหรือจงใจสร้างเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งของตนขึ้นด้วยเหตุอื่น เพื่อให้มีผลก่อนการวินิจฉัยในเรื่องที่ถูกกล่าวหานั้น การที่กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามที่ระบุกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จะไร้ผล และเป็นการผิดจากเจตนารมณ์ที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะให้เกิดผลบังคับใช้ การที่นายอาสูรย์ได้ขอลาออกจากตำแหน่งด้วยความจำเป็นส่วนตัวและปัญหาสุขภาพ แต่หลังจากพ้นจากตำแหน่งเพราะการลาออกแล้ว เมื่อมีประกาศสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลใหม่ นายอาสูรย์ก็ไปลงสมัครรับเลือกตั้งอีกและได้รับเลือกตั้ง อันแสดงให้เห็นว่าเป็นการลาออกเพื่อหลีกเลี่ยงผลทางกฎหมายที่ตนกำลังถูกวินิจฉัย เพราะหากตนถูกถอดถอนตามความผิดดังกล่าวจะเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งจะต้องไม่เป็นผู้มีพฤติกรรมไปในทางทุจริต อันจะทำให้ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมืองได้

                   ฉะนั้น เมื่อกระบวนการสอบสวนตามขั้นตอนต่างๆ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยทั้งข้อเท็จจริงในการสอบสวนฟังได้ว่า ในการไม่ต่อสัญญาจ้างลูกจ้างทั้งสามคน เกิดจากผู้ฟ้องคดีมิได้บริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตามนัยมาตรา 92 แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฯ การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งจึงชอบแล้ว (อ.682/2556)

                   สรุปว่า... แม้ผู้กระทำผิดจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ก็สามารถดำเนินการถอดถอนตามกฎหมายได้ครับ ทั้งนี้เพราะการถูกถอดถอน ยังมีผลของโทษที่ต้องได้รับจากการถูกถอดถอนตามมาด้วยนั่นเอง


                   เครดิต ครองธรรม ธรรมรัฐ

ออกคำสั่งไม่ถูกต้อง ... ไฉนเรียกให้คืนเงิน ?


               
  คดีปกครองที่จะนำมาฝากกันในวันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่คืนเงินยืมทดรองจ่าย โดยมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแต่นำผลการสอบสวนทางวินัยมาเป็นเหตุผลในการออกคำสั่ง

                  เรื่องมีอยู่ว่า ... ผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) ได้ทำหนังสือขออนุมัติยืมเงินทดรองจ่ายจำนวน 50,000 บาท เพื่อนำไปใช้ในการจัดสัมมนา เมื่อการสัมมนาเสร็จสิ้น ผู้ฟ้องคดีได้จัดส่งหลักฐานการใช้จ่ายยื่นขอหักล้างเงินยืมทดรองจ่าย โดยได้รับอนุมัติจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) ต่อมา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เรียกเงินคืนจากการเบิกจ่ายเงินทดรองจ่ายดังกล่าวจากผู้ฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่า ไม่ใช่เป็นการจ่ายเงินยืมทดรองจ่ายให้กับพนักงานเพื่อกิจการภายในขอบเขตวัตถุประสงค์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกับผู้ฟ้องคดี ซึ่งมีความเห็นให้ยกเว้นโทษทางวินัย เนื่องจากมิได้มีเจตนาที่จะกระทำผิด แต่ให้เรียกเงินทดรองจ่ายคืนจากผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีคืนเงินตามที่ได้รับไป ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งพิจารณาแล้วมีความเห็นยืนตามความเห็นเดิม โดยผู้ฟ้องคดีได้ทราบคำวินิจฉัยดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2548 ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งเรียกให้คืนเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

                  คดีนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ ประเด็นแรกก็คือ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้ องภายในระยะเวลาที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดไว้หรือไม่ ?

                  ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้ผู้ฟ้องคดีคืนเงินทดรองจ่ายที่ยืมไปเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง(มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539) ผู้ฟ้องคดีจึงต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทำการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน (มาตรา 44 และมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน) และเมื่อได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์แล้วจึงจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ อันเป็นเงื่อนไขที่มาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บังคับให้ต้องดำเนินการก่อนการฟ้องคดีต่อศาล เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับทราบผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2548 จึงถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รู้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2548 การฟ้องคดีนี้ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 จึงเป็นการฟ้องคดีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

                  ประเด็นต่อมาก็คือ คำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีคืนเงินยืมทดรองจ่ายโดยยังไม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?

                  การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินคืนจากการกระทำละเมิดตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นทำการสอบสวนตามข้อ 8 วรรคหนึ่ง ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ก่อนแล้วจึงจะทำการวินิจฉัยและออกคำสั่งได้ เมื่อกรณีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้คืนเงินยืมทดรองจ่ายที่ยืมไปโดยมิได้ดำเนินการตามนัยดังกล่าว แต่ได้นำผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยซึ่งเป็นคณะกรรมการสอบสวนตามกฎหมายคนละฉบับและมีอำนาจหน้าที่แตกต่างกันมาเป็นเหตุในการออกคำสั่งดังกล่าว จึงเป็นการออกคำสั่งไปโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้ คำสั่งดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีคืนเงินยืมทดรองจ่ายจำนวน 50,000 บาท (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 114/2554)

                  คดีนี้ได้วางหลักกฎหมายเรื่องการเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ เมื่อเกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐแห่งใดแล้วจะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้น เพื่อพิจารณาผู้ต้องรับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นจะต้องชดใช้ โดยจะต้องมีการให้โอกาสแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอและเป็นธรรม หน่วยงานของรัฐจะนำผลการสอบสวนของคณะกรรมการอื่นมาเป็นเหตุในการออกคำสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ได้นะครับ ...


                  นายปกครอง , หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2554

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...