28 พ.ค. 2562

การพิจารณาทางปกครองของเจ้าหน้าที่ : ความสำคัญของหลักการพิสูจน์ความจริง

รวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ คือ หลักการสำคัญของการปฏิรูประบบราชการไทยโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งถือเป็น “กฎหมายกลาง” ที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาทางปกครองเพื่อออกคำสั่งทางปกครอง ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติราชการมีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันประชาชนหรือบุคคลที่อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองจะได้มีหลักประกันความเป็นธรรมและสามารถปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนได้ ทั้งในชั้นก่อนที่เจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจในการออกคำสั่งทางปกครองซึ่งเป็นขั้นตอนการเตรียมการ ในชั้นการออกคำสั่งทางปกครอง และในชั้นภายหลังจากการออกคำสั่งทางปกครอง คือ ขั้นตอนการทบทวนคำสั่งทางปกครองและการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง
ในขั้นตอน การดำเนินกระบวนพิจารณาทางปกครอง ซึ่งเป็น “การเตรียมการหรือการดำเนินการในชั้นเจ้าหน้าที่ก่อนที่จะมีคำสั่งทางปกครอง หรือก่อนที่เจ้าหน้าที่จะมีการวินิจฉัยสั่งการในเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของคู่กรณี” นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อประกันคุณภาพของคำสั่งทางปกครองไว้หลายประการ อาทิ การพิสูจน์ความจริงด้วยการแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน และรอบด้าน หรือการให้สิทธิแก่คู่กรณีในการโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานหรือเข้ามามีส่วนร่วม เป็นต้น
บทความนี้จะเป็นการนำเสนอความสำคัญของการแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนและรอบด้าน หรือ “หลักการพิสูจน์ความจริงตามระบบไต่สวน” ก่อนที่ผู้มีอำนาจจะออกคำสั่งทางปกครอง ซึ่งหลักการนี้ปรากฏอยู่ในมาตรา 28 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสมในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่จำต้องผูกพันอยู่กับพยานหลักฐานของคู่กรณี รวมถึงการแสวงหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องการรับฟังพยานหลักฐาน คำชี้แจงหรือความเห็นของคู่กรณีหรือพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญตลอดจนการขอข้อเท็จจริงหรือความเห็นจากคู่กรณี พยานบุคคล หรือพยานผู้เชี่ยวชาญ การให้ผู้ครอบครองส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งการออกไปตรวจสถานที่ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่จะใช้ในการพิจารณาทางปกครอง
หลักการดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีแนวทางในการปฏิบัติราชการหรือบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดี ทั้งยังจะทำให้ฝ่ายปกครองตระหนักถึงความสำคัญของการแสวงหาข้อเท็จจริงและการตรวจสอบพยานหลักฐานก่อนที่จะออกคำสั่งทางปกครอง ซึ่งหากฝ่ายปกครองได้ใช้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองโดยมิได้ตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน และรอบด้านตามที่บทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจหน้าที่ไว้ ย่อมจะก่อให้เกิดผลต่อความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครอง
ผู้เขียนขอนำเสนอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาดังนี้
คดีแรก กรณีผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งให้แพทย์ประจำตำบลพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุเกษียณอายุ โดยไม่ได้ตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัน เดือน ปีเกิด ให้ครบถ้วน ซึ่งคดีนี้มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่เอกสารหลักฐานของทางราชการระบุข้อมูลวัน เดือน ปีเกิดไม่สอดคล้องตรงกัน
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีขณะที่ดำรงตำแหน่งแพทย์ประจำตำบล ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อำเภอว่า ผู้ฟ้องคดีจะครบวาระการดำรงตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 60 ปี ในวันที่ 31 มีนาคม 2552 ผู้ฟ้องคดีจึงไปตรวจสอบทะเบียนประวัติและพบว่า มีการแก้ไขปีเกิดของตน จึงได้โต้แย้งว่าตนเกิดปี พ.ศ. 2495 ไม่ใช่ พ.ศ. 2492 แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับฟัง กลับรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552
และหลังจากที่ทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว ผู้ฟ้องคดีก็ได้แจ้งให้นายอำเภอ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) แก้ไข พ.ศ. เกิดให้ถูกต้อง แต่ได้รับการปฏิเสธเนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งไปก่อนแล้ว นายอำเภออ้างว่า ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีนำเอกสารหลักฐานมาขอแก้ไขให้ถูกต้องแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีเพิกเฉย และต้องถือปฏิบัติตามหนังสือกรมการปกครองที่ มท 0311.2/3277 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2538 ที่ระบุว่า กรณีวัน เดือน ปีเกิด ที่ปรากฏในเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ไม่ตรงกัน และไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเอกสารหลักฐานใดแสดงวัน เดือน ปีเกิดที่แท้จริง การนับอายุของบุคคลเพื่อทราบว่า จะพ้นจากตำแหน่งเมื่อใดนั้น จึงต้องพิจารณาจากทะเบียนประวัติกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล (สน.11) เป็นสำคัญ
ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด และให้แต่งตั้งผู้ฟ้องคดีกลับเข้าดำรงตำแหน่งเช่นเดิม หากไม่อาจแต่งตั้งได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลวัน เดือน ปีเกิดของผู้ฟ้องคดี ซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสารหลักฐานต่าง ๆ มีดังนี้
(1) สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนนักเรียน ระบุว่า เกิดปี พ.ศ. 2495 โดยไม่ระบุวันที่ และเดือนเกิด
(2) ใบสุทธิการจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ระบุว่า เกิดวันที่ 16 ตุลาคม 2495
(3) ทะเบียนประวัติกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล (สน.11) ซึ่งมีร่องรอยการแก้ไขระบุว่า เกิดวันที่ 1 เมษายน 2492
ปัญหา คือ เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบและรับฟังข้อเท็จจริงโดยพิจารณาจากเอกสารหลักฐานใด ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การพิจารณาว่าผู้ใดผู้หนึ่งพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อใด จะต้องพิจารณาจากวัน เดือน ปี เกิด ที่ถูกต้องแท้จริงของผู้นั้นเป็นข้อสาระสำคัญ ซึ่งนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องผูกพันอยู่กับคำขอหรือพยาน (มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539) จากผู้ฟ้องคดี
เมื่อผู้ฟ้องคดีได้โต้แย้งว่า เกิดปี พ.ศ. 2495 ก่อนที่นายอำเภอจะรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนั้น ถือเป็นการโต้แย้งว่า ผู้ฟ้องคดีมีอายุยังไม่ครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2552 แต่ครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อมีอายุครบ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2555 นายอำเภอจึงมีหน้าที่ตรวจสอบและพิจารณาข้อโต้แย้งของผู้ฟ้องคดี และรายงานผลการตรวจสอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป การที่นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดเพียงแต่พิจารณาเอกสารทะเบียนประวัติตามแบบ สน.11 โดยไม่ตรวจสอบเอกสารทางทะเบียนอื่น ๆ ประกอบการพิจารณา จึงถือว่ามิได้พิจารณาตามคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีก่อนมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับวัน เดือน ปีเกิดตามเอกสารต่าง ๆ จะไม่ตรงกันทั้งหมด แต่ก็มีเพียงทะเบียนประวัติตามแบบ สน.11 เท่านั้น ที่ระบุว่าผู้ฟ้องคดีเกิดปี พ.ศ. 2492 และเมื่อการบันทึกข้อมูลในทะเบียนประวัติตามแบบ สน.11 ต้องอาศัยฐานข้อมูลจากหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน และหลักฐานการศึกษาเป็นสาระสำคัญ อีกทั้งไม่ปรากฏหลักฐานอื่นใดว่าผู้ฟ้องคดีขอแก้ไขปีเกิดในภายหลัง จึงเชื่อได้ว่าการบันทึกข้อมูลในทะเบียนประวัติอาจมีข้อผิดพลาดหรือมีการแก้ไขข้อมูลภายหลัง ประกอบกับทะเบียนประวัติมีร่องรอยการแก้ไขซึ่งเป็นข้อพิรุธน่าสงสัย จึงไม่อาจรับฟังข้อมูลตามเอกสารดังกล่าวได้ (โดยลำพัง) เมื่อหลักฐานตามสำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน และหลักฐานการศึกษาเป็นเอกสารราชการที่ออกให้เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ปรากฏข้อพิรุธสงสัยในความไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเกิดในปี พ.ศ. 2495 ดังนั้น การมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งในขณะที่มีอายุยังไม่ครบ 60 ปี ซึ่งยังไม่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 1434/2558)
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ได้วางบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการที่ดีให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างน้อย 3 ประการ คือ
(1) การที่เจ้าหน้าที่จะดำเนินการพิจารณาเพื่อออกคำสั่งทางปกครอง โดยอาศัยฐานข้อมูลเกี่ยวกับวัน เดือน ปีเกิด ของบุคคล ดังเช่นการนับอายุของบุคคลเพื่อพิจารณาการพ้นจากตำแหน่งในคดีนี้ เอกสารหลักฐานสำคัญที่จะต้องนำมารับฟังเพื่อหาข้อมูลประกอบการพิจารณาสั่งการ ก็คือ ทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชน เนื่องจากเป็นเอกสารที่ทางราชการจัดทำขึ้นโดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับรายการของบุคคล เช่น ชื่อและนามสกุล เลขประจำตัวประชาชน และวัน เดือน ปีเกิด เป็นต้น
(2) ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น พึงตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทุกฉบับโดยไม่จำกัดหรือยึดติดอยู่เพียงแค่เอกสารหลักฐานของคู่กรณีเท่านั้นโดยจะต้องพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือ ตลอดจนข้อพิรุธสงสัยของเอกสารต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อจะได้มีข้อมูลประกอบการวินิจฉัยสั่งการที่ถูกต้องครบถ้วน
(3) หากมีการโต้แย้งจากคู่กรณี เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องตรวจสอบข้อโต้แย้งและแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติสำหรับนำมาหักล้างหรือพิจารณาข้อโต้แย้งดังกล่าวเพื่อสนับสนุนการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
คดีที่สอง กรณีการออกโฉนดที่ดิน โดยเจ้าพนักงานที่ดินไม่ได้ตรวจสอบตำแหน่งหรือแนวเขตที่ดินก่อนออกโฉนดที่ดิน ทำให้ทับซ้อนกับที่ดินของผู้อื่น
คดีนี้มีข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง เนื้อที่ 8 ไร่ 69 ตารางวา จากนางสาวฟ้า (นามสมมติ) ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวดาว (นามสมมติ) ต่อมา ในปี พ.ศ. 2549 บริษัท เอ จำกัด เจ้าของที่ดินข้างเคียงได้ยื่นคำขอรวมโฉนดที่ดินจำนวนสามแปลงให้เป็นแปลงเดียว เจ้าหน้าที่ของกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ได้ทำการรังวัดรวมโฉนดที่ดินดังกล่าว แต่เมื่อลงระวางแล้ว ปรากฏว่าโฉนดที่ดินแปลงหนึ่งของบริษัท เอ จำกัด ทับซ้อนกับโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีบางส่วน ผู้ฟ้องคดีจึงคัดค้านการรังวัด รองอธิบดีซึ่งอธิบดีกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มอบหมายได้พิจารณาสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ได้มีคำสั่งให้แก้ไขรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยแก้ไขเนื้อที่เป็น 5 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน หากไม่เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวให้ชดใช้ค่าที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ปัญหา คือ การที่ผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดินจากนางสาวฟ้าซึ่งเป็นผู้ขาย จำนวน 8 ไร่ 69 ตารางวา แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในโฉนดที่ดินเป็น 5 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา เนื่องจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงโต้แย้งว่า การออกโฉนดที่ดินให้ผู้ฟ้องคดีทับซ้อนที่ดินข้างเคียงบางส่วน กรณีถือได้ว่า การออกโฉนดที่ดินเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ ? และกรมที่ดินจะต้องรับผิดต่อผู้ที่ได้ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า โฉนดที่ดินเป็นเอกสารมหาชนที่รับรองว่าบุคคลผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามจำนวนเนื้อที่ที่ระบุไว้ ซึ่งบุคคลผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินนั้นมีอำนาจนำที่ดินดังกล่าวไปดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเพื่อแสวงหาประโยชน์กับบุคคลภายนอก โดยบุคคลภายนอกนั้นย่อมมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นโฉนดที่ดินที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายและสำแดงข้อมูลที่ถูกต้องทุกรายการ ประกอบกับการออกโฉนดที่ดินเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินและมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครอง พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการออกโฉนดที่ดิน และเป็นผู้มีวิชาชีพ มีความชำนาญ และความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษมากกว่าบุคคลทั่วไป จึงต้องดำเนินการออกโฉนดที่ดินด้วยความระมัดระวังและละเอียดรอบคอบเพื่อให้การออกโฉนดที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีอำนาจในการไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการออกโฉนดที่ดินนั้นได้ตามที่เห็นสมควรตามมาตรา 28 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 โดยต้องตรวจสอบตำแหน่งและแนวเขตที่ดินที่ขอออกโฉนดที่ดินว่าจดที่ดินของบุคคลใดบ้าง และแจ้งให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงมาระวังแนวเขตที่ดินรวมทั้งต้องตรวจสอบระวางแผนที่ว่าที่ดินดังกล่าวทับซ้อนกับที่ดินของบุคคลใดหรือไม่ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินออกโฉนดที่ดินให้แก่นางสาวฟ้าโดยมิได้ตรวจสอบตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินตาม น.ส. 3 ก. ที่นำมาเป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดที่ดิน ซึ่งหากตรวจสอบก็จะพบว่ามีบางส่วนทับซ้อนกับที่ดินแปลงอื่น แต่หาได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอไม่ ถือได้ว่า กระทำการโดยประมาทเลินเล่อในการออกโฉนดที่ดิน เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ซื้อที่ดินจากนางสาวฟ้าโดยสุจริตและได้รับความเสียหาย การปฏิบัติหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินจึงมีผลเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น กรมที่ดินซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 175/2559)
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ได้วางบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการที่ดีให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ
(1) การไม่แสวงหาข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนและรอบด้าน ทั้งที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 อาจจะส่งผลให้การออกคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ได้รับความเสียหายจากคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายนั้น
(2) ความสำคัญของโฉนดที่ดินอันถือเป็นเอกสารมหาชนที่รับรองว่าบุคคลผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและมีจำนวนเนื้อที่ดินตามที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดิน ซึ่งผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินมีอำนาจที่จะนำที่ดินดังกล่าวไปดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอย่างใด ๆ หรือแสวงหาประโยชน์กับบุคคลภายนอก และในกรณีของบุคคลภายนอกนั้นย่อมมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวออกโดยชอบด้วยกฎหมายและสำแดงข้อมูลที่ถูกต้องทุกรายการ ดังนั้น การออกโฉนดที่ดินจึงต้องดำเนินการตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตำแหน่งและแนวเขตที่ดินด้วยความระมัดระวังและละเอียดรอบคอบ ทั้งนี้ เพื่อให้การออกโฉนดที่ดินนั้นถูกต้องตามกฎหมาย
คดีที่สาม กรณีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นอ้างมติที่ประชุมของตัวแทนที่ได้รับผลกระทบจากการให้ผู้ฟ้องคดียุติการประกอบกิจการ มาเป็นเหตุในการมีคำสั่งไม่ต่อใบอนุญาตประกอบกิจการ โดยมิได้ติดตามหรือออกไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ
ข้อเท็จจริงในคดี คือ ผู้ฟ้องคดีได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารเพื่อเป็นฟาร์มเลี้ยงสุกร ซึ่งมีขนาดกลางและมีลักษณะเป็นโรงเรือนปิด มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ผ่านระบบก๊าซชีวภาพ ต่อมา ขณะที่ผู้ฟ้องคดีเลี้ยงสุกรรุ่นแรก ได้มีราษฎรในพื้นที่ร้องเรียนปัญหาว่ามีกลิ่นเหม็นรบกวนจากฟาร์มเลี้ยงสุกร ผู้ฟ้องคดีจึงได้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ และยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามคำแนะนำของนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (ผู้ถูกฟ้องคดี) ซึ่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลก็ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ในระหว่างประกอบกิจการได้มีราษฎรร้องเรียนอีก จนกระทั่งมีการจัดการประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีได้เสนอว่าจะสร้างกำแพงด้านหลังพัดลมดูดกลิ่นเพื่อให้กลิ่นเหม็นลอยสูงขึ้น และศึกษาแนวทางปฏิบัติจากผู้ประกอบการรายอื่นที่มีระบบบริหารจัดการที่ดี ซึ่งที่ประชุมก็ยอมรับมาตรการที่ผู้ฟ้องคดีเสนอ แต่หลังจากนั้นก็มีการร้องเรียนปัญหาเดิมอีก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจึงให้ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาอีกครั้ง และที่ประชุมมีมติให้ผู้ฟ้องคดีเลิกกิจการ
ต่อมา เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจึงมีคำสั่งปฏิเสธไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการ โดยอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ และที่ประชุมฯ ได้มีมติให้ผู้ฟ้องคดีเลิกกิจการ ผู้ฟ้องคดีจึงโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว แต่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลก็ไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และให้ดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการให้แก่ผู้ฟ้องคดี
คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงก่อนที่เจ้าหน้าที่จะออกคำสั่งทางปกครอง กล่าวคือ การที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปฏิเสธไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโดยอ้างมติที่ประชุมของตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งที่ยังมิได้ติดตามหรือออกไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า การที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไม่ต่อใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามคำขอของผู้ฟ้องคดี โดยมิได้ติดตามหรือออกไปตรวจสอบสถานที่ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเรื่องปัญหากลิ่นรบกวนแล้วหรือไม่ และกลิ่นรบกวนยังคงมีอยู่ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนหรือมีผลกระทบต่อสถานะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมของผู้อยู่อาศัยข้างเคียงหรือไม่ แต่กลับอ้างเพียงมติในการประชุมที่ให้ผู้ฟ้องคดียุติการประกอบกิจการมาเป็นเหตุไม่ต่อใบอนุญาต ทั้งที่การประชุมครั้งดังกล่าวข้อเท็จจริงยังฟังไม่ยุติว่า ยังมีกลิ่นรบกวนจากฟาร์มถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนหรือไม่ คงมีเพียงผู้แทนของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนกล่าวอ้างเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีข้อเท็จจริงอื่นมาสนับสนุนอีกจึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 28 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 จึงพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการ และให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการของผู้ฟ้องคดีให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 716/2557)
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ได้วางบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการที่ดีให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐว่า การใช้อำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เพื่อจัดให้มีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ประกอบกิจการ หรือคำสั่งอนุญาตให้ต่อหรือไม่อนุญาตให้ต่อใบอนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น นอกจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องตรวจสอบว่า เอกสารหลักฐานที่ผู้ยื่นคำขอได้ยื่นประกอบการพิจารณาอนุญาตถูกต้องและครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ และผู้ประกอบกิจการได้ดำเนินการอย่างใด ๆ ตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้สั่งการไว้แล้วหรือไม่ เช่น การสั่งให้ทำฝาปิดบ่อสิ่งปฏิกูล การให้ล้างโรงเรือนเลี้ยงสุกรอย่างสม่ำเสมอ และการแก้ไขปรับปรุงสถานประกอบการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่เหมาะสมหรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบแล้ว เจ้าพนักงานท้องถิ่นยังมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามความเหมาะสมว่า ผู้ประกอบกิจการได้ปฏิบัติหรือแก้ไขปัญหานั้นแล้วหรือไม่ เพียงใด ซึ่งการที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอนั้น จะต้องพิจารณาและรับฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ไม่ผูกพันอยู่กับข้อเท็จจริงที่ได้จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรวมถึงต้องติดตามหรือออกไปตรวจสอบสถานที่จริง เพื่อให้การแสวงหาข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างรอบด้านและครบถ้วน อันจะส่งผลทำให้การใช้อำนาจออกคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้ประกอบกิจการเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
จากข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดทั้งสามคดีข้างต้น ถือว่าเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่สำคัญสำหรับหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐในการพิจารณาทางปกครองว่า มาตรา 28 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสมในแต่ละเรื่อง โดยไม่จำต้องผูกพันอยู่กับพยานหลักฐานของคู่กรณี และต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่เห็นว่าจำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น โดยมีความมุ่งหมายว่า เมื่อมีเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงเรื่องหนึ่งเรื่องใดเกิดขึ้น และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หรือมีอยู่นั้นอาจก่อให้เกิดผลในทางกฎหมายหรือเป็นเงื่อนไขในการใช้อำนาจให้เจ้าหน้าที่จะต้องออกคำสั่งทางปกครองหรือไม่ อย่างไร เจ้าหน้าที่ในฐานะที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายหรือผู้ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายพึงจะต้องตระหนักเสมอว่า พื้นฐานในการจัดทำคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายย่อมมาจากการรับรู้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วน ดังนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องแสวงหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องที่จะใช้อำนาจให้ได้ความเป็นที่ยุติเสียก่อน หากเห็นว่า พยานหลักฐานที่มีอยู่หรือข้อเท็จจริงที่แสวงหาได้ยังไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ก็ย่อมมีอำนาจที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร ตลอดจนรวบรวมและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วน ในการวินิจฉัยสั่งการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมาย และสามารถอำนวยความยุติธรรมให้คู่กรณีได้อย่างแท้จริง
เครดิต : นางสมฤดี ธัญญสิริ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง , คอลัมน์รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

“สิทธิประชาชน” ในการขอข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของ “องค์กรอิสระ”

“ข้อมูลข่าวสาร” ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในทุกมิติ ไม่ว่าจะดำเนินการเรื่องใดๆ ล้วนต้องอาศัยข้อมูลข่าวสารเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจทั้งสิ้น โดยข้อมูลข่าวสารต่างๆ มีทั้งที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลหรือเอกชนและที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ
ในที่นี้...ผู้เขียนจะขอพูดถึงในส่วนข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐหรือข้อมูลข่าวสารของราชการนั่นเอง เพราะข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และพุทธศักราช 2550 ต่างก็บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น หรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” และถึงแม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้งสองฉบับจะถูกยกเลิกไป และปัจจุบันมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ก็ตาม แต่มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็ได้รับรองสิทธิของประชาชนไว้ดังเดิม รวมทั้งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่กำลังจะทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ด้วยเช่นกัน
แม้ว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 จะมีผลใช้บังคับก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ก็เป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์เช่นเดียวกัน ที่ต้องการให้ประชาชนมีโอกาสที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของรัฐ และรู้ถึงสิทธิหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ เพื่อจะได้สามารถแสดงความคิดเห็นและใช้สิทธิทางการเมือง รวมทั้งปกป้องรักษาสิทธิและประโยชน์ของตนเองได้อย่างถูกต้อง อันสอดคล้องและเป็นไปตามแนวคิดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ คือ การปกครองประเทศโดยยึดกฎหมายเป็นหลักในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ได้นิยามคำว่า “ข้อมูลข่าวสารของราชการ” ว่าหมายถึง ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐหรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเอกชน และนิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ศาลเฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี องค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพ หน่วยงานอิสระของรัฐ และหน่วยงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง รวมทั้งคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” คือ ผู้ซึ่งปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานของรัฐ
กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการฉบับดังกล่าว นอกจากจะกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยการลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 7) หรือจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดู (มาตรา 9) หรือจัดให้ประชาชนได้ค้นคว้า (มาตรา 26) แล้ว ถ้าบุคคลใดขอข้อมูลข่าวสารอื่นใดของราชการ (ที่ไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผยตามมาตรา 14 และมาตรา 15) และคำขอของผู้นั้นระบุข้อมูลข่าวสารที่ต้องการในลักษณะที่อาจเข้าใจได้ตามควร ให้หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้แก่ผู้ขอภายในเวลาอันสมควร เว้นแต่ผู้นั้นขอจำนวนมากหรือบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร (มาตรา 7มาตรา 9 และมาตรา 11)
จากบทบัญญัติข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์หรือหลักการของกฎหมายว่า ข้อมูลข่าวสารของราชการจะต้อง “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดเดิมคือ “ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น”
เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงต้องสลัดแนวคิดเดิมและปรับทัศนะตามแนวคิดใหม่ที่ประชาชนมีสิทธิโดยชอบในการที่จะรับรู้รับทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของรัฐ ยกเว้นข้อมูลข่าวสารบางประเภทตามที่กฎหมายให้อำนาจดุลพินิจกับส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่จะมีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้ คือ ตามมาตรา 14 ได้แก่ ข้อมูลข่าวสารที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 15 ที่อาจมีคำสั่งไม่เปิดเผยได้ เช่น การเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ การเปิดเผยจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร
แต่การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะปฏิเสธคำขอข้อมูลข่าวสารของประชาชน โดยอ้างข้อยกเว้นดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องระบุไว้ด้วยว่า ที่เปิดเผยไม่ได้เพราะเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทใดและเพราะเหตุใด ซึ่งผู้ยื่นคำขอสามารถอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยดังกล่าวต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้(โดยยื่นผ่านคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ)
อย่างไรก็ดี อาจมีข้อสังเกตว่า หากคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีคำวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่ผู้ยื่นคำขอ แต่หน่วยงานของรัฐผู้ครอบครองข้อมูลข่าวสารไม่เห็นด้วย และจะยืนยันความเห็นของตนโดยไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้หรือไม่ ?
ดังเช่นคดีปกครองที่นำมาเป็นตัวอย่างในวันนี้ เป็นเรื่องการยื่นขอข้อมูลข่าวสารต่อองค์กรอิสระคือ ป.ป.ช. โดยมีข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ปฏิเสธคำขอคัดสำเนาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. กรณีที่ผู้ยื่นคำขอได้เคยร้องทุกข์ต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและดำเนินคดีกับร้อยตำรวจเอก พ. กับพวก ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้ผู้ยื่นคำขอได้รับความเสียหาย และ ป.ป.ช.ได้มีมติยกเรื่องร้องทุกข์ ผู้ยื่นคำขอจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้คัดสำเนาสำนวนการไต่สวนดังกล่าวต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งได้มีคำวินิจฉัยให้ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลข่าวสารคือสำเนาสำนวนการไต่สวนฯ ตามที่มีการร้องขอ
หลังจากที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้วินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวแล้ว ป.ป.ช.ยังคงยืนยันตามเดิม คือ ไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้ยื่นคำขอ โดยให้เหตุผลว่า ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 301 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งมิได้อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาล และไม่ใช่หน่วยงานของรัฐหรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับของกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ประกอบกับ มาตรา 120 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติฯ ซึ่งกำหนดว่า “ผู้ใดเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูล ที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ โดยมิได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และมิใช่เป็นการกระทำตามหน้าที่ราชการ หรือเพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบหรือไต่สวนข้อเท็จจริง หรือเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และข้อมูลการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐถือเป็นเรื่องทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และได้รับความคุ้มครองที่ไม่ต้องเปิดเผยตามมาตรา 120 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ และเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการที่เป็นกฎหมายทั่วไป นอกจากนี้ ป.ป.ช.ได้สรุปข้อเท็จจริงและความเห็นตามสำนวนการไต่สวนให้แก่ผู้ยื่นคำขอทราบตามควรแก่กรณีแล้ว การปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวของ ป.ป.ช.จึงชอบด้วยกฎหมาย
เรื่องนี้น่าสนใจทั้งในแง่ของเหตุผล เจตนารมณ์ของกฎหมายและการปรับใช้กฎหมาย ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผู้ยื่นคำขอได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และเลขาธิการ ป.ป.ช.(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ) ต่อศาลปกครอง ฐานละเลยต่อหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคมฯ
คดีมีประเด็นที่ศาลปกครองต้องพิจารณาหลายประเด็น
ประเด็นแรก ศาลปกครองมีอำนาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ ? โดยต้องพิจารณาก่อนว่า
(1) ป.ป.ช. และเลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและ
วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 หรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การที่ ป.ป.ช. ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในการออกกฎ คำสั่ง หรือมติใดๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล อันเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัตินั้น ป.ป.ช.มีฐานะเป็นคณะกรรมการที่มีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่ง หรือมติใดๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล จึงเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ส่วนเลขาธิการ ป.ป.ช.เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งมีฐานะเป็น“หน่วยงานทางปกครอง” เลขาธิการ ป.ป.ช. จึงมีฐานะเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน
(2) การที่ ป.ป.ช.และ เลขาธิการ ป.ป.ช. ไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีตรวจและคัดสำเนาสำนวนการไต่สวน เป็นการใช้อำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรือเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง ?
ในเรื่องนี้ มาตรา 223 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กำหนดว่า การวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ ไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบของศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานว่า กรณีการใช้อำนาจไต่สวนและวินิจฉัยของ ป.ป.ช. เป็นการใช้อำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 292/2558)
สำหรับประเด็นพิพาทนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า มิใช่กรณีที่ ป.ป.ช. กระทำการในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือใช้อำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 120 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจในระดับพระราชบัญญัติ จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองว่า ละเลยต่อหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม จึงเป็นคดีปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง
ประเด็นที่สอง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคมฯ เป็นการละเลยต่อหน้าที่หรือไม่ ?
มีประเด็นที่ต้องพิจารณาในเบื้องต้นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 หรือไม่ ? และข้อมูลข่าวสารที่ผู้ฟ้องคดีขอให้เปิดเผยนั้น เป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องห้ามมิให้เปิดเผยหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า มาตรา 104 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กำหนดให้ สำนักงาน ป.ป.ช.มีฐานะเป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นกรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช.จึงมีลักษณะเป็นหน่วยงานอิสระของรัฐ ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540ิ ประกอบกับมาตรา 108 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กำหนดให้สำนักงาน ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อีกด้วย ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองคือ ป.ป.ช. และ เลขาธิการ ป.ป.ช.จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ฉะนั้น คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารจึงมีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของ ป.ป.ช. ได้
สำหรับปัญหาว่า ข้อมูลข่าวสารที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอให้เปิดเผยนั้น เป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องห้ามมิให้เปิดเผยหรือไม่ ต้องพิจารณามาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดกรณีพิพาท) ประกอบกับ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
ผู้ฟ้องคดีได้ขอตรวจและคัดสำเนาสำนวนการสอบสวนของ ป.ป.ช. ที่ได้มาจากการไต่สวนข้อเท็จจริงในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีร้องทุกข์กล่าวโทษร้อยตำรวจเอก พ. กับพวก ว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เอกสารดังกล่าว จึงเป็นเอกสารที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช. ตามมาตรา 19 (3) แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ที่ต้องห้ามมิให้เปิดเผยตามมาตรา 120 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ซึ่งบทบัญญัติตามมาตรา 120 นี้ เป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรักษาความลับของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ โดยเป็นบทกำหนดโทษบุคคลที่เปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูล ที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โดยมิได้รับมอบหมายจาก ป.ป.ช. และมิใช่เป็นการกระทำตามหน้าที่ราชการหรือเพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบหรือไต่สวนข้อเท็จจริง หรือเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ
จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ห้าม ป.ป.ช. ที่จะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในการที่ ป.ป.ช. จะใช้ดุลพินิจเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว ย่อมต้องพิจารณา พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ประกอบด้วย และเมื่อพิจารณามาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการฯ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร จะเห็นได้ว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 15 ถือเป็นดุลพินิจของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยก็ได้ โดยต้องคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกัน
เมื่อข้อมูลข่าวสารที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอให้เปิดเผยไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้เปิดเผย กล่าวคือ การเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือ อาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีเสื่อมประสิทธิภาพ ตลอดจนไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีแต่อย่างใด ในทางกลับกัน ผู้ฟ้องคดีสมควรได้รับการคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐให้สิ้นสงสัย และเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีไม่มีเหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ผู้ฟ้องคดีมีคำร้องขอ
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารหรือไม่ ?
โดยที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารถือเป็นที่สุด (มาตรา 35 และมาตรา 37) ดังนั้น คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร จึงมีฐานะเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 คำวินิจฉัยจึงมีผลผูกพันให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติตาม
เมื่อได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว การไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคมฯ ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด (คดีหมายเลขแดงที่ อ.427/2551)
คดีนี้ศาลปกครองได้วางบรรทัดฐานว่า การใช้อำนาจในการอนุญาตหรือปฏิเสธคำขอข้อมูลข่าวสารเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง การใช้ดุลพินิจว่าจะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยต้องพิจารณา พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ประกอบ ซึ่งหากเป็นข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยได้และคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีคำวินิจฉัยให้หน่วยงานของรัฐที่ครอบครองข้อมูลข่าวสารเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับผู้ยื่นคำขอแล้ว หน่วยงานของรัฐย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าว และไม่อาจฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ได้
นอกจากนี้การใช้อำนาจขององค์กรอิสระในบางกรณีถือเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง ที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง คำวินิจฉัยในคดีนี้จึงเป็นการวางหลักในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารขององค์กรอิสระที่มิใช่เพียงแต่ ป.ป.ช.เท่านั้น แต่รวมถึงหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ที่จะต้องคำนึงถึงสิทธิของประชาชนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ นอกจากนี้ยังเป็นการยืนยันสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนตามรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ประชาชนมีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการ มีส่วนร่วมในการตรวจสอบตามหลักการประชาธิปไตยเพื่อความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐ อันเป็นการวางแนวทางในการปฏิบัติราชการที่ดีร่วมกัน และเสริมสร้างสังคมธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง
(หมายเหตุ : ต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยในคดีหมายเลขแดงที่ อ.1400/2558 ซึ่งมีลักษณะข้อพิพาททำนองเดียวกับคดีตัวอย่างข้างต้น โดยศาลวินิจฉัยเป็นไปในแนวทางเดียวกัน)
************************
เครดิต : นางสมฤดี ธัญญสิริ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง , คอลัมน์รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

ลงชื่อตรวจรับพัสดุโดยไม่มีหน้าที่ อ้างเจตนาดี ทำไม่ได้ !!

หน้าที่ในการตรวจรับพัสดุ เป็นหน้าที่ของผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ โดยปัจจุบันมีกฎหมายเกี่ยวกับการพัสดุฉบับใหม่ใช้บังคับแทนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ คือ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยมาตรา ๑๐๐ กำหนดว่า “หน้าที่ของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด” แต่ขณะนี้ยังไม่มีการออกระเบียบเรื่องนี้มาใช้บังคับ จึงต้องนำข้อ ๗๑ ของระเบียบ สานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีประกาศระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด ซึ่งเป็นไปตามที่บทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๒๒๑ กำหนดไว้
คดีปกครองที่จะนามาเล่าสู่กันฟังฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ การตรวจรับพัสดุโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เป็นกรรมการตรวจรับพัสดุ แต่กลับลงชื่อตรวจรับพัสดุไว้ก่อนแล้วจึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุต่อไป โดยอ้างว่า เพื่อให้ทันเบิกจ่ายเงินค่าพัสดุ เช่นนี้จะถือว่าเป็นการกระทำโดยจงใจที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการที่กำหนดให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ เป็นผู้ตรวจรับพัสดุหรือไม่ และหากการตรวจรับพัสดุดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ เจ้าหน้าที่ดังกล่าวต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ คือ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (กองทัพเรือ) มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีและคณะกรรมการตรวจรับพัสดุชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่ผู้ฟ้องคดีในขณะดำรงตำแหน่ง รองเสธ. ฐานทัพเรือ ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าแผนกส่งกำลังบำรุงและหัวหน้ากองขนส่ง ได้รับมอบหมายจาก ผู้บัญชาการฐานทัพเรือให้เป็นผู้ยืมเงินสวัสดิการของฐานทัพเรือเพื่อจัดซื้ออะไหล่รถยนต์สำหรับซ่อมเองและจ้างเอกชนซ่อม ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับอะไหล่รถยนต์ที่สั่งซื้อทั้งที่ไม่มีอำนาจ จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีจำใจลงนามตรวจรับพัสดุดังกล่าว โดยที่ไม่ได้มีการตรวจรับพัสดุจริง
๑ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐
มาตรา ๑๒๒ ให้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๙ และบรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ ข้อบัญญัติ และข้อกำหนดใด ๆ เกี่ยวกับพัสดุ การจัดซื้อจัดจ้าง หรือการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐอื่นที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย การพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๙ แล้วแต่กรณี รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับพัสดุ การจัดซื้อ จัดจ้าง หรือการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศในเรื่องนั้น ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (ผู้บัญชาการทหารเรือ) ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
คดีนี้มีประเด็นปัญหาที่พิจารณา คือ คำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า แม้ว่าผู้ฟ้องคดีจะดารงตำแหน่ง รองเสธ. ฐานทัพเรือ ทำหน้าที่กองขนส่งและรักษาการหัวหน้าแผนกส่งกาลังบารุง ฐานทัพเรือ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างบำรุง ซ่อมบำรุง การจัดหา การสะสม การจัดซื้อ จัดจ้าง การแจกจ่าย และการจำหน่ายพัสดุ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของฐานทัพเรือและหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ก็ตาม แต่ถือเป็นอำนาจหน้าที่ทางบริหารมิใช่อำนาจหน้าที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งผู้บัญชาการฐานทัพเรือได้มีคำสั่งโดยเฉพาะแต่งตั้งให้นาวาตรี ฉ. เรือเอก ป. เรือเอก ก. และเรือโท ศ. เป็นคณะกรรมการตรวจรับอะไหล่รถยนต์ที่พิพาท ส่วนผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจรับอะไหล่รถยนต์ที่พิพาทแต่อย่างใด ซึ่งตามระเบียบสานักนายกนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๗๑ กาหนดให้คณะกรรรมการตรวจรับพัสดุมีหน้าที่ตรวจรับพัสดุที่ซื้อหรือจ้างให้ถูกต้องครบถ้วน แล้วจึงมอบพัสดุที่ซื้อหรือจ้างให้เจ้าหน้าที่พัสดุพร้อมทาใบตรวจรับพัสดุนั้น แล้วมอบใบตรวจรับให้ผู้ขายหรือผู้รับจ้างและเจ้าหน้าที่พัสดุเพื่อเบิกจ่ายเงินตามระเบียบของทางราชการต่อไป การที่ผู้ฟ้องคดีไปลงนามรับพัสดุอะไหล่รถยนต์ที่พิพาทโดยไม่ได้มีหน้าที่ในการตรวจรับพัสดุ จึงเป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ และยังเป็นเหตุหนึ่งให้กรรมการตรวจรับพัสดุซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีย่อมมีความยำเกรงไม่มากก็น้อยในการที่จะไปรื้อการตรวจรับอะไหล่รถยนต์ที่จัดซื้ออีก อีกทั้งการส่งมอบอะไหล่รถยนต์ดังกล่าวหากมีอยู่จริงก็ยังมีเวลาตรวจรับได้ โดยเมื่อพิจารณาตามใบเสร็จรับเงินที่ผู้ฟ้องคดีเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็อยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๔๕ ซึ่งยังมีเวลาเพียงพอที่จะตรวจรับพัสดุได้ทันปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๕ การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าต้องลงชื่อรับพัสดุอะไหล่รถยนต์ไว้ก่อน แล้วจึงส่งมอบให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุตรวจต่อไปเพื่อให้ทันเบิกจ่ายเงินค่าอะไหล่ จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ ประกอบกับคำให้การของเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลพัสดุของฐานทัพเรือ ได้ยืนยันว่าผู้ขายไม่ได้ส่งมอบพัสดุ ตนจึงไม่ยอมลงชื่อในช่องผู้รับสินค้า และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ให้การยืนยันว่าไม่เคยเห็นอะไหล่รถยนต์ที่จัดซื้อ แต่ต้องลงลายมือชื่อตรวจรับพัสดุ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้ลงชื่อรับอะไหล่รถยนต์แล้ว นอกจากนั้น ลายมือชื่อของผู้ขายในใบเสร็จรับเงินก็ไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้ขาย จึงเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้ลงชื่อรับพัสดุโดยไม่มีอะไหล่รถยนต์ตามที่จัดซื้อจริง การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่จงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุเป็นผู้รับมอบอะไหล่รถยนต์ที่พิพาท อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามมาตรา ๔๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ คาสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (คาพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๑๓๓๘/๒๕๖๐)
คำพิพากษาดังกล่าวเป็นอุทาหรณ์ที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ราชการว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น หากได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ใด จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังละเอียดรอบคอบและอยู่ในกรอบของกฎหมาย อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ไม่มีอานาจหน้าที่ที่จะต้องดูแลรับผิดชอบในเรื่องใด แต่เข้าไปทำหน้าที่ทั้งที่ไม่ได้รับมอบหมาย ดังเช่นกรณีของการตรวจรับพัสดุในคดีนี้ ที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจรับพัสดุ จึงไม่มีหน้าที่ตรวจรับพัสดุ แต่กลับลงชื่อตรวจรับพัสดุถือว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ ซึ่งหากการตรวจรับพัสดุดังกล่าวทาให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ถือว่าเป็นการกระทำละเมิด หน่วยงานของรัฐมีอานาจออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ส่วนคณะกรรมการตรวจรับพัสดุมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องดำเนินการตรวจรับพัสดุของทางราชการตามระเบียบ หากบกพร่องต่อหน้าที่ดังเช่นคดีนี้ที่ลงชื่อตรวจรับทั้งที่ไม่มีการตรวจรับจริง แล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ก็จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทางราชการตามสัดส่วนแห่งความรับผิดด้วยเช่นกัน

เครดิต ; นางสาวจิดาภา มุสิกธนเสฏฐ์ พนักงานคดีปกครองชานาญการ , กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร , สานักวิจัยและวิชาการ สานักงานศาลปกครอง

22 พ.ค. 2562

คำสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน… ต้องอุทธรณ์ก่อนฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่ง

ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ หากผู้ประกอบกิจการได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะการเสนอราคาแต่ไม่เข้าทำสัญญา หรือเข้าทำสัญญา แต่ทำงานไม่แล้วเสร็จตามที่ตกลงในสัญญา หน่วยงานของรัฐมีอำนาจสั่งลงโทษให้ “เป็นผู้ทิ้งงาน” ได้
โดยคำสั่ง “เป็นผู้ทิ้งงาน” มีสถานะเป็น “คำสั่งทางปกครอง”ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๔๓)ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนั้น หากผู้ประกอบกิจการที่ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน เห็นว่า คำสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานไม่ชอบด้วยกฎหมายและประสงค์ที่จะยื่นฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่ง จะต้องดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายภายในฝ่ายปกครองให้เสร็จสิ้นก่อนตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งการอุทธรณ์คำสั่ง ถือเป็นวิธีการหนึ่งในการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายภายในฝ่ายปกครอง เพื่อให้ฝ่ายปกครองได้มีโอกาสทบทวนความถูกต้องเหมาะสมของคำสั่ง ทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและดุลพินิจของการออกคำสั่ง
แต่เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ หรือแม้กระทั่งปัจจุบันพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ ไม่ได้กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้อยู่ในบังคับของคำสั่ง “เป็นผู้ทิ้งงาน”จะสละสิทธิการยื่นอุทธรณ์ได้หรือไม่ ?
หรือหากต้องยื่นอุทธรณ์จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและระยะเวลาอุทธรณ์ตามกฎหมายใด?
นายปกครองมีคำตอบในเรื่องดังกล่าว ครับ !!
มูลเหตุของคดีนี้ ปลัดกระทรวงการคลังผู้รักษาการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้มีคำสั่งให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. (ผู้รับจ้าง) และหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด น. (ผู้รับจ้าง) เป็นผู้ทิ้งงาน และแจ้งสิทธิอุทธรณ์ โดยให้ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้รักษาการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กรณีที่ผู้รับจ้างทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา และต่อมาผู้รับจ้างได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญา ผู้รับจ้าง (ผู้ฟ้องคดี) จึงฟ้องต่อศาลปกครองโดยฟ้องกระทรวงการคลัง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) และอธิบดีกรมบัญชีกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) โดยขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน โดยไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งก่อนฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้โต้แย้งว่า สามารถสละสิทธิการยื่นอุทธรณ์คำสั่งได้ ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ มิได้กำหนดเรื่องการอุทธรณ์คำสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ประกอบกับมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาใช้บังคับกับการอุทธรณ์คำสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน และถือเป็นขั้นตอนที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องดำเนินการก่อนยื่นฟ้องคดีนี้ตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยต้องยื่นอุทธรณ์ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง และเมื่อได้มีการสั่งการตามกฎหมายหรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้ เมื่อการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองก่อนยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เป็นบทบังคับที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องกระทำ จึงไม่อาจสละสิทธิการยื่นอุทธรณ์คาสั่งและฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้โดยตรง ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งก่อนฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จึงถือว่ามิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการฟ้องคดีตามที่กฎหมายกาหนด จึงไม่อาจใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองได้ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๔๘/๒๕๖๐ )
กล่าวโดยสรุป คำสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หากเห็นว่าคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองภายในฝ่ายปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ก่อนยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
และไม่อาจสละสิทธิการยื่นอุทธรณ์คำสั่งได้...ครับ !!
เครดิต : นายปกครอง

เพียงยื่นซองเสนอราคา ... จะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียแล้วหรือไม่ ?

มาตรา ๔๗ ตรี วรรคหนึ่ง (๔) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหาร ส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดอำนาจหน้าที่ให้นายอำเภอทำการสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็วกรณีมีข้อสงสัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลผู้ใดสิ้นสุดลง ด้วยเหตุที่ผู้นั้นเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลที่ตนดำรงตำแหน่งหรือ ในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งนอกจากกระบวนการสอบสวนเพื่อให้สมาชิกสภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลงจะต้องชอบด้วยกฎหมาย โดยจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่จำเป็นแก่การพิสูจน์ แสวงหาพยานหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องและเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้ชี้แจงโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานตามมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๐ แล้วจะต้องปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่าสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าวได้ใช้อำนาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโครงการหรือการดำเนินการที่จะต้องทำสัญญาในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ให้ตนเองหรือผู้อื่นด้วย
ดังนั้น กรณีที่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลได้แต่เพียงยื่นซองเสนอราคา แต่มิได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการสอบราคา จะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลอันมีผลทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลง หรือไม่ ?
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๒๑๑/๒๕๕๓ ได้วินิจฉัยดังนี้
ผู้ฟ้องคดีขณะเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและกรรมการผู้มีอำนาจ ลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท ส. แต่เพียงผู้เดียว ได้ยื่นซองสอบราคาในนามบริษัทตามโครงการซ่อมแซม ถนนลูกรังในหมู่บ้านที่องค์การบริหารส่วนตำบลประกาศสอบราคา แต่ไม่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะ การเสนอราคา ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดี (นายอำเภอ) ได้ดำเนินการสอบสวนกรณีดังกล่าวโดยสอบปากคำพยานบุคคลและพิจารณาพยานหลักฐานโดยไม่ให้ผู้ฟ้องคดีชี้แจงข้อเท็จจริงและไม่สอบปากคำหรือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ และมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลงโดยอ้างเหตุว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า กรณียื่นซองเสนอราคาแล้ว แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นเพียงการแสดงเจตนาที่จะทำสัญญาเท่านั้น และเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผลให้สมาชิกภาพ ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลง เป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ การไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีชี้แจงโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานก่อนจะมีคำสั่งให้พ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งถือเป็นรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสาคัญที่กฎหมายกำหนดไว้ กระบวนการสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่ผู้ฟ้องคดียื่นซองเสนอราคาเป็นเพียงคำเสนอจะทำสัญญา ซึ่งเมื่อองค์การบริหารส่วนตำบลไม่ได้ทำคำสนอง สัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับองค์การบริหารส่วนตาบลจึงยังไม่เกิดขึ้น และยังไม่มีนิติสัมพันธ์ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาต่อกัน และไม่ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้ใช้อำนาจหน้าที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโครงการ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ตนดำรงตำแหน่งหรือในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลตามมาตรา ๔๗ ตรี วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ เพราะการจะถือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้ หมายถึง การที่ได้เข้าไปถือเอาประโยชน์หรือเข้าไปดำเนินกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบลที่ผู้นั้นดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาขององค์การบริหารส่วนตำบลนั้นแล้วไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยมีเจตนาประสงค์ให้ตนได้รับประโยชน์หรือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลอื่น ดังนั้น กรณีที่ผู้ฟ้องคดีเพียงแต่ได้ยื่นซองเสนอราคา แต่ถูกคณะกรรมการปรับตกไปก่อนจะได้รับการคัดเลือกให้เข้าทำสัญญาจ้างกับองค์การบริหารส่วนตำบล จึงหาใช่เป็นการเข้าไปถือเอาประโยชน์หรือเข้าไปดำเนินกิจการขององค์การบริหาร ส่วนตำบลแล้ว ซึ่งจะมีผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้ฟ้องคดี ต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา ๔๗ ตรี วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ การมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจึงเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบ คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้อธิบายลักษณะความ “เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อมในสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลที่ตนดำรงตำแหน่งหรือในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล” ตามมาตรา ๔๗ ตรี วรรคหนึ่ง (๔) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจะต้องมีเจตนาประสงค์ให้ตนเองได้รับประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์ให้บุคคลอื่นโดยการใช้อานาจหน้าที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโครงการนั้น เช่น กรณีนายกเทศมนตรีใช้อำนาจเลือกโรงแรมซึ่งบุตรเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล เป็นสถานที่จัดการประชุมสัมมนาโดยมีเจตนาหรือ เอื้อประโยชน์ให้กับโรงแรมเพื่อให้มีรายได้เพียงพอที่จะปลดเปลื้องภาระหนี้สิน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๕๐๙/๒๕๕๔) แต่เมื่อคดีนี้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเพียงแต่ยื่นซองเสนอราคา และมิได้รับเลือกให้เข้าทำสัญญาเท่านั้น จึงไม่อาจถือได้ว่าเข้าไปถือเอาประโยชน์หรือเข้าไปดำเนินกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบลที่ตนดำรงตำแหน่งอยู่อันจะถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งทาให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลง
เครดิต : นางสาวเบญญาภา ไชยคามี พนักงานคดีปกครองชำนาญการ , กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร สำนักวิจัยและวิชาการ , สำนักงานศาลปกครอง

“เหตุอันสมควร” ที่ทำให้สมาชิกสภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลง

การสิ้นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ตามมาตรา ๔๗ ตรี แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ สามารถสิ้นสุดลงได้หลายประการ โดยการสิ้นสุดสมาชิกภาพประการหนึ่ง คือ การขาดประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งเมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวกฎหมายกำหนดให้นายอำเภอสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว และคำวินิจฉัยของนายอำเภอให้เป็นที่สุด
และเนื่องจากคำวินิจฉัยให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสภาพลงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนั้น กระบวนการพิจารณาทางปกครองก่อนออกคำสั่งทางปกครองจึงต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้ เช่น การให้โอกาสคู่กรณีที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
การที่นายอำเภอจะมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลงจะต้องดำเนินการสอบสวนด้วยวิธีการใด เนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนไว้ และการวินิจฉัยว่า การขาดประชุมสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรนั้น กรณีใดหรือเหตุในลักษณะเช่นใด ที่ถือเป็นเหตุอันไม่สมควรอันอาจทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลง
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๓๖๙/๒๕๕๔ ได้วินิจฉัยถึงลักษณะดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลได้มีหนังสือรายงานถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายอำเภอ) ว่าผู้ฟ้องคดีขาดการประชุมสภาสามครั้งติดต่อกันโดยมิได้ลาและไม่มีเหตุอันสมควร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่าผู้ฟ้องคดีขาดประชุมสภาสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรจริง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลง
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีโอกาสได้ทราบข้อกล่าวหาและแสดงพยานหลักฐาน อีกทั้งการขาดประชุมสภาสามครั้งติดต่อกันเป็นการขาดการประชุมโดยมีเหตุอันสมควร เพราะต้องเดินทางไปชำระค่าที่ดิน ไปเป็นพยานในศาล และเป็นไข้หวัด การมีคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติคุณอันเป็นการกระทำละเมิด จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยและให้ชดใช้ค่าเสียหาย
ประเด็นที่หนึ่ง กระบวนการออกคำสั่งที่วินิจฉัยให้สมาชิกภาพของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้สอบปากคำผู้ฟ้องคดีโดยได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีเข้าใจถึงประเด็นที่จะสอบสวนว่าเป็นกรณีถูกกล่าวหาว่าขาดการประชุมสภาสามครั้งติดต่อกันในวัน เดือน ปี ใด ซึ่งผู้ฟ้ องคดียอมรับว่าตนได้ขาดประชุมตามที่ถูกกล่าวหาจริง แต่ได้แก้ข้อกล่าวหาว่า การขาดประชุมสภา ครั้งที่ ๑ เพราะติดธุระไปจ่ายเงินค่าที่ดิน ครั้งที่ ๒ เพราะป่วยเป็นไข้หวัด และครั้งที่ ๓ เพราะไปขึ้นศาล นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังได้สอบสวนบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ยืนยันตรงกันว่า ผู้ฟ้องคดีขาดประชุมสภาสามครั้งติดต่อกันจริง และตั้งแต่มีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล มีการประชุมสภาแล้ว ๔๒ ครั้ง ผู้ฟ้องคดีขาดประชุมทั้งสิ้น ๒๓ ครั้ง
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ดำเนินการสอบสวนและวินิจฉัยข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของผู้ฟ้องคดีโดยชอบแล้ว ประกอบกับการที่ประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ดำเนินการสอบสวนโดยแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบถึงประเด็นที่ถูกตั้งข้อสงสัย และให้ผู้ฟ้องคดีแก้ข้อกล่าวหา จึงถือว่าได้ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีตามนัยมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้ว และมาตรา ๔๗ ตรี วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ บัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่สอบสวนและวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีขาดประชุม แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนไว้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานมาประกอบการวินิจฉัย จึงเป็นการดำเนินการสอบสวนที่เพียงพอจะมีคำวินิจฉัยในกรณีดังกล่าวแล้ว ประกอบกับผู้ฟ้องคดียอมรับว่าได้ขาดประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสามครั้งจริง ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีที่ว่าประธานกรรมการได้ดำเนินการการสอบสวนโดยกรรมการคนอื่นๆ มิได้ร่วมสอบสวนด้วยแต่ประการใดนั้นจึงฟังไม่ขึ้น ดังนั้น กระบวนการออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่วินิจฉัยให้สมาชิกภาพของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลงจึงชอบด้วยกฎหมาย
ประเด็นที่สอง การขาดประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้ฟ้องคดีสามครั้งติดต่อกันมีเหตุอันสมควรหรือไม่ ? เนื่องจากข้อ ๒๒ วรรคสอง ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการลาของคณะผู้บริหารส่วนท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภา รองประธานสภาและสมาชิกสภาท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดว่าการลาของรองประธานสภาและสมาชิกสภาท้องถิ่นให้ยื่นใบลาต่อประธานสภาท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณาอนุญาต
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การลาครั้งที่ ๑ เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีขาดประชุมสภา (สมัยสามัญ)โดยเดินทางไปชำระค่าที่ดินและไม่ยื่นใบลากิจ ครั้งที่ ๒ เป็นกรณีป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่โดยมิได้ยื่นใบลาป่วย ซึ่งเห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะป่วยแต่ก็มิใช่ถึงขั้นไม่สามารถยื่นใบลาป่วยหรือไม่สามารถเข้าร่วมประชุมสภา (สมัยวิสามัญ) ได้ เนื่องจากในวันดังกล่าวผู้ฟ้องคดียังสามารถไปตรวจร่างกายที่คลีนิคได้ ครั้งที่ ๓ เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีขาดประชุมสภา (สมัยวิสามัญ) โดยต้องไปศาลเพื่อเป็นพยาน ซึ่งภารกิจดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีทราบกำหนดนัดล่วงหน้าและสามารถเลื่อนนัดหรือส่งตัวแทนไปเจรจาแทนได้ กรณีจึงเห็นว่าการขาดประชุมทั้งสามครั้งของผู้ฟ้องคดีโดยมิได้ยื่นใบลาตามระเบียบเป็นการขาดประชุมสภาโดยไม่มีเหตุอันสมควร ดังนั้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้ องคดีที่ ๑ ที่วินิจฉัยให้สมาชิกภาพของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๔๗ ตรี วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่นอกจากจะทำให้ทราบถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาวินิจฉัยถึง “เหตุอันไม่สมควร” ในการขาดการประชุมของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลที่หากเป็นกรณีที่สามารถยื่นใบลาป่วยหรือใบลากิจได้ล่วงหน้า หรือเป็นกรณีที่สามารถเลื่อนนัดหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำแทนได้แต่ไม่ดำเนินการดังกล่าว กรณีย่อมถือว่าเป็นการขาดการประชุมโดยไม่มีเหตุอันควรนอกจากนี้ยังทำให้ทราบถึง “ขอบเขตและแนวทาง” ในการดำเนินการสอบสวนของนายอำเภอในเรื่องเกี่ยวกับการขาดประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ที่แม้กฎหมายจะกำหนดให้นายอำเภอมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนในเรื่องเกี่ยวกับการขาดประชุมสภา แต่กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้ ดังนั้น เมื่อนายอำเภอได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานมาประกอบการวินิจฉัย กรณีจึงถือเป็นการดำเนินการสอบสวนที่เพียงพอจะมีคำวินิจฉัยแล้ว

Credit : นายณัฐพล ลือสิงหนาท, พนักงานคดีปกครองชำนาญการ สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง คอลัมน์มุมกฎหมาย วารสารกำนันผู้ใหญ่บ้าน ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕

เปิดเผยข้อมูลในความครอบครองไม่ได้ ... ไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ ครับ..?

ส่วนที่ 1 รัฐธรรมนูญ....รับรองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
เมื่อหลายปีก่อนโน้นครับ! ...หลายท่านอาจเคยมีประสบการณ์ในการขอข้อมูลข่าวสารกับทางราชการ ..
เกือบจะทุกครั้ง มักจะได้คำตอบว่าให้ไม่ได้เพราะเป็นเอกสารราชการ ..เป็นความลับของราชการ... เป็นเอกสารลับ... การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการในยุคนั้น เรียกได้ว่า ต้อง “ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น”..
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2535 ได้เกิดปัญหาในทางการเมืองจากการที่ประชาชนถูกปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการ
ผลจากปัญหาทางการเมืองดังกล่าว ทาให้เกิดพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อรับรองสิทธิของประชาชนในการได้รู้ ตรวจดูและขอข้อมูลข่าวสารราชการที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ หลักการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการจึงเปลี่ยนไปเป็น “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ครับ .. ไม่เพียงเท่านั้นครับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และทุกฉบับนับแต่นั้นมา จนถึงรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 56 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 59 ได้รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการ ... เรียกได้ว่า “รัฐรู้อะไร ประชาชนรู้อย่างนั้น” ..ครับ!
อย่างไรก็ตาม..ครับ แม้ว่า ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะมีส่วนได้เสียกับข้อมูลข่าวสารนั้น จะมีสิทธิที่จะได้รู้ ตรวจดู และขอข้อมูลข่าวสารราชการที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ แต่กฎหมายก็ได้ให้อำนาจกับหน่วยงานของรัฐที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารราชการบางอย่างได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เช่น ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 14 ห้ามเปิดเผยโดยเด็ดขาด มาตรา 15 เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะมีคำสั่งไม่เปิดเผยก็ได้ หรือข้อมูลข่าวสาร ส่วนบุคคลตามมาตรา 24 ซึ่งห้ามเปิดเผยโดยปราศจากความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล เป็นต้น
ข้อพิพาทที่ลุงเป็นธรรมนำมาเล่าในวันนี้ครับ... มูลเหตุเกิดจาก นายใคร่รู้ ..ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าข้าราชการของหน่วยงานในสังกัดเดียวกับตน “ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเห็นว่าไม่มีมูล จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป
นายใคร่รู้ จึงใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเอกสารการสอบสวนจานวน 7 รายการ แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งอนุญาตให้เปิดเผยเพียง 2 รายการ ส่วนอีก 5 รายการ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้เปิดเผย เนื่องจากเห็นว่าเป็นเอกสารที่หากเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ และจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ ตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (2) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
นายใคร่รู้ จึงอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 คณะกรรมการฯ วินิจฉัยว่า ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลเอกสารทั้ง 5 รายการ และรับรองสำเนาถูกต้องให้แก่นายใคร่รู้ ยกเว้น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ให้ถ้อยคำ โดยให้สำนักงาน ป.ป.ช.ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับทราบคาวินิจฉัย
แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ดำเนินการตามคาวินิจฉัย
นายใคร่รู้จึงฟ้องสำนักงาน ป.ป.ช. ต่อศาลปกครอง ขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลนั้นแก่ตน !!!
ส่วนที่ 2 เปิดเผยข้อมูลในความครอบครองไม่ได้ ... ไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่
อุทาหรณ์เรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ 3 เรื่อง และลุงเป็นธรรมขอนำคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด มาแยกแยะทาความเข้าใจในแต่ละเรื่องดังนี้นะครับ
เรื่องแรกครับ... อำนาจของศาลปกครองในการตรวจสอบการใช้อานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ป.ป.ช. เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีการใช้อำนาจสองลักษณะคือ การใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง และการใช้อำนาจทางปกครองในฐานะที่เป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 หากมีข้อโต้แย้งก็อยู่ในอำนาจตรวจสอบของศาลปกครอง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อบ. 12-14/2558) เช่น การที่กฎหมายให้อำนาจหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลพินิจในเรื่องหนึ่งเรื่องใดตามที่กฎหมายกำหนด “ศาลปกครอง” มีอำนาจที่จะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการใช้ดุลพินิจของหน่วยงานของรัฐนั้น ... ครับ
ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในคดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดท่านวินิจฉัยว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ ไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร 5 รายการ ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการกระทำในฐานะที่เป็นหน่วยงานทางปกครอง และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
เรื่องที่สองครับ...เอกสารที่นายใคร่รู้ร้องขอให้เปิดเผย.. คือ (1) สำเนาบันทึกปากคำผู้ถูกกล่าวหาทุกปาก (2) สำเนาบันทึกปากคำพยานที่เกี่ยวข้องทุกปาก (3) สำเนา พยานเอกสารที่รวมอยู่ในคดีทุกแผ่น (4) สรุปผลการสอบสวนของพนักงานไต่สวน (5) รายงานการประชุมของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้
เป็นข้อมูลข่าวสารที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอานาจใช้ดุลพินิจไม่เปิดเผยได้หรือไม่
ตามที่ลุงเป็นธรรมกล่าวไว้ตอนต้นครับ ... แม้ว่ากฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ จะมีหลักการว่า ให้เปิดเผยเป็นหลัก...แต่ทว่า กฎหมายได้กำหนดข้อจำกัดในการเปิดเผยข้อมูลบางประเภทไว้ด้วย ซึ่งข้อมูลตามมาตรา 15 (2) และ (4) ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวอ้าง ถือเป็นอำนาจของหน่วยงานของรัฐที่จะใช้ดุลพินิจไม่เปิดเผยก็ได้ครับ ... และศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ดุลพินิจไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย…เช่นกันครับ
โดยศาลปกครองสูงสุดท่านให้เหตุผลว่า.. ข้อมูลข่าวสารที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ เป็นเอกสารที่ได้มาจากการแสวงหาพยานหลักฐานจากพยานบุคคลเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาว่ามีมูลความผิดหรือไม่ ซึ่งหากเปิดเผยออกไปย่อมทำให้พยานบุคคลเกิดความไม่เชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยของสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล จากการให้ถ้อยคำหรือพยานหลักฐานดังกล่าว และย่อมส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดี อีกทั้งกรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ข้อกล่าวหาของผู้ฟ้องคดีที่กล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูล การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่ร้องขอจึงไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวย่อมอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือความไม่ปลอดภัยต่อพยานบุคคลผู้ให้ถ้อยคาหรือพยานหลักฐานได้ เมื่อคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดี ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว ข้อมูลข่าวสารตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ ให้เปิดเผย จึงถือเป็นข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (2) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่อาจเปิดเผยได้ และเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ดุลพินิจไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้จึงไม่ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด ... ครับ !!!
คดีนี้มีรายละเอียดเยอะครับ..ผู้สนใจศึกษารายละเอียดได้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. 681/2560 และสามารถสืบค้นบทความย้อนหลังได้ที่ www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง ..ครับ!!
ผู้อ่านอาจมีข้อสงสัยว่า กรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยได้หรือไม่ ลุงเป็นธรรมมีข้อสังเกตในประเด็นนี้ครับ ว่า หากหน่วยงานของรัฐไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ หน่วยงานของรัฐไม่มีสิทธิที่จะฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยได้ครับ เพราะคำวินิจฉัยของผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มีผลผูกพันให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัย ซึ่งในเรื่องนี้มีคาสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 683/2558 วินิจฉัยวางหลักการไว้ว่า หน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นต้นที่ออกคำสั่งทางปกครอง ไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่กลับ แก้ หรือเพิกถอนคำสั่งทางปกครองของตน หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นต้นในการออกคำสั่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยและคำสั่งของผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งเป็นกระบวนการพิจารณาที่กฎหมายกำหนดไว้ที่มีลักษณะเป็นการควบคุมตรวจสอบคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยเจ้าหน้าที่ชั้นต้นผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้นทั้งเรื่อง แต่กระนั้น หากหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ คู่กรณีที่ไม่พอใจชอบที่จะฟ้อง ต่อศาลปกครองขอให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ ... ครับ !!!
3. รู้ทัน..รู้สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 59 กำหนดหน้าที่ของรัฐว่า “ต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก”
หากผู้ใดเห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่จัดพิมพ์ข้อมูลข่าวสาร หรือไม่จัดข้อมูลข่าวสารไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้ หรือไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้แก่ตน หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า หรือเห็นว่าตนไม่ได้รับความสะดวกโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้นั้นมีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ รวมทั้ง อาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารใด หรือมีคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้านของผู้มีประโยชน์ได้เสียตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ตามมาตรา 13 วรรคหนึ่ง และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
เครดิต : ลุงเป็นธรรม สายด่วนศาลปกครอง 1355

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...