14 ก.ค. 2559

คำบังคับของศาลปกครองในกรณีพิพาทเกี่ยวกับการเลื่อนขั้นเงินเดือน


                   
      เมื่อถึงเดือนกันยายนอันเป็นเดือนที่มีการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนของหน่วยราชการต่าง ๆ ข้าราชการบางคนอาจจะขะมักเขม้นกับการทำงานเพื่อให้บรรลุตามข้อตกลงในการปฏิบัติงานโดยมีความมุ่งหมายให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ตนเอง ซึ่งเป็นธรรมดาที่บางคนอาจจะสมหวังจากการได้เลื่อนขั้นเงินเดือน แต่บางคนอาจผิดหวังเนื่องจากไม่ได้รับการประเมินให้เลื่อนขั้นเงินเดือนเนื่องจากทำงานไม่บรรลุผลหรือไม่มีประสิทธิภาพดีเทียบเท่าคนอื่น โดยผู้ที่ไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนนั้นอาจจะไม่พอใจในผลการประเมินดังกล่าว และอาจนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลปกครองเยียวยาความเดือดร้อนให้แก่ตนเองได้ ซึ่งศาลปกครองจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ข้าราชการผู้นั้นได้มากน้อยเพียงใดนั้น สามารถหาคำตอบได้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๔๐๗/๒๕๕๑

                 ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งปลัดเทศบาลตำบลโนนสูงเปลือย มูลกรณีพิพาทเกิดจากการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี ๒๕๔๕ ในรอบครึ่งปีหลังซึ่งเป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานเทศบาลระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ ถึงวันที่๓๑ มีนาคม ๒๕๔๖ โดยนายกเทศมนตรีตำบลโนนสูงเปลือย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดี ได้ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีโดยมีคะแนนประเมินทั้งปีจำนวน ๑๖๒ คะแนน จากคะแนนเต็ม ๔๐๐ คะแนน หรือ ๔๐.๕๐% ซึ่งเป็นคะแนนประเมินที่ต่ำกว่า ๕๐% จึงอยู่ในระดับ “ต้องปรับปรุง” และมีข้อเสนอในการเลื่อนขั้นเงินเดือน(ผลการประเมินทั้งปี) ของผู้ฟ้องคดีว่า ไม่ควรเลื่อนขั้นเงินเดือน โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีคำสั่งเทศบาลตำบลโนนสูงเปลือยที่ ๑๔๖/๒๕๔๕ เรื่อง การเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานเทศบาลสามัญครั้งที่ ๒ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๕ (ตุลาคม ๒๕๔๕ ถึง มีนาคม ๒๕๔๖) ไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้ฟ้องคดี  ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือร้องทุกข์ต่อประธานกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาแล้วมีมติยกคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนข้างต้น และให้พิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนให้กับผู้ฟ้องคดีไม่น้อยกว่า ๐.๕ ขั้น  

                          ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า ก่อนการประเมินผลการปฏิบัติงานครั้งที่ ๒ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มิได้แจ้งผลการประเมินครั้งที่ ๑ เพื่อให้โอกาสแก่ผู้ฟ้องคดีในการแก้ไขปรับปรุงการทำงานของตน การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้อง คดีครั้งที่ ๒ประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๕ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ เป็นเหตุให้คำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ฟ้องคดีเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๕๒ครั้งที่ ๒ ของผู้ฟ้องคดีเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ประเมินผลการปฏิบัติราชการของผู้ฟ้องคดีในช่วงเวลาดังกล่าวใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

                         ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า   มิได้มีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเองใหม่ แต่ประสงค์ให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๕ ครั้งที่ ๒ ให้แก่ตนไม่น้อยกว่า ๐.๕ ขั้น

                        ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีไม่ถูกต้องตามกฎหมายและใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ อันเป็นกรณีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ โดยต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพิพาท และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ประเมินผลการปฏิบัติราชการของผู้ฟ้องคดีในปีงบประมาณ ๒๕๔๕ ครั้งที่ ๒ ใหม่ ให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป จึงเป็นการออกคำบังคับเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ปฏิบัติตามที่มาตรา ๗๒วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้แล้ว การที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๕ครั้งที่ ๒ ให้ผู้ฟ้องคดีไม่น้อยกว่า ๐.๕ ขั้น นั้น ศาลเห็นว่า กรณีเกี่ยวกับการเลื่อนขั้นเงินเดือนนั้น  กฎหมายบัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการออกคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างของข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามนัยมาตรา ๑๕ประกอบกับมาตรา ๒๓ วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นพ.ศ. ๒๕๔๒ การพิจารณาว่า  ผู้ฟ้องคดีควรจะได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนจำนวนกี่ขั้นหรือไม่  เพียงใด  เป็นกรณีที่ขึ้นอยู่กับการประเมินผลการปฏิบัติราชการซึ่งเกี่ยวกับสมรรถนะในการปฏิบัติงานและผลงานของผู้ฟ้องคดีมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณา    ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจะเห็นสมควรภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด ศาลปกครองไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปพิจารณาสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ อย่างไรก็ตาม หากภายหลังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีใหม่ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองแล้ว หากผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยังไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร  ผู้ฟ้องคดีก็สามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้เป็นคดีใหม่ภายในกำหนดเวลาการฟ้องคดี    จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

                      จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดข้างต้นอาจสรุปได้ว่า ในการออกคำบังคับของศาลปกครองนั้น ไม่ใช่ว่าศาลจะสามารถออกคำบังคับตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ในทุกกรณี โดยศาลจะออกคำบังคับได้แค่ไหนเพียงใดนั้น ต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ เป็นสำคัญ นอกจากนั้น แม้ศาลปกครองจะมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถก้าวล่วงเข้าไปใช้ดุลพินิจแทนผู้บังคับบัญชาในเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชานั้นได้


                          เครดิต :  นางสาวจารุณี กิจตระกูล พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ, กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสารสำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...