25 ก.ค. 2559

เจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับสินบน ... หนีไม่พ้น “ออกจากราชการ”


             
  การทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานของรัฐเป็นปัญหาสำคัญและเป็นปัญหาใหญ่ในหลายๆ ประเทศ สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน การทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการเป็นปัญหาสังคมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ บั่นทอนการพัฒนาประเทศและเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเจริญในสังคมและความผาสุกแก่ประชาชนมาเป็นระยะเวลายาวนาน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสังคมไทยมีความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการมากขึ้น แต่ปัญหาก็ยังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง มีรูปแบบและพฤติกรรมการทุจริตที่เปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปจากอดีตและมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจเนื่องมาจากปัจจัยหลายๆ ด้านประกอบกัน เช่น ปัญหาทางด้านรายได้ ครอบครัว สังคม อิทธิพลทางการเมืองแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือแม้กระทั่งปัญหาจากการผูกขาดอำนาจซึ่งอาจทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นๆ เล็งเห็นลู่ทางที่สามารถเรียกรับเงินหรือสินบนต่างๆ ได้โดยง่าย ดังเช่น กรณีตัวอย่างพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการเรียกรับสินบน ซึ่งเป็นการทุจริตต่อหน้าที่อันมีผลทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีพฤติการณ์ดังกล่าวต้องออกจากราชการ

                กรณีที่หนึ่ง ข้าราชการตำรวจเรียกรับเงินจากญาติผู้ต้องหา

                : ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่รักษาความเรียบร้อยประจำศาล ถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ปลดออกจากราชการ เนื่องจากมีพฤติการณ์ในการเรียกร้องเงินจากญาติผู้ต้องหา จำนวน ๒,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าช่วยเหลือทางคดีในระหว่างผู้ต้องหาถูกควบคุมตัว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ (ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค) ได้รายงานไปยังคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (อ.ก.ต.ร. เกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย) ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของบุคคลทั้งสองเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ควรได้รับโทษถึงปลดออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงมีคำสั่งลงโทษปลดบุคคลทั้งสองออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องศาลปกครอง

                ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาลจังหวัด ได้พูดกับนาง บ. และนาง ป. ซึ่งเดินทางมาเยี่ยมสามีที่ถูกจับกุมในข้อหามียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองและอยู่ระหว่างฝากขังต่อศาลจังหวัดว่า ถ้าอยากให้สามีออกเร็วหรือฟ้องเร็วให้ไปพูดกับจ่าสิบตำรวจ ส. และจ่าสิบตำรวจ ส. ได้แจ้งว่าให้นำเงินมาให้ ๒,๐๐๐ บาท ผัดฟ้องครั้งต่อไปก็จะเสร็จคดีจากนั้นผู้ฟ้องคดีได้ติดตามสอบถามเรื่องเงินตามจำนวนที่ตกลงไว้ เห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ราชการที่ศาลจังหวัดเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาล มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆ เกี่ยวกับคดีที่ศาลจังหวัดจะพิจารณาพิพากษา และการกระทำแสดงให้เห็นถึงเจตนาของผู้ฟ้องคดีและจ่าสิบตำรวจ ส. ว่าประสงค์ที่จะเรียกรับเงินจากนาง บ. และนาง ป. เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการช่วยเหลือในทางคดี และมิใช่เป็นการอำนวยความสะดวกในการนำเงินไปชำระเป็นค่าปรับภายหลังจากที่ศาลจังหวัดได้พิพากษาลงโทษนาย ท. แล้ว เพราะไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของผู้ฟ้องคดี แต่เป็นการเพิ่มภาระโดยไม่จำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาระเรื่องเงินหรือการรับเงินจากผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นสิ่งที่ผู้ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงย่อมหลีกเลี่ยง เพราะอาจเกิดความเข้าใจผิดระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของศาล ญาติของผู้ต้องหาหรือจำเลยกับผู้ฟ้องคดีได้ง่าย เพราะโดยวิสัยของเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการแก่ประชาชนต้องคำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่ศาลจังหวัดเนื่องจากศาลเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ซึ่งต้องเป็นที่ยอมรับและมีความเชื่อถือจากบุคคลทั่วไปเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับสถานีตำรวจภูธรซึ่งการเกิดเหตุการณ์ดังในคดีนี้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อความเชื่อมั่นและความศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จึงเชื่อได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้เรียกรับเงินจากญาติผู้ต้องหา เพื่อเป็นค่าช่วยเหลือในทางคดีที่ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีอาญาและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทางราชการ อันถือเป็นการกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ คำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๒๐๐/๒๕๕๓)

                กรณีที่สอง นายก อบต. เรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบตำแหน่งผู้ช่วยครู

                : สถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้แพร่ภาพในรายการฮอตนิวส์ว่า ผู้ฟ้องคดี (นายก อบต.) เรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบตำแหน่งผู้ช่วยครูดูแลเด็กอนุบาลและปฐมวัย ต่อมานายอำเภอได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์เรียกรับเงินของผู้ฟ้องคดี เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ ถือเป็นการปฏิบัติการโดยไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๙๒ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และพฤติการณ์เข้าข่ายกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามมาตรา ๑๔๙ และมาตรา ๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายก อบต. ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องศาล

                ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อสถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้รับการร้องเรียนจากผู้สมัครสอบตำแหน่งผู้ช่วยครูดูแลเด็กอนุบาลและปฐมวัยของ อบต. ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในลักษณะสายลับมีการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูล และมีการให้ผู้สมัครสอบที่จะเข้าไปพบผู้ฟ้องคดี ติดกล้องบันทึกภาพและเสียงขนาดเล็กที่กระดุมเสื้อ ในการเผยแพร่ออกอากาศมิได้มีการตัดต่อเปลี่ยนแปลงส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเหตุการณ์ พยานซึ่งเป็นผู้สมัครสอบต่างยืนยันว่า ผู้ฟ้องคดี เรียกร้องสินบนคนละ ๑๕,๐๐๐ บาท ต่อรองลดเหลือ ๑๐,๐๐๐ บาท หากไม่ให้จะไม่ได้เข้าสอบ สอดคล้องกับภาพและเสียงที่ปรากฏในแผ่นซีดีรายการฮอตนิวส์ ซึ่งผู้ฟ้องคดียอมรับว่า ภาพบุคคลที่ปรากฏในแผ่นซีดีดังกล่าวเป็นภาพของตนเอง และเป็นการพูดคุยกับผู้สมัครสอบในเรื่องการทำสัญญาจ้าง ดังนั้น จึงฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดี มีพฤติการณ์เรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบเพื่อทำสัญญาจ้างผู้สมัครสอบปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยครูดูแลเด็กอนุบาลและปฐมวัย อันเป็นการปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ คำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายก อบต. จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อความเป็นนายก อบต. สิ้นสุดผู้ดำรงตำแหน่งรองนายก อบต. และเลขานุการนายก อบต. จึงต้องพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวตามมาตรา ๖๔/๖ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน โดยผลของกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๙๐/๒๕๕๓)

                กรณีที่สาม ลูกจ้างประจำ ตำ แหน่งพนักงานพิมพ์ดีด เรียกรับเงินเป็นค่าตอบแทนในการจัดเตรียมเอกสารสัญญาจ้าง

                : ผู้ฟ้องคดีเป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานพิมพ์ดีด ถูกร้องเรียนว่าเรียกรับเงินจากผู้รับจ้างเป็นค่าตอบแทนในการจัดเตรียมเอกสารสัญญาจ้าง ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (อธิบดีกรม) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ซึ่งผลการสอบสวนเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมีพฤติกรรมเรียกและรับเงินจากผู้รับจ้างในการลงนามในสัญญาจ้างจริง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากลูกจ้างประจำ

                ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. ๒๕๓๗ ข้อ ๓๐ วรรคสาม ข้อ ๔๖ วรรคสอง และข้อ ๕๒ ได้กำหนดว่า ห้ามมิให้ลูกจ้างประจำอาศัยหรือยินยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจหน้าที่ราชการของตนไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม หาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น และหากลูกจ้างประจำกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ถือเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุสั่งปลดออกหรือไล่ออกได้ตามความร้ายแรงแห่งกรณี เมื่อผู้ฟ้องคดี เพื่อนร่วมงาน และผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีให้การสอดคล้องกันว่าผู้ฟ้องคดีมีส่วนเกี่ยวข้องกับสัญญาจ้างในเรื่องการพิมพ์สัญญาจ้าง และระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม มีงานเกี่ยวกับสัญญาจ้างหลายสัญญา ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดทำเอกสารสัญญาจ้างและประสานให้ผู้รับจ้างมาลงนามในสัญญา โดยผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดเตรียมเอกสารสัญญาจ้างและเป็นผู้โทรศัพท์ไปตามผู้รับจ้างให้มาลงนามในสัญญา อีกทั้งผู้รับจ้างทั้ง ๕ ราย ที่มาลงนาม ต่างให้การตรงกันว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ติดต่อประสานงานทางโทรศัพท์ให้มาลงนามในสัญญาจ้าง และได้ถูกผู้ฟ้องคดีเรียกรับเงินค่าตอบแทนในการจัดเตรียมเอกสารและพิมพ์สัญญาจ้างและผู้รับจ้าง ๓ ใน ๕ ราย ยืนยันว่าได้จ่ายเงินให้ เมื่อผู้รับจ้างทั้ง ๕ รายไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกับผู้ฟ้องคดี ประกอบกับคำให้การของผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานได้ยืนยันชัดเจนว่ารับรู้ถึงพฤติกรรมของผู้ฟ้องคดีว่าได้อาศัยโอกาสที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ดังกล่าวแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองเรียกร้องเงินจากผู้รับจ้างเป็นการตอบแทน พฤติกรรมของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการอาศัยอำนาจหน้าที่ราชการของตนเองหาประโยชน์ให้แก่ตนเองโดยเรียกร้องรับเงินจากผู้รับจ้างถือเป็นพฤติกรรมที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเป็นการใช้อำนาจดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๘๔/๒๕๕๓)

                คำพิพากษาทั้งสามเรื่องข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมหรือพฤติการณ์การทุจริตของเจ้าหน้าที่ในการเรียกรับสินบน ซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในองค์กรของรัฐนั้น มีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจำนวนมากและมีหน้าที่แตกต่างกันตามที่ได้รับมอบหมายหรือมีกฎหมายมอบอำนาจไว้ ซึ่งเจ้าหน้าที่บางท่านอาจมีพฤติการณ์ที่สวนทางกับความเชื่อถือไว้วางใจของประชาชนผู้รับบริการและการดำรงเกียรติยศและศักดิ์ศรีความเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ไว้อย่างมั่นคง อุทาหรณ์ทั้งสามเรื่องข้างต้น จึงเป็นเครื่องเตือนใจให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ตระหนักถึงการใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ในการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่นได้เป็นอย่างดีว่า ในที่สุดแล้ว พฤติกรรมหรือพฤติการณ์เช่นนี้ก็จะถูกตรวจสอบโดยกระบวนการทางกฎหมายและต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปอย่างน่าเศร้าใจ


                เครดิต นายนิรัญ อินดร, พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ , กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร , สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...