15 ก.ค. 2559

พี่จ่าอย่าเฉย ! ฝากบ้านกับ “ตำรวจ” ต้องตรวจตามแผน


               
     เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ครม. ได้อนุมัติวันหยุดราชการถึง5 วัน (12-16 เม.ย.56) หยุดยาวๆแบบนี้หลายท่านอาจวางแผนเดินทางไปรดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่หรือไปเล่นน้ำกันที่ต่างจังหวัด...เมื่อถึงเทศกาลพิเศษๆ เช่นนี้ทีไร... อาชีพที่ต้องทำงานหนักก็คงหนีไม่พ้นเจ้าหน้าที่ตำรวจครับ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับข้อห้ามการเล่นน้ำสงกรานต์11 ข้อ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าเข้มงวดเกินไปหรือไม่ จนโฆษกตำรวจต้องออกมาชี้แจงว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้เป็นผู้กำหนดข้อห้ามดังกล่าวโดยประชาชนยังสามารถเล่นน้ำสงกรานต์ได้ตามปกติ แต่หากมีกรณีการกระทำที่เป็นการเกินเลยหรืออาจเกิดอันตรายต่อชีวิตเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายนอกจากหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจยังต้องรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชนด้วย เช่น “โครงการฝากบ้านกับตำรวจ”ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอาชญากรรมเชิงรุกให้ประชาชนเกิดความอุ่นใจ ไม่กังวลใจในขณะที่ไม่อยู่บ้าน และเป็นการแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงความห่วงใยของกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่มีต่อประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถแจ้งความประสงค์กับทางสถานีตำรวจพื้นที่ได้ด้วยตนเองหรือจะแจ้งทางโทรศัพท์ก็ได้

                   วันนี้...ผมจึงขอนำคดีพิพาทที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวมาฝากเป็นข้อมูลความรู้สำหรับท่านที่สนใจเข้าร่วมหรือได้เข้าร่วมโครงการฝากบ้านกับตำรวจในเทศกาลสงกรานต์นี้ ในกรณีประชาชนฝากบ้านไว้กับตำรวจแล้วบ้านเกิดถูกโจรกรรม ! ซึ่งคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักในการปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดของตำรวจในโครงการดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนครับ  โดยเรื่องมีอยู่ว่า... น.ส.ใบเตย จะต้องเดินทางไปทำธุระที่ต่างจังหวัดหลายวันจึงได้โทรศัพท์ไปฝากบ้านไว้กับตำรวจตั้งแต่วันที่ 16 – 22 ตุลาคมซึ่งที่ผ่านมา น.ส.ใบเตย ก็เคยใช้บริการในโครงการดังกล่าวนี้แล้วหลายครั้งก็ไม่พบปัญหาอะไร  แต่ครั้ง นี้... ไม่ได้เป็นเช่นครั้ง ก่อนๆ ครับ เพราะทันทีที่ น.ส.ใบเตย เดินทางกลับมาถึงบ้านในวันที่21 ตุลาคม เธอก็ถึงกับต้องร้องอุทานออกมาอย่างสุดเสียงว่าคุณพระช่วย !!! เพราะบ้านของเธอได้ถูกขโมยขึ้นบ้านและกวาดทรัพย์สินไปหลายรายการทั้ง ชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ พระเครื่อง นาฬิกา โถเบญจรงค์ ฯลฯ แม้กระทั่งกระทะ กระติกน้ำ แป้งตรางู ก็ไม่เว้นครับ น.ส.ใบเตย จึงรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อให้สืบหาตัวคนร้ายแต่ก็ไม่มีความคืบหน้า...น.ส.ใบเตย เห็นว่า การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประกาศแจ้งให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการฝากบ้านกับตำรวจ ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญามหาชนอันก่อให้เกิดหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตาม เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติละเลยไม่ตรวจสอบหรือกำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ในบังคับบัญชาของตนตรวจตราบ้านของผู้ฝากอย่างเข้มงวดจนเป็นเหตุให้ถูกโจรกรรม จึงถือเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฝากบ้านน.ส. ใบเตยจึงยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกว่าสองแสนบาท คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้กระทำละเมิดต่อน..ใบเตยหรือไม่ ? โดยหากเป็นการกระทำละเมิด สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่เพียงใด ? การทีจะพิจารณาได้ว่าเจ้าหน้าทีตำรวจได้กระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่หรือไม่นั้นจำต้องพิจารณาก่อนว่าเจ้าหน้าทีตำรวจดังกล่าวมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติหรือไม่ ?

                     โดยที่มาตรา 46(7) แห่ง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 กำหนดว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดจึงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามอำนาจหน้าที่นั้น อาจปฏิบัติได้ทั้งแนวทางป้องกันเช่น การจัดสายไปตรวจตามพื้นที่ หรืออาจปฏิบัติตามแนวทางแก้ไข เช่น ติดตามจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายมาดำเนินคดี  ฉะนั้น เมื่อโครงการฝากบ้านกับตำรวจมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นมาตรการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุกจึงถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 46(7) ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อนุมัติโครงการดังกล่าวโดยกำหนดขั้นตอนในการดำเนินการว่าเมื่อมีผู้ฝากบ้านตามโครงการฯ ตำรวจจะรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาพิจารณาวางแผนการตรวจตราป้องกันโดยจะมีการนำจุดตรวจ (ตู้แดง) ไปติดตั้งหรือสมุดตรวจไปวางกับกล่องริมรั้วหน้าบ้านที่เข้าร่วมโครงการฯ และติดประกาศประชาสัมพันธ์บ้านที่ฝากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายทราบรวมทั้งสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราป้องกันเหตุบ้านที่เข้าร่วมโครงการฯดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนหรือแผนที่กำหนดไว้ดังกล่าว  เมื่อมีหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว ต้องมาดูกันต่อว่า... เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้สำหรับการรับฝากบ้านหรือไม่?

                     ประเด็นนี้ ทางตำรวจเองยอมรับว่า มิได้นำตู้แดงไปติดไว้ที่หน้าบ้านของน.ส.ใบเตย แต่ได้นำสมุดตรวจไปสอดไว้ตรงรั้วประตูบ้านและได้มีเจ้าหน้าที่ไปตรวจลงบันทึกไว้ในสมุดดังกล่าววันละ 8-9 ครั้ง โดยได้แสดงสำเนาบันทึกการลงลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ตรวจเป็นหลักฐานต่อศาลส่วนทางด้าน น.ส.ใบเตยได้โต้แย้งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ไปตรวจบ้านของตนตามที่มีการลงลายมือชื่อเนื่องจากในสำเนาสมุดบันทึกได้มีการลงชื่อว่าไปตรวจตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม ซึ่งขณะนั้นตนยังไม่ได้ไปต่างจังหวัด แต่ก็ไม่เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจแต่อย่างใดนอกจากนี้ในวันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่ตนกลับบ้านแล้วก็ไม่เห็นสมุดบันทึกการตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามที่กล่าวอ้าง

                     กรณีนี้ ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า สำเนาบันทึกการลงเวลาและลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเพียงวันเวลา และลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่เท่านั้น โดยที่เอกสารดังกล่าวมิได้ระบุข้อความอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าการลงวันที่และลายมือชื่อนั้นเป็นการลงหลักฐานการไปตรวจบ้านของ น.ส.ใบเตยจริง ประกอบกับในสำเนาสมุดบันทึกซึ่งระบุว่าวันที่21 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปตรวจบ้านของ น.ส.ใบเตย 8 ครั้งซึ่งจากข้อเท็จจริงเมื่อ น.ส.ใบเตย กลับถึงบ้านในวันที่21 ตุลาคม โดยพบว่าบ้านของตนถูกโจรกรรม ก็ได้ไปแจ้งเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบโดยมีบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุเวลาแจ้งประมาณ14.30 น. ซึ่งแสดงว่าสถานีตำรวจย่อมได้รู้หรือควรรู้แล้วว่าน.ส.ใบเตย ได้กลับถึงบ้านแล้ว แต่ในสมุดบันทึกยังมีการลงชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไปตรวจบ้านของน.ส.ใบเตย หลังจากนั้นอีก 4 ครั้ง อันแสดงให้เห็นว่าสำเนาสมุดบันทึกการตรวจดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือ และไม่อาจใช้ยืนยันว่าได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจบ้านที่เกิดเหตุตามเวลาที่ระบุไว้จริง  เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้นำตู้แดงไปติดไว้หน้าบ้านของน.ส.ใบเตย ตามแนวทางที่เคยปฏิบัติเพื่อให้ทราบว่าเป็นจุดตรวจและใส่สมุดตรวจการที่อ้างว่าได้ไปตรวจและนำสมุดสอดไว้ที่ประตูบ้าน จึงไม่อาจหักล้างคำชี้แจงและพยานหลักฐานของน.ส.ใบเตยได้ ประกอบกับในช่วงเวลาเกิดเหตุประเทศไทยได้มีการจัดประชุมเอเปคซึ่งทางสถานีตำรวจได้แบ่งกำลังไปช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยในการประชุมตามคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจนครบาลจนทำให้เหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจ 24 นาย จาก 48 นาย ซึ่งการอ้างว่ามีอัตรากำลังไม่เพียงพอนั้น เป็นผลมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีอนุมัติโครงการโดยไม่ได้ประเมินผลเสียก่อนว่าสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ซึ่งไม่อาจนำมาใช้เป็นเหตุผลในการอ้างกับประชาชนได้จากข้อเท็จจริงทั้งหมดจึงเชื่อได้ว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจบ้านของ น.ส.ใบเตย ในช่วงเวลาที่ไม่อยู่บ้าน กรณีจึงถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งเมื่อเกิดความเสียหายแก่น..ใบเตยจึงเป็นการกระทำละเมิด โดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวเป็นผลโดยตรงให้ทรัพย์สินในบ้านต้องสูญหายเพราะเมื่อ น.ส.ใบเตย ได้เข้าร่วมโครงการฝากบ้านกับตำรวจแล้วจึงย่อมไม่ดำเนินการอื่นๆ เพื่อเป็นการป้องกันทรัพย์สินของตนอีก เช่น ฝากเพื่อนบ้านหรือให้ญาติพี่น้องมาอยู่บ้าน ฉะนั้นการรับฝากบ้านแล้วไม่ดำเนินการตามแนวทางที่เคยปฏิบัติส่งผลให้บ้านของ น.ส. ใบเตย ซึ่งไม่มีคนดูแลติดต่อกันหลายวันจนผู้ร้ายสังเกตเห็นได้และถูกโจรกรรมไปในที่สุดประกอบกับทรัพย์สินที่สูญหายมีจำนวนหลายรายการซึ่งบางรายการเป็นของที่มีขนาดใหญ่ต้องใช้พาหนะและต้องใช้เวลาในการขน โดยหากเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจบ้านวันละ8-9 ครั้ง ตามที่มีการลงชื่อในสมุดบันทึกจริง ย่อมมีความเป็นไปได้ที่จะพบเหตุการณ์หรือร่องรอยพิรุธต่างๆและสามารถติดตามจับกุมคนร้ายได้

                     ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้นสังกัดจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายในการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ตนให้แก่.ส.ใบเตย  เมื่อศาลได้พิจารณารายการทรัพย์สินที่สูญหายทั้งหมดโดยพิจารณาตามความร้ายแรงแห่งการกระทำละเมิด ความเหมาะสม เป็นธรรม และหักค่าเสื่อมราคาประกอบด้วยแล้วจึงพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายแก่ น.ส.ใบเตย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 55,535 บาท (มาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. 2539)ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่อ.318/2554)


                     สรุปว่า... การดำเนินโครงการฝากบ้านกับตำรวจนี้ ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามแผนหรือแนวทางที่ได้วางไว้ โดยไม่อาจอ้างเหตุผลอื่นใดมาลดมาตรฐานในการตรวจตราได้.... และขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกท่านที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่รวมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนในการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อลดปัญหาและอุบัติเหตุต่างๆในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองรวมทั้งคนที่เรารัก โชคดีต้อนรับปี ใหม่ไทยครับ...



                     เครดิต : ครองธรรม ธรรมรัฐ , http://www.admincourt.go.th/00_web/09_academic/document/05_case/20130423_article.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...