14 ก.ค. 2559

เรียกรับเงินจากผู้มาติดต่อราชการ เพียงน้อยนิด มีสิทธิออกจากราชการ


           
ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 กำหนดโทษทางวินัยของข้าราชการไว้2 ลักษณะ คือโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง คือ ปลดออกจากราชการ ไล่ออกจากราชการ และโทษทางวินัยไม่ร้ายแรง คือ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน และลดขั้นเงินเดือน  การจะลงโทษทางวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หรือลงโทษในระดับใดนั้น ประเด็นสำคัญที่จะนำมาพิจารณาและพิสูจน์กันก็คือ “พฤติการณ์” ของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด


           คดีที่จะนำมาเป็นอุทาหรณ์เล่าสู่กันฟังในวันนี้ เป็นพฤติการณ์การเรียกรับเงินจากประชาชน อันถือว่าเป็นการ “ทุจริตต่อหน้าที่” และ “ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง” เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535  ติดตามกันดูนะครับว่า ท้ายที่สุดต้องถูกลงโทษทางวินัยอย่างไร?

            ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า นาง พ. และนาง ร. ได้ไปขอจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินและขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ณ สำนักงานที่ดินอำเภอ ซึ่งนาง ร. ผู้ซื้อจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนเงิน 18,000 บาท  ผู้ฟ้องคดีซึ่งทำหน้าที่เป็นเพียงผู้พิมพ์สัญญาและพยานในการซื้อขาย ได้เสนอว่าจะช่วยให้เสียค่าธรรมเนียมน้อยลง  หลังจากนั้น นาง ร. ได้ให้ตัวแทนนำเงินไปชำระค่าธรรมเนียม 9,848 บาท และอีก 2,500 บาท ได้ใส่ไว้ในแฟ้มและผู้ฟ้องคดีได้รับแฟ้มไว้  ภายหลังจากการสอบสวนทางวินัยเสร็จสิ้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (อธิบดีกรมที่ดิน) เห็นว่า มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ได้ยืนยันพฤติการณด์ ังกล่าว จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ตามมาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง เนื่องจากมิได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาเพราะมิได้เป็นเจ้าหน้าที่สอบสวนและจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แต่เป็นเพียงผู้พิมพ์สัญญาและเป็นพยานในสัญญาซื้อขายเท่านั้น  นอกจากนี้ คณะกรรมการสอบสวนไม่ให้โอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงและอนุกรรมการและเลขานุการ อ.ก.พ. กรมที่ดิน บางคนมีเหตุโกรธเคืองกับผู้ฟ้องคดี จึงได้อุทธรณ์ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (นายกรัฐมนตรี) มีคำสั่งยกอุทธรณ์ตามมติของ ก.พ ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ  บทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องในคดีนี้มี 3 มาตรา คือ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม “การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการและเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง” มาตรา 98 วรรคสอง  “การกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือให้รับโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง” และมาตรา 104 วรรคหนึ่ง “ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก ตามความร้ายแรงแห่งกรณี”  ศาลท่านจะวินิจฉัยว่าคำสั่งลงโทษชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? ดูกันต่อไปครับ

           ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า พยานบุคคลที่เป็นผู้มอบเงินให้ผู้ฟ้องคดี ผู้ขายที่ดิน เจ้าหน้าที่ผู้จดทะเบียนการขายที่ดินและเจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอ ต่างให้การสอดคล้องกันว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรายนี้เกินกว่าการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติทั่วไปและพยานไม่ได้มีเหตุโกรธเคืองกับผู้ฟ้องคดี จึงเชื่อว่าผู้ฟ้องคดีเรียกรับเงินจำนวน 2,500 บาท ตามที่ถูกกล่าวหาจริง  แม้ผู้ฟ้องคดีจะไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโดยตรง แต่เมื่อเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญมีหน้าที่พิมพ์สัญญาและแก้ทะเบียน ย่อมมีหน้าที่ราชการเกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเมื่อได้เสนอตัวช่วยเหลือให้มีการเสียค่าธรรมเนียมน้อยลงและนาง ร. ยอมมอบเงินให้ตามที่เรียกร้อง พฤติการณ์เป็นการเเรียกรับเงินโดยมิชอบจากผู้มาติดต่อราชการ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ที่มิควรได้เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการและเป็นการกระทำอันได้ชื่อว่า เป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง และในการสอบสวนผู้ฟ้องคดีได้มีโอกาสรับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา อีกทั้ง ข้ออ้างว่าอนุกรรมการบางคนมีเหตุโกรธเคืองกับผู้ฟ้องคดีก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักควรเชื่อแต่อย่างใด  คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ จึงชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 463/2553)

             คดีนี้จึงเป็นอุทาหรณ์ที่ดีให้ข้าราชการได้ตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของตน ไม่ใช่ใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ ซึ่งแม้ผลประโยชน์ที่ได้มานั้นจะมีจำนวนมากหรือน้อย ก็ย่อมส่งผลต่อสถานะความเป็นข้าราชการไม่แตกต่างกัน...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...