14 ก.ค. 2559

กำนันกับสารวัตรกำนัน:การอุทธรณ์คำสั่ง


         
          1. ในระบบการปกครองส่วนภูมิภาค เราจะมีระดับการปกครองไล่เรียงกันมาตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ตามลำดับ แต่ละระดับก็จะมีหัวหน้าผู้ปกครองดูแลกันมาตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนที่อยู่ในเขตปกครองที่ตนรับผิดชอบ โดยมีเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งและระดับต่างๆ มากบ้างน้อยบ้างตามภาระกิจที่รับผิดชอบ

           2. ครั้งนี้จะกล่าวเฉพาะเกี่ยวกับตำบลซึ่งมีกำนันเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบร่วมกับนายกเทศมนตรีองค์การบริหารส่วนตำบลบ้าง นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลบ้างในเขตพื้นที่ตำบลนั้นๆ สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น การบริหารจัดการเป็นไปตามกฎหมายจัดตั้งส่วนราชการนั้น (อบต.และเทศบาล) ส่วนกรณีของกำนัน เป็นไปตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พระพุทธศักราช 2457 ซึ่งกำหนดให้ในตำบลหนึ่งมีกำนันเป็นผู้ปกครอง และมีผู้ใหญ่บ้านปกครองหมู่บ้านในเขตตำบลนั้น

            3. ขณะเดียวกัน มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 กำหนดไว้โดยสรุปว่าในตำบลหนึ่ง ให้มีสารวัตรสำหรับเป็นผู้ช่วยและรับใช้สอยของกำนัน 2 คน ผู้ที่จะเป็นสารวัตรนี้แล้วแต่กำนันจะขอร้องผู้ใดให้เป็น แต่ต้องได้รับความเห็นชอบของผู้ว่าราชการเมือง (ตรงตามกฎหมาย..ไม่ได้เขียนผิดครับ) ด้วยจึงเป็นได้และกำนันมีอำนาจเปลี่ยนสารวัตรได้

           4. ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากกำนันได้รายงานนายอำเภอว่า สารวัตรกำนันคนหนึ่งไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ช่วยกำนันจึงขอเปลี่ยน นายอำเภอจึงรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเหตุให้ผู้ว่าราชการ จังหวัดอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ดังกล่าวข้างต้น สั่งให้สารวัตรกำนันคนนี้ออกจากตำแหน่งพร้อมกับแต่งตั้งคนอื่นตามที่ กำนันเสนอแทน ทำให้อดีตสารวัตรกำนันอุทธรณ์ ที่สุดผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาแล้วเห็นว่าอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น เห็นควรอุทธรณ์ เช่นนี้ส่วนราชการจึงหารือมายังกระทรวงมหาดไทย 2 ประเด็น

            5. ที่สุดคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วมีความเห็นโดยสรุปว่า ตามมาตรา 44 นั้นเป็นการให้อำนาจแก่กำนันใช้ดุลพินิจขอร้องให้บุคคลที่เห็นว่า เหมาะสมที่จะมาเป็นผู้ช่วยกำนันในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น หากกำนันเห็นว่าบุคคลดังกล่าวไม่เหมาะสม ก็สามารถขอเปลี่ยนคนได้ การขอร้องของกำนันดังกล่าวไม่ได้เป็นการก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ที่ เป็นสารวัตรกำนันแต่อย่างใด ส่วนการที่ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการก็เพื่อเป็นการตอบแทน สารวัตรกำนันในการช่วยเหลืองานของทางราชการเท่านั้น ทำให้คำสั่งแต่งตั้งสารวัตรกำนันไม่เป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่ง พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เพราะเป็นกรณีที่กำนันขอร้องให้มาช่วยเหลืองานตามที่กำนันมอบหมาย ดังนั้นผู้ที่พ้นจากการเป็นสารวัตรกำนัน จึงไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ (รายงานการปกครองคณะกรรมการร่างกฎหมายฯ ครั้งที่ 39/2556 วันที่ 17 กรกฎาคม 2556)

            6. ก็เป็นการบอกเล่าสู่กันฟังถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและข้อยุติของ ปัญหาอันจะนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติงานกันต่อไปนะครับ จำไว้ง่ายๆ อำนาจเป็นของกำนัน อุทธรณ์ไม่ได้


            เครดิต  ราชการแนวหน้า  หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- อาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม 2556 06:00:00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...