6 ก.ค. 2559

คัดค้านนโยบาย ... ไม่ใช่งานในหน้าที่ !


                 
 แม้ว่าข้าราชการจะมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ก็ตาม แต่เนื่องด้วยข้าราชการจะต้องประพฤติปฏิบัติตนตามระเบียบวินัยของทางราชการ ดังนั้น การที่ข้าราชการได้ลงชื่อมาปฏิบัติราชการและได้เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านนโยบายของรัฐบาลจะถือเป็นการแสดงความคิดเห็นตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้และถือเป็นการปฏิบัติราชการหรือไม่

                  ดังเช่น คดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังฉบับนี้ เป็นกรณีของพนักงานเทศบาล (ผู้ฟ้องคดี) ได้ลงชื่อมาปฏิบัติราชการในสมุดบัญชีลงเวลาประมาณ 7 นาฬิกา จากนั้นได้เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับการคัดข้าราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพออกจากราชการ 5% ต่อรองนายกรัฐมนตรี และแจกเอกสารคัดค้านเรื่องดังกล่าวแก่สื่อมวลชนบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยไม่ได้รับอนุมัติหรืออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาหรือยื่นใบลาเพื่อออกไปทำกิจธุระส่วนตัว

                ต่อมา คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยมีมติว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (นายกเทศมนตรี) ได้มีคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนผู้ฟ้องคดี 5% เป็นเวลา 3 เดือน  

                หลังจากที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด) มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์แล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงได้นำคดีมาฟ้องขอให้ศาลปกครองพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยเห็นว่าการเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเป็นการส่งหนังสือราชการอันเป็นการให้ข้อมูลหรือเป็นพยานหรือการส่งเอกสารหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีให้ถือว่าการให้ข้อมูลหรือการเป็นพยานหรือการส่งเอกสารหลักฐานดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ประกอบกับผู้ฟ้องคดีใช้เวลาไปเพียง 2 ชั่วโมงกว่า และได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติจนเลิกงานเวลา 16.30 นาฬิกา โดยไม่ปรากฏความเสียหายแก่ราชการแต่อย่างใด

                  การเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านนโยบายของรัฐบาลของผู้ฟ้ องคดีเป็นการให้ข้อมูลหรือการเป็นพยานหรือการส่งเอกสารหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการหรือไม่ ?

                   ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า หนังสือคัดค้านดังกล่าวมีถ้อยคำที่ส่อเสียด ไม่สุภาพ และไม่เหมาะสมและพิจารณาเนื้อหาทั้งหมดแล้วเป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวเพื่อคัดค้านนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมิใช่การให้ข้อมูลหรือการเป็นพยานหรือการส่งเอกสารหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการที่ข้าราชการผู้ให้ข้อมูลจะได้รับความคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือ ที่ นร 0205/ว 31 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542 การที่ผู้ฟ้ องคดีเดินทางไปยื่นหนังสือดังกล่าวจึงมิใช่การปฏิบัติหน้าที่ราชการนอกสถานที่ แต่เป็นการปฏิบัติภารกิจส่วนตัวนอกสถานที่ซึ่งต้องได้รับอนุมัติหรืออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อน ประกอบกับผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการระดับหัวหน้างานย่อมทราบระเบียบปฏิบัติของทางราชการ  ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีลงเวลามาปฏิบัติราชการเวลา 7 นาฬิกา แล้วไปปฏิบัติกิจส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุมัติหรืออนุญาตจากผู้มีอำนาจ และกรณีไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีคัดค้านในวันนั้นหรือไม่  ผู้ฟ้องคดีจึงควรวางแผนและขออนุมัติหรือขออนุญาตลาต่อผู้บังคับบัญชาให้ถูกต้อง กรณีจึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี และนโยบายของรัฐบาล

                 นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานห้องเดียวกับผู้ฟ้องคดีและรักษาการหัวหน้างานให้การสอดคล้องกันว่าในวันดังกล่าวผู้ฟ้ องคดีไม่ได้อยู่ปฏิบัติงานที่สำนักงานแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อหน้าที่การปฏิบัติราชการของผู้ฟ้ องคดีเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในสถานที่ราชการต้นสังกัด การที่ผู้ฟ้องคดีเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านโดยไม่ได้รับอนุมัติหรืออนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ซึ่งแม้ส่วนราชการต้นสังกัดจะไม่ได้รับความเสียหายและเป็นการเดินทางไป 2 ชั่วโมงตามที่กล่าวอ้างก็ตาม ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการตามนัยข้อ 6
วรรคหนึ่ง และไม่อุทิศเวลาของตนให้แก่ทางราชการและละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการตามนัยข้อ 13 วรรคหนึ่งของประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัยการให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2544  การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนผู้ฟ้องคดี 5% เป็นเวลา 3 เดือน จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 152/2557)

                   คดีนี้นอกจากจะเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการที่ดีสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่และดำรงตนอยู่ในกรอบวินัยที่กฎหมายหรือระเบียบกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดและปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความตั้งใจอุตสาหะและเอาใจใส่ อุทิศเวลาให้แก่ราชการ ไม่ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ และไม่เบียดบังเวลาราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตัวแล้ว ยังเป็นอุทาหรณ์ที่ดีว่า การออกนอกสถานที่ในเวลาราชการโดยพลการเพื่อไปทำภารกิจส่วนตัวอาจเป็นเหตุทำให้ข้าราชการผู้นั้นถูกลงโทษทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงได้ครับ !


                  เครดิตุ :  นายปกครอง , หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...