25 ก.ค. 2559

ออกคำสั่งไม่ถูกต้อง ... ไฉนเรียกให้คืนเงิน ?


               
  คดีปกครองที่จะนำมาฝากกันในวันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่คืนเงินยืมทดรองจ่าย โดยมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแต่นำผลการสอบสวนทางวินัยมาเป็นเหตุผลในการออกคำสั่ง

                  เรื่องมีอยู่ว่า ... ผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) ได้ทำหนังสือขออนุมัติยืมเงินทดรองจ่ายจำนวน 50,000 บาท เพื่อนำไปใช้ในการจัดสัมมนา เมื่อการสัมมนาเสร็จสิ้น ผู้ฟ้องคดีได้จัดส่งหลักฐานการใช้จ่ายยื่นขอหักล้างเงินยืมทดรองจ่าย โดยได้รับอนุมัติจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) ต่อมา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เรียกเงินคืนจากการเบิกจ่ายเงินทดรองจ่ายดังกล่าวจากผู้ฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่า ไม่ใช่เป็นการจ่ายเงินยืมทดรองจ่ายให้กับพนักงานเพื่อกิจการภายในขอบเขตวัตถุประสงค์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกับผู้ฟ้องคดี ซึ่งมีความเห็นให้ยกเว้นโทษทางวินัย เนื่องจากมิได้มีเจตนาที่จะกระทำผิด แต่ให้เรียกเงินทดรองจ่ายคืนจากผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีคืนเงินตามที่ได้รับไป ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งพิจารณาแล้วมีความเห็นยืนตามความเห็นเดิม โดยผู้ฟ้องคดีได้ทราบคำวินิจฉัยดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2548 ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งเรียกให้คืนเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

                  คดีนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ ประเด็นแรกก็คือ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้ องภายในระยะเวลาที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดไว้หรือไม่ ?

                  ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้ผู้ฟ้องคดีคืนเงินทดรองจ่ายที่ยืมไปเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง(มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539) ผู้ฟ้องคดีจึงต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทำการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน (มาตรา 44 และมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน) และเมื่อได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์แล้วจึงจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ อันเป็นเงื่อนไขที่มาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บังคับให้ต้องดำเนินการก่อนการฟ้องคดีต่อศาล เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับทราบผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2548 จึงถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รู้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2548 การฟ้องคดีนี้ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 จึงเป็นการฟ้องคดีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

                  ประเด็นต่อมาก็คือ คำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีคืนเงินยืมทดรองจ่ายโดยยังไม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?

                  การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินคืนจากการกระทำละเมิดตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นทำการสอบสวนตามข้อ 8 วรรคหนึ่ง ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ก่อนแล้วจึงจะทำการวินิจฉัยและออกคำสั่งได้ เมื่อกรณีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้คืนเงินยืมทดรองจ่ายที่ยืมไปโดยมิได้ดำเนินการตามนัยดังกล่าว แต่ได้นำผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยซึ่งเป็นคณะกรรมการสอบสวนตามกฎหมายคนละฉบับและมีอำนาจหน้าที่แตกต่างกันมาเป็นเหตุในการออกคำสั่งดังกล่าว จึงเป็นการออกคำสั่งไปโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้ คำสั่งดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีคืนเงินยืมทดรองจ่ายจำนวน 50,000 บาท (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 114/2554)

                  คดีนี้ได้วางหลักกฎหมายเรื่องการเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ เมื่อเกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐแห่งใดแล้วจะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้น เพื่อพิจารณาผู้ต้องรับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นจะต้องชดใช้ โดยจะต้องมีการให้โอกาสแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอและเป็นธรรม หน่วยงานของรัฐจะนำผลการสอบสวนของคณะกรรมการอื่นมาเป็นเหตุในการออกคำสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ได้นะครับ ...


                  นายปกครอง , หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...