14 ก.ค. 2559

เมื่อ ป.ป.ช. ถูกกล่าวหาว่าเป็นเสือกระดาษ


             
 เมื่อวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2556 ผู้เขียนได้อ่านพบบทความของบุคคลผู้หนึ่งในหนังสือพิมพ์โพสด์ทูเดย์ กล่าวถึงคดีการกระทำความผิดรัฐธรรมนูญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 โดยผู้เขียนบทความดังกล่าวเห็นว่า "มีผู้ไปร้อง ป.ป.ช.ทันทีที่ศาลวินิจฉัย แต่แทนที่ ป.ป.ช.จะดำเนินเรียกสอบพยานที่เกี่ยวข้อง เรียกผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามคนมาชี้แจง กลับบอกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันเฉพาะข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงจึงไม่ผูกพัน จะต้องไต่สวนใหม่ ซึ่งแปลว่า ป.ป.ช. สามารถวินิจฉัยขัดกับศาลรัฐธรรมนูญได้ ป.ป.ช.กำลังจะบอกว่าแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่ามีการทุจริต เสียบบัตรแทนกัน แต่ ป.ป.ช.อาจวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้ เท่ากับ ป.ป.ช.ใหญ่กว่าศาลรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ"             

               นอกจากนี้ท่านยังมีความเห็นเป็นเชิงแนะนำพร้อมตำหนิการทำงานของ ป.ป.ช.ไว้ในสาระสำคัญอีกว่า "คดีนี้ ป.ป.ช. ไม่ต้องไต่สวนอะไรเลย วินิจฉัยได้แล้ว คำวินิจฉับของศาลรัฐธรรมนูญมีความชัดเจน....ไม่ต้องไต่สวนอะไรให้เสียเวลา....ท่านสามารถสรุปขอบคดีนี้ได้ ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดได้แล้ว ส่วนอัยการสูงสุดจะเป็นอย่างไร ค่อยว่ากันอีกที...."              

               อ่านบทความแล้วทำให้เข้าใจได้ว่าผู้เขียนบท ความนี้คงไม่ใช่นักกฎหมาย หรืออาจจะเป็นนักกฎหมายแต่ไม่เคยทำงานโดยตรงเกี่ยวกับการใช้กฎหมายที่ร่ำเรียนมาในการอำนวยความยุติธรรมให้บุคคลอื่นโดยปราศจากอคติ อย่างไรก็ตามขอเรียนว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระซึ่งสถาปนาหรือเกิดมาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่อย่างไรบ้าง มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ดังนั้น รัฐธรรมนูญปี 2550 คือรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ อยู่ในมาตรา 250 และบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปราม การทุจิต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550 และฉบับที่สอง พ.ศ.2554 มาตรา 19               

               การดำเนินการไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องดำเนินการไปตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญ หมวด 4 ว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งมีทั้งหมดรวม 18 มาตรา ตั้งแต่มาตรา 43 ถึงมาตรา 57 ส่วนการไต่สวนในเรื่องการถอดถอน ต้องดำเนินการตามหมวด 5 ว่าด้วยการถอดถอนจากตำแหน่งรวม 8 มาตรา ตั้งแต่มาตรา 58 ถึง 65             

               คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดกระทำความผิดนั้น เป็นการวินิจฉัยว่าผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ซึ่งต่างจากการวินิจฉัยของกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งจะต้องวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่ ซึ่งองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 157 มีว่า            

               1.ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน          
  
               2.ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ            

               3.เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือ            

               4.ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่             

               5.โดยทุจริต               

               ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้ยังต้องประกอบด้วย"เจตนาพิเศษ" คือเป็นการกระทำโดยมิชอบ และผู้กระทำทราบว่าการกระทำนั้นจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดแต่ก็ยังฝืนกระทำไป หรือเป็นการกระทำโดยทุจริตคือ แสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น               

               สำหรับกรณีที่กรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนเพื่อการถอดถอนจากตำแหน่ง ถึงแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่ามีการกระทำความผิดตามมาตรา 68 วรรคหนึ่งจริง แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ต้องทำเป็นการไต่สวนให้ได้ความว่าผู้ถูกกล่าวหาจงใจกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 58 ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดคือ              

               1.ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สามชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด......               

               2.มีพฤติการร่ำรวยผิดปกติ               

               3.ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมส่อว่าจงใจใช้อำนาตหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

               หมายความว่าแม้จะฟังได้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วก็ตามแต่กรรมการ ป.ป.ช.ก็ต้องฟังข้อเท็จจริงให้ได้ความว่าผู้ถูกกล่าวหาจงใจในการกระทำดังกล่าว ซึ่งในเรื่องนี้ หากผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้ว่าได้กระทำการตามมาตรา 291 อนุมาตรา 1 ถึง 7 โดยครบถ้วนแล้ว โดยเฉพาะต่อสู้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 130 ซึ่งบัญญัติว่า "ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น หรือออกเสียง ลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใด มิได้...."ซึ่งกรรมการ ป.ป.ช. ต้องฟังข้อเท็จจริงให้ได้ความว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถยกข้อต่อสู้ดังกล่าวมาใช้ได้              

               ยิ่งกว่านั้นการที่ศาลวินิจฉัยคดีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภานี้จะอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ ควรนำมาพิจารณาด้วย(ดูบทความของผู้เขียนเรื่อง รัฐธรรมนูญมาตรา 68, 291 กับศาลรัฐธรรมนูญ ในหนังสือพิมพิมพ์มติชน วันพุธที่ 18 ธันวาคม 2556 หน้า 7)


               หากฟังได้ว่าข้อกล่าวหานี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการ ป.ป.ช.ก็ไม่สามารถนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาเป็นแนวบรรทัดฐานใช้ในการอ้างเป็นหลักได้ กรรมการ ป.ป.ช.จึงต้องไต่สวนคดีใหม่เริ่มแต่ต้น               

               ดังนั้น สังคมจึงควรศึกษาอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของกรรมการ ป.ป.ช. ให้เข้าใจเสียก่อนจึงควรแสดงความเห็นอันเป็นการกดดันการทำงานของกรรมการ ป.ป.ช. โดยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่กรรมการ ป.ป.ช. ไม่สามารถจะทำหน้าที่ไปตามที่กระแสสังคมกดดันได้ โดยเฉพาะคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่องการกระทำของสมาชิกรัฐสภากรณีที่มาของ ส.ว. ซึ่งมีข้อควรทำความเข้าใจดังต่อไปนี้ คือ                

               1.องค์ประกอบความผิด ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ส่วนองค์ประกอบความผิดที่กรรมการ ป.ป.ช.จะนำมาเป็นหลักในการชี้มูลหรือไม่ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และรัฐธรรมนูญมาตรา 270 และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดต่างกัน หาใช่เป็นเรื่องศาลรัฐธรรมนูญกับกรรมการ ป.ป.ช. ใครใหญ่กว่าใครไม่                

               2.กรรมการ ป.ป.ช. ไม่สามารถเร่งสรุปคดีตามความต้องการของสังคมได้ เพราะมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องให้ความเป็นธรรมแก่ผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา หากกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ปฏิบัติหน้าที่ไปตามกฎหมายและไม่เที่ยงธรรมแล้ว กรรมการ ป.ป.ช.ก็จะมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยทั่วไป แต่ต้องรับโทษสองเท่าของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 125 ซึ่งบัญญัติว่า "ประธานกรรมการ กรรมการ อนุกรรมการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือบุคคลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ โดยขาดความเที่ยงธรรม กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ต้องระวางโทษสองเท่าของโทษที่กฎหมาย กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น"                

               3.การไต่สวนของกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องขอถอดถอนสมาชิกรัฐสภา หาก ป.ป.ช. ไต่สวนเห็นว่ามีความผิดจริงก็จะต้องมีมติชี้มูลความผิดแล้วส่งรายงานและ เอกสารที่มีอยู่พร้อมความเห็นไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามมาตรา273 กรณีที่ประธานวุฒิสภาต้องจัดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาและมีการลงมติลับ และต้องได้มติไม่น้อยกว่าสามในห้าของของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ วุฒิสภา (ปัจจุบันต้องไม่น้อยกว่า 90 เสียง) จึงจะถอดถอนได้ นอกจากจะถอดถอนแล้วได้ให้ตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งในทางการเมืองหรือการรับ ราชการเป็นเวลาห้าปีด้วย ส่วนความผิดทางอาญาก็ส่งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสี่                

               ตามข้อเท็จจริง ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดทางการเมืองและส่งไปให้วุฒิสภาลงมติตามมาตรานี้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เรื่อง แต่ไม่เคยถอดถอนได้เลยเพราะเสียงไม่ พอตามที่กฎหมายกำหนด ครั้งสุดท้ายกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นายสุเทพ เทือกสุบรรณ (เลขาธิการ กปปส.) ว่ากระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 266 แต่วุฒิสภาไม่ถอดถอนเพราะเสียงไม่พอ การถอดถอนตามมาตรานี้จึงนับว่าเป็นหมัน เพราะเป็นไปได้โดยยาก (ดูบทความของผู้เขียนเรื่อง "เมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 274 เป็นหมัน" ในหนังสือพิมพ์มติชน)               

               4.ที่สังคมไม่ว่านักการเมืองหรือนักวิชาการวาด ความหวังไว้ว่าหากกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดเรื่องนี้แล้วจะทำให้ผู้ถูกล่าวหา โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องหยุดการปฎิบัติหน้าที่หรือปฎิบัต ิหน้าที่ต่อไปไม่ได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติหรือจนกว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพาก ษานั้นอาจจะเข้าใจผิด เพราะกรณีนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 275 ให้นำบทบัญญัติมาตรา 272 วรรคหนึ่ง วรรคสี่ และวรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม และตามมาตรา 272 วรรคสี่ บัญญัติว่า "ถ้ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อย กว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล นับแต่วันดังกล่าว (คือวันที่ ป.ป.ช.ชี้มูล) ผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมี มติ (หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษา)" ผลแห่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็คือ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนและสมาชิก วุฒิสภา อันเป็นตำแหน่งที่ถูกกล่าวหา หากแต่ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งของฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ตำแหน่งที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูล คือตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ


               ดังนั้น จะหวังว่าการชี้มูลของกรรมการ ป.ป.ช. ให้คณะรัฐมนตรีหยุดการปฏิบัติหน้าที่แล้วไปใช้มาตรา 7 เพื่อขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ก็ดูจะมีปัญหาในแง่กฎหมายอยู่เป็นอย่างยิ่ง               

               อนึ่ง ตามที่มีบุคคลในสังคมไทยจำนวนหนึ่งเสนอ ให้นำมาตรา 7 มาใช้แก้ปัญหาทางการเมืองขณะนี้ ฟังความเห็นของผู้คนในสังคมรวมถึงนักวิชาการบางส่วนที่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ แล้วนำกฎหมายมาตรานี้มาพิเคราะห์โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 7 บัญญัติว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หมายความว่าจะต้องเกิดกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบังคับไว้เกิดขึ้นเสียก่อน ไม่ใช่เป็นการไปทำให้เกิดมีกรณีขึ้น เพื่อจะได้นำรัฐธรรมนูญมาตรา 7 มาใช้ เช่น แนะนำให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออกทั้งคณะเพื่อขอตั้งคณะรัฐมนตรีเฉพาะกาลให้ปฎิบัติหน้าที่ตามมาตรา181 นั้น ตามกฎหมายแล้วไม่อาจทำได้ เพราะ                

               1.ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 181 นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่กระทำการดังกล่าวจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ)               

               2.นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี อ้างว่าต้องกระทำตามที่คณะ กปปส. ยื่นคำขาดไม่ได้ เพราะ กปปส.ไม่ใช้เจ้าพนักงานที่มีอำนาจออกคำสั่งนี้ และนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีก็ทราบว่าเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายอันจะ เป็นข้ออ้างให้คณะรัฐมนตรีไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา70                

               3.ผู้ที่จะเข้ามาเป็นคณะรัฐมนตรีเฉพาะกาล โดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับการ แต่งตั้งตามมาตรา 172 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 171 วรรคสอง                4.รัฐธรรมนูญมาตรา 171 วรรคห้าบัญญัติว่า "ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี" ขณะนี้มีการประกาศยุบสภาแล้ว ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาก็จะมีการประชุมทำหน้าที่รัฐสภาได้เฉพาะหน้าที่ตามบัญญัติไว้ รัฐธรรมนูญมาตรา 132 (1) เท่านั้น ไม่มีอำนาจลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในกรณีนี้                

               ความจริงก่อนที่จะมีการแนะนำให้กระทำการตามข้อ 1 ถึงข้อ 4 จะต้องแนะนำให้ฉีกรัฐธรรมนูญแห่งราชอณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และประมวลกฎหมายอาญาทิ้งเสียก่อนก็คงทำได้ มาตรา 7 จึงไม่ใช่ยาครอบจักรวาล ที่มีสรรพคุณกินก็ได้ ทาก็ได้ และต้องระวังผลของการใช้ยาขนานนี้ก็คือนอกจากกินก็ได้ ทาก็ได้แล้ว ยังอาจตาย ติดคุกก็ได้ด้วย ดังนั้น ผลแห่งการใช้มาตรา 7 อย่างไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์นั้น ไม่ใช่ผู้เสนอใช้กฎหมายมาตรานี้จะตายคนเดียวหรือกลุ่มเดียว แต่อาจจะพากันตายทั้งประเทศก็เป็นได้                  

               สังคมไทยยังจดจำกันได้หรือไม่ว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เคยทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอนายกพระราชทานตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 เมื่อต้นปี 2549 มาแล้ว และต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่ผ ู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม ณ ตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 มีสาระสำคัญที่ประชาชนคนไทยที่มีความเห็นในการนำมาตรา 7 มาใช้แก้ปัญหาบ้านเมืองขณะนี้ ควรนำไปไตร่ตรองให้ดี ก็คือ                 

               "ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกฯพระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไต ย. ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้ มาตรา 7 มี 2 บรรทัดว่า อะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณีหรือตามที่เคยทำมา ไม่มี เขาอยากจะได้นายกพระราชทาน เป็นต้น จะขอนายกฯพระราชทานไม่ใช่เป็นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบ ขอโทษพูด แบบมั่ว แบบไม่มี ไม่มีเหตุมีผล"



               ที่มา: สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการป.ป.ช. อาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาลและหลักการพิจารณาคดี (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , มติชนรายวัน 3 ม.ค.2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...