7 ก.ค. 2559

หน่วยงานของรัฐทำ “คลอง” ใกล้บ้านเราเน่าเหม็น .. จะทำยังไงกันดี !


         
 คิดว่าปัจจุบัน “คลอง” ยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเรามั๊ย ?

           ถ้าเป็นคนที่อยู่ในเขตเมือง คำตอบก็อาจจะได้ว่า คงไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันสักเท่าไหร่แล้ว แต่ถ้าเป็นคนตามชนบท โดยเฉพาะชุมชนเกษตรกรรมหละก็ “คลอง” ยังคงมีความสำคัญอยู่มาก 

           เรียกได้ว่าเป็นเกือบทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตผู้คนเหล่านั้นเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นทั้งแหล่งน้ำกิน น้ำใช้ ไว้จับสัตว์น้ำมากิน เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กระทั่งยังคงใช้เป็นทางสัญจรในบางที่ สารพัดจะเป็นแหล่งใช้ประโยชน์


           ถ้าพูดให้เข้าสมัย ก็ต้องบอกว่า “คลอง” เป็น “สิ่งแวดล้อม” ที่ยังคงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชาวชนบทไทย 


           แน่นอน เมื่อคลองเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่่ใครจะเข้าใช้ก็ได้ โอกาสที่เราจะทะเลาะกับเพื่อนบ้าน หรือพวกที่อยู่ละแวกเดียวกัน เรื่องไม่รู้จักช่วยกันดูแลรักษาคลองให้ใสสะอาด ก็อาจเกิดขึ้นได้เสมอ เช่น บ้านข้างเคียงเทน้ำซักผ้า น้ำล้างจาน หรือขยะลงในคลอง เป็นต้น 

           เกิดเรื่องพรรค์อย่างนี้ขึ้นมา ถ้าขี้เกียจทะเลาะเบาะแว้งกันเองให้รำคาญใจ เราก็ยังไปแจ้งหน่วยงานของรัฐ ให้มาช่วยแก้ไขให้ได้ พอให้เบาใจไปได้เปลาะหนึ่ง


           แต่ถ้าเกิดหน่วยงานของรัฐ กลับเป็นคนทำให้ “คลอง” ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่จำเป็นของเรา ต้องเสื่อมโทรม เสียเองหละ ! อย่างเนี้ย ... ชาวบ้านตาดำๆ อย่างเรา จะไปขอให้ใครมาช่วยได้บ้าง ?


           เรื่องอย่างนี้ เคยเกิดขึ้นจริงๆ มาแล้ว 


           ที่จะขอเล่าให้ฟังกันก็มีอยู่ว่า ชาวบ้านชนบทจำนวนหนึ่งในจังหวัดน่าน ซึ่งอยู่บริเวณคลองสายหลักที่ใช้น้ำจากคลองไว้ดื่ม อาบ ทำประโยชน์สารพัดเรื่องมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย 


           อยู่ดีๆ เขาก็ได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำในคลองได้เหมือนเดิม 


           ชาวบ้านเค้าอ้างว่า เหตุเจ้ากรรมก็เพราะศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เกิดปล่อยน้ำเสียที่เกิดจากการทำงานลงสู่คลอง ที่ร้ายก็คือยังไม่บำบัดน้ำเสียซะก่อนด้วย 

           น้ำเสียที่ว่า ก็เช่น น้ำจากบ่อเพาะเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ น้ำจากบ่อเพาะเลี้ยงจระเข้ น้ำจากบ่อดูแลปลาและจระเข้ น้ำจากบ้านพักข้าราชการอีกหลายสิบหลัง แล้วยังมีน้ำจากอาคารแสดงสัตว์น้ำอีก 


           ชาว บ้านเขาร้องว่า น้ำเสียทุกชนิดที่ว่ามานั้น ศูนย์วิจัยฯ ใช้วิธีเอามารวมกันเสียก่อน แล้วปล่อยทีเดียว ผ่านท่อใหญ่ลงสู่คลอง น้ำเสียสารพัดแหล่งที่มาที่ยังไม่ผ่านการบำบัด ก็เลยเป็นสาเหตุใหญ่ให้น้ำในคลองสกปรก มีกลิ่นเหม็น 


           เดิมน้ำเคยตักไปแกว่งสาร ส้ม ต้มกินได้ ก็กินไม่ได้ซะแล้ว เดิมเคยเอามาใช้ในบ้าน ในครัวได้ ก็ไม่ได้ซะแล้ว พืชผักปลูกทำมาค้าขาย เคยเอาน้ำในคลองมารดได้ ก็ไม่ได้ซะอีก ชาวบ้านที่พอมีเงินอยู่บ้างก็ดีไป พอจะเจียดเงิน ซื้อหาน้ำดื่ม น้ำใช้ มาแก้ขัดกัน แต่คนที่ไม่มีเงินนี่สิ เดือดร้อนต้องทนใช้น้ำในคลองเท่าที่จะพอใช้ไหว


           เดือดร้อนมาหลายปีขนาดนี้ ชาวบ้านเองเขาก็ไม่ได้อยู่นิ่งเฉยกัน เขารวมตัวกันเรียกร้องทั้งต่อศูนย์วิจัยฯ ให้ช่วยแก้ไข ร้องนายกรัฐมนตรี ร้องอีกไม่รู้กี่หน่วยงาน แถมร้องซะจนโทรทัศน์มาช่วยทำข่าวให้อีกต่างหาก เรื่องก็ยังไม่ไปถึงไหน เรียกว่าระหว่าง “ร้องเรียน” กับ “รอคอย” ไม่รู้ว่าอย่างไหนจะเหนื่อยใจกว่ากัน


           เล่ามาถึงตรงนี้ ก็น่าจะพอเห็นความยุ่งเหยิงกันได้บ้างแล้วว่า ศูนย์วิจัยฯ ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ทำงาน ในหน้าที่ของรัฐ แต่ผลของงานกลับทำให้ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของภาษีแท้ๆ เค้าได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” ที่เสียไป


           ยุ่งหนักเข้าไปอีกตรงที่ว่า ... ชาวบ้านดันเป็นเรื่องกับหน่วยงานของรัฐเสียเอง จากปัญหาเกี่ยวกับ “สิ่งแวดล้อม” แล้วใครหละที่จะพอช่วยคลายความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้ ? 


           ของแบบนี้ตอบไม่ยาก แอบเปิดกฎหมายนิดเดียว ก็พอจะบอกได้แล้วว่า เมื่อชาวบ้านเป็นความกับหน่วยงานของรัฐในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างนี้ ภาษากฎหมายเขาเรียกว่าเป็น “คดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม” 


           ขึ้นศาลปกครองสถานเดียวเลย ! เพราะรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเรา ท่านว่าไว้อย่างนั้น


           บอกต่ออีกนิดว่า ที่รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้คดีปกครอง เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ต้องไปว่ากันที่ศาลปกครอง เหมือนคดีปกครองประเภทอื่นๆ เช่น คดีเวนคืนที่ดิน หรือคดีควบคุมอาคาร ก็เพราะว่าศาลปกครองมีวิธีพิจารณาคดี ที่ให้ศาลมีอำนาจที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงได้เองอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถค้นหาความจริงและข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง มาใช้ในการพิพากษาคดีให้เป็นธรรมที่สุด 


           เช่น การสั่งให้คู่พิพาทชี้แจงข้อเท็จจริง ส่งเอกสารหลักฐานที่สำคัญ หรือศาลออกไปตรวจดูสถานที่ที่เกิดเหตุด้วยตนเอง เป็นต้น และเพราะระบบพิจารณาคดีที่มีความรัดกุมรอบด้านอย่างนี้ ชาวบ้านหรือหน่วยงานของรัฐ จึงไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีในศาลปกครองเลย


           นี่หละ ... พอจะเป็นเสาหลักให้พึ่งพาได้อย่างนี้ ชาวบ้านก็เลยนำความเดือดร้อนที่เล่ามาข้างต้น มาฟ้องคดี ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ช่วยดูแลความเป็นธรรมเกี่ยวกับ “สิ่งแวดล้อม” ให้กับเขา 


           โดยชาวบ้านเขามีคำขอให้ศาลปกครองพิพากษาให้ศูนย์วิจัยฯ ดำเนินการปิดท่อระบายทิ้งน้ำเสียที่ปล่อย ลงสู่คลอง 


           ในการพิจารณาคดีนี้ ศาลปกครองได้แสวงหาข้อเท็จจริงโดยละเอียด ทั้งรับฟังเอกสารหลักฐานจากชาวบ้าน ศูนย์วิจัยฯ อบต. กรมประมง และยังได้มีคำสั่งแต่งตั้งอธิบดีกรมควบคุมมลพิษให้เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำความเห็นเสนอต่อศาลด้วยว่า น้ำเสียที่ศูนย์วิจัยฯ ปล่อยลงคลอง มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านอย่างไรบ้าง


           และเพื่อความละเอียดรอบคอบ ศาลท่านยังได้ออกไปตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุพิพาทด้วยตนเองอีกด้วย 


           คดีนี้ปรากฏว่าสู้กันยาวจนถึงศาลปกครองสูงสุด 


           ซึ่งในที่สุดศาลปกครองสูงสุดก็ได้วินิจฉัยว่า สภาพของคลองสายนี้มีน้ำไหลเวียนน้อย บางช่วงถึงขนาดไม่มีการไหลเวียนเลย จึงไม่เหมาะที่จะรองรับน้ำทิ้งจากแหล่งใดๆ ทั้งสิ้น 


           เพราะฉะนั้น การที่ศูนย์วิจัยฯ ปล่อยน้ำทิ้งจากบ้านพักข้าราชการ และน้ำทิ้งจากบ่อเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา ลงสู่คลอง โดยไม่มีการบำบัดเสียก่อน น้ำทิ้งเหล่านี้จึงเป็นน้ำเสียที่ปล่อยลงสู่คลอง ทำให้น้ำในคลองกลายเป็นน้ำเสีย ใช้ตามปกติไม่ได้


           การกระทำของศูนย์วิจัยฯ จึงเป็นการขัดต่อภ
าระหน้าที่ของหน่วยงานในการพัฒนาทรัพยากรทางประมงและอนุรักษ์ทรัพยากรทางน้ำอย่างยั่งยืน และยังก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ใช้น้ำในคลองเพื่อการอุปโภคบริโภค อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 

           ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาห้ามมิให้ศูนย์วิจัยฯ และกรมประมงระบายน้ำทิ้งซึ่งเป็นน้ำเสียจาก การดำเนินงานต่างๆ ภายในหน่วยงานลงสู่คลอง โดยไม่ผ่านระบบบำบัดน้ำเสียก่อน และให้ดำเนินการป้องกันมิให้ มีเหตุเดือดร้อนรำคาญดังกล่าวเกิดขึ้นในอนาคตอีก

           ... และเพราะคำพิพากษ
าของศาลปกครองสูงสุด ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ของชาวบ้านอย่างนี้นี่เอง จึงได้ช่วยรักษา “คลอง” ซึ่งเป็น “สิ่งแวดล้อม” ที่สำคัญในการดำรงชีวิต ให้ยังคงใสสะอาด อยู่คู่กับชาวบ้านกลุ่มนี้ต่อไป.
(คดีหมายเลขแดงที่ อ. 204/2552)



           เครดิต : นายเทอดพงศ์ คงจันทร์ , อนุกรรมการด้านข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...