6 ก.ค. 2559

“ระยะเวลา” การพิจารณาอุทธรณ์ ... ขั้นตอนสำคัญที่มีผลต่อการใช้สิทธิฟ้องคดีปกครอง !


             
 คดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองอันเป็นขั้นตอนสำคัญที่เจ้าหน้าที่จะได้ทบทวนคำสั่งทางปกครองของตนว่า ถูกต้องตามกฎหมาย หรือมีความเหมาะสมหรือไม่ ในชั้นนี้เจ้าหน้าที่อาจจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นไปในทางหนึ่งทางใดก็ได้ ซึ่งในการพิจารณาอุทธรณ์นั้นจะมีระยะเวลาเพียงใด และจะมีผลต่อสิทธิการฟ้องคดีหรือไม่ อย่างไร หาคำตอบได้จากคดีนี้


               คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการครู สังกัดวิทยาลัยอาชีวศึกษา ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดี(เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา) มีคำสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือน กรณีถูกร้องเรียนว่าประพฤติตัวไม่เหมาะสมทางเพศต่อนักศึกษา โดยผู้ฟ้องคดีทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553 และมีหนังสือลงวันที่ 29 ตุลาคม 2553 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว


               โดย อ.ก.ค.ศ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้รับคำอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 และต่อมา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้มีหนังสือลงวันที่ 27 กันยายน 2554 แจ้งผู้ฟ้องคดีว่า อ.ก.ค.ศ. สำนักงานฯ มีมติให้ยกอุทธรณ์


               ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาอุทธรณ์ จึงนำคดีมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนและให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหาย


               คดีนี้ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ. 2550 กำหนดให้อุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ไว้ จึงต้องนำมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 อันเป็นกฎหมายกลางมาใช้บังคับ ซึ่งได้กำหนดระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองไว้เป็นการทั่วไปว่า มีกำหนดระยะเวลาไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ หากมีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จ ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบก่อนครบกำหนดหกสิบวัน ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ขยายออกไปได้อีกไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบหกสิบวันดังกล่าว


               อ.ก.ค.ศ. สำนักงานฯ จะต้องพิจารณาคำอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในวันใด ? และผู้ฟ้ องคดีจะเริ่มใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้เมื่อใด ?


               ศาลปกครองสูงสุดโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า อ.ก.ค.ศ. สำนักงานฯ ไม่ได้พิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ และไม่ได้มีหนังสือแจ้งเหตุจำเป็นต้องขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว จึงต้องถือว่าวันที่ครบหกสิบวัน (วันที่ 1 มกราคม 2554) เป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายครบตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว และสามารถใช้สิทธิฟ้องคดีได้ตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 โดยถือว่าวันถัดจากวันครบกำหนดหกสิบวัน (วันที่ 2 มกราคม 2554) เป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี และเป็นวันแรกที่เริ่มใช้สิทธิฟ้ องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษลดขั้น เงินเดือนซึ่งต้องยื่นฟ้ องภายในเก้าสิบวันตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ ภายในวันที่ 1 เมษายน 2554 โดยไม่ต้องรอผลการพิจารณาอุทธรณ์ การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีในวันที่ 27 ธันวาคม 2554 จึงเป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีตามที่กฎหมายกำหน


               อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ฟ้องคดีจะระบุในคำฟ้องว่าขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งลงโทษ แต่ อ.ก.ค.ศ. สำนักงานฯได้มีมติให้ยกอุทธรณ์และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นคำสั่งทางปกครองที่เกิดขึ้นใหม่และมีผลเป็นการยืนยันคำสั่งลงโทษเดิมซึ่งผู้ฟ้องคดีได้โต้แย้งว่าไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาอุทธรณ์ จึงฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์ที่แท้จริงที่จะขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ให้ยกอุทธรณ์ด้วย ซึ่งผู้ฟ้ องคดีมีสิทธิฟ้ องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ให้ยกอุทธรณ์ได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อผู้ฟ้ องคดีได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์อย่างช้าในวันที่ 3 ตุลาคม 2554 จึงต้องยื่นฟ้องภายในวันที่ 1 มกราคม 2555 แต่เนื่องจากวันครบกำหนดดังกล่าวจนถึงวันที่ 3 มกราคม 2555 เป็นวันหยุดราชการ ผู้ฟ้องคดีจึงต้องยื่นฟ้องภายในวันที่ 4 มกราคม 2555 เมื่อผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 จึงเป็นการยื่นฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้ องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่249/2558)


               คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีสำหรับฝ่ายปกครองในเรื่องระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่ได้รับคำอุทธรณ์ ทั้งในชั้นเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่่งทางปกครองและผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ หากไม่แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าว จะต้องมีหนังสือแจ้งผู้อุทธรณ์ให้ทราบก่อนครบกำหนดเวลาเพื่อให้มีผลเป็นการขยายระยะเวลาออกไปอีกสามสิบวัน ซึ่งถ้าไม่แจ้งก็ถือว่าผู้อุทธรณ์มีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีได้ และนอกจากประเด็นที่ยกมาเป็นตัวอย่างดังกล่าวแล้ว
ศาลปกครองสูงสุดยังได้วินิจฉัยไว้อีก ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิการฟ้ องขอให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และผลการแจ้งคำสั่งทางปกครองโดยวิธีส่งทางไปรษณีย์ตอบรับตามมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งผู้อ่านที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากคำพิพากษาดังกล่าว ครับ !


               เครดิต : นายปกครอง หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...