14 ก.ค. 2559

เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางอย่างไร ? ... (ไม่) หมดสิทธิ !

                      
                   
  คดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการใช้สิทธิเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของ “เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น”  แม้ว่าจะเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการบังคับใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2526 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2548 ซึ่งปัจจุบันระเบียบดังกล่าวได้ถูกยกเลิกโดยระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2555 แต่ก็ถือเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รวมทั้งข้าราชการในสังกัดอื่นๆ เกี่ยวกับการใช้สิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการหรือการใช้สิทธิในกรณีอื่นๆ ในกรณีที่มีกฎหมายหรือระเบียบกำหนดระยะเวลาการใช้สิทธิไว้อย่างชัดเจน ดังเช่น ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2526 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2548 ซึ่งกำหนดว่า การใช้สิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ผู้เบิกเงิน (ผู้มีสิทธิ) ต้องยื่นรายงานการเดินทางตามแบบที่ระเบียบกำหนดพร้อมด้วยใบสำคัญคู่จ่ายและเงินเหลือจ่าย (หากมี) ต่อหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเจ้าสังกัด “ภายในสิบห้าวัน” นับแต่วันกลับหรือวันเดินทางไปถึงหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้นๆ (ข้อ 56 วรรคหนึ่ง)   ระยะเวลาตามข้อ 56 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว จะมีผลทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นผู้มีสิทธิเบิก ต้องดำเนินการยื่นเรื่องขอเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางภายในสิบห้าวันหรือไม่ ? หรือเป็นเพียงระยะเวลาที่กำหนดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทางด้านการเงินเกิดความสะดวกหรือเกิดความคล่องตัวในการเบิกจ่ายเงินเท่านั้น

                      ข้อพิพาทในคดีนี้เกิดจากผู้ฟ้องคดีซึ่งเดิมเป็นเจ้าพนักงานธุรการ 2 สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (องค์การบริหารส่วนตำบล ซ.) ได้รับคำสั่งให้โอน (ย้าย) ไปรับราชการในตำแหน่งใหม่ สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล ส. จากนั้นจึงได้เดินทางไปรายงานตัวในวันที่ 12 ธันวาคม 2549 และต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 จึงได้ยื่นคำขอเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซ.) ไม่อนุมัติให้เบิกค่าใช้จ่ายดังกล่าวโดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดียื่นขอเบิกค่าใช้จ่ายเกินระยะเวลาที่ระเบียบกำหนดผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่อนุมัติให้เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการและให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้เงินคำสั่งไม่อนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?

                   ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการอย่างไรก็ตาม ผู้ฟ้องคดีได้ออกเดินทางเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2549 โดยมิได้ยืมเงินทดรองจ่ายในการเดินทางไปราชการและได้เข้ารายงานตัวกับองค์การบริหารส่วนตำบล ส. เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 ซึ่งหากผู้ฟ้ องคดีประสงค์จะขอเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ก็ชอบที่จะยื่นรายงานการเดินทางภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ฟ้ องคดีได้เดินทางไปถึงการที่ผู้ฟ้องคดีได้เข้ารายงานตัวแล้ว ได้ปล่อยให้เวลาล่วงเลยถึง 5 เดือนเศษ จึงมีหนังสือขอเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการเป็นค่ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศ และค่าขนย้ายสัมภาระ กรณีจึงเป็นการยื่นเรื่องขอเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้เดินทางไปถึงองค์การบริหารส่วนตำบล ส. ตามข้อ 56 วรรคหนึ่ง  และไม่ปรากฏว่ามีเหตุจำเป็นหรือมีอุปสรรคใดที่ขัดขวางทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถยื่นเรื่องขอเบิกค่าใช้จ่ายภายในระยะเวลาดังกล่าวได้  จึงเป็นการไม่ใช้สิทธิภายในเวลาที่กำหนด ผู้ฟ้ องคดีจึงไม่มีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการตามข้อ 56 วรรคหนึ่ง   คำสั่งไม่อนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการจึงเป็ นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย(คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 668/2556)

                    ด้วยเหตุนี้กรณีที่มีกฎหมายหรือระเบียบกำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิในเรื่องใดๆ ไว้ ก็จะต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบดังกล่าว และถึงแม้ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2526 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบฯ ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2548 จะถูกยกเลิกไปแล้ว และแม้ว่าระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2555 จะไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการยื่นคำขอเบิกไว้ชัดเจน แต่หากพิจารณาข้อ 58 ซึ่งบัญญัติว่า “การเบิกเงินตามระเบียบนี้ ผู้เบิกต้องยื่นรายงานการเดินทาง พร้อมด้วยใบสำคัญคู่จ่ายและเงินเหลือจ่าย (หากมี) ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเจ้าสังกัดและให้เบิกจากงบประมาณประจำปีที่เดินทางไปราชการ” ย่อมแสดงให้เห็นว่าระเบียบปัจจุบัน ยังมุ่งประสงค์ที่จะให้ผู้มีสิทธิเร่งรีบดำเนินการยื่นคำขอเบิกเพื่อให้การปฏิบัติงานทางด้านการเบิกจ่ายเงินของราชการในปีงบประมาณนั้นๆ เกิดความคล่องตัว ครับ !


                      เครดิต : นายปกครอง , หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2556  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...