11 ม.ค. 2556

การมีส่วนได้เสียในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ความหมาย
ในบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การเป็นผู้มีส่วนได้เสียของสมาชิกสภาเทศบาลในสัญญาที่เทศบาลเป็นคู่สัญญา (กรณีเทศบาลตำบลวังสะพุง) คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ได้อธิบายความมุ่งหมายของมาตรา ๑๘ ทวิ  แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล ฯ ไว้ว่า การพิจารณาความมุ่งหมายของมาตรานี้ นอกจากจะพิจารณาว่าในการปฏิบัติตามสัญญานั้นสมาชิกผู้นั้นได้รับประโยชน์โดยตรงหรือไม่แล้ว ยังต้องพิจารณาว่าสมาชิกผู้นั้นมีความสัมพันธ์กับคู่สัญญา ในลักษณะที่จะส่งผลดีหรือผลเสียต่อตนในทางอ้อม อันจะได้ชื่อว่ามีส่วนได้เสียในทางอ้อมหรือไม่ ซึ่งความสัมพันธ์ที่มีอยู่อาจจะเป็น ดังนี้ (๑) ความสัมพันธ์ในเชิงบริหาร โดยเป็นผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ตัวแทน ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของบุคคลธรรมดาหรือของนิติบุคคลที่มีการกระทำกับเทศบาล  (๒) ความสัมพันธ์ในเชิงทุน โดยเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดซึ่งสามารถครอบงำการจัดการบริษัทได้ หรือ (๓) ความสัมพันธ์ในระหว่างบุคคล ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูต่อกัน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา หรือความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

แนววินิจฉัย

๒.๑ ความสัมพันธ์ในระหว่างบุคคล
สามี - เทศมนตรีเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เป็นหุ้นส่วนห้างฯ ซึ่งทำสัญญาซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงกับเทศบาล ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับห้างฯ โดยทางคู่สมรส
บุตรสาว นายกเทศมนตรีเป็นบุตรสาวของหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของห้างฯ ซึ่งในฐานะที่เป็นบุตรย่อมมีหน้าที่ตาม ป.ป.พ. มาตรา ๑๕๖๓ (๔) ที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาทั้งยังมีสิทธิเป็นทายาทโดยชอบตามกฎหมายตามมาตรา ๑๖๒๙(๑)(๕)  ดังนั้น การที่นายกเทศมนตรีได้มอบอำนาจให้นาย ฉ. เทศมนตรี เข้าทำสัญญาซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงกับห้างฯ จึงเป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๑๘ ทวิ เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียทางอ้อมเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างบิดาและบุตร
(เรื่องเสร็จที่ ๕๙๖/๒๕๔๔ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงกับเทศบาลตำบลแจ้ห่ม)

๒.๒ การเป็นผู้ถือหุ้น สมาชิกสภาเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด
นาย อ. (สมาชิกสภาเทศบาล) ปรากฏจากหนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างฯ ว่าเป็นผู้ถือหุ้นของห้างฯ และถึงแม้ว่าเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดก็ตาม แต่การมีส่วนได้ส่วนเสียก็มิได้ต่างจากหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด เพราะตาม ป.ป.พ. มาตรา ๑๐๘๔ (๒) และมาตรา ๑๐๘๐ (๓) นั้น หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดก็ยังได้ผลประโยชน์จากผลกำไรซึ่งห้างหุ้นส่วนทำมาค้าอยู่ได้ เว้นแต่ห้างหุ้นส่วนยังขาดทุนอยู่  จึงเป็นสมาชิกที่มีส่วนได้เสียกับห้างฯ
(เรื่องเสร็จที่ ๕๙๖/๒๕๔๔ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงกับเทศบาลตำบลแจ้ห่ม)

๒.๓ ไม่มีสถานีบริการน้ำมันใกล้เคียง
ข้อเท็จจริงที่ว่าในบริเวณรัศมี ๑๐ กิโลเมตร มีสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. เพียงแห่งเดียว และการซื้อน้ำมันนี้ได้กระทำมาตั้งแต่เทศบาลยังเป็นสุขาภิบาลอยู่ ซึ่งจังหวัดมีความเห็นว่าบุคคลทั้งสองมิได้มีเจตนาต้องการผลประโยชน์จาก เทศบาลตำบลแจ้ห่ม และมิได้ระวังว่าตนเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อดำเนินการแก้ไขแล้วน่าจะยังคงมีสมาชิกภาพต่อไปนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา ๑๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาลฯ ประสงค์ที่จะห้ามสมาชิกเข้ามามีประโยชน์ได้เสียกับเทศบาลในขณะดำรงตำแหน่ง สมาชิกอยู่ เพื่อให้สมาชิกทำหน้าที่รักษาประโยชน์ของเทศบาลอย่างเที่ยงธรรม โดยไม่ประสงค์จะให้สมาชิกได้ประโยชน์ใด ๆ จากการเข้าทำสัญญาหรือทำกิจการใดจากเทศบาลไม่ว่าโดยตนเองหรือโดยผ่านทางผู้ อื่นในขณะดำรงตำแหน่ง และมิได้คำนึงว่าจะต้องการผลประโยชน์จากเทศบาลหรือไม่ ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ และไม่ทำให้การกระทำที่มีส่วนได้เสียไปแล้วกลับกลายเป็นการกระทำที่ชอบขึ้น มาได้
(เรื่องเสร็จที่ ๕๙๖/๒๕๔๔ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงกับเทศบาลตำบลแจ้ห่ม)

๒.๔ นายกเทศมนตรี เป็นกรรมการบริษัทฯ
นาย ก. นายกเทศมนตรี เป็นกรรมการบริษัทฯ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเทศบาลเมืองได้ทำบันทึกตกลงซื้อขาย เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ ซื้อรถจักรยานยนต์ของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ได้ส่งมอบรถจักรยานยนต์และได้มีการชำระเงินให้แก่บริษัทฯ เรียบร้อยแล้ว จึงเห็นได้ว่าการซื้อขายรถจักรยานยนต์มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว  และนายก. ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่เทศบาลเป็นคู่สัญญา การที่ในภายหลังบริษัทฯ ได้ขอยกเลิกสัญญาและคืนเงินให้แก่เทศบาลเมืองย่อมไม่มีผลต่อความสมบูรณ์ของสัญญาแต่อย่างใด และไม่ทำให้การกระทำอันไม่ชอบตามที่บัญญัติห้ามไว้ในมาตรา ๑๘  ทวิ ของนาย ก. กลับกลายเป็นการชอบขึ้นมาได้
(เรื่องเสร็จที่ ๓๙๕/๒๕๔๔ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การมีส่วนได้เสียของสมาชิกสภาเทศบาลเมืองกำแพงเพชร)

๒.๕ บริษัทฯ เป็นศูนย์รถยนต์ฯ เพียงแห่งเดียว
นาย ก. นายกเทศมนตรี เป็นกรรมการบริษัทฯ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเทศบาลเมืองได้ขออนุมัติจ้างเมื่อวันที่  ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๓ เพื่อให้บริษัทฯ ตรวจเช็คสภาพรถยนต์ และมีหลักฐานการรับเงินจากเทศบาลเมืองลงวันที่  ๗  เมษายน  ๒๕๔๓  ทั้งมีหลักฐานเป็นใบตรวจรับพัสดุลงวันที่  ๒๗  มีนาคม  ๒๕๔๓  ว่าบริษัท ฯ ได้นำส่งสินค้าและกรรมการตรวจรับพัสดุได้ตรวจรับแล้ว  จึงแสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ ได้กระทำกิจการให้แก่เทศบาลเมืองแล้ว  และถือได้ว่านาย ก. ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทฯ เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทางตรงหรือทางอ้อมในกิจการที่บริษัทฯ กระทำให้แก่เทศบาลเมือง ความจำเป็นที่บริษัทฯ เป็นศูนย์รถยนต์ฯ เพียงแห่งเดียวในจังหวัดหาเป็นเหตุให้เกิดสิทธิที่จะฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา ๑๘ ทวิ ไม่
(เรื่องเสร็จที่ ๓๙๕/๒๕๔๔ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การมีส่วนได้เสียของสมาชิกสภาเทศบาลเมืองกำแพงเพชร)

๒.๖ เทศมนตรี เป็นผู้จัดการและเจ้าของโรงพิมพ์
นาย ส. เทศมนตรี เป็นผู้จัดการและเจ้าของโรงพิมพ์ ศ.ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเทศบาลเมืองได้มีการอนุมัติเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๓ และเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓  ให้จัดจ้างโรงพิมพ์ ศ. หนังสือพิมพ์เทศบาลประจำเดือนเมษายน ๒๕๔๓ และพฤษภาคม ๒๕๔๓  แม้ว่าจังหวัดจะได้วินิจฉัยว่ามิได้มีการทำบันทึกตกลงซื้อขายหรือสัญญาระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมขัดต่อความเป็นจริง เพราะปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการจ่ายและรับเงินค่าจ้างพิมพ์หนังสือพิมพ์เทศบาลจากเทศบาลเมือง และมีการตรวจรับหนังสือพิมพ์เทศบาลแล้ว  จึงแสดงให้เห็นว่าโรงพิมพ์ ศ.ได้ทำสัญญาหรือกิจการให้แก่เทศบาลเมืองแล้ว นาย ส. ซึ่งเป็นเทศมนตรี เจ้าของและผู้จัดการโรงพิมพ์ ศ. ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทางตรงหรือทางอ้อมจากการรับพิมพ์หนังสือพิมพ์ให้แก่เทศบาล
(เรื่องเสร็จที่ ๓๙๕/๒๕๔๔ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การมีส่วนได้เสียของสมาชิกสภาเทศบาลเมืองกำแพงเพชร)

๒.๗ ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีผู้ถือหุ้นเพียงสองคน
นาย ส. เทศมนตรี เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด ก.ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. มีผู้ถือหุ้นเพียง ๒ คน คือ นาย ส. และนาง พ. โดยมีนาง พ. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  เมื่อนายสมชายฯ มีหนังสือลงวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๓ ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วน จึงมีผลทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก.เหลือผู้ถือหุ้นเพียง ๑ คน เท่านั้น ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. จึงไม่อาจคงสภาพการเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดได้อีกต่อไป  และมีผลเป็นการเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยปริยาย แต่ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ยังคงดำเนินกิจการในฐานะห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยได้ทำบันทึกตกลงซื้อขายกับเทศบาลเมืองกำแพงเพชร จำนวน ๔ สัญญา ทั้งนาย ส. ซึ่งต้องรู้ถึงเหตุที่ห้างหุ้นส่วน ก. มีอันที่จะต้องเลิกห้างหุ้นส่วนก็ได้ดำเนินการในนามของเทศบาลลงนามในฐานะผู้ซื้อในบันทึกตกลงซื้อขายระหว่างเทศบาล กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ตามบันทึกตกลงซื้อขายลงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ฉบับลงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๓ และฉบับลงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๓  รวม ๓  ฉบับ ด้วย อันแสดงให้เห็นว่าการลาออกของนายสมชายฯ มิได้ลาออกจริง  ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. จึงสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยมิได้มีผู้เป็นหุ้นส่วนใหม่เข้ามาแทนที่หรือเลิกห้างหุ้นส่วนแต่อย่างใด พฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่านายสมชายฯ  ยังคงเป็นหุ้นส่วนอยู่  และถือได้ว่ามีส่วนได้เสียในทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่เทศบาลเป็นคู่สัญญากับห้างหุ้นส่วนจำกัด ก.
(เรื่องเสร็จที่ ๓๙๕/๒๕๔๔ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การมีส่วนได้เสียของสมาชิกสภาเทศบาลเมืองกำแพงเพชร)

๒.๘ อำนาจสอบสวนของผู้ว่าราชการจังหวัด
มาตรา ๑๑ (๕) แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๖ มีเจตนารมณ์ที่จะให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดผู้มีส่วนได้เสียกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดในระหว่างที่ตนเป็นสมาชิกอยู่จะต้องสิ้นสุดการเป็น สมาชิกภาพลงโดยผลของกฎหมายตามมาตรานี้ทันที นับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว และหากมีข้อสงสัย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการกำหนดไว้แตกต่างจากมาตรา ๑๑ (๕)  แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ ก่อนที่จะมีการแก้ไขดังกล่าว  ดังนั้น โดยเจตนารมณ์ของการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพราะเหตุที่มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ตนเป็นสมาชิกนี้ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในระหว่างที่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดดำรงตำแหน่งอยู่มีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้น แม้ว่าต่อมาสมาชิกผู้นั้นจะพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดไปด้วยเหตุใดก็ตาม ต้องถือว่าผู้นั้นสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว โดยหากมีข้อสงสัยผู้ว่าราชการจังหวัดก็สามารถที่จะสอบสวนและวินิจฉัย เพื่อให้ได้ความว่าผู้นั้นเป็นผู้มีส่วนได้เสียจริงหรือไม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีผู้ใดได้ร้องเรียนไว้แล้วหรือไม่ และผู้นั้นจะยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้นหรือพ้นจากตำแหน่งเพราะลาออก หรือครบวาระการดำรงตำแหน่งไปก่อนที่จะมีการสอบสวนในเรื่องนี้ก็ตาม หากสอบสวนได้ความว่าผู้นั้นเป็นผู้มีส่วนได้เสียแล้ว ผู้นั้นย่อมสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยผลของกฎหมายนับแต่วันที่มีเหตุเป็นผู้มีส่วนได้เสีย
 (เรื่องเสร็จที่ ๒๘๓/๒๕๔๘ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี)

๒.๙ กำหนดวันส่งมอบน้ำมันเชื้อเพลิงตรงกับวันที่ได้รับเลือกตั้ง
สัญญาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปั๊มน้ำมันกับเทศบาลได้ทำไว้ก่อนที่นาย ท. จะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล คือ ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๕  แต่เมื่อในวันกำหนดส่งมอบน้ำมันเชื้อเพลิงตามที่ได้ทำสัญญาไว้นั้น เป็นวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันที่นาย ท. ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันเริ่มต้นของการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาล จึงมีผลให้นาย ท. เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับเทศบาล แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าตั้งแต่วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕ เป็นต้นมา ปั๊มน้ำมันมิได้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่เทศบาลอีกแต่อย่างใด  ดังนั้น เมื่อในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕ นาย ท. มีสมาชิกภาพเป็นสมาชิกสภาเทศบาล จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาที่ได้ทำไว้กับเทศบาล มีผลให้ต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพตั้งแต่วันที่มีเหตุดังกล่าวเป็นต้นไป
(เรื่องเสร็จที่ ๒๖๒/๒๕๔๗ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การดำเนินกิจการของคณะเทศมนตรีภายหลังสมาชิกสภาเทศบาลลาออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรี และการมีส่วนได้เสียของสมาชิกสภาเทศบาลและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล)

๒.๑๐ แจ้งขอจดทะเบียนลาออกจากการเป็นหุ้นส่วน แต่ลงนามในหนังสือส่งมอบงาน
ในวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๕ ที่นาย ค. ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันดังกล่าวนั้น นาย ค. ยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด อ.อยู่  โดยปรากฏหลักฐานเบื้องต้นว่า มีการแจ้งขอจดทะเบียนลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๕  แม้ต่อมาภายหลังจะได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมให้การลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔๕ อันเป็นวันก่อนวันเลือกตั้งก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า นาย ค. ยังได้กระทำการในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว โดยเป็นผู้ลงนามในหนังสือส่งมอบงานก่อสร้างถนนให้แก่เทศบาลตำบลหนองกี่เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๔๕   ดังนั้น ในวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๕ นาย ค. จึงยังคงเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด อ.  กรณีจึงถือได้ว่านาย ค. สมาชิกสภาเทศบาล เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่ทำกับเทศบาลตามมาตรา ๑๘ ทวิ  แห่งพระราชบัญญัติเทศบาลฯ ซึ่งมีผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๙ (๖)  แห่งพระราชบัญญัติเทศบาลฯ แล้ว
(เรื่องเสร็จที่ ๗๘/๒๕๔๗ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับเทศบาลตำบลหนองกี่ อำเภอหนองกี่  จังหวัดบุรีรัมย์)

๒.๑๑ ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เพื่อสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน
เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๔ เทศบาลได้ทำสัญญาว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. ให้ก่อสร้างสะพาน มีนาย ช. หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างฯ ลงนามในสัญญาดังกล่าว โดยงานมีกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๔ ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๔ นาย ช. ได้มีหนังสือถึงหุ้นส่วนในห้างฯ ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างฯ เพื่อสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งนาย ช. ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ นาย ช. จึงไปยื่นต่อนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสุโขทัย เพื่อขอเปลี่ยนแปลงให้นาย ม. บิดาของนาย ช. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างฯ แทน ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๔
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๒ บัญญัติให้การเปลี่ยนตัวผู้แทนนิติบุคคลมีผลต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งแล้ว สำหรับผู้แทนของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นมาตรา ๑๐๔๒ บัญญัติให้ความเกี่ยวพันระหว่างหุ้นส่วนผู้จัดการกับหุ้นส่วนอื่นเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยตัวแทน ซึ่งเมื่อพิจารณาเทียบเคียงกับมาตรา ๘๒๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๘๒๗ วรรคหนึ่ง เห็นได้ว่าหุ้นส่วนผู้จัดการสามารถลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนในเวลาใดๆ ก็ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นาย ช. ได้แสดงเจตนาลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการต่อหุ้นส่วนคนอื่นในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๔ จึงถือได้ว่าระหว่างหุ้นส่วนด้วยกันเอง การลาออกของนาย ช. มีผลตั้งแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๔  อย่างไรก็ตามการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องมีรายการเกี่ยวกับชื่อของหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นสำคัญตามมาตรา ๑๐๗๘ (๖) ซึ่งเอกสารที่ลงทะเบียนไว้ดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนที่บุคคลทุกคนสามารถตรวจดูได้ตามมาตรา ๑๐๒๐  และเมื่อลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา ๑๐๒๑ แล้วถือได้ว่าเป็นอันรู้แก่บุคคลทั่วไปตามมาตรา ๑๐๒๒ เมื่อใดที่รายการที่ได้จดทะเบียนไว้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก็ต้องแก้ไขข้อความที่ได้จดทะเบียนไว้ ณ หอทะเบียนที่ได้จดทะเบียนไว้เดิมตามมาตรา ๑๐๑๖ เพื่อใช้เป็นหลักฐานให้บุคคลทั่วไปทราบถึงสถานะและผู้จัดการปัจจุบันของห้างฯ และตราบใดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน นาย ช. ยังคงต้องรับผิดชอบกับบุคคลภายนอกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๒  ความมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับเทศบาลจึงยังคงมีอยู่ นอกจากนั้นการที่นาย ช. ลาออก และนาย ม. ซึ่งเป็นบิดาของนาย ช. เข้าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทนตน ความมีส่วนได้เสียของนาย ช. จึงยังคงมีอยู่เช่นเดิม แม้จะได้มีการจดทะเบียนการลาออกแล้วก็ตาม ดังที่ได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วในเรื่องการเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงกับเทศบาลตำบลแจ้ห่ม
คณะกรรมการ กฤษฎีกา (คณะที่ ๑) มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การให้ความเห็นในเรื่องนี้เป็นการพิจารณาประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเป็นผู้มี ส่วนได้เสียของสมาชิกสภาเทศบาลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาลฯ ซึ่งมีเจตนารมณ์มิให้สมาชิกใช้ตำแหน่งหน้าที่หรือขณะที่อยู่ในตำแหน่ง หน้าที่นั้นมีประโยชน์ได้เสียอยู่กับเทศบาล สมาชิกจึงมีหน้าที่ต้องกระทำด้วยประการทั้งปวงให้ปรากฏว่าตนมิได้มีประโยชน์ ได้เสียเกี่ยวข้องกับคู่สัญญาหรือการกระทำกับเทศบาลนั้นต่อไป ฉะนั้น แม้เพียงการแสดงเจตนาจึงย่อมไม่เพียงพอ เพราะตราบใดที่ยังไม่ดำเนินการแก้ไขทางทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายบุคคลภาย นอกก็ย่อมอ้างอยู่ได้เสมอ
(เรื่องเสร็จที่ ๕๒๖/ ๒๕๔๕ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การมีส่วนได้เสียของสมาชิกสภาเทศบาลในสัญญาที่เทศบาลเป็นคู่สัญญาหรือในกิจการที่กระทำให้แก่เทศบาลหรือที่เทศบาลจะกระทำ (กรณีเทศบาลตำบลบ้านโตนด และเทศบาลตำบลบ้านม่วง))

๒.๑๒  ขอซื้อเอกสารในการสอบราคาและยื่นเอกสารประกวดราคา
ห้างหุ้นส่วน จำกัด บ. มีนาย พ. สมาชิกสภาเทศบาล เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ขอซื้อเอกสารในการสอบราคาและยื่นเอกสารประกวดราคา กับเทศบาลที่นาย พ. ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลอยู่ การเข้ามีส่วนได้เสียตามมาตรา ๑๘ ทวิ ดังกล่าว มีความหมายถึงการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดอาจจะได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์ หรือน่าจะได้ประโยชน์หรือน่าจะเสียประโยชน์ในสัญญาที่เทศบาลเป็นคู่สัญญา หรือในกิจการที่มีผู้กระทำให้แก่เทศบาลหรือที่เทศบาลจะกระทำด้วย โดยไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม  การ ที่ห้างหุ้นส่วนที่มีนาย พ. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเข้าซื้อเอกสารในการสอบราคาและยื่นเสนอราคาโครงการ จ้างเหมาก็เพื่อจะได้รับประโยชน์จากกิจการที่เทศบาลจะกระทำในโครงการจ้าง เหมาก่อสร้าง ในทันทีที่นาย พ. เข้ายื่นซองประกวดราคา การกระทำจึงเป็นการเข้ามีส่วนได้เสียในกิจการที่เทศบาลจะกระทำสมบูรณ์และ เป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๑๘ ทวิ และมีผลทำให้สมาชิกภาพในฐานะสมาชิกสภาเทศบาลได้สิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๙ (๖) แล้ว การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ.ไม่ได้รับการคัดเลือกในการสอบราคาโครงการจ้างเหมาก่อสร้างรางระบายน้ำของ เทศบาลฯ หามีผลทำให้สมาชิกภาพที่สิ้นสุดลงแล้ว กลับฟื้นขึ้นใหม่ไม่
(เรื่องเสร็จที่ ๕๒๖/ ๒๕๔๕ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การมีส่วนได้เสียของสมาชิกสภาเทศบาลในสัญญาที่เทศบาลเป็นคู่สัญญา หรือในกิจการที่กระทำให้แก่เทศบาลหรือที่เทศบาลจะกระทำ (กรณีเทศบาลตำบลบ้านโตนด และเทศบาลตำบลบ้านม่วง))

๒.๑๓ การวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาลฯ เป็นคำสั่งทางปกครองหรือไม่
การวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๘ ทวิแห่งพระราชบัญญัติเทศบาลฯ เป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
นาง ร. ได้ยื่นหนังสือและเอกสารให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจสอบเพิ่มเติม ถือว่านาง ร. เป็นคู่กรณี และการกระทำดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ หรือไม่นั้น เห็นว่า ผู้ที่จะเป็น คู่กรณีตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ นั้น จะต้องเป็นผู้ที่สิทธิของตนถูกกระทบกระเทือนหรืออาจถูกกระทบกระเทือนโดยมิ อาจหลีกเลี่ยงได้ตามมาตรา ๒๑ ซึ่ง การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีสอบสวนและวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของ สมาชิกสภาเทศบาลนครอุบลราชธานีที่ถูกร้องเรียนทั้งสี่คนไม่ได้สิ้นสุดลงนั้น มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสภาเทศบาลที่ถูกร้องเรียน เท่านั้น  มิได้มีผลกระทบต่อประชาชนหรือสมาชิกสภาเทศบาลอื่นรวมทั้งนาง ร. ดังนั้น จึงไม่อาจถือว่านาง ร. เป็น คู่กรณีที่จะอุทธรณ์คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีในเรื่องนี้ได้  การดำเนินการทั้งหลายของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีจึงมิใช่เป็นการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ
(เรื่องเสร็จที่ ๔๒๘/๒๕๔๔ บันทึกคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่อง การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙)

๒.๑๔ สัญญาเสร็จสิ้นแล้วก่อนดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี
นาย ป. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ทำสัญญาจ้างงานกับเทศบาล โดยดำเนินการตามสัญญาเสร็จสิ้นแล้วก่อนดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี รวมทั้งปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่า นาย ป. ได้ลาออกจากหุ้นส่วนผู้จัดการตั้งแต่วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๗ และมีการแก้ไขทางทะเบียนก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง ความเกี่ยวพันระหว่างนาย ป. กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. จึงสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๗  กรณีจึงถือได้ว่านาย ป. ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่ทำกับเทศบาล  ส่วนกรณีที่หุ้นส่วนจะต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสัญญาที่กำหนด ระยะเวลาไว้สองปีนั้น เมื่อนาย ป. ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. แล้ว จึงไม่มีความเกี่ยวพันกับห้างหุ้นส่วนดังกล่าวที่จะต้องรับผิดในความชำรุด บกพร่องตามสัญญาที่ทำไว้กับห้างหุ้นส่วนเป็นระยะเวลาสองปีนั้นอีก
สำหรับกรณีที่นาย ป. จะต้องรับผิดชอบในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ตนลาออกจากห้างหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๐๖๘  เป็นความรับผิดตามกฎหมาย ซึ่งเป็นคนละลักษณะกับความรับผิดในสัญญาที่ทำกับเทศบาลหรือกิจการที่กระทำให้แก่เทศบาลตามมาตรา ๔๘ จตุทศ (๓)
(เรื่องเสร็จที่ ๑๘/๒๕๔๘ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การมีส่วนได้เสียของนายกเทศมนตรีตำบลหนองแสง)

ที่มา   นายธรรมนิตย์ สุมันตกุล กรรมการร่างกฎหมายประจำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (กันยายน ๒๕๔๘) ,http://web.krisdika.go.th/data/activity/act67.htm

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...