15 ก.ค. 2559

กฎหมายล้างมลทิน กับ การบรรจุกลับ


               1. ในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนเกือบทุกฉบับ จะกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนไว้ เพื่อจะได้คนดีมีความรู้ความสามารถเข้ารับราชการ

               2. ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ก็เช่นเดียวกันบัญญัติไว้ในมาตรา 36 โดยกำหนดคุณสมบัติทั่วไปและลักษณะต้องห้ามไว้หลายประการ หากผู้ใดมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 36ข. (4) (6) (7)(8) (9) (10) หรือ (11) ก.พ.อาจพิจารณายกเว้นให้เข้ารับราชการได้ แต่ต้องมิใช่เป็นกรณีออกจากงานหรือออกจากราชการเพราะทุจริตต่อหน้าที่....แสดงว่าผู้ที่ถูกสั่งให้ออกจากงานหรือออกจากราชการเพราะกระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จะไม่ได้รับการพิจารณายกเว้น

               3. ในการขอยกเว้นเกี่ยวกับกรณีมีลักษณะต้องห้ามเป็นข้าราชการพลเรือนให้ปฏิบัติตามระเบียบก.พ.ว่าด้วยการขอยกเว้นให้เข้ารับราชการกรณีมีลักษณะต้องห้ามเป็นข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2552 การพิจารณาของก.พ.ในกรณีนี้มติของก.พ.จะต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสี่ในห้าของจำนวนกรรมการที่มาประชุมโดยการลงมติให้กระทำโดยลับ

               4. สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เป็นกรณีปกติทั่วไปซึ่งอาจเป็นการขอยกเว้นเพื่อสมัครเข้ารับราชการหรือเพื่อขอบรรจุกลับเข้ารับราชการก็ได้ แต่ในกรณีที่มีกฎหมายล้างมลทินประกาศใช้บังคับ จะทำให้บรรดาผู้ที่เคยถูกสั่งลงโทษถึงออกจากราชการ และผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะกระทำความผิดทางอาญา เว้นแต่โทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ไม่ต้องขอยกเว้นกรณีมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวเพราะว่าโทษทางวินัยและโทษจำคุกดังกล่าวได้รับการล้างมลทินแล้วโดยถือว่า ผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิด (ทางอาญา) นั้น หรือมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้นๆ

               5. ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา ก.พ.ได้เคยทำการวิจัยเรื่องข้าราชการกระทำผิดวินัยต่อมาได้รับบรรจุกลับเข้ารับราชการเพราะได้รับล้างมลทิน ก็ยังกระทำผิดวินัยซ้ำอีกเป็นจำนวนมาก จึงมีมติโดยสรุปว่าให้กระทรวง ทบวง กรม พิจารณาด้วยความระมัดระวังในการรับบรรจุกลับเข้ารับราชการอีก เพราะว่าแม้ผู้นั้นจะได้รับล้างมลทินก็ตาม แต่ผู้นั้นอาจตกเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคมได้อันเป็นลักษณะต้องห้ามอีกประการหนึ่งได้ เพราะการล้างมลทินนั้นล้างแต่เฉพาะโทษเท่านั้น หาได้ล้างการกระทำผิดนั้นด้วยไม่ (หนังสือสำนักงานก.พ.ที่ น.ว.2/2504ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2504)

               6. ส่วนราชการได้หารือยังก.พ.ในประเด็นดังกล่าวข้างต้น และ ก.พ.ได้พิจารณาตอบข้อหารือไปยังส่วนราชการตามแนวทางดังกล่าวข้างต้นโดยสรุปว่า การที่จะพิจารณาว่าพฤติกรรมใดเข้าลักษณะเป็นการบกพร่องต่อศีลธรรมอันดีหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นกรณีไป ส่วนกรณีที่ส่วนราชการจะสมควรพิจารณาบรรจุผู้นี้กลับเข้ารับราชการหรือไม่ เป็นเรื่องที่อยู่ในดุลยพินิจของส่วนราชการที่จะต้องพิจารณาตามมาตรา 65 โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ทางราชการจะได้รับและควรพิจารณาด้วยความระมัดระวังตามที่ก.พ.ได้เคยวางแนวทางไว้ตามหนังสือสำนักงานก.พ.ที่นว.2/2504 ลงวันที่ 13กุมภาพันธ์ 2504 (หนังสือสำนักงานก.พ.ที่ นร 1011/90 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554)

               7. ก็หวังว่า ส่วนราชการคงจะได้แนวทางในการพิจารณาบรรจุบุคคลกลับเข้ารับราชการไม่มากก็น้อยครับ
               เครดิต : ราชการแนวหน้า , หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 22 เมษายน 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...