18 มิ.ย. 2559

ให้เวลาคู่กรณีชี้แจงน้อยเกินสมควร เพราะรีบด่วนออกคำสั่ง !!

  
                “ก้าวสู่สังคมธรรมาภิบาลกับศาลปกครอง” ฉบับส่งท้ายปี 2558 นี้..ยังคงเข้มข้นและอ่านเพลินไปกับสาระดีๆ ในคดีพิพาทเกี่ยวกับท้องถิ่นเหมือนเช่นเคย เชื่อว่า...หลายท่านยังคงเฝ้ารอฤดูหนาว แต่จวบจนใกล้จะสิ้นปีแล้ว ก็ยังไม่เห็นวี่แวว จนมีการแซวกันว่า... สงสัยฤดูหนาวจะขอวีซ่าเข้าประเทศไทยไม่ผ่านแน่เลย...
                  ผละจากเรื่องสภาพอากาศ... มาเข้าสู่ความรู้เกี่ยวกับคดีปกครอง ซึ่งคดีนี้เกี่ยวข้องกับ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ ในการออกคำสั่งทางปกครอง เพราะกฎหมายดังกล่าวมีข้อกำหนดว่า “ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณีเจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน” ซึ่งเป็นไปตามหลักการฟังความทุกฝ่ายและหลักสิทธิป้องกันตนเอง อันเป็นหลักกฎหมายธรรมชาติและหลักกฎหมายปกครองทั่วไปที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับความคุ้มครอง เพื่อประกันความเป็นธรรมในการพิจารณาทางปกครอง
                   ฉะนั้น การพิจารณาของเจ้าหน้าที่เพื่อออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องใด ซึ่งมิได้เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 30 วรรคสองและวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เช่น มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าอาจเกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อบุคคลหรือประโยชน์สาธารณะ หรือกรณีที่กฎหมายในเรื่องนั้นๆ มิได้กำหนดวิธีการหรือขั้นตอนการพิจารณาทางปกครองไว้เป็นการเฉพาะ เช่น กฎหมายเทศบาลตำบล ในการพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้น ต้องถือปฏิบัติตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งเป็นกฎหมายกลางที่กำหนดมาตรฐานในการพิจารณาทางปกครองไว้
                   ดังเช่นกรณีของปลัดศรัณย์ (นามสมมติ) ปลัดเทศบาล ที่ได้รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาจากนายกเทศมนตรีว่ากระทำผิดวินัยหลายข้อหา โดยปลัดศรัณย์ได้มีหนังสือถึงนายกเทศมนตรีว่า หนังสือดังกล่าวเป็นการแจ้งฐานความผิดไม่ใช่การแจ้งข้อกล่าวหา เพราะไม่ได้ระบุพฤติการณ์และไม่มีการสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหามาด้วย มีแต่เพียงการถ่ายเอกสารหลักฐานบางส่วนบางตอนแนบมาด้วยเท่านั้น ต่อมานายกเทศมนตรีจึงได้มีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาฉบับใหม่ โดยแจ้งพฤติการณ์และฐานความผิด พร้อมทั้งได้สรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีแนบมาด้วย รวมทั้งสิ้น 6 ข้อกล่าวหา ซึ่งหลังจากที่ปลัดศรัณย์ได้รับแจ้งหนังสือดังกล่าว ก็มีเวลาเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น ในการจัดทำคำโต้แย้ง ปลัดศรัณย์จึงไม่ได้โต้แย้งตามเวลาที่กำหนด จากนั้นนายกเทศมนตรีก็ได้มีคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนปลัดศรัณย์ ปลัดศรัณย์จึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อคณะกรรมการพนักงานเทศบาลแต่ได้มีมติยกอุทธรณ์ อันเป็นเหตุให้ปลัดศรัณย์นำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาของศาลปกครอง
คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยวางหลักว่า หนังสือแจ้งข้อกล่าวหาฉบับแรก ซึ่งเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาโดยมิได้สรุปพยานหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหา ไม่อาจถือว่าได้ให้คู่กรณีมีโอกาสทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ ส่วนหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาฉบับที่สอง ซึ่งมีการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหาที่มีมาด้วย ถือว่าเป็นกรณีที่ได้ให้คู่กรณีมีโอกาสทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แต่การที่กำหนดให้ปลัดศรัณย์โต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน โดยมีเวลาเพียง 1 วัน ซึ่งมีถึง 6 ข้อกล่าวหา และมิได้เป็นข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันทั้งหมดนั้น ไม่อาจถือว่า ได้ให้คู่กรณีมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง 
                     คดีนี้นายกเทศมนตรีซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่า ในการพิจารณาชั้นอุทธรณ์ของคณะกรรมการพนักงานเทศบาล ได้มีการให้โอกาสปลัดศรัณย์โต้แย้งชี้แจงอย่างเต็มที่แล้วนั้น
                      ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยประเด็นนี้ว่า ชั้นอุทธรณ์ถือเป็นคนละขั้นตอนกับการดำเนินการทางวินัยของนายกเทศมนตรี กรณีจึงไม่เข้าตาม มาตรา 41 (3) แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ที่กำหนดว่า “การรับฟังคู่กรณีที่จำเป็นต้องกระทำได้ดำเนินการมาโดยไม่สมบูรณ์ ถ้าได้มีการรับฟังให้สมบูรณ์ในภายหลัง ไม่เป็นเหตุให้คำสั่งนั้นไม่สมบูรณ์” เมื่อในชั้นการดำเนินการทางวินัยไม่ได้ให้โอกาสคู่กรณีโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน การออกคำสั่งตัดเงินเดือนที่พิพาท จึงเป็นการกระทำโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เพิกถอนนับแต่วันที่ได้ออกคำสั่ง (คดีหมายเลขแดงที่ อ.155/2558)
                      เรื่องนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงการใช้อำนาจออกคำสั่งของฝ่ายปกครองที่คำนึงแต่เพียงความรวดเร็วและอำนาจของตน โดยไม่คำนึงและละเลยต่อสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาตามหลักการฟังความทุกฝ่าย และศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัดฐานในเรื่องการรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองว่า ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่มีแนบไปกับหนังสือแจ้งเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบรายละเอียดอย่างเพียงพอในการที่จะโต้แย้ง รวมทั้งการให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งนั้น ต้องพิจารณาบริบทต่างๆ เช่น ลักษณะและจำนวนข้อกล่าวหา เนื้อหาของข้อกล่าวหา เพื่อนำมาประกอบในการกำหนดเวลาจัดทำคำโต้แย้งตามสมควรและเหมาะสม ซึ่งการให้โอกาสโต้แย้งอย่างเพียงพอในชั้นอุทธรณ์ไม่เป็นการทำให้การรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ในชั้นการดำเนินการทางวินัยกลับมาสมบูรณ์ได้ เพราะเป็นคนละขั้นตอนกันนั่นเองค่ะ
                      ก่อนจาก...มีสารมาฝากจากศาลปกครอง ที่ได้เปิดแผนกใหม่ คือ“แผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ” ซึ่งเปิดดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา อยากทราบว่า... แผนกดังกล่าวมีความพิเศษอย่างไร และคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ มีลักษณะเป็นเช่นไร พลาดไม่ได้ !! ในฉบับหน้า สำหรับฉบับนี้ สวัสดี...โชคดีรับปีวอกค่า !
                    เครดิต : ธัญธร ปังประเสริฐ พนักงานคดีปกครองชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...