27 มิ.ย. 2562

“ความเสียหาย (damage) กับ ค่าเสียหาย (damages) มีนัยต่างกัน มิใช่สิ่งเดียวกัน”

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.473/2559 ความสับสนระหว่างความเสียหาย (damage) กับค่าเสียหาย (damages) ในความรับผิดเพื่อละเมิด
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.473/2559 การพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ กรณีต้องเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีประกอบกัน โดยค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีได้นั้น จะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ เมื่อค่าใช้จ่ายในเรื่องการเดินทางติดตามเรื่องราวร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวเป็นค่าเสียหายที่มิได้เกิดขึ้นหรือเป็นผลโดยตรงจากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรของเจ้าหน้าที่ผู้ถูกฟ้องคดี การกระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีจึงมิได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากผู้ถูกฟ้องคดีได้
1. ทฤษฎีและหลัก กฎหมายว่าด้วยมูลละเมิดเกี่ยวกับความเสียหาย (damage) และค่าเสียหาย (damages)
ก่อนที่จะกล่าวถึงวิเคราะห์ปัญหา ความสบสนระหว่างความเสียหาย (damage) กับค่าเสียหาย (damages) ในความรับผิดเพื่อละเมิด ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 473/2559 เราควรจะมาทำความเข้าใจทฤษฎีและหลักการของกฎหมายว่าด้วยมูลละเมิดเกี่ยวกับความเสียหายและค่าเสียหายกันก่อน
หลักกฎหมายว่าด้วยมูลละเมิดหรือความรับผิดทางละเมิด มีหลักสำคัญประการหนึ่งคือ “แม้จะมีการกระทำโดยผิดกฎหมาย ก็มิได้หมายความว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นเสมอ เมื่อความเสียหายยังไม่เกิดขึ้น ก็ยังไม่เป็นละเมิด จะเป็นการละเมิดก็ต่อเมื่อการที่ได้กระทำลงนั้นมีผลให้เกิดความเสียหาย (คำพิพากษาศาลฎีกา 670/2496, 1724/2515) ซึ่งในคดีปกครอง ศาลปกครองก็วางหลักไว้แนวทางเดียวกันในหลายคดี (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.77/2547, อ. 942/2558)
เมื่อได้กระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหาย (damage) แล้วจึงมาพิจารณาค่าเสียหาย (damages) สำหรับความเสียหาย นั้นว่า จะให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (compensation) กันอย่างไรเพียงใด ทำให้เห็นได้ว่า ความเสียหาย (damage) กับค่าเสียหาย(damages) มิใช่สิ่งเดียวกัน เป็นคนละขั้นตอนกัน
การที่จะเข้าใจได้ว่า ความเสียหาย (damage) กับค่าเสียหาย(damages) มิใช่สิ่งเดียวกัน พิจารณาจากต้นฉบับร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่มีการยกร่างเป็นภาษาอังกฤษ ได้เขียนให้เห็นความแตกต่างและลำดับการวินิจฉัยความรับผิดมูลละเมิดไว้ชัดเจน คือ หลักเกณฑ์ความรับผิดทางละเมิดว่าการกระทำใดเป็นการละเมิดหรือไม่ มาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ใช้คำว่า injures (ทำให้เสียหาย) มาตรา 422 ใช้คำว่า damage (ความเสียหาย) ส่วนหลักเกณฑ์การชดใช้ผลจากกระทำละเมิด มาตรา 438 วรรคสอง และมาตรา 446 ได้เรียงลำดับวิธีคิดไว้ชัดแจ้งว่า
Section 438. The Court shall determine the manner and the extent of compensation according to the circumstances and gravity of the wrongful act.
Compensation may include restitution of the property of which the injured person has been wrongfully deprived or its value as well as damages to be granted for any injury caused.
มาตรา 438 ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์อันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์นั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย”
Section 446 In the case of injury to the body or health of another, or in the case of deprivation of liberty, the injured person may also claim compensation for the damage which is not a pecuniary loss. The claim is not transferable, and does not pass to the heirs, unless it has been acknowledged by contract, or on action on it has been commenced.
A like claim belongs to a woman against whom an immoral crime is committed.
มาตรา 446 ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินได้อีกด้วยก็ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้ และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญา หรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว
อนึ่ง หญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตน ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้”
จะเห็นได้ว่า ลำดับในการพิจารณาค่าสินไหมทดแทน Compensation ซึ่งรวมถึงค่าเสียหาย damages เพื่อที่ชดใช้แก่ความเสียหาย damage ความเสียหายกับค่าเสียหาย จึงมีนัยต่างกัน ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เมื่อมีความเสียหายแล้ว จึงต้องชดใช้ค่าเสียหาย
ดังนี้ แต่เมื่อเกิดความเสียหายแล้ว ไม่ว่าที่เป็นตัวเงินหรือไม่เป็นตัวเงิน ต้องไม่นำไปปนกับกรณีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งเป็นการเยียวยาทางกฎหมาย เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแล้วเป็นคนละตอนกัน
อนึ่ง สำหรับความเสียหายอันเป็นมูลละเมิดนั้น อาจเป็นความเสียหายที่คำนวณเป็นเงินได้หรือไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ก็ได้ แม้จะเป็นความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินถ้าเป็นความเสียหายที่แน่นอน (certain) และเป็นความเสียหายที่กฎหมายยอมรับ (ไม่เข้าลักษณะความยินยอมไม่ทำให้เป็นละเมิด) แล้วก็เป็นมูลความรับผิดละเมิดได้ ความเสียหายไม่จำเป็นต้องคิดคำนวณเป็นตัวเงินได้ ทำให้เห็นได้ว่า ความเสียหายแตกต่างจากค่าชดใช้ความเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทน เพราะในบางกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ แต่อาจต้องชดใช้ค่าเสียหายด้วยตัวเงิน แต่ค่าสินไหมทดแทนก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเงินเสมอไปดังจะเห็นได้จากมาตรา 446 ที่ผู้เสียหายอาจเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินได้อีกด้วย
การกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ความอันเกิดต่อ “สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด” คำว่า “สิทธิ” อย่างใดอย่างหนึ่งคือสิทธิที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้หรือสิทธิตามกฎหมาย (legal right) อันได้แก่ สิทธิเด็ดขาด (absolute rigth) เช่น สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือ สิทธิสัมผัส (relative right) เช่น สิทธิความเป็นเจ้าหนี้ สิทธิความเป็นส่วน สิทธิในการกระบวนการยุติธรรม สิทธิที่ร้องเรียนร้องทุกข์ต่อรัฐ ซึ่งเป็นสิทธิพลเมือง (citizen right) เป็นต้น
ในการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บางประเภทแม้จะไม่ปรากฏว่าจะมีการลดน้อยถอยลงของทรัพย์สินก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายเกิดทันที่ได้ลงมือกระทำนั้น ความเสียหายประเภทนี้เรียกว่า “ความเสียหายโดยสภาพ” หรือ “ความเสียหายในตัว” โดยมิต้องพิสูจน์ว่าได้รับความเสียหายเป็นเงินเท่าใดได้ กล่าวคือ เป็นการกระทำที่ทำให้เกิด “ความเสียหาย” โดยไม่ต้องพิสูจน์ “ค่าเสียหาย” การกระทำให้เกิด“ความเสียหายโดยสภาพ” เช่น การบุกรุกไปในบ้านผู้อื่น แม้ทรัพย์สินหรือต้นหญ้าจะมิได้ตายสักต้นก็ถือว่า ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว หรือ ทันทีที่ดูหมิ่นผู้อื่นด้วยถ้อยคำรุนแรง ก็ถือความเสียหายได้เกิดขึ้นทันแล้ว ความเสียหายเหล่านี้มิอาจคำนวณหรือพิสูจน์ออกมาได้เป็นตัวเงิน ส่วนจะให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย หรือค่าสินไหมทดแทนเพียงใด ศาลย่อมจะมีอำนาจกำหนดได้ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำความผิด ตามมาตรา 438 ได้
สำหรับ การกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่ก่อให้เกิด “ความเสียหายโดยสภาพ” หรือ “ความเสียหายในตัว” ในการวินิจฉัยความผิดรับทางละเมิดก็มิได้นำหลักว่า ความเสียหายนั้นเป็นผลจากการกระทำของผู้ทำความเสียหาย หรือ ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำกับผล (Causation in fact) ซึ่งผลที่ผู้กระทำได้กระทำให้เกิดขึ้น ต้องไม่ไกลเกินกว่าเหตุ (causation in law remoteness of damages) มาพิจารณาประกอบแต่อย่างใด เพราะการกระทำ กับผล การกระทำได้เกิดขึ้นกันทันทีที่ได้ลงมือ แต่ในการพิจารณาค่าเสียหาย (damages) สำหรับความเสียหาย (damage) จะต้องพิจารณาว่า ค่าเสียหายมีความสัมพันธ์เพียงพอสำหรับความเสียหายหรือไม่ด้วย
สำหรับประเภทค่าเสียหาย สามารถแบ่งการใช้ชดค่าเสียหายออกเป็น 3 ประเภท คือ
1.Substantial Damages คือ ค่าเสียหายอย่างหนัก ซึ่งโดยมากคำนวณนับเอาตามผลร้ายแรงแห่งความเสียหายอันเกิดแต่การละเมิด
2.Nominal Damages คือ ค่าเสียหายอย่างต่ำที่กำหนดให้เพียงในนาม หรือ ค่าเสียหายในนาม คือ การละเมิดไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายทางทรัพย์สินแต่อย่างใด หรือผู้เสียหายเป็นผู้ที่ไม่สมควรได้รับความเสียหายด้วยประการใด ๆ เช่นนี้แล้วศาลย่อมกำหนดค่าเสียหายให้เพียงเล็กเท่านั้น เป็นเพียงเพื่อรับรู้ได้มีการละเมิดสิทธิกัน
3. Exemplary Damages ผู้ทำละเมิดรู้อยู่ว่าการกระทำของตนเป็นผิด แต่ยังจงใจขืนทำละเมิดโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายของบ้านเมืองและไม่เหลียวเคารพสิทธิของผู้อื่นเช่นนี้ ศาลจะกำหนดค่าเสียหายให้เป็นพิเศษ นอกจากที่โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจริง ค่าเสียหายพิเศษที่ว่านี้มีชื่อเรียกชื่อหนึ่งว่า ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ (Punitive Damages) ซึ่งจะต้องเป็นค่าเสียหายที่กฎหมายรับรู้จึงจะมีการเรียกร้องกันได้และค่าเสียหายที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ในพฤติการณ์เช่นนี้ มักจะมากกว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับ
ค่าเสียหายในนาม (Nominal Damages) มีความสัมพันธ์กับความเสียหายในทางศีลธรรม (moral damage) ซึ่งมักจะเกิดกับความเสียหายโดยสภาพ เช่น การบุกรุกบ้านผู้อื่น ซึ่งศาลจะกำหนดค่าเสียหายให้เพื่อรับรู้ถึงการละเมิดสิทธิต่อกัน
2. วิเคราะห์คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.473/2559 ความสบสนระหว่างความเสียหาย (damage) กับค่าเสียหาย (damages) ในความรับผิดเพื่อละเมิด
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.473/2559 การพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ กรณีต้องเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีประกอบกัน โดยค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีได้นั้น จะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ เมื่อค่าใช้จ่ายในเรื่องการเดินทางติดตามเรื่องราวร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวเป็นค่าเสียหายที่มิได้เกิดขึ้นหรือเป็นผลโดยตรงจากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรของเจ้าหน้าที่ผู้ถูกฟ้องคดี การกระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีจึงมิได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากผู้ถูกฟ้องคดีได้
แม้ว่า ศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้จะวางหลักไว้อย่างถูกต้องว่า “การพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ กรณีต้องเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร และก่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้ฟ้องคดีประกอบกัน โดยค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีได้นั้น จะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิด อันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้” ก็ตาม
แต่ในการพิจารณาความเสียหาย กับ ค่าเสียหาย นั้น กลับได้วินิจฉัยและเขียนปนเปจนไม่น่าใจว่า ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยในปัญหา “ความเสียหาย” หรือวินิจฉัยในปัญหา “ค่าเสียหาย” คือ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า “โดยค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีได้นั้น จะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้” ซึ่งคำว่า โดยค่าเสียหาย นั้น จะหมายถึงความเสียหาย หรือไม่ และข้อความต่อมาว่า “เมื่อค่าใช้จ่ายในเรื่องการเดินทางติดตามเรื่องราวร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวเป็นค่าเสียหายที่มิได้เกิดขึ้นหรือเป็นผลโดยตรงจากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรของเจ้าหน้าที่ผู้ถูกฟ้องคดี” ก็มีปัญหาว่า “ค่าใช้จ่าย” ในที่คือ “ค่าเสียหาย” ใช่หรือไม่ ส่วนคำว่า เป็น “ค่าเสียหาย” ที่มิได้เกิด... จะหมายถึง ความเสียหาย ใช่หรือไม่ จากถ้อยคำในคำพิพากษานี้ ดูเหมือนว่า ค่าเสียหาย คือ ความเสียหาย ที่มีความหมายนัยเดียวกัน
ผลจากความสับสนปนเปของคำว่า “เกิดความเสียหาย.....โดยค่าเสียหาย....เป็นความเสียหาย....เมื่อค่าใช้จ่าย...เป็นค่าเสียหาย..” ที่ทำให้เข้าใจได้ว่า ความเสียหาย กับ ค่าเสียหาย เป็นสิ่งเดียวกัน ทำให้เกิดการวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีที่ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิด กล่าวคือ ในคดีนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร (ซึ่งก็อยู่ในความหมายคำว่า “โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 421” นั้นเอง) ศาลปกครองก็จะต้องพิเคราะห์ต่อไปว่า การกระทำว่า เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรดังกล่าวเป็นล่วงละเมิดต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ ถ้าก่อให้เกิดความเสียหายแล้วจึงมาวินิจฉัยว่า ค่าเสียหายที่เรียกร้องมานั้น (ค่าใช้จ่ายเดินทาง) เป็นค่าเสียหายอันเป็นผลจากความเสียหายที่ได้รับหรือไม่ เมื่อรับฟังเป็นยุติว่า เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรแล้ว การกระทำดังกล่าวทำให้เกิดผลเสียหาย (injures) ต่อสิทธิหรือไม่ ถ้าเกิดผลเสียหายต่อสิทธิแล้ว ก็ย่อมถือว่าได้รับ “ความเสียหาย (damage) ซึ่งศาลปกครองสูงสุดก็วินิจฉัยไว้แล้วว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีได้ตาม 39 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง (1) และผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจและหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 20 (1) แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีหาได้ดำเนินการให้ต่อเนื่องและแล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสมควรไม่ แต่กลับให้คำแนะนำผู้ฟ้องคดีไปดำเนินเอง นี้ ศาลปกครองสูงสุดก็จะต้องวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวเป็นล่วงละเมิด (unlawful) ต่อ “สิทธิร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐ” ของผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นสิทธิพลเมืองที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 59 หรือไม่ กล่าวคือ ความล่าช้าเกินสมควรเป็นก่อให้เกิด (injures) ความเสียหายต่อสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า กล่าวคือ ความล่าช้าเกินสมควรของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นก่อให้เกิด (injures) ความเสียหายต่อสิทธิร้องทุกข์แล้ว ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย (damage) โดยสภาพ หรือเป็นความเสียหายในตัวแล้ว แต่ในส่วนค่าเสียหาย (damages) ที่ศาลจะกำหนดให้นั้น จะต้องพิจารณาต่อไปว่า “ค่าใช้จ่ายในเรื่องการเดินทางติดตามเรื่องราวร้องทุกข์” นั้น ซึ่งศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า “เมื่อค่าใช้จ่ายในเรื่องการเดินทางติดตามเรื่องราวร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวเป็นค่าเสียหายที่มิได้เกิดขึ้นหรือเป็นผลโดยตรงจากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรของเจ้าหน้าที่ผู้ถูกฟ้องคดี” นั้น ผู้เขียนเห็นด้วยเพราะค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายทั่วไปที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องเสียอยู่แล้วไม่ว่าเจ้าหน้าที่จะดำเนินการล่าช้าหรือไม่ ไม่เป็นผลโดยตรงต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
แต่ต่อมาศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า “การกระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีจึงมิได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากผู้ถูกฟ้องคดีได้ และพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ให้เป็นยกฟ้อง” นั้น ผู้เขียนไม่เห็นด้วย เพราะกรณีดังกล่าวการกระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการละเมิด (unlawful) แน่นอน และย่อมเป็นทำให้เกิดผลเสียหาย (injures) ต่อสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด (สิทธิร้องทุกข์ต่อหน่วยงานรัฐ) เป็นความเสียหาย (damage) ที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ ที่ศาลปกครองสูงสุดจะต้องมากำหนด “ค่าเสียหาย” (damages) ให้ตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามมาตรา 438 และค่าเสียหายที่จะกำหนดให้นี้ ผู้เขียนเห็นว่า ควรเป็นค่าเสียหายในนาม (Nominal Damages) ที่ไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้ โดยศาลกำหนดค่าเสียหายให้เพียงเล็กเท่านั้น เป็นเพียงเพื่อรับรู้ได้มีการละเมิดสิทธิกัน ทำให้ผู้ฟ้องคดีรู้สึกถึงความยุติธรรมที่ได้รับจากการล่วงละเมิด (unlawful) ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นสร้างความรับรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในความรับผิดทางละเมิดที่จะเกิดให้ความเสียหายต่อสิทธิพลเมืองของประชาชนด้วย
ดังนี้ หากเราทำความเข้าในความแตกต่างระหว่าง “ความเสียหาย” (damage) และ “ค่าเสียหาย (damages) ในกฎหมายความรับผิดทางละเมิด ให้อย่างถ้องแท้แล้วว่า มิใช่สิ่งเดียวกัน เราจะมองปัญหาข้อกฎหมายได้ทะลุ การวินิจฉัยคดีก็จะเป็นลำดับขั้นตอน และใช้ถ้อยคำได้อย่างถูกต้องไม่สบสนปนเปกัน

เครดิต : หลักกฎหมายปกครองวันละเรื่อง , ๘ ตุลาคม ๒๐๑๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...