27 มิ.ย. 2562

คำสั่งลงโทษทางวินัยตามมติชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ... อุทธรณ์ได้เพียงใด และฟ้องศาลปกครองได้หรือไม่ ?

การพิจารณาโทษทางวินัยข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่า “ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ” กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงแล้ว
หน่วยงานของรัฐต้นสังกัดหรือผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนข้าราชการ ผู้ถูกกล่าวหา ต้องพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก และในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถือว่ารายงานเอกสาร และความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ แล้วแต่กรณี (มาตรา 92 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542)
ด้วยเหตุนี้ ในการพิจารณาโทษทางวินัยข้าราชการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล ผู้มีอำนาจจึงมีเพียงอำนาจลงโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลแล้วเท่านั้น จะเปลี่ยนแปลงฐานความผิดไปจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแล้วไม่ได้
อย่างไรก็ตาม กระบวนการพิจารณาเพื่อออกคำสั่งดังกล่าวมีประเด็นปัญหาทางกฎหมาย ที่น่าสนใจหลายประการ เช่น
ในชั้นอุทธรณ์ ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์จะพิจารณาเปลี่ยนแปลงฐานความผิดทางวินัย ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดแล้วได้หรือไม่ ?
ในชั้นฟ้องคดีต่อศาล หากข้าราชการที่ได้รับคำสั่งลงโทษเห็นว่า มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาว่า มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ ฟ. 20/2560
โดยมูลเหตุของคดีนี้ เกิดจากกรมทางหลวงชนบทได้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีหน่วยงานได้จ้างซ่อมรถยนต์ส่วนกลาง โดยผู้ฟ้องคดีเป็นกรรมการตรวจรับพัสดุได้ลงลายมือชื่อตรวจรับงานซ่อมในใบตรวจรับพัสดุ ทั้งที่งานซ่อม ยังไม่แล้วเสร็จ และมีการเบิกจ่ายค่าซ่อมรถยนต์ให้กับผู้รับจ้างก่อนที่ผู้รับจ้างจะส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนด พฤติการณ์ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบพัสดุ เป็นความผิดวินัยฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการและฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ และคณะกรรมการฯ มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้ยกอุทธรณ์
ผู้ฟ้องคดี เห็นว่า เป็นการใช้ดุลพินิจในการลงโทษที่รุนแรง ไม่สมควรแก่ความผิดและผู้ฟ้องคดี ได้ชดใช้เงินให้แก่ทางราชการแล้ว อีกทั้งก็ไม่เคยกระทำผิดมาก่อน จึงควรได้รับการลดหย่อนโทษ จึงฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กรมทางหลวงชนบท เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยขอให้ศาลปกครองเพิกถอนมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเพิกถอนคาสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ
คดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. โต้แย้งว่า การวินิจฉัยชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ ผู้ฟ้องคดีไม่อาจฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคำสั่งลงโทษทางวินัยได้ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยประเด็นนี้ว่า มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดทางวินัยเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่มีผลเป็นเพียงการชี้มูลความผิดทางวินัยเท่านั้น มิได้เป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการที่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี และสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้ตามความเหมาะสมตามรัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงย่อมมีอานาจดุลพินิจอิสระที่จะพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามรูปคดีโดยไม่จาต้องยึดถือพยานหลักฐานจากสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
สาหรับประเด็นปัญหาว่า ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์จะพิจารณาเปลี่ยนแปลงฐานความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดแล้วได้หรือไม่นั้น ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คาวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีผลผูกพันองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ไม่อาจเปลี่ยนแปลงฐานความผิดตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัยและยุติแล้วให้เป็นประการอื่นได้
สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยจึงถูกจำกัดว่าจะอุทธรณ์ได้เฉพาะดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น จะอุทธรณ์ว่ามิได้กระทำความผิดทางวินัยตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลไว้มิได้
กล่าวโดยสรุป ในชั้นการออกคำสั่งลงโทษทางวินัยกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจออกคำสั่งจะต้องพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล มีดุลพินิจได้เฉพาะกำหนดระดับโทษเท่านั้น
ในชั้นอุทธรณ์ ผู้ได้รับคาสั่งมีสิทธิอุทธรณ์ได้เฉพาะดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น จะอุทธรณ์ฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลไว้ไม่ได้
ส่วนในชั้นฟ้องคดีต่อศาล มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้เป็นการใช้อานาจโดยตรง ตามรัฐธรรมนูญที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการพิจารณา เพื่อมีมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
สาหรับประเด็นเรื่องคำสั่งลงโทษทางวินัยไล่ออกจากราชการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ? นั้น ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดได้จาก คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้...

เครดิต นายนิรัญ อินดร พนักงานคดีปกครองชำนาญการ , กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร , สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง , (วารสารยุติธรรม) คาสั่งลงโทษทางวินัยตามมติชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...