27 มิ.ย. 2562

ทุจริตชุดนักเรียน “บทเรียน” ที่ข้าราชการต้องจดจำ

คดีนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ของผู้ที่ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เพียงเพราะความโลภอยากได้เงิน สุดท้ายจึงต้องถูกไล่ออกจากราชการ ลองมาดูรายละเอียดบทเรียนที่ต้องจดจำในคดีนี้กัน...
เรื่องนี้เกิดขึ้นในขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งพัฒนาการจังหวัด (เจ้าหน้าที่บริหารงานพัฒนาชุมชน 8) ปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชนที่ 4 สังกัดกรมพัฒนาชุมชน ถูกร้องเรียนว่า ได้กระทำการทุจริตในการจัดซื้อชุดนักเรียนจากโครงการพัฒนาเด็กและครอบครัว ซี.ซี.เอฟ. ปีงบประมาณ 2540 เป็นเงิน 100,000 บาท กล่าวคือมีการเบิกเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ส่วนตัวโดยไม่ได้จัดซื้อชุดนักเรียนจริง แต่หลังจากที่มีการร้องเรียนเกิดขึ้น ผู้ฟ้องคดีก็ได้จัดซื้อชุดนักเรียนไปมอบให้กับนักเรียนตามโครงการดังกล่าว และได้จัดทำเอกสารการจัดซื้อและใบตรวจรับพัสดุเท็จ เพื่อปกปิดความผิดของตน ต่อมาได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ฟ้องคดี ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีใช้อำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชาสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำเอกสารเท็จแล้วเบิกเงินไปใช้ส่วนตัว เป็นการกระทำซึ่งอาศัยอำนาจหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์โดยมิชอบ แม้เงินที่ผู้ฟ้องคดีรับไปจะเป็นเงินของมูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ. ไม่ใช่เงินของทางราชการ แต่การกระทำของผู้ฟ้องคดีในฐานะหัวหน้าส่วนราชการได้กระทำการฝ่าฝืนระเบียบของทางราชการโดยมุ่งแสวงหาประโยชน์ พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำความผิดวินัยฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ และเป็นการกระทำอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง แต่ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย เห็นว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการและเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 (การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการและเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง) จึงมีมติลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนจึงมีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ
ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เพราะเป็นการกระทำโดยส่วนตัวและเงินที่เบิกมานั้นก็เป็นเงินของมูลนิธิฯ ซึ่งไม่ใช่เงินงบประมาณแผ่นดิน แต่หากจะถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ผู้ฟ้องคดีก็ได้ประกอบคุณงามความดีในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการ จึงมีเหตุอันควรปรานีที่จะได้รับการลดหย่อนโทษ นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการจัดซื้อและส่งมอบชุดนักเรียนตามโครงการดังกล่าวอย่างครบถ้วนแล้ว แม้จะล่าช้าไปบ้าง จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการดังกล่าว
กรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า จากการรับฟังพยานเอกสารและพยานบุคคลมีความสอดคล้องเป็นเหตุเป็นผลกันว่า ผู้ฟ้องคดีได้กระทำการทุจริตในการจัดซื้อชุดนักเรียนตามโครงการดังกล่าว โดยใช้อำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชาสั่งการให้มีการจัดทำหลักฐานอันเป็นเท็จ (จัดทำเอกสารการจัดซื้อที่เป็นเท็จและมีการลงชื่อในใบตรวจรับพัสดุโดยไม่มีพัสดุจริง)การกระทำของผู้ฟ้ องคดีจึงเป็ นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ที่มิควรได้ ย่อมเป็ นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการและเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 104 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ได้บัญญัติว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออก ตามความร้ายแรงแห่งกรณี ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อน จะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้ แต่ห้ามมิให้ลดโทษลงต่ำกว่าปลดออก ซึ่งเป็นดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาที่จะสั่งลงโทษสถานหนึ่งสถานใดดังกล่าวตามที่เห็นสมควร
เมื่อพฤติการณ์และการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการและไม่มีเหตุอันควรอื่นใดที่จะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษได้ การที่อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่อยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด และได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวโดยคำนึงถึงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายตลอดจนความเหมาะสมและมาตรฐานการลงโทษแล้ว ซึ่งการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดแนวทางการลงโทษตามหนังสือที่ นร 0205/ว 234 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2536 กำหนดให้ลงโทษ ผู้กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการโดยไล่ออกจากราชการ และการที่นำเงินที่ทุจริตไปแล้วมาคืนไม่เป็นเหตุลดหย่อนโทษลงเป็นปลดออก เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งเป็นหัวหน้าส่วนราชการจึงต้องประพฤติให้เป็นแบบอย่างที่ดี และมีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ แต่กลับอาศัยอำนาจหน้าที่ราชการแสวงหาประโยชน์ให้ตนเอง ดังนั้นคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้ องคดีออกจากราชการจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษายกฟ้อง (คำ พิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.450/2554)
คดีนี้นอกจากจะเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการที่ดีว่า กรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตเงินไม่ว่าจะเป็นเงินงบประมาณของราชการหรือเงินที่ได้มาจากการบริจาคตามโครงการใดๆ ก็ตาม หากภายหลังกลับใจนำเงินมาคืนให้กับรัฐเพราะถูกร้องเรียนหรือเพราะเหตุใดๆ ก็ตาม ไม่เป็นเหตุอันควรลดหย่อนโทษแต่อย่างใดแล้ว ยังเป็นบทเรียนที่เจ้าหน้าที่ของรัฐควรจะต้องจดจำและหลีกเลี่ยงไม่ประพฤติปฏิบัติเพื่อมิให้เกิดบทเรียนในลักษณะเช่นนี้ซํ้าแล้วซํ้าอีกครับ !
เครดิต : นายปกครอง
--------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...