27 มิ.ย. 2562

เบิกจ่ายเงินค่านํ้ามัน “รถยนต์ส่วนตัว” โดยใช้สิทธิ...ราชการ !

การใช้รถยนต์ราชการและการเบิกจ่ายค่านํ้ามันรถยนต์ที่ใช้ในราชการ ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ และในทางปฏิบัติ หน่วยงานของรัฐหลายแห่งอาจทำสัญญากับสถานีบริการนํ้ามันขอสั่งจ่ายนํ้ามันเชื้อเพลิง กับสถานีบริการนํ้ามันแบบเครดิต โดยจะขอสั่งจ่ายนํ้ามันเชื้อเพลิงก่อน แล้วสถานีบริการนํ้ามันจะวางบิลเงินสด เพื่อเรียกเก็บเงินกับหน่วยงานของรัฐในภายหลัง
คดีปกครองที่จะนำมาเป็นอุทาหรณ์ในคอลัมน์ระเบียบกฎหมายฉบับนี้
เป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดเทศบาลแห่งหนึ่งทั้งระดับผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคน อาศัยโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่ราชการทำให้ราชการได้รับความเสียหาย โดยร่วมกันกระทำความผิด คือ นำรถยนต์ส่วนตัวไปเติมนํ้ามันเชื้อเพลิงโดยให้ผู้ขาย (สถานีบริการนํ้ามัน) ออกบิลเงินเชื่อมาขอรับชำระหนี้รวมกับบิลเงินเชื่อที่เติมนํ้ามันเชื้อเพลิงให้กับรถยนต์ส่วนกลางและเบิกจ่ายค่านํ้ามันเชื้อเพลิงตามบิลเงินเชื่อ
คดีนี้มีความน่าสนใจเกี่ยวกับพฤติการณ์หรือวิธีการของการกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว และถือเป็นอุทาหรณ์ที่ดีที่จะทำให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาจะต้องระมัดระวังและหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำที่ไม่ถูกต้องต่อไป
มูลเหตุของคดีนี้เกิดจาก นายกเทศมนตรีมีคำสั่งให้ปลัดเทศบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำตามที่กล่าวข้างต้น โดยพฤติการณ์รับฟังยุติได้ว่า เจ้าหน้าที่นำรถยนต์ส่วนตัวไปเติมนํ้ามันกับสถานีบริการนํ้ามันที่เทศบาลได้ตกลงใช้บริการเติมนํ้ามันสำหรับรถยนต์ราชการ โดยลงชื่อเป็นผู้รับของในบิลเงินเชื่อที่ไม่ได้ระบุว่าเติมให้กับรถยนต์ส่วนกลางคันใด ไม่ได้ระบุวันที่เติมนํ้ามัน จำนวนนํ้ามันตามบิลเงินเชื่อมากกว่าความจุของถังนํ้ามันรถยนต์ส่วนกลางแต่ละคัน จากนั้นผู้ขาย (สถานีบริการนํ้ามัน) นำบิลเงินเชื่อมาขอรับชำระหนี้รวมกับบิลเงินเชื่อที่เติมนํ้ามันให้กับรถยนต์ราชการ (รถยนต์ส่วนกลาง) ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตให้ใช้รถยนต์ส่วนกลาง ไม่มีใบสั่งจ่ายนํ้ามันที่อนุมัติและไม่ได้จัดทำสมุดบันทึกการใช้รถยนต์
หลังจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้สอบสวนข้อเท็จจริงและรายงานผลการสอบสวนต่อกระทรวงการคลัง ผู้มีอำนาจจึงได้มีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลังให้เจ้าหน้าที่ที่ร่วมกันกระทำความผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
โดยหนึ่งในนั้น คือ ปลัดเทศบาล ซึ่งขณะเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง และเป็นหัวหน้าพัสดุมีอำนาจอนุมัติให้เบิกจ่ายนํ้ามัน มีอำนาจอนุมัติเบิกจ่ายเงินค่านํ้ามันตามที่เจ้าหน้าที่เสนอ มีอำนาจลงนามสั่งจ่ายเช็คทั้งที่ไม่มีฎีกาและเจ้าหนี้ที่จะต้องจ่าย และลงนามสั่งจ่ายเช็คซํ้าซ้อนและสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้เกินจำนวน
ปลัดเทศบาลไม่เห็นด้วย จึงยื่นอุทธรณ์คำสั่ง และผู้ว่าราชการจังหวัดให้ยกอุทธรณ์
ปลัดเทศบาลจึงฟ้องศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
คำสั่งให้ปลัดเทศบาล (ผู้ฟ้องคดี) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
โดยผู้ฟ้องคดีให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเกี่ยวกับขั้นตอนวิธีการเบิกจ่ายนํ้ามันของรถยนต์ส่วนกลางว่า ไม่มีการกำหนดปริมาณหรือควบคุมนํ้ามันที่จะจ่ายให้กับรถยนต์ส่วนกลาง การขอเบิกจ่ายนํ้ามันเมื่อเติมนํ้ามันแล้ว สถานีบริการนํ้ามันจะระบุจำนวนลิตร ผู้ขอเบิกจะต้องขออนุมัติปลัดเทศบาลและนายกเทศมนตรีตามแบบฟอร์มขออนุมัติเบิกนํ้ามันที่ระเบียบกำหนดไว้ เมื่อมีการอนุมัติแล้วก็นำใบขอเบิกไปสั่งจ่ายนํ้ามันที่สถานีบริการนํ้ามัน และสถานีบริการนํ้ามันก็จะจ่ายนํ้ามันให้ ซึ่งใบขอเบิกที่นำไปสั่งจ่ายนํ้ามันที่สถานีบริการนํ้ามันนั้นไม่มีการระบุจำนวนลิตร เมื่อมีการจ่ายนํ้ามันแล้ว สถานีบริการนํ้ามันก็จะระบุจำนวนลิตรและจำนวนเงิน ลงในบิลเงินเชื่อของสถานีบริการนํ้ามัน และรวมบิลเงินเชื่อเป็นงวด ๆ มาวางบิลเพื่อตั้งฎีกาเบิกจ่ายค่านํ้ามันให้กับสถานีบริการนํ้ามันในภายหลัง
คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารภารกิจของเทศบาล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและลูกจ้างเทศบาล และมีหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามระเบียบ มีหน้าที่ควบคุม ดูแล ตรวจสอบการจ่ายนํ้ามันเชื้อเพลิงให้กับรถยนต์ส่วนกลางในฐานะหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ
เมื่อบิลเงินเชื่อหลายฉบับที่ใช้เป็นหลักฐานประกอบฎีกาการเบิกจ่ายค่านํ้ามันเชื้อเพลิงที่ผู้ฟ้องคดีลงชื่อเป็นผู้รับของโดยไม่ได้ระบุหมายเลขทะเบียนว่าเติมให้รถยนต์คันใด และบิลเงินเชื่อหลายฉบับที่มีจำนวนนํ้ามันที่เติมมากกว่าความจุของถังนํ้ามันรถยนต์ของเทศบาลแต่ละคัน แล้วให้สถานีบริการนํ้ามัน นำบิลเงินเชื่อดังกล่าว มารวมกับบิลเงินเชื่อที่เติมนํ้ามันให้กับรถยนต์ของทางราชการเพื่อขอชำระหนี้ และผู้ฟ้องคดีปล่อยให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำรถยนต์ส่วนตัวไปเติมนํ้ามัน และผู้ฟ้องคดีไม่ได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าลงชื่อรับของในบิลเงินเชื่อหลายฉบับโดยไม่ได้ระบุว่าเป็นการเติมนํ้ามันเชื้อเพลิงรถยนต์ของทางราชการคันใด
จึงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้อนุมัติเบิกจ่ายนํ้ามันเชื้อเพลิง เป็นผู้อนุมัติฎีกาเบิกจ่ายค่านํ้ามันเชื้อเพลิงและร่วมกับเจ้าหน้าที่ลงนามสั่งจ่ายเช็คให้สถานีบริการนํ้ามัน ทั้งที่ไม่มีฎีกาและเจ้าหนี้ที่ต้องจ่าย และชำระหนี้ให้เจ้าหนี้เกิน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเทศบาลถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจฝ่าฝืนระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการใช้และรักษารถยนต์ของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๕ และเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อ ๖๒ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๗
พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามมาตรา ๔๒๐ แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๒๐๗๗/๒๕๕๙)
คดีนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจควบคุม ดูแลและรับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชา รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบหรืออนุมัติ การเบิกจ่ายเงินราชการ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ไม่ปล่อยปละละเลยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐอาศัยโอกาส ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการกระทำทุจริตต่อราชการ นอกจากนี้ ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจสั่งการหรือมีอำนาจอนุมัติ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นที่มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่ราชการกำหนดต้องไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตหรือจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดไว้เสียเอง เพราะการปล่อยปละละเลยหรือปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจ เมื่อเกิดความเสียหายกับหน่วยงานของรัฐหรืองบประมาณของแผ่นดินถือว่าเป็นการกระละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐและต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทางราชการ
(สำหรับระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการใช้และรักษารถยนต์ของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ศาลนำมาใช้ประกอบการวินิจฉัยคดีนี้ ปัจจุบันระเบียบดังกล่าวได้ถูกยกเลิกโดยใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการใช้และรักษารถยนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๘ แทน ซึ่งหลักการและสาระสำคัญมิได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม)

เครดิต : นางสาวจิดาภา มุสิกธนเสฏฐ์ พนักงานคดีปกครองชำนาญการ , กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร , สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...