27 มิ.ย. 2562

มี “เหตุเพียงพอ” ก็สั่งให้ประจาเทศบาลได้ ครับ !

ในกรณีที่มีประกาศของคณะกรรมการพนักงานเทศบาลให้อำนาจนายกเทศมนตรีโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด หรือ ก.ท.จ. สั่งให้ “พนักงานเทศบาลประจำเทศบาลเป็นการชั่วคราว”
นายกเทศมนตรีโดยความเห็นชอบจาก ก.ท.จ. จะใช้อำนาจอย่างไร ?
หากพนักงานเทศบาลอยู่ระหว่างการถูกตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนว่า มีการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมกลั่นแกล้งผู้ใต้บังคับบัญชา นายกเทศมนตรีจะใช้อำนาจนั้นได้หรือไม่ ? หรือจะต้องรอให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นถึงขนาดรับฟังได้ว่ามีมูลความผิดเสียก่อนจึงมีอานาจสั่งได้
ประเด็นนี้มีคำตอบจากคาพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๘๒๓/๒๕๖๐
มูลเหตุของคดีนี้ เกิดจากนายกเทศมนตรีมีคำสั่งให้นาง ข. ซึ่งเป็นพนักงานเทศบาลสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ระดับ ๘ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สังกัดเทศบาล ไปประจำเทศบาล มีระยะเวลา ๓ เดือน เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีหนังสือขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีนาง ข.ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่...หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ในการยุติธรรมกลั่นแกล้งผู้ใต้บังคับบัญชา (นางสาว น.) โดยไม่ให้ผ่านการประเมินคุณลักษณะเพื่อเลื่อนระดับเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย
นาง ข. เห็นว่า เป็นการออกคำสั่งก่อนที่จะได้รับทราบผลการสืบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องที่ถูกร้องเรียน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หลังจากมีหนังสือร้องทุกข์และคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดมีมติให้ยกคำร้องทุกข์ จึงฟ้องศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้ไปประจำเทศบาล มีระยะเวลา ๓ เดือน และให้นายกเทศมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) และเทศบาล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมกับดอกเบี้ย
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ คือ หลังจากได้รับหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นายกเทศมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง และต่อมาคณะกรรมการฯ ได้รายงานผลต่อนายกเทศมนตรีว่า เพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและให้การสืบสวนข้อเท็จจริงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ให้เกิดความขัดแย้งในกองฯ ประกอบกับไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ เห็นควรส่งเรื่องให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดพิจารณาสั่งให้ผู้ฟ้องคดีประจำเทศบาลมีระยะเวลา ๖ เดือน
นายกเทศมนตรีจึงได้เสนอต่อคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดพิจารณาและหลังจากที่คณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดมีมติเห็นชอบให้สั่งนาง ข. ประจำเทศบาลมีระยะเวลาไม่เกิน ๓ เดือน จึงได้มีคำสั่งให้นาง ข. ไปประจำเทศบาล มีระยะเวลา ๓ เดือน
คำสั่งของนายกเทศมนตรีโดยความเห็นชอบจาก ก.ท.จ. ให้ นาง ข. ไปประจำเทศบาลในระหว่างการสืบสวนข้อเท็จจริงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คำสั่งให้ นาง ข. ไปประจำเทศบาลในระหว่างการสืบสวนข้อเท็จจริงชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่หาจำต้องถึงขนาดรับฟังข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นว่ามีมูลความผิดจึงจะเป็นเหตุให้สั่งประจำเทศบาลได้ และการมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีประจำเทศบาลได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดตามประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดฯ
ทั้งนี้ โดยศาลท่านให้เหตุผลว่า (๑) แม้การสืบสวนข้อเท็จจริงจะมิใช่การดำเนินการทางวินัย แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดี (นาง ข.) มีมูลความผิดตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติส่งเรื่องร้องเรียนผู้ฟ้องคดีและเป็นเหตุให้นางสาว น. ได้รับความเสียหายจริงหรือไม่
(๒) ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้บังคับบัญชาของนางสาว น. และเป็นคู่กรณีกับผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงมีอำนาจให้คุณและให้โทษต่อนางสาว น. รวมถึงผู้ใต้บังคับบัญชาคนอื่นที่ต้องเป็นพยานในเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหา ดังนั้น หากผู้ฟ้องคดีอยู่ในตำแหน่งหน้าที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงได้ รวมทั้งอาจสร้างความขัดแย้งให้เกิดแก่พนักงานเทศบาลในสังกัด จึงมีเหตุเพียงพอที่จะสั่งให้ผู้ฟ้องคดีประจำเทศบาลได้ (๓) ไม่ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีเหตุโกรธเคืองหรือข้อพิพาทกับผู้ฟ้องคดี อันจะฟังได้ว่าการสั่งให้ผู้ฟ้องคดีประจำเทศบาลเป็นการกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีหรือดำเนินการไปโดยพลการหรือตามอำเภอใจแต่อย่างใด
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีประจำเทศบาลเป็นเวลา ๓ เดือน จึงชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ จึงเป็นการวางหลักปฏิบัติราชการที่ดีเกี่ยวกับการใช้อำนาจของนายกเทศมนตรีในการมีคำสั่งให้พนักงานเทศบาลไปประจำเทศบาล โดยไม่จำเป็นต้องรอการสอบสวนจนได้ข้อยุติหรือฟังได้ว่ามีมูลความผิดทางวินัย แต่จะต้องพิจารณาว่ามี “เหตุเพียงพอ” ที่จะสั่งหรือไม่ เช่น หากให้พนักงานเทศบาลที่ถูกร้องเรียนอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ต่อไปจะเกิดปัญหาอุปสรรคในการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงและการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาทางปกครองชอบด้วยกฎหมาย เช่น ความเป็นกลางหรือความไม่มีอคติลำเอียงในการใช้อำนาจ เป็นต้น นอกจากนี้ การใช้อำนาจจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมาย ระเบียบหรือประกาศกำหนด กล่าวคือ นายกเทศมนตรีไม่อาจใช้อำนาจโดยพลการหรือตามอำเภอใจแต่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด (ก.ท.จ.) ก่อนที่จะใช้อำนาจมีคำสั่งให้พนักงานเทศบาลไปประจำเทศบาลได้
เครดิต : นายสุทธิกร จิตต์พานิชย์ , พนักงานคดีปกครองชำนาญการ , สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง , คอลัมน์ระเบียบกฎหมาย วารสารกานันผู้ใหญ่บ้าน ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๖๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...