28 มิ.ย. 2562

ป่วยจริงแต่ยังปฏิบัติงานได้ ถือว่า “ไม่มีเหตุผลอันสมควร” ต้องละทิ้งหน้าที่ !

นอกจากจะต้องปฏิบัติงานให้เป็นไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สาเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลแล้ว ข้าราชการยังต้องประพฤติปฏิบัติตนภายใต้กรอบของระเบียบวินัยที่ทางราชการ ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
ดังเช่นการลาป่วยของข้าราชการ แม้จะเป็นสิทธิของข้าราชการที่พึงลาได้ แต่ต้องปฏิบัติตามข้อ ๑๗ ของระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยต้องเสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตก่อนหรือในวันที่ลา เว้นแต่กรณีจำเป็นจะเสนอหรือจัดส่งใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการก็ได้ และกรณีที่มีอาการป่วยจนไม่สามารถลงชื่อในใบลาได้จะให้ผู้อื่นลาแทนก็ได้ แต่เมื่อสามารถลงชื่อได้แล้วให้เสนอหรือจัดส่งใบลาโดยเร็ว และกรณีที่ข้าราชการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๘๕ (๓)
ข้อพิพาทที่นามาเป็นอุทาหรณ์คดีปกครองในคอลัมน์ “Knowledge” ฉบับนี้ เป็นกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยพฤติการณ์ของข้าราชการที่ป่วย (จริง) หลายวัน แต่ไม่รุนแรงถึงขนาดจะมาทางานไม่ได้และได้ยื่นใบลาป่วยทางไปรษณีย์ภายหลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว
พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่ามี “เหตุผลอันสมควร” หรือไม่ ?
มูลเหตุของคดีเกิดจากนายสมหมาย (นามสมมติ) ข้าราชการครูได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการอีกโรงเรียนหนึ่ง และเมื่อครบกำหนดการช่วยราชการต้องกลับไปปฏิบัติราชการที่โรงเรียนต้นสังกัดเดิม ตั้งแต่วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๒ แต่นายสมหมายไม่ได้มารายงานตัวและไม่ได้ไปปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๒
หน่วยงานราชการต้นสังกัดจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและผู้อำนวยการโรงเรียนต้นสังกัดมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ในส่วนของการสอบสวนทางวินัย คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดและนายสมหมายได้รับทราบ แต่ไม่ได้ดำเนินการตามคำสั่งหรือโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด
ต่อมา ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงมีคำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงไล่ออกจากราชการ ตามความเห็นของคณะกรรมการฯ ฐานจงใจละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หลังจากนั้น นายสมหมายได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและให้กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม
คดีนี้ถึงแม้เป็นการกระทำผิดทางวินัยของข้าราชการครู แต่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๘๗ ได้กำหนดพฤติการณ์การละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือโดยมีพฤติการณ์ อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ และได้นาระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาใช้บังคับแก่ข้าราชการครูด้วย ดังนั้น จึงใช้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีสาหรับข้าราชการทั่วไปได้
โดยคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขาดราชการของนายสมหมาย (ผู้ฟ้องคดี) ตามที่ศาลปกครองสูงสุดรับฟังได้ คือ
 ไม่ได้ไปปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๒ จนถึงวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ (เกินกว่าสิบห้าวัน)
 ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อ ๑๗ ของระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๕ แต่ได้ส่งใบลาพร้อมกับใบรับรองแพทย์หลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและอยู่ระหว่าง การดาเนินการของคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง
 นายสมหมายเข้ารับการตรวจรักษาอาการป่วยกับแพทย์หลายครั้งและหลายแห่งจำนวน ๙ ครั้ง ด้วยอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้คล้ายจะอาเจียน ปวดบริเวณเบ้าตา สายตาพร่ามัว มองเห็นภาพ ไม่ชัดและมีภาพซ้อน โดยแพทย์ระบุว่ามีอาการผิดปกติที่ตาข้างซ้าย เนื่องจากสายตาเอียงร่วมกับสายตายาวและกระจกตาแห้ง ส่งผลให้มองภาพไม่ชัด เห็นภาพซ้อนและเวียนศีรษะ ส่วนตาขวาปกติ เมื่อแก้ไขด้วยแว่นแล้วอาการดีขึ้น แต่ไม่เท่าตาขวา จึงแนะนำให้ปิดตาซ้ายเมื่อไปทำงาน
 ปรากฏจากใบรับรองแพทย์ว่า อาการเจ็บป่วยเป็นกรณีที่แพทย์นัดให้ไปรับการตรวจรักษาและให้หยุดงานเพื่อพักรักษาอาการเจ็บป่วยเป็นครั้งคราว ไม่ถึงขนาดที่จะต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
 ปรากฏจากเอกสารบัญชีลงเวลาปฏิบัติราชการ พบลายมือชื่อการลงเวลามาปฏิบัติราชการในวันที่ ๒๖ และวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๒ แต่ไม่ได้ลงเวลากลับ และมีพยานพบเห็นและได้พูดคุยทักทายกัน หลังจากนั้น นายสมหมายได้ขี่รถจักรยานยนต์ออกไปจากโรงเรียนและไม่ได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่อีกเลย
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า อาการเจ็บป่วยของผู้ฟ้องคดียังไม่รุนแรงถึงขนาดที่จะต้องหยุดพักรักษาตัวติดต่อกันหลายวัน อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถเดินทางไปปฏิบัติราชการหรือยื่นใบลาป่วยได้ และแม้ว่าจะไม่สามารถยื่นใบลาได้ด้วยตนเอง แต่สามารถให้ผู้อื่นลาแทนได้เช่นกัน ทั้งเมื่อ ผู้ฟ้องคดีจัดส่งหนังสือรายงานอาการเจ็บป่วยและแนบใบรับรองแพทย์พร้อมใบนัดตรวจรักษาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็เป็นเหตุที่เกิดขึ้นภายหลัง
การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่ามีอาการเจ็บป่วยทางสายตาและไม่ได้ยื่นใบลาป่วยต่อผู้บังคับบัญชาตามระเบียบของทางราชการว่าด้วยการลา จึงไม่อาจถือได้ว่ามีเหตุผลอันสมควร การกระทำดังกล่าวถือเป็นการจงใจละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง (คาพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๑๒๖๖/๒๕๕๙)
คดีนี้ถือเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการหรือการประพฤติปฏิบัติตนที่ดีของข้าราชการ ไม่ว่าประเภทใดเกี่ยวกับการใช้สิทธิลาป่วยว่า เมื่อประสงค์จะลาป่วยจะต้องเสนอใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลาดับชั้นก่อนหรือในวันที่ลา หากจำเป็นจะเสนอใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการก็ได้ และการไม่จัดส่งใบลาป่วยตามระเบียบของทางราชการและขาดราชการติดต่อในคราวเดียวกันเกินกว่าสิบห้าวัน โดยอาการป่วยนั้นยังสามารถไปปฏิบัติงานได้ พฤติการณ์ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงถึงขั้นปลดออกหรือไล่ออกจากราชการได้
เครดิต : นางสาวจารุณี กิจตระกูล พนักงานคดีปกครองชำนาญการ , กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร , สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง , การปฏิบัติตนให้เป็นข้าราชการที่ดีไม่ว่าจะเป็นข้าราชการประเภทใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...