27 มิ.ย. 2562

สิทธิในการฟ้องกระทรวงการคลัง และการฟ้องเพิกถอน “ความเห็นของกระทรวงการคลัง”... ในการตรวจสำนวนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความรับผิดทางละเมิดตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ หากเจ้าหน้าที่ผู้รับคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเนื่องจากคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มีสถานะเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนั้น ก่อนฟ้องคดีต่อศาลปกครองผู้ฟ้องคดีจะต้องดำเนินการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ก่อนฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง นอกจากผู้ฟ้องคดีมีสิทธิที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้ออกคำสั่งดังกล่าวแล้ว มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า
(๑) กระทรวงการคลังหรือกรมบัญชีกลางซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้ถูกฟ้องคดีได้หรือไม่ ? และ
(๒) นอกจากผู้ฟ้องคดีจะฟ้องโดยมีคำขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแล้ว จะมีคำขอให้ศาลปกครองเพิกถอน “ความเห็นของกระทรวงการคลัง” ได้หรือไม่ ?
ทั้งนี้ เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ข้อ ๑๗ และข้อ ๑๘ กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติในเรื่องนี้ว่า เมื่อผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดได้รับผลการพิจารณาของคณะกรรมการแล้ว ให้ส่งสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดไปให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ และเมื่อกระทรวงการคลังมีความเห็นเช่นใดแล้ว หน่วยงานของรัฐต้องมีคำสั่งตาม “ความเห็นของกระทรวงการคลัง” โดยหน่วยงานของรัฐไม่มีอำนาจมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เว้นแต่หน่วยงานของรัฐที่เป็นราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ให้วินิจฉัยสั่งการได้ตามที่เห็นว่าถูกต้อง
ปัญหาประการแรก เจ้าหน้าที่จะฟ้องกระทรวงการคลังหรือกรมบัญชีกลางซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังเป็นผู้ถูกฟ้องคดีได้หรือไม่ ?
ประเด็นปัญหานี้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ในคำสั่ง ศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๙๐/๒๕๕๙ ว่า เจ้าหน้าที่ผู้ที่ได้รับคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (ผู้ฟ้องคดี) มีสิทธิฟ้องกระทรวงการคลังหรือกรมบัญชีกลางซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังได้ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
โดยมีเหตุผลสาคัญ คือ (๑) เมื่อกระทรวงการคลังมีความเห็นเช่นใด หน่วยงานของรัฐต้องมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลังตามข้อ ๑๘ วรรคหนึ่ง ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยหน่วยงานของรัฐ ไม่มีอำนาจมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ความเห็นของกระทรวงการคลังจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีและเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากก่อให้เกิดคำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเป็นวัตถุแห่งคดีที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลเพิกถอน ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิฟ้องกระทรวงการคลังหรือกรมบัญชีกลางซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง
(๒) หากกระทรวงการคลังหรือกรมบัญชีกลางซึ่งมีความเห็นให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ได้เข้ามาต่อสู้คดี ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่ต้องรับผิด เมื่อศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง กระทรวงการคลังหรือกรมบัญชีกลางก็จะไม่มีสิทธิอุทธรณ์เพื่อยืนยันความเห็นของตน ซึ่งอาจทำให้การตรวจสอบกรณีความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้กระทรวงการคลัง มีส่วนสาคัญในการดูแลทรัพย์สินของรัฐไม่อาจใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(๓) ถ้าศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในส่วนที่ฟ้องกระทรวงการคลังหรือกรมบัญชีกลาง หลังจากคดีถึงที่สุดแล้ว หากกระทรวงการคลังหรือกรมบัญชีกลางมีสิทธิขอพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็จะเป็นภาระทำให้ต้องพิจารณาคดีนี้ใหม่อีกครั้งหนึ่งและทำให้คดีล่าช้าโดยไม่สมควร
ปัญหาประการที่สอง เจ้าหน้าที่จะฟ้องเพิกถอน “ความเห็นของกระทรวงการคลัง” ได้หรือไม่ ?
ประเด็นปัญหานี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๘๒/๒๕๖๐ โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการบานาญ ได้รับคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่กระทรวงการคลังมีความเห็น จึงนำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและเพิกถอนหนังสือแจ้งผลการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของกระทรวงการคลัง
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า แม้หนังสือของกระทรวงการคลังที่แจ้งผลการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดจะมีผลผูกพันให้หน่วยงานของรัฐต้องมีคำสั่งตาม แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ การพิจารณาทางปกครองเพื่อออกคำสั่งทางปกครองเท่านั้น ยังไม่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล อันจะถือได้ว่าเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากหนังสือดังกล่าวที่จะมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนหนังสือแจ้งผลการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของกระทรวงการคลังตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ (ทานองเดียวกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๕๖๔-๕๖๙/๒๕๕๘)
จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวจึงเป็นการวางหลักว่า การฟ้องเพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิที่จะฟ้องกระทรวงการคลังหรือกรมบัญชีกลางซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังได้ เนื่องจากความเห็นของกระทรวงการคลังก่อให้เกิดคำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงิน แต่ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนความเห็นของกระทรวงการคลังตามข้อ ๑๘ ของระเบียบสานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
เครดิต : นางสาวจิดาภา มุสิกธนเสฏฐ์ พนักงานคดีปกครองชานาญการ , กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร , สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง , วารสารกรมบัญชีกลาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...