28 มิ.ย. 2562

ข้าราชการชายมีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศหญิง ... ไม่ถูกลงโทษทางอาญาจะลงโทษทางวินัยได้หรือไม่ ?

การล่วงละเมิดทางเพศ การข่มขืนกระทำชาเรา เป็นข่าวให้เราท่านได้ยินได้ฟังกันบ่อยครั้ง
เรื่องแบบนี้ไม่อยากให้เกิด แต่ก็เกิด ไม่อยากได้ยินข่าว แต่ก็ได้ยินข่าว !!
แม้กระทั่งในสถานที่ราชการที่ข้าราชการเป็นผู้มีหน้าที่ “ทำราชการ” ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งหากข้าราชการไม่ทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ แต่กลับใช้อำนาจหน้าที่กระทำผิดในลักษณะดังกล่าว หน่วยงานราชการย่อมได้รับผลกระทบกระเทือนจากความไม่ไว้วางใจของประชาชนไม่มากก็น้อย
ในส่วนตัวข้าราชการที่มีพฤติกรรมดังกล่าว นอกจากจะได้รับโทษทั้งทางอาญาแล้ว ยังต้องได้รับโทษทางวินัยอีกด้วย แต่ ... หากในคดีอาญาถูกยกฟ้อง เพราะเหตุที่พยานหลักฐานไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะลงโทษทางอาญาได้ กรณีดังกล่าวหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดมีอำนาจดำเนินการทางวินัยและข้าราชการจะมีความผิด ที่ต้องถูกลงโทษทางวินัยหรือไม่ ?
คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังฉบับนี้ ไขข้อข้องใจได้ครับ !...
มูลเหตุของคดีเกิดจาก นาย ก. เป็นข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงกรณีข่มขืนกระทำชำเรานางสาว ข. (ผู้ต้องหาหญิง) ผู้บังคับการตารวจภูธรจังหวัดจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและมีคำสั่งลงโทษทางวินัยไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ
ในด้านของผู้เสียหาย คือ นางสาว ข. ก็ได้แจ้งความและดำเนินคดีอาญา ซึ่งศาลจังหวัดได้พิพากษาลงโทษจาคุกนาย ก. ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชาเรา แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นให้ยกฟ้อง
เมื่อได้รับคำสั่งลงโทษทางวินัย นาย ก. ก็ได้อุทธรณ์คำสั่ง แต่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ มีมติยกอุทธรณ์ นาย ก. เห็นว่าตนไม่ได้กระทำความผิดและศาลได้ยกฟ้องในคดีอาญาแล้ว จึงฟ้องผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) ขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการและให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการดังเดิม
คำสั่งลงโทษทางวินัยไล่ออกจากราชการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
มาดูข้อเท็จจริงในคดีกันก่อนนะครับ !
วันที่เกิดเหตุเวลาประมาณ ๑๑ นาฬิกา นางสาว ข. ผู้เสียหายถูกจับกุมข้อหาลักทรัพย์และถูกนำตัวส่งพนักงานสอบสวนพร้อมของกลาง โดยนาย ก. เป็นผู้ช่วยสิบเวรในการควบคุมดูแลผู้ต้องขังของสถานีตารวจภูธร ซึ่งต้องทำหน้าที่ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ กำหนดไว้ คือ ค้นตัวผู้ต้องหา และยึดสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ การทำหน้าที่ต้องทำโดยสุภาพ ถ้าค้นผู้ต้องหาหญิงต้องให้ผู้หญิงค้น
ปัญหา คือ นาย ก. เป็นเจ้าหน้าที่ชาย เมื่อรับตัวผู้ต้องหาหญิงมาไว้ในการควบคุมดูแล ได้ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกาหนดไว้หรือไม่ ? โดยพยานทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นจับกุมและผู้ต้องหาที่ถูกขังอยู่บนห้องขังในสถานีตำรวจให้ถ้อยคำว่า ในการค้นตัวนางสาว ข. ผู้เสียหาย นาย ก. ได้ลวนลามทางเพศผู้เสียหายในเวลากลางวัน และข่มขืนกระทำชาเราในเวลากลางคืน และได้มีการกระทำในลักษณะเดียวกันนี้กับนาง ส. ผู้ต้องหาหญิงอีกราย (ที่เป็นพยาน) ส่วนนาย ก. ยืนยันว่าได้ให้ผู้เสียหายแสดงความบริสุทธิ์เอง
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า บทบัญญัติมาตรา ๘๕ ให้อำนาจเจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้รับตัวผู้ถูกจับไว้ ในการตรวจค้นเพื่อหาพยานหลักฐาน และขณะเดียวกันหากผู้ต้องหาเป็นผู้หญิงกฎหมายก็ให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จักไม่ถูกละเมิดต่อเนื้อตัวร่างกาย
จึงเห็นได้ว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดี (นาย ก.) มิใช่การตรวจค้นเพื่อพบสิ่งของที่อาจยึดเป็นพยานหลักฐานในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ แต่เป็นการกระทำที่อาจเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารและข่มขืนกระทำชาเราหญิงอื่นที่มิใช่ภรรยาตน
แม้ศาลอุทธรณ์ไม่อาจลงโทษผู้ฟ้องคดีได้ เพราะยังมีความเคลือบแคลงสงสัยตามสมควร อันเนื่องมาจากหลักในการดำเนินคดีอาญาที่โจทก์ต้องพิสูจน์ความผิดของจำเลยอย่างชัดแจ้ง จึงจะฟังลงโทษจำเลยได้ แต่ในคดีวินัยเป็นเรื่องการควบคุมความประพฤติของเจ้าหน้าที่ของรัฐให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย หากกระทำผิดเสียเองย่อมต้องได้รับโทษทางวินัย แม้ยังมีเหตุสงสัยก็ตาม
เมื่อผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์ล่วงละเมิดทางเพศผู้ต้องขังหญิงซึ่งอยู่ในความควบคุมของตน อันถือได้ว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๗๙ (๕) แห่งพระราชบัญญัติตารวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (คาพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๗๕๓/๒๕๖๐)
คดีนี้ ถือเป็นบรรทัดฐานที่ดีสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งหน้าที่ใดก็ตามว่า จำต้องปฏิบัติงานให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ รวมถึงต้องประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ภายใต้กรอบของระเบียบวินัยที่ทางราชการได้วางแนวทางไว้ เพราะความประพฤติหรือพฤติกรรมบางอย่างแม้จะไม่มีความผิดหรือไม่อาจลงโทษในทางอาญาได้ เพราะการลงโทษทางอาญานั้นจะต้องปรากฏพยานหลักฐานชัดแจ้งจนปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด แต่สำหรับความผิดทางวินัยมีความมุ่งหมายที่จะควบคุมความประพฤติของข้าราชการให้ดำรงตนในกรอบของกฎหมาย เมื่อกระทำการอันไม่สมควรแก่ตำแหน่งหน้าที่ที่ดำรงอยู่หรือประพฤติปฏิบัตินอกกรอบของกฎหมายและพยานหลักฐานเชื่อได้ว่าได้มีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นความผิดทางวินัยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ย่อมถูกลงโทษทางวินัยได้ ครับ !
เครดิต : (คมชัดลึก) ข้าราชการชายมีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศหญิงฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...