27 มิ.ย. 2562

การถูกดำเนินการทางวินัย...กับ...การถูกดำเนินคดีอาญา

ข้าราชการหลายท่านยังสับสนกับกรณีข้าราชการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางวินัยในเรื่องที่ถูกดำเนินคดีอาญา ว่า เป็นเรื่องเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกันหรือไม่อย่างไร ซึ่งในเรื่องดังกล่าวมีเนื้อหาสาระและแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่จะทำให้สามารถเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น ดังนี้
การถูกดำเนินการทางวินัย มีวัตถุประสงค์เป็นมาตรการที่มุ่งปราบปรามข้าราชการที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับกำหนด โดยวิธีการลงโทษทางวินัยซึ่งมีผลเป็นการปรามไม่ให้ข้าราชการอื่นกระทำผิดวินัยเพราะเกรงกลัวกับการลงโทษ
การรับฟังพยานหลักฐานเพื่อลงโทษทางวินัยนั้น ผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ดุลพินิจสั่งลงโทษโดยพิจารณาจากพยานหลักฐานและพฤติการณ์ตามสำนวนของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ประกอบกับคุณงามความดีที่เคยกระทำในครั้งก่อนเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดวินัยไม่ร้ายแรงได้
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดบทบัญญัติในเรื่องวินัยและการรักษาวินัยไว้ในมาตรา 82 ถึง มาตรา 94 โดยในมาตรา 95 ได้มีบทบัญญัติบังคับให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยกับผู้ใต้บังคับบัญชาทันทีในกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่า ข้าราชการฯผู้นั้นกระทำผิดวินัย ซึ่งหากผู้บังคับบัญชาละเลยไม่ดำเนินการทางวินัยกับผู้ใต้บังคับบัญชาหรือมีพฤติกรรมปกป้อง ช่วยเหลือเพื่อมิให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาถูกลงโทษทางวินัยหรือดำเนินการทางวินัยโดยไม่สุจริต กฎหมายก็บัญญัติให้ถือว่าผู้บังคับบัญชาผู้นั้น กระทำผิดวินัย ไว้ด้วย
ขั้นตอนเมื่อถูกลงโทษทางวินัยแล้ว ผู้ถูกลงโทษมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยได้ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง (หากพ้นกำหนดอุทธรณ์แล้ว ไม่ยื่นอุทธรณ์ถือว่ากรณีดังกล่าวสิ้นสุด) หากยื่นอุทธรณ์แล้ว ผู้อุทธรณ์ไม่พอใจผลการอุทธรณ์ก็ยังมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการอุทธรณ์ (หากพ้นกำหนดยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้วไม่ยื่นถือว่ากรณีดังกล่าวสิ้นสุด) และหากศาลปกครองมีคำพิพากษาอย่างใดแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่พึงพอใจตามคำพิพากษาก็ยังมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษานั้นต่อศาลปกครองสูงสุดได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด
การถูกดำเนินคดีอาญา มีวัตถุประสงค์ที่มุ่งประสงค์ควบคุมการกระทำของบุคคลในสังคมมิให้กระทำการที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิดอาญา เพื่อคุ้มครองสังคมโดยรวมให้มีความสงบสุข
การรับฟังพยานหลักฐานเพื่อลงโทษในคดีอาญานั้นจะลงโทษได้เมื่อพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัย หากพยานหลักฐานไม่ชัดเจนมีข้อระแวงสงสัยศาลก็จะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย โดยยึดหลักที่ว่า “ปล่อยคนผิด ร้อยคน ดีกว่าตัดสินจำคุกคนถูกเพียง คนเดียว”
ขั้นตอนเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดและกำหนดโทษแล้ว จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกาได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด
การสอบสวนทางวินัยเกี่ยวเนื่องคดีอาญา กรณีที่การกระทำผิดวินัยของข้าราชการเข้าลักษณะเป็นความผิดทางอาญาด้วยนั้น ผลการดำเนินการทางวินัยอาจแตกต่างจากผลการดำเนินคดีอาญา เพราะการดำเนินการทางวินัยกับการดำเนินคดีอาญาเป็นกระบวนการที่แยกต่างหากจากกัน และแม้จะปรากฏว่าผลการดำเนินคดีอาญาแตกต่างออกไป แต่ก็ไม่กระทบต่อการพิจารณาลงโทษทางวินัยที่ได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้นในกรณีที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนในความผิดทางวินัยและปรากฏว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเข้าลักษณะเป็นความผิดทางอาญาที่ไม่ใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ คณะกรรมการสอบสวนก็จะต้องทำการสอบสวนไปตามคำสั่งนั้น เพราะกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ. 2550 ได้กำหนดหน้าที่และวิธีการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยไว้เป็นส่วนหนึ่ง ต่างหากจากการดำเนินคดีอาญา ถ้าผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัยฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยก็ควรสั่งลงโทษโดยไม่ชักช้า แต่ถ้าผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัยยังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัย
กรณีเช่นนี้ผู้นั้นก็ยังตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ถูกฟ้องคดีอาญา ถ้าไม่ใช่คดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท กฎหมายให้อำนาจผู้บังคับบัญชาสั่งให้รอฟังผลทางคดีอาญาได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้จึงสมควรรอการสั่งเด็ดขาดไว้ก่อนจนกว่าจะทราบผลทางคดีอาญา ทั้งนี้ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ สร 0905/ว 4 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2509 และที่ สร 0905/ว 9 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2509
การรอผลคดีอาญา ศาลปกครองสูงสุดได้มีแนววินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ตามคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.142/2549 ว่า “การดำเนินการทางวินัยไม่ต้องรอผลคดีอาญา และผลของคดีอาญาจะเป็นประการใดไม่ผูกมัดผู้ดำเนินการทางวินัยที่จะเห็นแตกต่างได้ หากได้กระทำไปโดยสุจริตและเป็นไปตามกฎหมายแล้ว” และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. 67/2547 วินิจฉัยว่า “ผลการลงโทษทางวินัยและผลการลงโทษทางอาญาหาจำต้องมีผลไปในทางเดียวกัน เพราะกระบวนการพิจารณาทางวินัยและทางอาญามีความแตกต่างกัน การรับฟังพยานหลักฐานก็แตกต่างกัน ทั้งการมีอยู่ของพยานหลักฐานและการให้ถ้อยคำหรือการเบิกความของพยานอาจจะมีความแตกต่างกันได้ จึงไม่จำต้องรอผลการพิจารณาทางอาญาก่อนแต่ประการใด เมื่อมีการดำเนินการทางวินัยจนมีการสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดี หากภายหลังปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ผลของการได้รับโทษจำคุกดังกล่าวถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดีในเรื่องดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นการดำเนินการทางวินัยซ้ำซ้อน ถึงแม้มูลกรณีการกระทำความผิดเป็นเหตุเดียวกันกับผลการดำเนินการทางวินัยที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ก็ตาม” ซึ่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.67/2547 นี้ได้วางหลักกรณีการลงโทษทางวินัยที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาว่าเมื่อมีการดำเนินการทางวินัยและได้สั่งลงโทษแก่ข้าราชการผู้ใดไปแล้ว หากปรากฏภายหลังว่าข้าราชการผู้นั้นกระทำผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก ผลของการได้รับโทษจำคุกเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงซึ่งเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ผู้บังคับบัญชายังสามารถสั่งลงโทษไล่ออกหรือปลดออกได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการดำเนินการทางวินัยซ้ำ แม้มูลกรณีการกระทำความผิดจะเป็นเหตุเดียวกัน
งานวินัยและนิติการ กลุ่มบริหารงานบุคคล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...