3 ก.ค. 2562

การปฏิบัติงานทางด้านช่างให้เป็นไปตามข้อสังเกตของ สตง.

เจ้าหน้าที่ทางด้านช่างจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดจ้างโดยสรุปแล้ว จะประกอบด้วย
1. การสำรวจและออกแบบ ประมาณราคาค่าก่อสร้าง จัดทำแบบแปลนและคณะกรรมการกำหนดราคากลาง
2. ผู้ควบคุมงาน
3. คณะกรรมการตรวจการจ้าง
การสำรวจ ออกแบบ ประมาณราคาจัดทำแบบแปลนและจัดทำราคากลาง
ให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการ ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว948 ลงวันที่ 5 เมษายน 2555 (เอกสาร 1) ซึ่งสาระสำคัญประกอบด้วย
1. การสำรวจต้องชัดเจน สภาพพื้นที่ สภาพแวดล้อมหรือข้อมูลต่างๆ ต้องเพียงพอต่อการออกแบบและคำนวณปริมาณงาน เช่น หมุดอ้างอิง ค่าระดับ และอื่นๆ
2. การออกแบบต้องถูกต้อง เหมาะสมกับการใช้งาน เป็นไปตามหลักวิชาการทางด้านช่าง กำหนดค่าระดับ จัดทำรูปตัดความยาว (Profile Leveling) รูปตัดตามขวาง (Cross Section) เป็นต้น
3. แบบแปลนต้องสามารถถอดแบบ จัดทำรายการปริมาณงานและแสดงที่ไปที่มาของงบประมาณการเบื้องต้นไว้ด้วย ควรเก็บเอกสารหลักฐานแสดงที่ไปที่มาของข้อมูล เช่น Field Book สมุดจัดทำรายการคำนวณ เป็นต้น
4.รายละเอียดการถอดแบบ ให้ถือปฏิบัติตามหนังสือกรมบัญชีกลางด่วนที่สุด ที่ กค 0421.5/ว399 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2558 เรื่อง การปรับปรุงรายละเอียดประกอบการถอดแบบคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง (เอกสาร 2)
5. การเลือกใช้ Factor F ต้องสอดคล้องกับลักษณะงานซึ่งประกอบด้วย งานอาคาร งานทาง งานสะพานและท่อเหลี่ยม และงานชลประทาน องค์ประกอบของ Factor F จะมี 4 ส่วน คือ ค่าอำนวยการ ค่าดอกเบี้ย กำไร และภาษี การใช้ Factor F แต่ละประเภทจะแตกต่างกันอยู่ที่ค่าอำนวยการ สำหรับค่าดอกเบี้ย กำไร และภาษีจะเท่ากันทุกลักษณะงาน และให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง ข้อ 6 ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555(เอกสาร 3)
6. ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก หากจะให้มีการตรวจรับงานก่อนการบ่มคอนกรีตให้ครอบอายุ 28 วัน จะต้องระบุเงื่อนไขในการตรวจรับงานไว้ในแบบแปลนให้ชัดเจนโดยระบุว่า “ผิวจราจรคอนกรีต ให้ใช้คอนกรีตที่มีกำลังอัดประลัยของแท่งตัวอย่างคอนกรีตลูกบาศก์ 15 x 15 x 15 ซม. อายุ 28 วัน แต่จะตรวจรับผลงานให้เมื่อนำแท่งตัวอย่างคอนกรีตดังกล่าวที่อายุ 7 วัน ไปทำการทดสอบและสามารถรับน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75% ของกำลังอัดคอนกรีตอายุ 28 วัน และสามารถเปิดใช้งานได้(เอกสาร 4)
7. การเลือกใช้ค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรกล ต้องดูคำนิยามบรรยายเกี่ยวกับลักษณะงานให้ชัดเจน เช่น งานขุดดินด้วยเครื่องจักรกับงานขุดลอกด้วยรถขุด มีความแตกต่างกันอย่างไร ให้เลือกใช้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ หากเลือกผิดอาจเกิดความเสียหายกับทางราชการได้(เอกสาร 5)
8. ราคาต้นทุนต่อหน่วย เช่น ราคาค่าดินจากแหล่งดินและราคาค่าลูกรังจากแหล่งลูกรัง ให้คิดจาก(ราคาประเมินที่ดิน)/หาร 2Xขนาดพื้นที่ 1,600 ตร.ม.Xความลึก 3 ม.
30,000/2X1,600X3 = 3.125 บาท/ลบ.ม.
(ราคาประเมินที่ดิน)/หาร 2Xขนาดพื้นที่ 1,600 ตร.ม.Xความลึก 2 ม.
75,000/2X1,600X2 = 11.72 บาท/ลบ.ม.(เอกสาร 6)
9. ราคาวัสดุอุปกรณ์และแรงงานก่อสร้างให้ยึดราคาของพาณิชย์จังหวัดเป็นหลัก ซึ่งราคาแต่ละเดือนจะออกประมาณปลายเดือน ทำให้ไม่มีเวลาทำงานจึงอนุโลมให้ใช้ราคาของเดือนที่ผ่านมาได้ เช่น จัดทำราคากลางของเดือนกรกฎาคม อาจใช้ราคาของพาณิชย์จังหวัดเดือนมิถุนายนก็ได้ การประมาณราคาหรือจัดทำราคากลางควรหลีกเลี่ยงการใช้ราคาเหมาจ่าย ต้องจำแนกแจกแจงให้ละเอียดชัดเจน
10. ราคาวัสดุอุปกรณ์รายการไหนไม่มีในของพาณิชย์จังหวัดคณะกรรมการกำหนดราคากลาง สามารถสืบราคาจากท้องตลาดได้ โดยสืบอย่างน้อย 3 แห่งขึ้นไป โดยมีหลักฐานการสืบราคา แล้วนำทั้งสามราคามาหาค่าเฉลี่ย จึงนำค่าเฉลี่ยที่ได้มาจัดทำเป็นราคากลาง
11. ประมาณราคาเป็นราคาที่ประมาณการไว้เพื่อตั้งจ่ายงบประมาณเมื่อเข้ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง คณะกรรมการกำหนดราคาต้องจัดทำขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง อาจเป็นคนละราคากับที่ประมาณการไว้
12.เอกสารประกอบการจัดทำราคากลาง เข้ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จะประกอบด้วย
- บันทึกขอแต่งตั้งและคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง
- ราคากลางและรายการคำนวณราคาต่อหน่วย
- รายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดราคากลาง
- ใบประมาณราคา ปร.4 และปร.5
- แบบแปลนแผนผังรายละเอียด
- ใบรายงาน ปปช.(มาตรการเปิดเผยราคากลาง)
- บันทึกข้อความเห็นชอบราคากลาง
- กรณีราคากลางเกิน 5 ล้านบาท ต้องมีหนังสือรายงานจังหวัด (มาตรการควบคุมการใช้เงินของท้องถิ่น)(เอกสาร 7)
13. กรณีที่มีการเสนอราคาต่ำกว่าราคาที่สมควรจ้าง 15 % คณะกรรมการกำหนดราคากลางต้องรายงานให้ สตง.ทราบ การรายงานคือ การส่งราคากลาง เอกสารการคำนวณราคาต่อหน่วย และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องส่งให้ สตง.ตรวจสอบ(15% ของราคาที่สมควรจ้าง คือ ส่วนต่างของราคากลางลบด้วยราคาที่ผู้รับจ้างเสนอ หารด้วย ราคาที่ผู้รับจ้างเสนอ คูณด้วย 100)
14. ราคากลางจะมีอายุ 30 วัน นับจากวันที่หัวหน้าหน่วยงานราชการให้ความเห็นชอบ หากไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างทัน 30 วัน คณะกรรมการกำหนดราคากลางจะต้องจัดทำราคากลางใหม่ ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน
การควบคุมงานก่อสร้าง
ผู้ควบคุมงานเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 ข้อ 66 โดยกำหนดหน้าที่ของผู้ควบคุมงานได้ดังนี้(เอกสาร 8)
1.ตรวจและควบคุมงาน ณ สถานที่ที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือที่ตกลงให้ทำงานจ้างนั้น ๆ ทุกวัน ให้เป็นไปตามแบบรูป รายการละเอียดและข้อกำหนดไว้ในสัญญาทุกประการ โดยสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติม หรือตัดทอนงานจ้างได้ตามที่เห็นสมควรและตามหลักวิชาช่างเพื่อให้เป็นไปตามแบบรูป รายการละเอียด และข้อกำหนดในสัญญา ถ้าผู้รับจ้างขัดขืนไม่ปฏิบัติตามก็สั่งให้หยุดงานนั้นเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดแล้วแล้วแต่กรณีไว้ก่อน จนว่าผู้รับจ้างจะยอมปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำสั่ง และให้รายงานคณะกรรมการตรวจการจ้างทันที
2.ในกรณีที่ปรากฏว่าแบบรูป รายการละเอียดหรือข้อกำหนดในสัญญามีข้อความขัดกัน หรือเป็นที่คาดหมายได้ว่าถึงแม้ว่างานนั้นจะได้เป็นไปตามแบบรูป รายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญา แต่เมื่อสำเร็จแล้วจะไม่มั่นคงแข็งแรง หรือไม่เป็นไปตามหลักวิชาช่างที่ดี หรือไม่ปลอดภัย ให้สั่งพักงานนั้นไว้ก่อนแล้วรายงานคณะกรรมการตรวจการจ้างโดยเร็ว
3.จดบันทึกสภาพการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างและเหตุการณ์แวดล้อมเป็นรายวันพร้อมทั้งผลการปฏิบัติงาน หรือการหยุดงานและสาเหตุที่มีการหยุดงานอย่างน้อย 2 ฉบับ เพื่อรายงานให้คณะกรรมการตรวจการจ้างทราบทุกสัปดาห์ และเก็บรักษาไว้เพื่อมอบให้แก่เจ้าหน้าที่พัสดุ เมื่อเสร็จงานแต่ละงวด โดยถือว่าเป็นเอกสารสำคัญของทางราชการเพื่อประกอบการตรวจสอบของผู้มีหน้าที่ ในการบันทึกการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างให้ระบุรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติงานและวัสดุที่ใช้ด้วย
4.ในวันกำหนดลงมือทำการของผู้รับจ้างตามสัญญา และในวันถึงกำหนดส่งมอบงานแต่ละงวดให้รายงานผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างว่าเป็นไปตามสัญญาหรือไม่ให้คณะกรรมการตรวจการจ้างทราบภายใน 3 วันทำการนับแต่วันถึงกำหนดนั้น ๆ
สรุป คือ ผู้ควบคุมงานจะต้องศึกษาสัญญา รูปแบบรายละเอียดหรือข้อกำหนดในสัญญาควบคุมการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างตลอดเวลาอายุสัญญา มีอำนาจสั่งเปลี่ยนแปลง แก้ไขเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นควรพร้อมบันทึกการปฏิบัติงานตลอดสัญญาเป็นรายวัน และทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างผู้รับจ้าง และคณะกรรมการตรวจการจ้าง ขณะปฏิบัติงานและในการตรวจรับงานแต่ละครั้ง
การรับ – ส่งหนังสือระหว่างผู้รับจ้าง ผู้ควบคุมงาน ประธานกรรมการตรวจการจ้าง ผู้ควบคุมงานต้องดำเนินการตามระเบียบงานสารบรรณทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ
ข้อควรปฏิบัติในการควบคุมงาน ดังนี้
1. จัดเตรียมแบบแปลน รายละเอียดข้อกำหนดการก่อสร้างสัญญาจ้าง ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง (ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้าง) เอกสารแนบท้ายสัญญาอื่นๆ เช่น แบบมาตรฐานต่างๆ เป็นต้น
2. นัดคณะกรรมการตรวจการจ้าง และผู้รับจ้างร่วมตรวจสอบสถานที่ดำเนินการให้เป็นไปตามผังบริเวณก่อสร้าง จุดเริ่มต้นจุดสิ้นสุดโครงการ ตำแหน่งการวางท่อระบายน้ำ หลักฐานเพื่อประกอบการอ้างอิง กำหนดแหล่งวัสดุเพื่อกำหนดน้ำไปทดสอบหาคุณสมบัติทางวิศวกรรม กำหนดช่วงงานดินถมและระดับดินถม (กรณีมีงานดินถม) ตรวจสอบเสาไฟฟ้า ท่อประปา เป็นต้น (รายละเอียดแนวทางปฏิบัติงานแต่ละประเภทตามเอกสารแนบท้าย)
3. จัดทำเอกสารการควบคุมงาน ต้องมีรายงานประจำวัน รายงานประจำสัปดาห์ เขียนรายละเอียดให้ครอบคลุมทุกด้าน เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ เครื่องจักร เครื่องมือ ปริมาณคนงาน วัสดุนำเข้า คุณภาพวัสดุ จุดที่ผู้รับจ้างทำงาน และปริมาณงานที่ทำได้แต่ละวัน ซึ่งจำนวนปริมาณงานที่ทำได้ต้องเขียนในเชิงสถิติ สามารถตรวจนับได้ เป็นต้น
4. กรณีมีงานดินตัด ดินถม งานขุดลอกหรืองานอื่นๆ จะต้องมีค่าระดับ พร้อมจัดทำรูปตัดตามยาว(Profile Leveling) รูปตัดตามขวาง (Cross section) และรายการคำนวณปริมาณงานเพื่อให้คณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจสอบเมื่องานแล้วเสร็จ
5. ในกรณีที่มีงานดินบดอัดแน่น หรืองานลูกรังบดอัดแน่นต้องนำตัวอย่างวัสดุดังกล่าวไปทดสอบในห้องทดสอบก่อนที่จะมาทำการทดสอบความแน่นในภาคสนาม
6. กรณีที่มีงานโครงสร้าง คสล.จะต้องทำตัวอย่างวัสดุเพื่อทดสอบคุณภาพ เช่น เหล็กเสริม รายการคำนวณการออกแบบส่วนผสมคอนกรีต ซึ่งต้องใช้วิศวกรโยธาระดับสามัญเป็นผู้รับรอง
7. กรณีงานโครงสร้าง คสล. ต้องเก็บตัวอย่างคอนกรีตขนาด0.15x0.15x0.15เมตรทุกชิ้นส่วนโครงสร้างหรือเก็บทุกครั้งที่มีการเทคอนกรีตทุก 50 ลบ.ม.และเศษ 50 ลบ.ม. จำนวน ครั้งละ 3 ลูก เพื่อทำการทดสอบกำลังอัด
8. การบดอัดแน่น จะต้องทำการทดสอบความหนาและความแน่นตามข้อกำหนดของแต่ละชั้นให้เรียบร้อยก่อน ถึงจะดำเนินการก่อสร้างชั้นต่อไปได้
9. ในกรณีก่อสร้างถนนลาดยาง จะต้องนำตัวอย่างวัสดุไปทดสอบคุณภาพเช่น ลูกรัง หินคลุก หินอ่อน 3/4” หรือ 3/8” หินฝุ่นและยางแอสฟัสท์ (ตามประเภทงาน) เป็นต้น
10.กรณีเกิดปัญหาในการทำงาน เช่น แบบแปลนรายละเอียดและประมาณการไม่ครบถ้วน หรือมีปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ดำเนินการต้องสั่งหยุดงานไว้ก่อน แล้วรายงานคณะกรรมการตรวจการจ้างทราบและวินิจฉัยโดยเร็ว บางกรณีอาจต้องรายงานถึงผู้ว่าจ้าง เพื่อแก้ไขสัญญา ขยายเวลาทำการ การงดหรือลดค่าปรับ
11. การส่งมอบงานผู้รับจ้างจะต้องส่งมอบงานผ่านผู้ควบคุมงานเพื่อตรวจสอบงานว่าแล้วเสร็จตามงวดงานหรือไม่ หากแล้วเสร็จผู้ควบคุมงานถึงจะต้องรายงานประธานตรวจรับการจ้าง เพื่อให้นัดตรวจรับผลงาน ผู้ควบคุมงานมีเวลาเสนอหนังสือส่งมอบงานภายใน 3 วันทำการ(เอกสาร 9)
คณะกรรมการตรวจการจ้าง
ได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 ข้อ 27 ข้อ 28 โดยสรุปได้ดังนี้(เอกสาร 10)
1. องค์ประกอบของคณะกรรมการอย่างน้อยมี 3 คน ประกอบด้วย
- ประธานกรรมการ 1 คน
- กรรมการอย่างน้อย 2 คน
การแต่งตั้งคำนึงถึงลักษณะงานหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นสำคัญ
2. กรณีจำเป็นจะแต่งตั้งคนที่มิใช่ข้าราชการร่วมเป็นกรรมการด้วยก็ได้
3. ถ้าประธานฯ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้หัวหน้าส่วนราชการแต่งตั้งประธานฯ แทน
4. ควรแต่งตั้งผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับงานจ้างร่วมเป็นกรรมการด้วย
5. มติของคณะกรรมการตรวจการจ้างให้มีมติเอกฉันท์ กรณีกรรมการคนใดไม่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการให้ทำบันทึกความเห็นแย้งไว้ หากหัวหน้าส่วนราชการสั่งการอย่างไรก็ให้ตรวจรับตามนั้น
6. เป็นกรรมการเปิดซองสอบราคาจ้าง หรือกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาจ้างหรือกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) หรือกรรมการประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว แต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจการจ้างได้
หน้าที่ของคณะกรรมการตรวจการจ้าง
1. ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุฯ ข้อ 65 ได้กำหนดหน้าที่คณะกรรมการตรวจการจ้างไว้ดังนี้
(1) ตรวจสอบรายงานการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง และเหตุการณ์แวดล้อมที่ผู้ควบคุมงานรายงาน โดยตรวจสอบกับแบบรูปรายการละเอียด และข้อกำหนดในสัญญาทุกสัปดาห์รวมทั้งรับทราบหรือพิจารณาการสั่งหยุดงาน หรือพักงานของผู้ควบคุมงาน แล้วรายงานหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป
(2) การดำเนินการตาม (1) ในกรณีที่มีข้อสงสัยหรือมีกรณีที่เห็นว่าตามหลักวิชาการช่างไม่น่าจะเป็นไปได้ ให้ออกตรวจงานจ้าง ณ สถานที่ที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือที่ตกลงให้ทำงานจ้างนั้นๆ โดยให้มีอำนาจสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติม หรือตัดทอนงานจ้างได้ตามที่เห็นสมควรและตามหลักวิชาการช่างเพื่อให้เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญา
(3) โดยปกติให้ตรวจผลงานที่ผู้รับจ้างส่งมอบภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ประธานกรรมการได้รับทราบการส่งมอบงาน และให้ทำการตรวจรับให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วที่สุด
(4) เมื่อตรวจเห็นว่าเป็นการถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามแบบรูป รายการละเอียด และข้อกำหนดในสัญญาแล้ว ให้ถือว่าผู้รับจ้างส่งมอบงานครบถ้วนตั้งแต่วันที่ผู้รับจ้างส่งงานจ้างนั้น และให้ทำใบรับรองผลการปฏิบัติงานทั้งหมดหรือเฉพาะงวด แล้วแต่กรณีโดยลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน อย่างน้อย 2 ฉบับ มอบให้แก่ผู้รับจ้าง 1 ฉบับ และเจ้าหน้าที่พัสดุ 1 ฉบับ เพื่อทำการเบิกจ่ายเงิน ตามระเบียบว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น และรายงานให้หัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยบริหารราชการส่วนท้องถิ่นทราบ
ในกรณีที่เห็นว่าผลงานที่ส่งมอบทั้งหมดหรืองวดใดก็ตามไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญา ให้รายงานหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุเพื่อทราบ หรือสั่งการแล้วแต่กรณี
(5) ในกรณีทีกรรมการตรวจการจ้างบางคนไม่ยอมรับงาน โดยทำความเห็นแย้งไว้ ให้เสนอหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อพิจารณาสั่งการ ถ้าหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นสั่งการให้ตรวจรับงานนั้นไว้ จึงจะดำเนินการตาม (4)
สรุป คือ จะต้องทำการตรวจการปฏิบัติงานของผู้ควบคุมงาน ผู้รับจ้างและตรวจการจ้างให้เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียด และข้อกำหนดในสัญญาให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด หากมีปัญหาหรือข้อขัดข้องในการปฏิบัติให้รายงานให้หัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นทราบหรือสั่งการแล้วแต่กรณี
2. ข้อกำหนดเงื่อนไขในสัญญา
คณะกรรมการตรวจการจ้าง ได้รับแต่งตั้งจากผู้ว่าจ้างให้ทำหน้าที่นอกจากจะต้องปฏิบัติตามตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุฯ แล้ว ยังมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขข้อกำหนดในสัญญาด้วย ซึ่งสรุปเฉพาะประเด็นสำคัญมี ดังนี้
- พิจารณาวินิจฉัย กรณีข้อความเอกสารแนบท้ายสัญญาขัดแย้งกันเอง จะต้องวินิจฉัยว่าจะให้ปฏิบัติตามข้อความใด (สัญญา ข้อ 2)
- การตรวจการจ้าง ตามสัญญา ข้อ 11 ได้กำหนดไว้ว่าถ้าผู้ว่าจ้างแต่งตั้งกรรมการตรวจการจ้าง ผู้ควบคุมงานหรือบริษัทที่ปรึกษา เพื่อควบคุมการทำงานของผู้รับจ้าง กรรมการตรวจการจ้างหรือผู้ควบคุมหรือบริษัทที่ปรึกษามีอำนาจเข้าไปตรวจงานในโรงงาน และสถานที่ที่กำลังก่อสร้างได้ทุกเวลาและผู้รับจ้างจะต้องอำนวยความสะดวกให้ความช่วยเหลือในการนั้นตามสมควร การที่มีกรรมการตรวจการจ้าง ผู้ควบคุมงานหรือบริษัทที่ปรึกษาหาทำให้ผู้รับจ้างพ้นความรับผิดชอบตามสัญญานี้ข้อหนึ่งข้อใดไม่
สรุป คือ กรรมการตรวจการจ้างมีอำนาจเข้าไปตรวจในโรงงานสถานที่ก่อสร้างได้ทุกเวลาโดยผู้รับจ้างจะต้องให้ความร่วมมือ กรณีที่การตรวจการจ้างหรือมีการรับงานจ้างตามที่ผู้รับจ้างส่งงานแล้วไม่ได้ทำให้ผู้รับจ้างพ้นความรับผิดชอบตามเงื่อนไขในสัญญาแต่อย่างใด
3. แบบรูปและรายการละเอียดคลาดเคลื่อน
ตามสัญญาข้อ 12 ได้กำหนดไว้ว่าผู้รับจ้างจะต้องรับรองว่าได้ตรวจสอบและทำความเข้าใจในแบบูรปรายละเอียดโดยถี่ถ้วนแล้ว หากปรากฏว่าแบบรูปและรายการละเอียดนั้นผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนไปจากหลักการทางวิศวกรรมหรือทางเทคนิค ผู้รับจ้างตกลงที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของกรรมการตรวจการจ้างหรือผู้ควบคุมงานหรือบริษัท ที่ปรึกษาที่ผู้ว่าจ้างแต่งตั้ง เพื่อให้งานแล้วเสร็จบริบูรณ์ โดยจะคิดค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มขึ้นจากผู้ว่าจ้างไม่ได้
สรุป คือ เป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างต้องตรวจสอบทำความเข้าใจแบบรูปและรายการละเอียดกรณีทีมีปัญหาเกี่ยวกับแบบรูปและรายการละเอียดผู้รับจ้างต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของกรรมการตรวจการจ้าง โดยจะคิดค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มขึ้นอีกไม่ได้
4. การควบคุมงานโดยผู้ว่าจ้าง
ตามสัญญา ข้อ 13 ได้กำหนดไว้ว่าผู้รับจ้างตกลงว่า กรรมการตรวจการจ้าง ผู้ควบคุมงาน หรือบริษัทที่ปรึกษาที่ผู้ว่าจ้างแต่งตั้ง มีอำนาจที่จะตรวจสอบและควบคุมงานเพื่อให้เป็นไปตามเอกสารสัญญา และมีอำนาจที่จะสั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม หรือตัดทอนซึ่งงานตามสัญญานี้ หากผู้รับจ้างขัดขืนไม่ปฏิบัติตามกรรมการตรวจการจ้าง ผู้ควบคุมงาน หรือบริษัทที่ปรึกษามีอำนาจที่จะสั่งให้หยุดกิจการนั้นชั่วคราวได้ ความล่าช้าในกรณีเช่นนี้ผู้รับจ้างจะถือเป็นเหตุขอขยายวันทำการออกไปมิได้
สรุป คือ กรรมการตรวจการจ้างมีอำนาจตรวจสอบเอกสารต่างๆ แก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมหรือตัดทอนงานตามความเหมาะสม ผู้รับจ้างต้องปฏิบัติตาม หากขัดขืนกรรมการตรวจการจ้างมีอำนาจสั่งหยุดงานชั่วคราวได้ และผู้รับจ้างจะนำเหตุนี้มาขอขยายอายุสัญญาไม่ได้
ขั้นตอนในการตรวจการจ้าง
ขั้นตอนในการตรวจการจ้างกล่าวโดยสรุป มีขั้นตอนในการดำเนินการ ดังนี้
1. ผู้รับจ้างมีหนังสือส่งงานถึงหน่วยงานเจ้าของสัญญา (ผู้ว่าจ้าง) หรือผู้ควบคุมงาน โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบการลงรับหนังสือตามระเบียบงานสารบรรณ
2. ผู้ควบคุมงาน ตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้อง ก่อนบันทึกเสนอถึงประธานกรรมการตรวจการจ้าง
3. ประธานกรรมการตรวจการจ้าง นัดวัน เวลา สถานที่ ทำการตรวจการจ้างแจ้งให้กรรมการตรวจการจ้างทุกท่านทราบ
4. กรรมการตรวจการจ้างทุกท่าน ลงนามรับทราบวัน เวลา สถานที่ ทำการตรวจรับ และไปทำการตรวจรับตามกำหนด
5. หากเห็นว่าการส่งงานถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามรูปแบบและข้อกำหนดสัญญา ลงนามในใบรับรองผลการปฏิบัติงาน โดยทำอย่างน้อย 2 ฉบับ ให้ผู้รับจ้าง 1 ฉบับ และเจ้าหน้าที่พัสดุ 1 ฉบับ เพื่อประกอบการเบิกจ่ายเงิน(เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางปฏิบัติ ควรให้ผู้รับจ้างลงนามรับทราบผลแจ้งหนังสือรับรองผลการปฏิบัติงานให้อีก 1 ฉบับ เพื่อแนบประกอบการเบิกจ่าย)
6. กรณีผลงานที่ส่งมอบไม่เป็นไปตามรูปแบบและข้อกำหนดสัญญา แจ้งให้ผู้รับจ้างแก้ไขและรายงานให้หน่วยงานผู้จัดทำสัญญาทราบหรือสั่งการแล้วแต่กรณี(เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางปฏิบัติให้แจ้งผู้รับจ้างทราบเป็นลายลักษณ์อักษรทันที และให้ปฏิบัติตามระเบียบงานสารบรรณ)
7. มติของคณะกรรมการตรวจการจ้างให้ถือมติเอกฉันท์ (ไม่ใช่เสียงข้างมาก) กรณีกรรมการตรวจการ-จ้างบางคนทำความเห็นแย้งไว้ ให้เสนอหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นสั่งการ ถ้าสั่งการให้รับก็ให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการตรวจรับ และลงนามในใบรับรองผลการปฏิบัติงานต่อไป
8. การตรวจการจ้างโดยปกติต้องตรวจสอบทั้งปริมาณและคุณภาพกล่าวคือ
- ปริมาณ ตรวจสอบว่าทำงานได้ปริมาณครบถ้วนถูกต้อง ปริมาณงานจริงกับที่ขอส่งงานตรงกัน หรือไม่
- คุณภาพ ตรวจสอบว่าวัสดุที่นำมาใช้ได้มาตรฐานตามที่กำหนดหรือไม่ หากต้องทดลอง ผลทดลองต้องใช้ได้ การตรวจการจ้างจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อการส่งมอบงานได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ จึงจะรับงานและส่งเบิกจ่ายเงินค่างานต่อไปได้
9. ในกรณีที่เป็นการก่อสร้าง ให้จัดทำรายงานการควบคุมเพื่อเสนอหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นลงนาม แจ้งความก้าวหน้าของงาน/โครงการ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุฯ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้ดำเนินการแจ้งให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตามหนังสือฯ ที่ ตผ. 0002/ว 149 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2545
ระยะเวลาในการตรวจการจ้าง
นอกจากระบุไว้ในตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุฯ ข้อ 65 แล้ว ยังมีหนังสือของสำนักนายกรัฐมนตรีซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับระยะเวลาในการตรวจการจ้างงานก่อสร้าง ตามหนังสือฯ ที่ นร 1305/ว 5855 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2544 สรุปได้ดังนี้
1. แบบราคาเหมารวม (Lump sum) ทุกราคาค่างาน
- แต่ละงวดงาน 3 วันทำการ
- งวดสุดท้าย 5 วันทำการ
2. แบบราคาต่อหน่วย (Unit cost) ทุกราคาค่างาน
- แต่ละงวดงาน 3 วันทำการ
- งวดสุดท้าย 5 วันทำการ
โดยมีหลักเกณฑ์ประกอบด้วยว่า
(1) ต้องเร่งรัดดำเนินการตรวจการจ้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ไม่ควรเกินระยะเวลาตามที่กำหนดข้างต้น
(2) การนับวันดำเนินการของคณะกรรมการตรวจการจ้าง ให้นับวันถัดจากวันที่ผู้ควบคุมงานได้ดำเนินการแล้วเสร็จและรายงานให้ประธานฯ ทราบ
(3) กรณีดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาให้รายงานหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเจ้าของสัญญา พร้อมเหตุผลความจำเป็นและแจ้งให้ผู้รับจ้างทราบด้วย
สรุป คือ คณะกรรมการตรวจการจ้าง จะต้องทำการตรวจการจ้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดและจะต้องไม่เกินระยะเวลาตามที่กล่าวมาข้างต้น หากเกินระยะเวลาต้องรายงานหัวหน้าหน่วยงานเจ้าของสัญญา พร้อมเหตุผลความจำเป็น และสำเนาแจ้งให้ผู้รับจ้างทราบด้วย และมติของคณะกรรมการตรวจการจ้างให้ถือมติเอกฉันท์ (ไม่ใช่เสียงข้างมาก)
แนวทางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจการจ้าง
ถ้าท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจการจ้าง ท่านควรดำเนินการดังนี้
1. ศึกษาเงื่อนไข ข้อกำหนดในสัญญา แบบรูปรายละเอียดการก่อสร้าง เอกสารแนบท้ายสัญญาให้เข้าใจก่อนทำการตรวจการจ้าง เช่น
- มีเอกสารแนบท้ายสัญญาอะไรบ้าง เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา หากข้อความในเอกสารแนบท้ายสัญญาขัดกับในสัญญาให้ใช้ข้อความตามสัญญา กรณีมีข้อความเอกสารแนบท้ายสัญญาขัดกันเอง ผู้รับจ้างต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ว่าจ้าง
- เงื่อนไขการจ่ายเงิน การจ่ายเงินล่วงหน้า การหักเงินประกันผลงาน การปรับฯลฯ ในสัญญากำหนดไว้อย่างไร
2. ทำการตรวจการจ้างตามหน้าที่ที่กำหนด ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุฯ ข้อ 65
3. ทำการตรวจการจ้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ไม่เกินระยะเวลาตามที่ระเบียบฯ กำหนด
4. ลงนามในใบรับรองผลการปฏิบัติงาน และใบแจ้งสงวนสิทธิ์การปรับ ตามสัญญาจ้าง ข้อ 15 (กรณีมีการปรับ)
5. จะต้องเป็นผู้ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น กรณีมีการแก้ไขสัญญา หรือขยายระยะเวลาทำการ หรือการงด หรือลดค่าปรับ ตามนัยหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร (กวพ) 1305/ว 11948 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2543
6 การตรวจการจ้างคณะกรรมการฯ ต้องมาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง มติของคณะกรรมการฯ ต้องเป็นเอกฉันท์ กรณีกรรมการบางคนมีความเห็นแย้งให้บันทึกความเห็นเสนอหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเจ้าของสัญญา พิจารณาสั่งการ เมื่อพิจารณาสั่งการให้ดำเนินการตามนั้น
7. การส่งมอบงานของผู้รับจ้างทุกครั้ง หนังสือส่งมอบต้องลงรับและประทับตรา ลงวันที่ เวลารับตามระเบียบงานสารบรรณทุกครั้ง(เอกสาร 11)
ข้อสังเกตที่ตรวจพบในการตรวจรับการจ้าง
1. คณะกรรมการตรวจรับการจ้างไม่ตรวจสอบรายงานการควบคุมงานประจำวันและประจำสัปดาห์ ให้เขียนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เช่น จดบันทึกการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างเป็นรายวันโดยสรุปว่า ผู้รับจ้างทำงานในขั้นตอนใด อย่างไร พร้อมทั้งรายงานสภาพอากาศแต่ละวัน ชนิดเครื่องจักรกลที่ใช้ในการทำงาน และปริมาณคนงาน พนักงานขับรถเครื่องจักร ไม่ระบุรายละเอียดวัสดุ (ดินถม คันทาง หรือลูกรัง) ที่ผู้รับจ้างนำมาใช้ก่อสร้างหรือปรับปรุงซ่อมแซมถนนว่า มีคุณสมบัติทางวิศวกรรมเป็นไปตามรูปแบบรายการมาตรฐานงานทาง และไม่จัดทำรูปแบบรายการก่อสร้างจริงเพื่อประกอบการตรวจการจ้างว่าสภาพพื้นที่เดิมของถนนลูกรังแต่ละสายทางมีค่าระดับความลึก ความกว้าง และความยาวของถนนเป็นระยะๆ (STA)เพื่อประกอบควบคุมงานและการตรวจการจ้างให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงจากการทำงานของผู้รับจ้างและประกอบการคำนวณปริมาณวัสดุดินถม และปริมาณวัสดุลูกรังว่าเป็นไปตามเงื่อนไขข้อกำหนดของสัญญาหรือไม่อย่างไร และคณะกรรมการตรวจการจ้างก็ไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องครบถ้วนของรายงานการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างที่ผู้ควบคุมงานได้รายงานกับแบบรูปรายการประกอบการตรวจการจ้างตามข้อ 65 และข้อ 66 ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2. เพื่อประกอบการตรวจการจ้างตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 65(1) และข้อ 129 และกรณีดังกล่าว ถือเป็นการจ้างเหมาขุดลอกแหล่งน้ำ คณะกรรมการตรวจการจ้างต้องถือปฏิบัติตามหนังสือคณะกรรมการว่าด้วยพัสดุกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด กค(กวพ) 0421.3/ว 147 ลงวันที่ 20 เมษายน 2555 เรื่อง การซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานการตรวจรับงานโครงการขุดลอกคูคลอง แจ้งตามหนังสือประทับตรากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0803/ว 1215 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 (เอกสาร 12)
3. คณะกรรมการตรวจการจ้าง ต้องตรวจสอบปริมาณงานภายหลังจากการดำเนินการแล้วเสร็จ โดยตรวจสอบปริมาณงานที่ทำได้จริง แล้วเปรียบเทียบกับปริมาณงานที่กำหนดไว้ในสัญญาตามหลักวิชาการทางด้านช่าง โดยมีผู้รับผิดชอบลงนาม ตรวจสอบ ก่อนดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ เพื่อประโยชน์ในการตรวจรับการจ้าง และประกอบการเบิกจ่ายค่าจ้าง
4. กรณีแบบแปลนและรายละเอียดมีความขัดแย้งกันหรือมความคาดเคลื่อน ผู้ควบคุมงานและคณะกรรมการตรวจการจ้างมักใช้ดุลพินิจให้ผู้รับจ้างดำเนินการเลย โดยไม่รายงานผู้ว่าจ้างเพื่อขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้าง ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 ข้อ 129 ถึงแม้การสั่งการนั้นอาจไม่ทำให้ราชการเสียหาย แต่ก็มีความบกพร่องในส่วนของการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย
5. การขอขยายเวลาทำการตามสัญญามีอยู่ 3 กรณี คือ (1) เหตุเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น (2) เหตุสุดวิสัย (3) เหตุเกิดจากพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่ตู่สัญญาไม่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องแจ้งเหตุให้ผู้ว่าจ้างทราบภายใน 15 วัน นับแต่เหตุนั้นสิ้นสุดลง ส่วนใหญ่มักจะเพิกเฉย เมื่อใกล้จะหมดสัญญาค่อยมาร้องขอให้ขยายเวลาทำการให้ และหน่วยงานไม่สามารถขยายเวลาทำการให้ได้ ถือว่าเป็นความบกพร่องของผู้รับจ้างเอง
การรับผิดทางละเมิด
หนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุดที่ กค 0406.2/ว 66 ลงวันที่ 25 กันยายน 2550 เรื่อง แนวทางการกำหนดสัดส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่(เอกสาร 13)

Cr. : โยธาท้องถิ่น , วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559 , https://drive.google.com/file/d/0B-TKMR7RYVMYcnJaa0NrNVVpc3c/view

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...